๔. ธนิยเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระธนิยเถระ
[เล่มที่ 51] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 249
เถรคาถา ติกนิบาต
วรรคที่ ๑
๔. ธนิยเถรคาถา
ว่าด้วยคาถาของพระธนิยเถระ
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 51]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 249
๔. ธนิยเถรคาถา
ว่าด้วยคาถาของพระธนิยเถระ
[๓๑๐] ได้ยินว่า พระธนิยเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า
ถ้าภิกษุมุ่งความเป็นสมณะ ควรปรารถนาเพื่อดำรงชีวิตอยู่อย่างง่ายๆ ไม่ควรดูหมิ่นจีวร ปานะ และโภชนะที่เขาถวายเป็นของสงฆ์ ถ้าหากภิกษุมุ่งความเป็นสมณะ ควรปรารถนาเพื่อดำรงชีวิตอยู่อย่างง่ายๆ ควรใช้ที่นอนและที่นั่ง (ง่ายๆ) เหมือนงูอาศัยรูหนู ฉะนั้น ถ้ามุ่งความเป็นสมณะ ควรปรารถนาเพื่อดำรงชีวิตอยู่อย่างง่ายๆ พอใจด้วยปัจจัยตามมีตามได้ และควรเจริญธรรมอย่างเอกด้วย.
อรรถกถาธนิยเถรคาถา
คาถาของท่านพระธนิยเถระ มีคำเริ่มต้นว่า สุขญฺจ ชีวิตุํ อิจฺเฉ. มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร?
แม้ท่านพระธนิยเถระ ก็ได้ทำบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ เมื่อสั่งสมบุญไว้ในภพนั้นๆ ได้บังเกิดในคฤหาสน์ของผู้มีสกุล ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า วิปัสสี มีนามว่า ธนิยะ เจริญวัยแล้ว เลี้ยงชีพด้วยการเป็นช่างหม้อ. ก็สมัยนั้น พระศาสดาประทับนั่งที่ศาลาของนายธนิยะช่างหม้อ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 250
ทรงแสดงฉธาตุวิภังคสูตร แก่กุลบุตรชื่อปุกกุสาติ. เขาได้ฟังพระสูตรนั้นแล้ว ได้สำเร็จกิจ. (ส่วน) นายธนิยะได้ทราบว่า ท่านปุกกุสาตินั้นปรินิพพานแล้ว กลับได้ศรัทธา ด้วยคิดว่า พระพุทธศาสนานี้ นำออกไป (จากวัฏฎะ) จริงหนอ ถึงแม้ด้วยการอบรมคืนเดียว ก็สามารถพ้นจากวัฏทุกข์ได้ ดังนี้ บวชแล้ว ขยันแต่งกุฎีอยู่ ถูกพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงตำหนิ เพราะอาศัยการสร้างกุฏี จึงอยู่ที่กุฏีของสงฆ์ เจริญวิปัสสนาแล้ว ได้บรรลุพระอรหัตตผล. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงได้กล่าวไว้ในคัมภีร์อปทานว่า
ข้าพเจ้าได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีพระฉวีวรรณประดุจสีทอง ทรงรับสิ่งของที่เขาบูชาอยู่ ผู้ทรงเป็นนายกโลก กำลังเสด็จไปทางปลายป่าใหญ่ และข้าพเจ้าได้ถือเอาดอกเลา เดินออกไป ทันใดนั้น ได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงข้ามโอฆะได้แล้ว หาอาสวะมิได้ ณ ที่นั้น ได้มีจิตเลื่อมใสดีใจ จึงได้บูชาพระองค์ผู้มหาวีระ ผู้ทรงเป็นทักขิไณยบุคคล ทรงอนุเคราะห์สัตวโลกทุกถ้วนหน้า ในกัปที่ ๓๑ แต่กัปนี้ ข้าพเจ้าได้ร้อยดอกไม้ใด (บูชา) ด้วยผล ของการร้อยดอกไม้นั้น ข้าพเจ้าจึงไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลของพุทธบูชา.กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าเผาแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติแล้ว.
