๑๐. กัณหทินนเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระกัณหทินนเถระ
[เล่มที่ 51] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 144
เถรคาถา ทุกนิบาต
วรรคที่ ๓
๑๐. กัณหทินนเถรคาถา
ว่าด้วยคาถาของพระกัณหทินนเถระ
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 51]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 144
๑๐. กัณหทินนเถรคาถา
ว่าด้วยคาถาของพระกัณหทินนเถระ
[๒๘๗] ได้ยินว่า พระกัณหทินนเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า
สัปบุรุษเราเข้าไปหาแล้ว ธรรมทั้งหลายเราฟังอยู่เป็นประจำ ครั้นฟังธรรมแล้ว จักดำเนินไปสู่ทางอันหยั่งลงสู่อมตธรรม.
เมื่อเรามีสติ กำจัดความกำหนัด ยินดีในภพได้แล้ว ความกำหนัดยินดีในภพ ย่อมไม่มีแก่เราอีก ไม่ได้มีแล้วในอดีต จักไม่มีในอนาคต ถึงแม้เดี๋ยวนี้ก็ไม่มีแก่เราเลย.
จบวรรคที่ ๓
อรรถกถากัณหทินนเถรคาถา
คาถาของท่านพระกัณหทินนเถระ เริ่มต้นว่า อุปาสิตา สปฺปุริสา. เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?
แม้พระเถระนี้ ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำแล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมบุญไว้ในภพนั้นๆ เกิดในเรือนแห่งตระกูล ในกัปที่ ๙๔ แต่ภัทรกัปนี้ บรรลุนิติภาวะแล้ว วันหนึ่งเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า นามว่า โสภิตะ มีจิตเลื่อมใส ได้ทำการบูชาด้วยดอกบุนนาค.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 145
ด้วยบุญกรรมนั้น เขาท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เกิดในตระกูลพราหมณ์ กรุงราชคฤห์ ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้นามว่า กัณหทินนะ เจริญวัยแล้ว อันอุปนิสสยสมบัติตักเตือนอยู่ เข้าไปหาพระธรรมเสนาบดี ฟังธรรมแล้วได้มีจิตศรัทธาบวชแล้ว เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตแล้ว. สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า
ครั้งนั้น พระสัมพุทธเจ้านามว่าโสภิตะ อยู่ที่ภูเขาจิตกูฏ เราได้ถือเอาดอกบุนนาคเข้ามาบูชาพระสยัมภู ในกัปที่ ๙๔ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้บูชาพระสัมพุทธเจ้า ด้วยการบูชานั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของ พระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.
ก็พระเถระครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว เมื่อจะพยากรณ์พระอรหัตตผล จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถา ความว่า
สัปบุรุษเราเข้าไปหาแล้ว ธรรมทั้งหลายเราฟังแล้วเป็นประจำ ครั้นฟังธรรมแล้ว จักดำเนินไปสู่ทางอันหยั่งลงสู่อมตธรรม เมื่อเรามีสติกำจัดความกำหนัดยินดีในภพได้แล้ว ความกำหนัดยินดีในภพ ย่อมไม่มีแก่เราอีก ไม่ได้มีแล้วในอดีต จักไม่มีในอนาคต ถึงแม้เดี๋ยวนี้ก็ไม่มีแก่เราเลย ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุปาสิตา ความว่า สัปบุรุษอันเราบำเรอแล้ว คือเข้าไปนั่งใกล้โดยการปรนนิบัติ.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 146
บุรุษทั้งหลายผู้ประกอบด้วยคุณมีศีลเป็นต้น ผู้สงบระงับแล้ว ชื่อว่า สัปบุรุษ ได้แก่ พระอริยบุคคลทั้งหลายมีพระสารีบุตรเถระเป็นต้น.
ด้วยบทว่า สปฺปุริสา นี้ พระเถระแสดงถึงความถึงพร้อม ด้วยจักรทั้งสองข้อแรกของตน. อธิบายว่า เว้นจากจักรคือการอยู่ในปฏิรูปเทศแล้ว (จักร คือ) การเข้าไปคบหาสัปบุรุษย่อมเกิดมีไม่ได้.
