พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. ธรรมปาลเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระธรรมปาลเถระ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  19 พ.ย. 2564
หมายเลข  40567
อ่าน  355

[เล่มที่ 51] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 197

เถรคาถา ทุกนิบาต

วรรคที่ ๕

๒. ธรรมปาลเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระธรรมปาลเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 51]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 197

๒. ธรรมปาลเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระธรรมปาลเถระ

[๒๙๙] ได้ยินว่า พระธรรมปาลเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

ภิกษุหนุ่มรูปใดแล เพียรพยายามอยู่ในพระพุทธศาสนา ก็เมื่อสัตว์ทั้งหลายนอกนี้ พากันหลับแล้ว ภิกษุหนุ่มนั้นตื่นอยู่ ชีวิตของเธอไม่ไร้ประโยชน์ เพราะฉะนั้น บุคคลผู้มีปัญญา ระลึกถึงคำสอนของ พระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงประกอบศรัทธา ศีล ความ เลื่อมใส และการเห็นธรรมเนืองๆ เถิด.

อรรถกถาธรรมปาลเถรคาถา

คาถาของท่านพระธรรมปาลเถระ เริ่มต้นว่า โย หเว ทหโร ภิกฺขุ. เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?

แม้พระเถระนี้ ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำไว้แล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมบุญไว้ในภพนั้นๆ บังเกิดในเรือนแห่งตระกูล ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่า อัตถทัสสี บรรลุนิติภาวะแล้ว เข้าไปสู่ป่าลึก ด้วยกรณียกิจบางอย่าง เห็นพระศาสดาแล้ว มีใจเลื่อมใส ได้ถวายผลไม้ ปิลักขะ (ผลดีปลี).

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 198

ด้วยบุญกรรมนั้น เขาท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เมื่อพระศาสดาในพุทธุปบาทกาลนี้ เสด็จปรินิพพานแล้ว บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ แคว้นอวันตี ได้นามว่า ธรรมปาละ เจริญวัยแล้ว ไปสู่เมืองตักกศิลา เรียนศิลปศาสตร์แล้ว เมื่อเวลากลับพบพระเถระรูปหนึ่งในวิหารแห่งหนึ่ง ฟังธรรมในสำนักของพระเถระแล้ว ได้มีจิตศรัทธาบวชแล้ว เจริญวิปัสสนา ได้เป็นผู้มีอภิญญา ๖. สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า

เราได้เห็นพระพุทธเจ้า พระนามว่า อัตถทัสสี มียศใหญ่ ในระหว่างป่า เรามีจิตเลื่อมใส มีใจโสมนัส ได้ถวายผลปิลักขะ (ผลดีปลี) ในกัปที่ ๑,๘๐๐ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้ถวายผลไม้ใดในกาลนั้น ด้วยทานนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

ก็พระเถระเป็นผู้มีอภิญญา ๖ แล้ว ยังเวลาให้ล่วงไปด้วยความสุข อันเกิดแต่สมาบัติ วันหนึ่ง เห็นสามเณร ๒ รูป ในวิหารนั้น ขึ้นเก็บดอกไม้ อยู่บนยอดไม้ เมื่อกิ่งที่ยืนงอกออกไปหักแล้วก็ตกลงมา จึงยื่นมือออกไปรับ ด้วยอานุภาพแห่งฤทธิ์ ให้สามเณรทั้งสอง ยืนอยู่บนพื้นดินได้โดยปลอดภัย เมื่อจะแสดงธรรมแก่สามเณรเหล่านั้น ได้กล่าวคาถา ๒ คาถานี้ ความว่า

ภิกษุหนุ่มรูปใดแลเพียรพยายามอยู่ในพระพุทธศาสนา ก็เมื่อสัตว์ทั้งหลายนอกนี้พากันหลับแล้ว ภิกษุหนุ่มนั้นตื่นอยู่ ชีวิตของเธอไม่ไร้ประโยชน์

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 199

เพราะฉะนั้น บุคคลผู้มีปัญญา ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงประกอบศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส และการเห็นธรรมเนืองๆ เถิด ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โย เป็นคำแสดงความไม่แน่นอน.

บทว่า หเว เป็นนิบาต ลงในอรรถว่ามั่นคง.

บทว่า ทหโร แปลว่า หนุ่ม. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า ย่อมขอ.

บทว่า ยุญฺชติ ความว่า ย่อมพากเพียรพยายาม.

บทว่า ชาคโร ได้แก่ ประกอบไปด้วยธรรมของภิกษุผู้ตื่น.

บทว่า สุตฺเตสุ ความว่า เมื่อสัตว์ทั้งหลายนอนหลับอยู่. ท่านกล่าว อธิบายไว้ว่า ภิกษุใดยังหนุ่มอยู่ คืออายุยังน้อย ไม่คิดว่า เราจักบำเพ็ญสมณธรรมอย่างนั้น ในภายหลัง เพียรพยายามปฏิบัติ ด้วยความไม่ประมาท กระทำความเพียร ในสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ในศาสนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เมื่อสัตว์ทั้งหลายนอกนี้หลับแล้ว คือหลับด้วยความหลับคืออวิชชา ได้แก่ ประมาทแล้ว ภิกษุนั้นตื่นอยู่ ด้วยการประกอบธรรมของผู้ตื่นอยู่ มีศรัทธาเป็นต้น ชีวิตของเธอไม่ไร้ประโยชน์คือไม่เป็นหมัน เพราะบริบูรณ์ ด้วยประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านนั้นแล ก็เพราะเหตุที่ชีวิตนี้ เป็นอย่างนี้ ฉะนั้น บุคคลผู้มีปัญญา คือภิกษุผู้ประกอบด้วยปัญญามีโอชาอันเกิดแต่ธรรม ระลึกถึงคำสอน คือพระโอวาท ได้แก่พระอนุสาสนีของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย มองเห็นศีรษะของตนว่า อันไฟติดทั่วแล้ว พึงประกอบตาม ซึ่งศรัทธา และ ความเชื่อ เชื่อกรรมและผลแห่งกรรม อันเป็นไปแล้วโดยนัยมีอาทิว่า กรรมมีอยู่ ผลแห่งกรรมมีอยู่ ดังนี้ ซึ่งจตุปาริสุทธิศีลอันเข้าไปอาศัยซึ่งศรัทธานั้น

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 200

เพราะความที่แห่งศีลเข้าไปผูกพันกับศรัทธา และซึ่งความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย อันเป็นไปแล้วอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว พระสงฆ์ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ดังนี้ และซึ่งการเห็นจตุราริยสัจจธรรม ด้วยสามารถแห่งการกำหนดรู้ด้วยมรรคปัญญา อันประกอบด้วยวิปัสสนาปัญญา เป็นต้น อธิบายว่า พึงกระทำความขวนขวาย คือความเพียรในธรรมมีศรัทธาเป็นต้นนั้น.

จบอรรถกถาธรรมปาลเถรคาถา