อนึ่ง ครั้นได้บรรลุพระอรหัตตผลแล้ว ท่านเมื่อจะพยากรณ์พระอรหัตตผลโดยตรง คือการให้โอวาทแก่เหล่าภิกษุ ผู้ยกตนขึ้นข่มภิกษุเหล่าอื่น ผู้ยินดีสังฆภัต เป็นต้น ด้วยการสมาทานธุดงค์ จึงได้กล่าวคาถา ๓ คาถา ไว้ว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 251
ถ้าภิกษุมุ่งความเป็นสมณะ ควรปรารถนาเพื่อดำรงชีวิตอยู่อย่างง่ายๆ ไม่ควรดูหมิ่นจีวร ปานะ และ โภชนะที่เขาถวายเป็นของสงฆ์ ถ้าหากภิกษุมุ่งความเป็นสมณะ ควรปรารถนาเพื่อดำรงชีวิตอยู่อย่างง่ายๆ ควรใช้ที่นอนและที่นั่งง่ายๆ เหมือนงูอาศัยรูหนู ฉะนั้น ถ้ามุ่งความเป็นสมณะ ควรปรารถนาเพื่อดำรงชีวิตอยู่อย่างง่ายๆ พอใจด้วยปัจจัยตามมีตามได้ และควรเจริญธรรมอย่างเอกด้วย.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุขญฺจ ชีวิตุํ อิจฺเฉ สามญฺญสฺมึ อเปกฺขวา (ผู้มุ่งความเป็นสมณะ ควรปรารถนาเพื่อดำรงชีวิตอยู่อย่างง่ายๆ ด้วย) ความว่า ภิกษุเป็นผู้มุ่งความเป็นสมณะ คือสมณภาวะ ได้แก่เป็นผู้มีความเคารพแรงกล้าในสิกขา ถ้าหากปรารถนาเพื่อดำรงชีวิตอยู่อย่างง่ายๆ ไซร้ อธิบายว่า ถ้าหากต้องการจะละอเนสนามีชีวิตอยู่อย่างง่ายๆ ตามสามัญไซร้.
บทว่า สงฺฆิกํ นาติมญฺญเญยฺย จีวรํ ปานโภชนํ (ไม่ควรดูหมิ่นจีวร ปานะและโภชนะที่เขาถวายเป็นของสงฆ์) ความว่า ไม่ควรดูหมิ่นจีวร อาหาร ที่นำมาจากสงฆ์ อธิบายว่า ธรรมดาว่าลาภที่เกิดขึ้นแก่สงฆ์ เป็นการเกิดขึ้นโดยบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้น เมื่อจะบริโภคลาภนั้น ความสุขอย่างสามัญก็เป็นอันอยู่ในเงื้อมมือทีเดียว เพราะเกิดจากอาชีวปาริสุทธิศีล.
บทว่า อหิ มูลิกโสพฺภํว ความว่า ควรเสพคือใช้สอยเสนาสนะ เหมือนงูใช้รูที่หนูขุดไว้. อธิบายว่า อุปมาเสมือนว่างูไม่ทำที่อยู่อาศัยเองสำหรับตน แต่อาศัยที่อยู่ที่หนูหรือสัตว์อื่นทำไว้แล้ว ต้องการอย่างใดก็หลีกไปได้ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ควรต้องความเศร้าหมอง เพราะการสร้างเสนาสนะอยู่เอง อยู่ได้ทุกแห่งแล้วก็หลีกไป.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 252
บัดนี้ ท่านพระธนิยเถระเมื่อจะแสดงว่า ความสุขอย่างสามัญย่อมมี โดยความพอใจปัจจัยตามที่ได้มา ทั้งที่กล่าวมาแล้วและไม่ได้กล่าวถึงเท่านั้น ไม่ใช่มีโดยประการอื่นดังนี้ จึงได้กล่าวไว้ว่า อิตเรน อิจฺเฉยฺย อธิบายว่า ภิกษุควรถึงความพอใจ (สันโดษ) ด้วยปัจจัยทุกอย่างตามที่ได้มา ไม่ว่าเลว หรือประณีต.
บทว่า เอกธมฺมํ ได้แก่ ความไม่ประมาท. เพราะว่าความไม่ประมาท นั้น ไม่มีโทษสำหรับผู้หมั่นประกอบ และทั้งโลกิยสุขและโลกุตรสุขทั้งหมด เป็นอันอยู่ในเงื้อมมือทีเดียว. เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า เพราะผู้ไม่ประมาทเพ่งอยู่ ย่อมประสบความสุขอันไพบูลย์.
จบอรรถกถาธนิยเถรคาถา