บทว่า สุตา ธมฺมา ความว่า ธรรมอันปฏิสังยุตด้วยสัจจะ และ ปฏิจจสมุปบาท อันข้าพเจ้าเข้าไปทรงไว้แล้ว ด้วยการแล่นไปตามโสตทวาร. พระเถระเมื่อจะแสดงความเป็นพหูสูตของตน ย่อมแสดงสมบัติคือจักร ๒ ข้อ หลัง ด้วยบทว่า สุตา ธมฺมา นี้.
บทว่า อภิณฺหโส ความว่า โดยมาก คือไม่ใช่เป็นครั้งเป็นคราว. ก็บทนี้ บัณฑิตพึงประกอบเข้าแม้ในบทว่า อุปาสิตา สปฺปุริสา ด้วย.
บทว่า สุตฺวาน ปฏิปชฺชิสฺสํ อญฺชสํ อมโตคธํ ความว่า เราฟัง ธรรมเหล่านั้นแล้ว กำหนดรูปธรรม และอรูปธรรม ตามที่ตรัสไว้ในเทศนา นั้น โดยลักษณะของตนเป็นต้น เจริญวิปัสสนาโดยลำดับ ดำเนินไปคือ บรรลุถึงหนทาง คืออริยอัฏฐังคิกมรรค อันหยั่งลงสู่อมตะ คือเป็นที่ตั้งแห่งพระนิพพาน ได้แก่ยังพระนิพพานให้ถึงพร้อม.
บทว่า ภวราคหตสฺส เม สโต ความว่า เมื่อเรามีสติสมบูรณ์แล้ว กำจัด คือ เข้าไปทำลาย ความยินดีในภพคือตัณหา ในสงสารอันมีเบื้องต้นและที่สุด อันบุคคลตามเข้าไปกำหนดรู้ไม่ได้ อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ มีความกำหนัดในภพ อันมรรคอันเลิศกำจัดแล้ว.
บทว่า ภวราโค ปุน เม น วิชฺชติ ความว่า เพราะเหตุนั้นแล ความกำหนัดในภพ ย่อมไม่มีแก่เราอีกในบัดนี้.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 147
บทว่า น จาหุ น เม ภวิสฺสติ น จ เม เอตรหิ วิชฺชติ ความว่า แม้ถ้าความกำหนัดในภพได้มีแก่เรา ในเวลาที่เราเป็นปุถุชน และในเวลาที่เรายังเป็นเสกขบุคคลในกาลก่อน ก็จริง แต่จำเดิมแต่เราได้บรรลุมรรคอันเลิศแล้ว ความกำหนัดในภพจะไม่มี และไม่มีแล้ว คือจะไม่มีแก่เรา และจะหาไม่ได้ในปัจจุบัน คือ บัดเดี๋ยวนี้ อธิบายว่า เราละภวราคะได้แล้ว. ก็ด้วยคำว่า ภวราคะ นั่นแล เป็นอันพระเถระกล่าวความไม่มีแม้แห่งกิเลส มีมานะ เป็นต้น ไว้ด้วย เพราะความที่แห่งกิเลสมีมานะ เป็นต้น ตั้งอยู่ในที่เดียวกันกับภวราคะนั้น เพราะเหตุนั้น พระเถระจึงแสดงความที่ตนเป็นผู้มีสังโยชน์ในภพสิ้นรอบแล้ว โดยประการทั้งปวง.
จบอรรถกถากัณหทินนเถรคาถา
จบวรรควรรณนาที่ ๓
แห่งอรรถกถาเถรคาถา ชื่อว่า ปรมัตถทีปนี
ในวรรคนี้รวมพระเถระได้ ๑๐ รูป คือ
๑. พระอุตตรเถระ
๒. พระภัททชิเถระ
๓. พระโสภิตเถระ
๔. พระวัลลิยเถระ
๕. พระวีตโสกเถระ
๖. พระปุณณมาสเถระ
๗. พระนันทกเถระ
๘. พระภรตเถระ
๙. พระภารทวาชเถระ
๑๐. พระกัณหทินนเถระ และอรรถกถา.