พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. อุตตรเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระอุตตรเถระ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  19 พ.ย. 2564
หมายเลข  40545
อ่าน  447

[เล่มที่ 51] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 99

เถรคาถา ทุกนิบาต

วรรคที่ ๓

๑. อุตตรเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระอุตตรเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 51]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 99

เถรคาถา ทุกนิบาต วรรคที่ ๓

๑. อุตตรเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระอุตตรเถระ

[๒๗๘] ได้ยินว่า พระอุตตเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

ขันธ์ทั้งหลาย เรากำหนดรู้แล้ว ตัณหาเราถอนขึ้นแล้ว โพชฌงค์เราเจริญแล้ว ความสิ้นไปแห่งอาสวะเราบรรลุแล้ว ครั้นเรากำหนดรู้ขันธ์ทั้งหลายแล้ว ถอนข่ายคือตัณหาได้แล้ว ยังโพชฌงค์ให้เจริญแล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะ จักนิพพาน.

วรรควรรณนาที่ ๓

อรรถกถาอุตตรเถรคาถา

คาถาของท่านพระอุตตรเถระเริ่มต้นว่า ขนฺธา มยา ปริญฺญาตา. เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?

แม้พระเถระนี้ ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำไว้แล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ เข้าไปสั่งสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพนั้นๆ เกิดในเรือนแห่งตระกูล ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่าสิทธัตถะ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 100

ในกัปที่ ๙๔ แต่ภัทรกัปนี้ บรรลุความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว ได้เป็นผู้มีความเลื่อมใสในพระศาสดา ประกาศตนเป็นอุบาสกแล้ว เรียกบรรดาผู้เป็นญาติของตนมาประชุมกัน รวบรวมบูชาสักการะเป็นอันมาก กระทำการบูชาพระธาตุแล้ว.

ด้วยบุญกรรมนั้น เขาท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เกิดในตระกูลพราหมณ์ เมืองสาเกต ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้นามว่า อุตตระ เจริญวัยแล้ว ไปสู่พระนครสาวัตถี ด้วยกรณียกิจบางประการเห็นยมกปาฎิหาริย์ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำแล้ว ที่โคนไม้คัณฑามพฤกษ์ (ต้นมะม่วง) เลื่อมใสแล้ว เป็นผู้เจริญศรัทธายิ่งขึ้น ด้วยเทศนากาฬการามสูตร บวชแล้ว ไปสู่พระนครราชคฤห์กับพระศาสดา อยู่ที่พระนครราชคฤห์นั่นแหละ เริ่มตั้งวิปัสสนา ได้เป็นผู้มีอภิญญา ๖ ต่อกาลไม่นานนัก. สมดังคาถาประพันธ์ที่ ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า

เมื่อพระโลกนาถผู้นำของโลก ทรงพระนามว่า สิทธัตถะ ปรินิพพานแล้ว เราได้นำพวกญาติของเรา มาทำการบูชาพระธาตุ. ในกัปที่ ๙๔ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้บูชาพระธาตุใด ด้วยการบูชานั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระธาตุ. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

ก็พระเถระเป็นผู้มีอภิญญา ๖ แล้ว เมื่อพระศาสดาเสด็จประทับอยู่ในพระนครสาวัตถี ก็ออกจากกรุงราชคฤห์ไปพระนครสาวัตถี เพื่อจะทำพุทธอุปัฏฐาก อันภิกษุทั้งหลายถามว่า ดูก่อนอาวุโส กิจแห่งบรรพชิตอันท่านให้ถึงที่สุดแล้วหรือ? เมื่อจะพยากรณ์พระอรหัตตผล ได้กล่าวคาถา ๒ คาถา ความว่า

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 101

ขันธ์ทั้งหลายเรากำหนดรู้แล้ว ตัณหาเราถอนขึ้นแล้ว โพชฌงค์เราเจริญแล้ว ความสิ้นไปแห่งอาสวะเราบรรลุแล้ว ครั้นเรากำหนดรู้ขันธ์ทั้งหลายแล้ว ถอนข่ายคือตัณหาได้แล้ว ยังโพชฌงค์ให้เจริญแล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะ จักนิพพาน ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ขนฺธา ได้แก่ อุปาทานขันธ์ ๕. บทว่า ปริญฺญาตา ความว่า กำหนดรู้ คือยังทุกขสัจให้เจริญแล้วว่า นี้ทุกข์ ทุกข์ยิ่งไปกว่านี้ไม่มี ดังนี้. ด้วยบทว่า ปริญฺญาตา นั้น ท่านกล่าวหมายถึงการตรัสรู้ โดยการกำหนดรู้ทุกขอริยสัจ.

