๔. โมฆราชเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระโมฆราชเถระ
[เล่มที่ 51] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 203
เถรคาถา ทุกนิบาต
วรรคที่ ๕
๔. โมฆราชเถรคาถา
ว่าด้วยคาถาของพระโมฆราชเถระ
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 51]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 203
๔. โมฆราชเถรคาถา
ว่าด้วยคาถาของพระโมฆราชเถระ
[๓๐๑] ได้ยินว่า พระโมฆราชเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า
ดูก่อนโมฆราชภิกษุ ผู้มีผิวพรรณเศร้าหมอง แต่มีจิตผ่องใส เธอเป็นผู้มีใจตั้งมั่นเป็นนิตย์ จักทำอย่างไร ตลอดราตรีแห่งเวลาอันหนาวเย็นเช่นนี้?
ข้าพระองค์ได้ฟังมาว่า ประเทศมคธ ล้วนแต่สมบูรณ์ด้วยข้าวกล้า ข้าพระองค์พึงคลุมกายด้วยฟาง แล้วนอนให้เป็นสุข เหมือนคนเหล่าอื่นที่มีการเป็นอยู่เป็นสุข ฉะนั้น.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 204
อรรถกถาโมฆราชเถรคาถา
คาถาของท่านพระโมฆราชเถระ เริ่มต้นว่า ฉวิปาปก จิตฺตภทฺทก. เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?
แม้พระเถระนี้ ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำแล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ เกิดในเรือนแห่งตระกูล ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนาม ว่า ปทุมุตตระ บรรลุนิติภาวะแล้ว วันหนึ่ง ฟังธรรมในสำนักของพระศาสดาอยู่ เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่ง ไว้ในตำแหน่งแห่งภิกษุผู้เลิศกว่าบรรดาภิกษุผู้ทรงจีวรเศร้าหมองทั้งหลาย มุ่งหมายตำแหน่งนั้นอยู่ ตั้งประณิธานบำเพ็ญบุญไว้ในภพนั้นๆ บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า อัตถทัสสี ถึงความสําเร็จในวิชา และศิลปะของพราหมณ์ทั้งหลาย ยังมาณพผู้เป็นพราหมณ์ ให้ศึกษาวิชาและศิลปศาสตร์ วันหนึ่ง เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า อัตถทัสสี อันภิกษุสงฆ์แวดล้อมแล้ว เสด็จไปอยู่ มีใจเลื่อมใสแล้ว ถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ประนมกรอัญชลีไว้เหนือเศียร แล้วชมเชยพระศาสดาด้วยคาถา ๖ คาถา มีอาทิว่า ยาวตา รูปิโน สตฺตา ดังนี้ แล้วน้อมน้ำผึ้งเข้าไปถวายจนเต็มภาชนะ. พระศาสดาทรงรับประเคนน้ำผึ้งแล้ว ทรงกระทำอนุโมทนา.
ด้วยบุญกรรมนั้น เขาท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นอมาตย์ของพระราชา พระนามว่า กัฏฐวาหนะ ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า กัสสปะ เป็นผู้อันพระราชาทรงส่งไปพร้อมกับบุรุษหนึ่งพัน เพื่อทูลอาราธนาพระศาสดา ไปสู่สำนักของพระศาสดาแล้ว ฟังธรรมได้มีศรัทธาบวชแล้ว บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ ๒๐,๐๐๐ ปี จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 205
เกิดหมุนเวียนอยู่แต่ในสุคติภพเท่านั้น เกิดในตระกูลพราหมณ์ ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้นามว่า โมฆราชะ เรียนศิลปวิทยาอยู่ในสำนักของพราหมณ์พาวรี เกิดความสลดใจ บวชเป็นดาบส มีดาบสหนึ่งพันเป็นบริวาร ถูกส่งไปยังสำนักของพระศาสดา พร้อมกับดาบสทั้งหลาย มีอชิตดาบสเป็นต้น เป็น คนที่ ๑๕ ของดาบสเหล่านั้น ทูลถามปัญหาแล้ว ในเวลาจบการวิสัชนาปัญหา บรรลุพระอรหัตแล้ว. สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า
ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้สยัมภู พระนามว่า อัตถทัสสี ไม่ทรงแพ้อะไรๆ แวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จดำเนินไปในถนน เราแวดล้อมด้วยพวกศิษย์ทั้งหลาย ออกจากเรือนไป ครั้นแล้วได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นนายกของโลกที่ถนนนั้น เราได้ประนมอัญชลีบนเศียรเกล้า ถวายบังคมพระสัมพุทธเจ้า ยังจิตของตนให้เลื่อมใสแล้ว ชมเชยพระองค์ผู้เป็นนายกของโลก สัตว์มีรูปก็ดี มีสัญญาก็ดี ไม่มีสัญญาก็ดี ประมาณเท่าใด สัตว์เหล่านั้นย่อมเข้าไปภายในพระญาณของพระองค์ทั้งหมด เปรียบเหมือนสัตว์ในน้ำเหล่าใดเหล่าหนึ่ง สัตว์เหล่านั้นย่อมติดอยู่ภายในข่ายของคนที่เอาข่ายตาเล็กๆ เหวี่ยงลงในน้ำ ฉะนั้น อนึ่ง สัตว์เหล่าใด คือ สัตว์มีรูป และไม่มีรูป มีเจตนา (ความตั้งใจ) สัตว์เหล่านั้นย่อมเข้าไปภายในพระญาณของพระองค์ทั้งหมด พระองค์ทรงถอนโลก อันอากูล ด้วยความมืดมนนี้ขึ้นได้แล้ว สัตว์เหล่านั้น ได้ฟังธรรมของพระองค์แล้ว ย่อมข้ามกระแสความสงสัยได้
