พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. อิสิทินนเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระอิสิทินนเถระ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  19 พ.ย. 2564
หมายเลข  40559
อ่าน  396

[เล่มที่ 51] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 164

เถรคาถา ทุกนิบาต

วรรคที่ ๔

๔. อิสิทินนเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระอิสิทินนเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 51]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 164

๔. อิสิทินนเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระอิสิทินนเถระ

[๒๙๑] ได้ยินว่า พระอิสิทินนเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

อุบาสกทั้งหลาย ผู้ทรงธรรมกล่าวว่า กามทั้งหลายไม่เที่ยง เราได้เห็นแล้ว อุบาสกเหล่านั้นเป็นผู้กำหนัด รักใคร่ ห่วงใยในแก้วมณี บุตรธิดาและภรรยา เราได้เห็นแล้ว เพราะอุบาสกเหล่านั้นไม่รู้ธรรมภายในพระพุทธศาสนานี้แน่แท้ แม้ถึงอย่างนั้นก็ได้กล่าวว่า กามทั้งหลายไม่เที่ยง แต่กำลังญาณเพื่อจะตัดราคะของอุบาสกเหล่านั้นไม่มี เพราะฉะนั้นอุบาสกเหล่านั้น จึงติดอยู่ในบุตร ภรรยาและในทรัพย์.

อรรถกถาอิสิทินนเถรคาถา

คาถาของท่านพระอิสิทินนเถระ เริ่มต้นว่า ทิฏฺา มยา. เรื่อง ราวของท่านเป็นอย่างไร?

แม้พระเถระนี้ ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำแล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ทั้งหลาย กระทำบุญไว้ในภพนั้นๆ เกิดในเรือนแห่งตระกูล ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า วิปัสสี บรรลุความเป็นผู้รู้ แล้วถือพัดโบก บูชาโพธิพฤกษ์.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 165

ด้วยบุญกรรมนั้น เขาท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เกิดในตระกูลเศรษฐี ในสุนาปรันตชนบท ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้มีนามว่า อิสิทินนะ เจริญวัยแล้ว เห็นปาฎิหาริย์ในคราวที่พระศาสดาทรงรับไม้จันทน์ และระเบียบดอกไม้ มีใจเลื่อมใส เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ฟังธรรมแล้วเป็นพระโสดาบันอยู่ครองเรือน. เทวดาผู้มุ่งประโยชน์ต่ออิสิทินนเศรษฐี เมื่อจะเตือน เขาได้กล่าวคาถา ๒ คาถา ความว่า

อุบาสกทั้งหลาย ผู้ทรงธรรมกล่าวว่า กามทั้งหลายไม่เที่ยง เราได้เห็นแล้ว อุบาสกเหล่านั้น เป็นผู้กำหนัด รักใคร่ ห่วงใยในแก้วมณี บุตรธิดา และ ภรรยา เราได้เห็นแล้ว เพราะอุบาสกเหล่านั้น ไม่รู้ธรรมในพระพุทธศาสนานี้แน่แท้ แม้ถึงอย่างนั้นก็ได้ กล่าวว่ากามทั้งหลายไม่เที่ยง แต่กำลังญาณเพื่อจะตัดราคะของอุบาสกเหล่านั้น ไม่มี เพราะฉะนั้น อุบาสกเหล่านั้น จึงติดอยู่ในบุตร ภรรยา และใน ทรัพย์ ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทิฏฺา มยา ธมฺมธรา อุปาสกา กามา อนิจฺจา ความว่า อุบาสกทั้งหลาย ผู้ทรงปริยัติธรรมบางคนในโลกนี้ เราเห็นแล้ว คือ เพราะเหตุที่เขาเป็นผู้ทรงพระปริยัติธรรมนั้นแล เมื่อกล่าวธรรม อันปฏิสังยุตด้วยโทษในกามทั้งหลายว่า ขึ้นชื่อว่า กามเหล่านี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ดังนี้ แต่ตัวเองกลับกำหนัดแล้ว กำหนัดนักแล้ว ในแก้วมณีและแก้วกุณฑลทั้งหลาย มีความห่วงใย ในบุตรและภรรยาทั้งหลาย ได้แก่ เป็นผู้มีความกำหนัดแล้ว คือเป็น ผู้มากไปด้วยความกำหนัดยินดี ในแก้วมณีและแก้วกุณฑลทั้งหลาย หรือในแก้วมณี

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 166

และแก้วกุณฑลอันตนสั่งสมไว้แล้ว มีความเสน่หาอย่างท้วมท้น ในบุตรธิดา และในภรรยาทั้งหลาย อธิบายว่า คนที่พูดอย่างหนึ่ง ทำอย่างหนึ่ง เราเห็นแล้ว.

บทว่า ยโต ความว่า เพราะเหตุที่อุบาสกเหล่านั้น ยังมีความกำหนัดยินดี ในแก้วมณีและแก้วกุณฑลทั้งหลาย มีความห่วงใย ในบุตร และภรรยาทั้งหลาย ฉะนั้น อุบาสกเหล่านั้น ย่อมชื่อว่าไม่รู้จริงซึ่งธรรมในพระพุทธศาสนานี้ ตามความเป็นจริง อย่างแน่แท้ คือโดยส่วนเดียว. อธิบายว่า ก็อุบาสกทั้งหลายผู้เป็นแล้วอย่างนี้ แม้ถึงจะได้กล่าวว่า กามทั้งหลาย เป็นของไม่เที่ยง ก็ (เพราะ) เป็นปกติวิสัยของสัตว์ (เพราะ) กามทั้งหลายมีความงดงามเป็นสภาพ.

บทว่า ราคญฺจ เตสํ น พลตฺถิ เฉตฺตุํ ความว่า เพราะเหตุ ที่กำลังแห่งญาณ เพื่อจะตัด คือเพื่อจะเข้าไปถอนขึ้นซึ่งราคะเช่นนั้น ของ อุบาสกเหล่านั้นไม่มี ฉะนั้น คือด้วยเหตุนั้น อุบาสกเหล่านั้น จึงติด คือ เนื่องอยู่แล้วด้วยอำนาจแห่งตัณหา ได้แก่ ติดแน่น ไม่สามารถจะสละลูกเมีย และทรัพย์สมบัติได้ เพราะเหตุนั้น เทวดาจึงกล่าวคาถา ๒ คาถา นี้ทั้งหมด หมายถึง (อิสิทินนะ) อุบาสกนั้นแล (แต่) เอาคนอื่นมาอ้าง.

อุบาสกฟังคำเป็นคาถามนั้นแล้ว เกิดความสลดใจ บวชแล้วบรรลุพระอรหัต ต่อกาลไม่นานนัก. สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ ในอปทานว่า

เราเป็นผู้มีใจโสมนัส จับพัดวีชนี พัดไม้โพธิอันอุดม ที่ไม้โพธิของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่า วิปัสสี ซึ่งเป็นไม้สูงสุด ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้พัดไม้โพธิอันอุดม ด้วยการพัดไม้โพธินั้น

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 167

เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการพัดไม้โพธิ. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

ก็พระเถระบรรลุพระอรหัตแล้ว เมื่อจะพยากรณ์พระอรหัตตผล ก็ได้กล่าวคาถาเหล่านี้แหละ ฉะนี้แล.

จบอรรถกถาอิสินนเถรคาถา