พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. จูฬกเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระจูฬกเถระ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  19 พ.ย. 2564
หมายเลข  40571
อ่าน  341

[เล่มที่ 51] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 214

เถรคาถา ทุกนิบาต

วรรคที่ ๕

๖. จูฬกเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระจูฬกเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 51]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 214

๖. จูฬกเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระจูฬกเถระ

[๓๐๓] ได้ยินว่า พระจูฬกเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

นกยูงทั้งหลาย มีหงอนงาม ปีกก็งาม มีสร้อยคอเขียวงาม ปากก็งาม มีเสียงไพเราะ ส่งเสียงร่ำร้อง รื่นรมย์ใจ อนึ่ง แผ่นดินใหญ่นี้ มีหญ้าเขียวชอุ่มดูงาม มีน้ำเอิบอาบทั่วไป ท้องฟ้าก็มีวลาหกอันงาม ท่านก็มีใจเบิกบานควรแก่งาน จงเพ่งฌาน ที่พระโยคาวจร ผู้มีใจดีเจริญแล้ว มีความบากบั่น ในพระพุทธศาสนาเป็นอันดี จงบรรลุธรรมอันสูงสุด อันเป็นธรรมขาว ผุดผ่อง ละเอียด เห็นได้ยาก เป็นธรรมไม่จุติแปรผัน.

อรรถกถาจูฬกเถรคาถา

คาถาของท่านพระจูฬกเถระ เริ่มต้นว่า นทนฺติ โมรา สุสิขา สุเปขุณา. เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?

แม้พระเถระนี้ ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำแล้ว ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ทั้งหลาย เข้าไปสั่งสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพ นั้นๆ เกิดในเรือนแห่งตระกูล ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า สิขี ในกัปที่ ๓๑ แต่ภัทรกัปนี้ บรรลุนิติภาวะแล้ว วันหนึ่ง เห็นพระศาสดา มีจิตเลื่อมใส ได้ถวายผลฉัตตปาณี.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 215

ด้วยบุญกรรมนั้น เขาท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ กรุงราชคฤห์ ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้นามว่า จูฬกะ เจริญวัยแล้ว ได้ความเลื่อมใสในพระศาสดา ในคราวที่ทรงทรมานช้าง ชื่อ ธนบาล บวชแล้ว บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในถ้ำอินทสาระ วันหนึ่ง ท่านนั่งอยู่ที่ประตูถ้ำ แลดูนาของชาวมคธ.

ในขณะนั้น เมฆที่ยังฝนให้ตกตามฤดูกาล ส่งเสียงร้องดังก้องไพเราะ หนาตั้งร้อยชั้น พันชั้น ยังฝนให้ตกเต็มทั่วท้องฟ้า งามสกาวเหมือนยอดอัญชัน และฝูงนกยูง ฟังเสียงเมฆคำรน พากันร่าเริงยินดี ส่งเสียงร่ำร้องรื่นรมย์ พากันเที่ยวรำแพนไปในประเทศนั้นๆ. ในเมื่อกรชกายสงบระงับแล้ว เพราะความร้อนในฤดูร้อนผ่านไป โดยสัมผัสแห่งลมฝน ทำให้ห้องอันเป็นที่อยู่ แม้ของพระเถระถึงความเยือกเย็น จิตก็เป็นเอกัคคตารมณ์ เพราะได้ฤดูเป็นที่สบาย หยั่งลงสู่แนวกรรมฐาน. พระเถระรู้ดังนั้นแล้ว เมื่อจะยังจิตให้มีอุตสาหะในภาวนา โดยมุขคือการแสดงความถึงพร้อมแห่งกาลเป็นต้น ได้กล่าว คาถา ๒ คาถา ความว่า

นกยูงทั้งหลาย มีหงอนงาม ปีกก็งาม มีสร้อยคอเขียวงาม ปากงาม มีเสียงไพเราะ ส่งเสียงร่ำร้องรื่นรมย์ใจ อนึ่งแผ่นดินใหญ่นี้ มีหญ้าเขียวชอุ่ม ดูงาม มีน้ำเอิบอาบทั่วไป ท้องฟ้าก็มีวลาหกงดงาม ท่านก็มีใจเบิกบานควรแก่การงาน จงเพ่งฌานที่พระโยคาวจร ผู้มีใจดีเจริญแล้ว มีความบากบั่นในพระพุทธศาสนาเป็นอันดี จงบรรลุธรรมอันสูงสุด อันเป็นธรรมขาว ผุดผ่อง ละเอียด เห็นได้ยาก เป็นธรรมไม่จุติแปรผัน ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 216

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นทนฺติ โมรา สุสิขา สุเปขุณา สนีลคีวา สุมุขา สุคชฺชิโน ความว่า นกยูงทั้งหลายเหล่านี้ ชื่อว่า มีหงอนงาม เพราะประกอบไปด้วยหงอน ซึ่งตั้งอยู่บนหัวงดงาม ชื่อว่า มีปีกงดงาม เพราะประกอบไปด้วยขนหางอันเจริญ มีสีต่างๆ กันมิใช่น้อย งดงาม น่าดู ชื่อว่า มีสร้อยคอเขียวงาม เพราะประกอบไปด้วยคอมีสีเขียวงาม คล้ายกับมีสีลายพร้อย. ชื่อว่ามีปากงาม เพราะมีปากงดงาม ชื่อว่ามีเสียงไพเราะ เพราะมีเสียงร้องเสนาะจับใจ. นกยูงทั้งหลาย มีหงอน ร้องไพเราะ เหมือนเสียงดนตรี เปล่งศัพท์สำเนียง ร้องเสียงรื่นรมย์ใจ.