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 206
โลกอันอวิชชาหุ้มห่อแล้ว อันความมืดท่วมทับ ทรงกำจัดความมืดได้ ส่องแสงโชติช่วงอยู่ เพราะพระญาณของพระองค์ พระองค์ผู้มีพระจักษุ เป็นผู้ทรงบรรเทาความมืดมนของสัตว์ทั้งปวง ชนเป็นอันมากฟังธรรมของพระองค์แล้ว จักนิพพาน ดังนี้แล้ว เราเอาน้ำผึ้งรวง อันไม่มีตัวผึ้งใส่เต็มหม้อแล้ว ประคองด้วยมือทั้งสอง น้อมถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระมหาวีรเจ้า ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่หลวง ทรงรับด้วยพระหัตถ์อันงาม ก็พระสัพพัญญูเสวยน้ำผึ้งนั้น แล้วเสด็จเหาะขึ้นสู่นภากาศ พระศาสดาพระนามว่า อัตถทัสสีนราสภ ประทับอยู่ในอากาศ ทรงยังจิตของเราให้เลื่อมใส ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า ผู้ใด ชมเชยญาณนี้ และชมเชยพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด ด้วยจิตอันเลื่อมใสนั้น ผู้นั้นจะไม่ไปสู่ทุคติ และผู้นั้นจักเสวยเทวรัชสมบัติ ๔๖ ครั้ง จักได้เป็นพระเจ้า ประเทศราช ครอบครองแผ่นดิน ๘๐๐ ครั้ง จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๐๐ ครั้ง จักได้เป็นพระเจ้าประเทศราช เสวยสมบัติอยู่ในแผ่นดินนับไม่ถ้วน จักเป็นผู้เล่าเรียน ทรงจำมนต์รู้จบไตรเพท จักบวช ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่าโคดม จักพิจารณาอรรถอันลึกซึ้ง อันละเอียดได้ด้วยญาณ จักเป็นสาวกของพระศาสดา มีนามว่า "โมฆราช" จักถึงพร้อมวิชชา ๓ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 207
พระโคดมผู้ทรงเป็นยอดของผู้นำหมู่ จักทรงตั้งผู้นั้นไว้ในเอตทัคคสถาน เราละกิเลสเครื่องประกอบของมนุษย์ ตัดเครื่องผูกพันในภพ กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว ไม่มีอาสวะอยู่. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.
ก็พระเถระบรรลุพระอรหัตแล้ว ทรงผ้าบังสุกุลจีวร อันประกอบด้วยความเศร้าหมอง ครบทั้ง ๓ อย่างคือ เศร้าหมองด้วยมีด เศร้าหมองด้วยด้าย (และ) เศร้าหมองด้วยน้ำย้อม ด้วยเหตุนั้น พระศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ ในตำแหน่งแห่งภิกษุผู้เลิศกว่าบรรดาภิกษุผู้ทรงจีวรอันเศร้าหมองทั้งหลาย. ในเวลาต่อมา โรคทั้งหลายมีหิดเปื่อยและต่อมน้ำเหลืองเป็นต้น เกิดลุกลามไปตามร่างกายของพระเถระ เพราะกรรมเก่าเป็นปัจจัย (และ) เพราะไม่ทำความสะอาดร่างกาย. พระเถระคิดว่า เสนาสนะทำให้ร่างกายเดือดร้อน จึงเอาเครื่องลาดที่ทำด้วยฟาง ในนาของชาวมคธ มาปูลาดนอนแม้ในเหมันตฤดู วันหนึ่ง พระศาสดาตรัสถามท่าน ผู้เข้าไปสู่ที่บำรุง ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง โดยทำนองปฏิสันถาร ด้วยพระคาถาที่ ๑ ใจความว่า
ดูก่อนโมฆราชภิกษุ ผู้มีผิวพรรณเศร้าหมอง แต่มีจิตผ่องใส ท่านเป็นผู้มีใจตั้งมั่นเป็นนิตย์ จักทำอย่างไรตลอดราตรี แห่งเวลาหนาวเย็นเช่นนี้ ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ฉวิปาปก ความว่า ดูก่อนท่านผู้ชื่อว่า มีผิวพรรณเศร้าหมอง คือ ชื่อว่า มีผิวพรรณไม่ผ่องใส เพราะความเป็นผู้มีผิวพรรณแตกไหลเยิ้มไปด้วยหิดเปื่อย หิตด้าน และต่อมน้ำเหลืองเป็นต้น.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 208
บทว่า จิตฺตภทฺทก ความว่า ดูก่อนท่านผู้ชื่อว่า มีจิตงามคือมีจิตอันสุนทร เพราะละกิเลสได้โดยไม่เหลือ และเพราะมีพรหมวิหารธรรมเป็นเครื่องเสพ.
