พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. นิสภเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระนิสภเถระ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  19 พ.ย. 2564
หมายเลข  40563
อ่าน  365

[เล่มที่ 51] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 177

เถรคาถา ทุกนิบาต

วรรคที่ ๔

๘. นิสภเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระนิสภเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 51]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 177

๘. นิสภเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระนิสภเถระ

[๒๙๕] ได้ยินว่า พระนิสภเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

วิญญูชน ละเบญจกามคุณอันน่ารัก น่ารื่นรมย์ใจแล้ว ออกบวชด้วยศรัทธา แล้วพึงทำที่สุดแห่งทุกข์ ได้.

เราไม่อยากตาย ไม่อยากมีชีวิตอยู่ และเรามีสติ มีสัมปชัญญะ รอเวลาอันควรเท่านั้น.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 178

อรรถกถานิสภเถรคาถา

คาถาของท่านพระนิสภเถระ เริ่มต้นว่า ปญฺจ กามคุเณ หิตฺวา. เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?

แม้พระเถระนี้ ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำแล้ว ในพระพุทธเจ้าองค์ ก่อนๆ สั่งสมบุญทั้งหลายไว้ในภพนั้นๆ เกิดในเรือนแห่งตระกูล ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า วิปัสสี บรรลุนิติภาวะแล้ว วันหนึ่ง เห็นพระศาสดาเสด็จเที่ยวบิณฑบาต มีจิตเลื่อมใส ได้ถวายผลมะขวิด.

ด้วยบุญกรรมนั้น เขาท่องเที่ยวไปแต่ในสุคติภพอย่างเดียว เกิดในเรือนแห่งตระกูลในโกลิยชนบท ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้นามว่า นิสภะ เจริญวัยแล้ว เห็นพุทธานุภาพในสงครามของเจ้าศากยะและเจ้าโกลิยะทั้งหลาย แล้วได้ศรัทธาจิต บวชแล้ว บรรลุพระอรหัตในวันนั้นเอง. สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า

เราได้ถวายผลมะขวิด แด่พระสัมพุทธเจ้า ผู้มีพระฉวีวรรณปานดังทองคำ สมควรรับเครื่องบูชา กำลังเสด็จดำเนินอยู่ในถนน ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้ถวายผลไม้ใดในกาลนั้น ด้วยการถวายผลไม้นั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

ก็พระเถระบรรลุพระอรหัตแล้ว เห็นภิกษุทั้งหลายผู้เป็นสหายของตน ยังกาลเวลาให้ล่วงไป ด้วยการอยู่อย่างประมาท เมื่อจะโอวาทภิกษุเหล่านั้น ได้กล่าวคาถาที่ ๑ ความว่า

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 179

วิญญูชน ละเบญจกามคุณอันน่ารัก น่ารื่นรมย์ใจแล้ว ออกบวชด้วยศรัทธา แล้วพึงทำที่สุดแห่งทุกข์ ได้ ดังนี้.

คาถาที่ ๑ นั้น มีอธิบายดังนี้ วิญญูชนละ คือ เลิกละได้แก่สละกามคุณ คือ กามโกฏฐาสทั้ง ๕ มีรูป เป็นต้น อันชื่อว่าน่ารัก เพราะมีสภาพที่ยั่วยวน ชวนให้พาลชนรักใคร่ ชื่อว่าน่ารื่นรมย์ใจ เพราะมีสภาพเป็นที่เจริญใจ ออก คือหลุดพ้นจากเรือน คือ จากเครื่องผูกพันคือเรือน เข้าสู่บรรพชาเพศ จำเดิมแต่บวชแล้ว ก็เพียรพยายาม พึงเป็นผู้กระทำที่สุดแห่งทุกข์ในวัฏฏะได้.

พระเถระกล่าวสอนภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นอย่างนี้ แล้วกล่าวว่า ท่านทั้งหลายอย่าคิดว่า คนผู้นี้ดีแต่สอนคนอื่นเท่านั้น ส่วนตนเองไม่กระทำ ดังนี้ แล้ว เมื่อจะประกาศความที่ตนเป็นผู้ปฏิบัติแก่ภิกษุเหล่านั้น จึงพยากรณ์ พระอรหัตตผล ด้วยคาถาที่สอง ความว่า

เราไม่อยากตาย ไม่อยากมีชีวิตอยู่ แต่เรามีสติ มีสัมปชัญญะ รอเวลาอันควรอยู่ ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นาภินนฺทามิ มรณํ ความว่า เราไม่ มุ่งหมายความตาย.

ก็บทว่า นาภินนฺทามิ ชีวิตํ นี้ เป็นคำบอกเหตุของบทว่า "นาภินนฺทามิ มรณํ" นั้น เพราะเรายังไม่อยากมีชีวิตอยู่ ฉะนั้น จึงไม่นิยมยินดีความตาย. อธิบายว่า บุคคลใดก่อ คือเข้าไปสั่งสมการปรุงแต่งกิเลส (อันเป็นเหตุ) แห่งชาติชรา และมรณะสืบต่อไป บุคคลนั้นเมื่อยินดี การเกิดในภพใหม่ ชื่อว่าย่อมยินดีแม้ซึ่งความตายของตน เพราะเป็นผลให้เกิดในภพติดต่อกันไป เพราะยังละเหตุไม่ได้ ส่วนพระขีณาสพ ละอาจยคามิธรรม (ธรรมอันเป็นเหตุให้ถึงการก่อภพก่อชาติ) ตั้งอยู่ในอปจยคามิธรรม

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 180

(ธรรมอันเป็นเหตุให้หมดภพหมดชาติ) เป็นผู้กำหนดรู้วัตถุ ชื่อว่าย่อมไม่ยินดีแม้ซึ่งความตาย เพราะความที่แห่งเหตุนั้นแล อันตนละได้แล้วด้วยดี. ด้วยเหตุนั้น พระเถระจึงกล่าวว่า นาภินนฺทามิ มรณํ นาภินน์ทามิ ชีวิตํ เรายังไม่อยากตาย ไม่อยากมีชีวิตอยู่.

ถามว่า ถ้าพระขีณาสพ มีความจำนงมุ่งหมายพระนิพพานอยู่อย่างนี้ ก็การดำรง (ชีวิตของท่าน) จนกว่าจะปรินิพพาน จะเป็นอย่างไร?

พระเถระจึงกล่าว (เฉลย) ว่า และเรามีสติสัมปชัญญะ รอเวลาอันควรเท่านั้น (โดยมีอธิบายว่า) เมื่อเราบรรลุกิเลสปรินิพพานแล้ว เราชื่อว่า มีสติ มีสัมปชัญญะ เพราะถึงความไพบูลย์ด้วยสติและปัญญา รอเวลาขันธปรินิพพานอย่างเดียว เราชะเง้อคอยเวลาแห่งขันธปรินิพพานนั้นอยู่ แต่เราไม่มีความยินดีในความตาย หรือในชีวิตความเป็นอยู่ เพราะทั้งความตายและชีวิตนั้น เราเพิกถอนขึ้น ด้วยอรหัตตมรรคแล้วแล.

จบอรรถกถานิสภเถรคาถา