พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. กิมพิลเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระกิมพิลเถระ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  19 พ.ย. 2564
หมายเลข  40542
อ่าน  408

[เล่มที่ 51] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 80

เถรคาถา เอกนิบาต

วรรคที่ ๒

๘. กิมพิลเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระกิมพิลเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 51]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 80

๘. กิมพิลเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระกิมพิลเถระ

[๒๗๕] ได้ยินว่า พระกิมพิลเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

พระศากยบุตรทั้งหลาย ผู้เป็นสหายกันในปาจีนวังสทายวัน ได้พากันละโภคะไม่น้อย มายินดีในการเที่ยวบิณฑบาต ปรารภความเพียร มีจิตเด็ดเดี่ยว มีความบากบั่นมุ่งมั่นเป็นนิตย์ ละความยินดีในโลก มายินดีอยู่ในธรรม.

อรรถกถากิมพิลเถรคาถา

คาถาของท่านพระกิมพิลเถระ เริ่มต้นว่า ปาจีนวํสทายมฺหิ. เรื่องราว ของท่านเป็นอย่างไร?

เหตุเกิดความสังเวช และบรรพชา อันเป็นบุรพภาคของเรื่องราวที่ เกิดขึ้นนั้น ข้าพเจ้ากล่าวไว้ในอรรถกถาแห่งคาถามีอาทิว่า อภิสตฺโต ใน เอกนิบาตแล้วทั้งนั้น และด้วยคาถานั้น พระเถระแสดงเหตุแห่งการบรรลุคุณวิเศษของตนไว้ด้วย. แต่ในคาถานั้น พึงทราบว่า พระเถระแสดงการอยู่ร่วมโดยความพร้อมเพรียงของตนผู้บรรลุคุณวิเศษแล้วกับท่านพระอนุรุทธะ และ ท่านพระนันทิยะ. ก็พระเถระเมื่อจะแสดงถึงการที่พระเถระเหล่านั้นอยู่ร่วมกัน โดยความพร้อมเพรียงจึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถา ความว่า

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 81

พระศากยบุตรทั้งหลาย ผู้เป็นสหายกันในปาจีนวังสทายวัน ได้พากันละโภคะไม่น้อย มายินดีในการ เที่ยวบิณฑบาต ปรารภความเพียร มีจิตเด็ดเดี่ยว มีความบากบั่นมุ่งมั่นเป็นนิตย์ ละความยินดีในโลก มา ยินดีอยู่ในธรรม ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปาจีนวํสทายมฺหิ ได้แก่ ในป่าที่กำหนดเขตรวมกัน มีคนรักษาคุ้มครอง มีชื่อว่า ปาจีนวังสะ. อธิบายว่า ป่านั้น ท่านเรียกว่า ปาจีนวังสะ เพราะตั้งอยู่ในทิศปราจีนของหมู่บ้าน และ เพราะแวดล้อมไปด้วยพุ่มไม้ไผ่ หรือเรียกว่า ปาจีนวังสะ เพราะเป็นป่าไม้ไผ่.

บทว่า สกฺยปุตฺตา ได้แก่ พวกราชกุมารของเจ้าศากยะ มีพระอนุรุทธเถระเป็นต้น.

บทว่า สหายกา ความว่า ชื่อว่าเป็นสหายกัน เพราะเป็นทาง คือ เป็นการดำรงอยู่ร่วมกัน โดยเกิดความสังเวชร่วมกัน บรรพชาร่วมกัน และ บำเพ็ญสมณธรรมร่วมกัน.

บทว่า ปหายานปฺปเก โภเค ความว่า ทิ้งกองแห่งโภคะใหญ่ ที่ตนได้รับด้วยบุญญานุภาพอันโอฬาร และมีมาโดยการสืบต่อแห่งตระกูล บาลีว่า สหายานปฺปเก ดังนี้ก็มี.

บทว่า อุญฺเฉ ปตฺตาคเต รตา ความว่า ชื่อว่ายินดีแล้ว คือ ยินดียิ่งแล้วในภาชนะสำหรับขอ เพราะความเป็นของที่นำมาได้ด้วยการเที่ยว ขอเลี้ยงชีวิต ชื่อว่ามาในบาตร เพราะมาแล้วในบาตร ได้แก่ของที่นับเนื่องในบาตร. อธิบายว่า ห้ามอติเรกลาภ มีสังฆภัตเป็นต้น แล้วยินดีด้วยภัต ที่ระคนปนกันอันตนได้แล้ว ด้วยการเที่ยวภิกษา โดยอาศัยกำลังแข้งเท่านั้น.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 82

บทว่า อารทฺธวิริยา ความว่า ตั้งความเพียรไว้ เพื่อบรรลุประโยชน์ อันสูงสุด แต่ต้นทีเดียว คือ ก่อนทีเดียว.

บทว่า ปหิตตฺตา ความว่า ชื่อว่าเป็นผู้มีจิตส่งไปแล้วสู่พระนิพพาน เพราะความเป็นผู้น้อมไป โน้มไป โอนไป (สู่พระนิพพาน) และเพราะการเข้าถึงตามกาลเวลา.

บทว่า นิจฺจํ ทฬฺหปรกฺกมา ความว่า ชื่อว่าเป็นผู้มีความบากบั่น ไม่ย่อหย่อนตลอดกาลทั้งปวง เพราะหมั่นประกอบการอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม ในวัตรปฏิบัติทั้งหลาย.

บทว่า รมนฺติ ธมฺมรติยา หิตฺวา โลกิยํ รตึ ความว่า ละความยินดีในรูปารมณ์เป็นต้น อันเป็นโลกิยะ เพราะรู้แจ้งโลก และเพราะถึงที่สุด แห่งโลก คือละได้ด้วยมรรคปัญญา ย่อมยินดีคืออภิรมย์ ด้วยความยินดีในโลกุตรธรรม และด้วยความยินดียิ่งในพระนิพพานอันเป็นผลเลิศ.

จบอรรถกถากิมพิลเถรคาถา