บทว่า โมฆราช เป็นคำเรียกพระเถระนั้น.
บทว่า สตตํ สมาหิโต ความว่า เป็นผู้มีมนัสประกอบแล้ว ด้วยอัครผลสมาธิตลอดกาลเป็นนิตย์ คือเป็นประจำ.
บทว่า เหมนฺตกสีตกาลรตฺติโย ความว่า ตลอดรัตติกาลอันหนาวเย็นในเหมันตสมัย. ก็บทนี้ เป็นทุติยาวิภัตติ ใช้ในอัจจันตสังโยคะ. (บางแห่ง) บาลีเป็น เหมนฺติกาสีตกาลรตฺติโย ก็มี.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เหมนฺติกา ความว่า ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว คือนับเนื่องในฤดูเหมันต์.
บทว่า ภิกฺขุ ตฺวํสิ ความว่า ดูก่อนภิกษุ เธอจะเป็นอย่างไร คือเธอมีสภาพเป็นอย่างนี้ เมื่อผู้อื่นไม่ทำเสนาสนะให้ท่าน และท่านก็ไม่เข้าไปสู่เสนาสนะอันเป็นของสงฆ์. บทว่า กถํ กริสฺสสิ ความว่า พระศาสดาตรัสถามว่า เธอจักยังอัตภาพให้เป็นไปได้อย่างไร ในฤดูกาลอันหนาวเย็นเช่นที่กล่าวแล้ว. ก็พระเถระ อันพระศาสดาตรัสถามแล้วอย่างนี้ เมื่อจะกราบทูลความนั้น จึงกล่าวคาถา ความว่า
ข้าพระองค์ได้ฟังมาว่า ประเทศมคธล้วนแต่สมบูรณ์ด้วยข้าวกล้า ข้าพระองค์พึงคลุมกายด้วยฟาง แล้วนอนให้เป็นสุข เหมือนคนเหล่าอื่น ที่มีการเป็นอยู่อย่างเป็นสุข ฉะนั้น ดังนี้.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 209
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมฺปนฺนสฺสา ความว่า มีข้าวกล้า สำเร็จแล้ว (คือสุกพอจะเก็บเกี่ยวได้แล้ว).
พระเถระเรียกแคว้นมคธว่า มคธา ราชกุมารชาวชนบททั้งหลาย ชื่อว่า มคธ ชนบทแม้แห่งเดียวอันเป็นที่อยู่ของราชกุมารชาวชนบทเหล่านั้น ท่านก็เรียกเป็นพหุวจนะว่า มคธา เหมือนกัน โดยเป็น รุฬหี ศัพท์.
บทว่า เกวลา ความว่า ไม่มีส่วนเหลือ.
บทว่า อิติ เม สุตํ ความว่า อันข้าพระองค์ฟังมาแล้วอย่างนี้.
บทว่า สุตํ ท่านกล่าวแล้ว ด้วยสามารถแห่งประเทศที่ท่านยังไม่เคยเห็น ในบรรดาประเทศเหล่านั้น. ด้วยบทว่า อิติ เม สุตํ นี้ พระเถระ แสดงความหมายว่า ในกาล (อันหนาวเย็น) เช่นนี้ เราสามารถจะอยู่ในแคว้นมคธ ได้ทุกแห่งหน.
บทว่า ปลาลจฺฉนฺนโก เสยฺยํ ยถฺเ สุขชีวิโน ความว่า พระเถระประกาศยถาลาภสันโดษของตนว่า ภิกษุทั้งหลาย ผู้อยู่สุขสบายเหล่าอื่น ได้เสนาสนะอันเป็นที่สบายแล้ว ย่อมนอนโดยมีความสุข เพราะเครื่องลาด และผ้าห่มที่ดี ฉันใด แม้ข้าพระองค์ก็ฉันนั้น ชื่อว่า คลุมกายด้วยฟาง เพราะเบื้องล่างก็ปูลาดด้วยฟางอย่างเดียว ข้างบนและด้านขวาง ก็คลุมร่างด้วยเครื่องปกคลุมคือฟางเท่านั้น นอนได้อย่างสบาย คือ นอนได้เป็นสุข.
จบอรรถกถาโมฆราชเถรคาถา