บทว่า สุสทฺทลา จาปิ มหามหี อยํ ความว่า ก็ผืนแผ่นดินใหญ่นี้ มีหญ้าแพรกดารดาษ มีติณชาติเขียวชอุ่ม.

บทว่า สุพฺยาปิตมฺพู ความว่า มีน้ำเอิบอาบทั่วไป คือมีชลาลัยไหลแผ่ไป เพราะมีน้ำเหนือไหลหลาก แผ่ซ่านไปในที่นั้นๆ โดยมีฝนตก ทำให้เกิดน้ำใหม่. ปาฐะว่า สุสุกฺกตมฺพุ ดังนี้ก็มี โดยมีอธิบายว่า มีชลาลัย ใสสะอาดบริสุทธิ์.

บทว่า สุวลาหกํ นกํ ความว่า ก็นภากาศนี้ ชื่อว่ามีวลาหกงดงาม เพราะมีวลาหกคือเมฆ งดงามตั้งอยู่คล้ายกับมีกลีบอุบลเขียว แผ่กระจายเต็มไปโดยรอบ.

บทว่า สุกลฺลรูโป สุมนสฺส ฌายตํ ความว่า บัดนี้ ท่านก็มีความเหมาะสม คือมีสภาพที่ควรแก่การงาน เพราะได้ฤดูเป็นที่สบาย จงเพ่งฌาน ที่พระโยคาวจรผู้ชื่อว่ามีใจดี เพราะมีจิตงอกงาม โดยไม่ถูกนิวรณ์ทั้งหลายเบียดเบียน เพ่งอยู่ด้วยสามารถแห่งอารัมมณูปนิชฌาน และลักขณูปนิชฌาน.

บทว่า สุนิกฺกโมฯ เปฯ อจฺจุตํ ปทํ ความว่า ก็ท่านเพ่งฌานอยู่อย่างนี้ เป็นความดี คือเป็นผู้มีความพยายามดี ในพระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ดีแล้ว จงกระทบคือจงกระทำให้แจ้ง ด้วยสัมมาปฏิบัติ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 217

โดยกระทำให้ประจักษ์ด้วยตนเอง ซึ่งพระนิพพาน ชื่อว่า บริสุทธิ์ด้วยดี เพราะความเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ดีแล้ว ชื่อว่า สว่างไสว เพราะไม่เข้าไปถึงความโคจร ของความเศร้าหมองแม้ทั้งปวง ชื่อว่า ละเอียด เพราะความเป็นอารมณ์ของญาณอันละเอียด ชื่อว่าเห็นได้โดยยาก เพราะความที่ธรรมลึกซึ้งอย่างยิ่ง ชื่อว่า สูงสุด เพราะความเป็นของประณีต และเพราะความเป็นของประเสริฐ ชื่อว่า เป็นอัจจุตบท คือเป็นธรรมที่ไม่จุติแปรผัน เพราะความเป็นสภาพที่เที่ยง.

ก็พระเถระเมื่อกล่าวสอนตนอยู่อย่างนี้แล เป็นผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว เพราะได้ฤดูเป็นที่สบาย ขวนขวายวิปัสสนาแล้ว บรรลุพระอรหัตตผล. สมดังคาถา ประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า

เราได้เห็นพระศาสดา ผู้เป็นนายกของโลก ทรงรุ่งเรืองดังดอกกรรณิการ์ โชติช่วงเหมือนพระจันทร์วันเพ็ญ และดังดวงประทีป เรามีจิตเลื่อมใส มีใจโสมนัส ได้ถือเอาผลกล้วยไปถวายแด่พระศาสดา ถวายบังคมแล้วกลับไป ในกัปที่ ๓๑ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้ถวายผลไม้ใดในกาลนั้น ด้วยทานนั้นเราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

ก็พระเถระบรรลุพระอรหัตแล้ว พิจารณาข้อปฏิบัติของตน เกิดปีติ และโสมนัส กล่าวซ้ำคาถาเหล่านั้นแหละ โดยนัยมีอาทิว่า นทนฺติ โมรา ดังนี้. ด้วยเหตุนั้น คาถาทั้งสองนั้นแล จึงได้เป็นคาถาพยากรณ์พระอรหัตตผล ของพระเถระ.

จบอรรถกถาจูฬกเถรคาถา