บทว่า ตณฺหา ความว่า กิเลสชาติ ชื่อว่าตัณหา เพราะอรรถว่า สะดุ้ง คือหวั่นไหว. บทว่า สุสมูหตา แปลว่า อันเราเพิกถอนขึ้นแล้ว พระเถระกล่าวถึงการตรัสรู้ ด้วยการละสมุทยสัจด้วยบทว่า สุสมูหตา นั้น. บทว่า ภาวิตา มม โพชฺฌงฺคา ความว่า ธรรม ๗ ประการชื่อว่า โพชฌงค์ เพราะเป็นองค์แห่งธรรมสามัคคี มีสติเป็นต้น กล่าวคือธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ หรือเพราะเป็นองค์แห่งพระอริยบุคคล ผู้พร้อมเพรียงด้วยธรรมสามัคคีนั้น คือที่ท่านกล่าวว่าธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้. ธรรมทั้งหลายอันนับเนื่องแล้วในมรรคกล่าวคือ สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิและ อุเบกขา อันเราเจริญแล้ว คือให้เกิดแล้ว ได้แก่เพิ่มพูนแล้ว. ก็ในคาถานี้ พึงทราบว่า ธรรมในองค์มรรคทั้งปวงก็ดี โพธิปักขิยธรรมทั้งหมดก็ดี พึงทราบว่า ท่านถือเอาแล้ว ด้วยศัพท์ว่าโพชฌังคะ เพราะเป็นประเภทธรรมที่ไปร่วมกับโพชฌงค์นั้น. พระเถระแสดงความถึงพร้อมเฉพาะซึ่งภาวนาแห่งมรรคสัจด้วยบทว่า ภาวิตา มม โพชฺฌงฺคา นี้เหมือนกัน.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 102

บทว่า ปตฺโต เม อาสวกฺขโย ความว่า อสังขตธรรม อันได้นามว่า อาสวักขยะ เพราะเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย มีกามาสวะเป็นต้น อันเราถึงแล้ว คือบรรลุแล้ว. พระเถระกล่าวความถึงพร้อมเฉพาะ ซึ่งการทำให้แจ้งนิโรธสัจ ด้วยบทว่า ปตฺโต เม อาสวกฺขโย นี้. พระเถระแสดงสมบัติคือ สอุปาทิเสสนิพพานของตน ด้วยคำมีประมาณเท่านี้.

ก็บัดนี้ พระเถระ เมื่อจะแสดงสมบัติคืออนุปาทิเสสนิพพาน จึงกล่าว คาถาที่ ๒ ด้วยคำมีอาทิว่า โสหํ ดังนี้.

คาถาที่ ๒ นั้น มีอธิบายดังนี้ เรานั้นรู้แล้ว คือ กำหนดรู้ขันธ์ทั้งหลาย โดยนัยดังกล่าวแล้วอย่างนี้ และเมื่อกำหนดรู้อย่างนั้นแล้ว จึงถอน คือยกขึ้นซึ่งตัณหาอันได้นามว่า ชาลินี เพราะมีข่ายกล่าวคือความเกิดบ่อยๆ มีอาการร้อยรัดเหล่าสัตว์ไว้ ในอัตภาพของตนและอัตภาพของคนอื่น ในอายตนะภายในและอายตนะภายนอก อันต่างโดยประเภทมีอดีตเป็นต้น จากจิตสันดานของเรา เมื่อยกข่ายคือตัณหานั้นขึ้นได้อย่างนั้น ก็ยังโพชฌงค์มีประเภทดังกล่าวแล้วให้เจริญ คือยังโพชฌงค์เหล่านั้นให้ถึงความบริบูรณ์ด้วย ภาวนาต่อแต่นั้นไป จึงเป็นผู้ไม่มีอาสวะตั้งอยู่แล้ว บัดนี้ เราจักนิพพาน คือจักดับรอบด้วยการดับแห่งจิตดวงสุดท้าย เหมือนเปลวไฟหมดเชื้อดับไป ฉะนั้น.

จบอรรถกถาอุตตรเถรคาถา