พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. สุภูตเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระสุภูตเถระ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  20 พ.ย. 2564
หมายเลข  40605
อ่าน  483

[เล่มที่ 52] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๓ - หน้า 72

เถรคาถา ปัญจกนิบาต

๒. สุภูตเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระสุภูตเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 52]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๓ - หน้า 72

๒. สุภูตเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระสุภูตเถระ

[๓๓๖] บุรุษผู้ประสงค์จะทำธุรกิจ เมื่อประกอบตนในกิจที่ไม่ควรประกอบ ถ้าเมื่อขืนประพฤติอยู่อย่างนั้น ก็ไม่พึงได้สำเร็จผล การประกอบในกิจที่ไม่ควรประกอบนั้น มิใช่ลักษณะบุญ ถ้าบุคคลใดไม่ถอนความเป็นอยู่อย่างลำบาก แล้วมาสละธรรมอันเอกเสีย บุคคลนั้นก็พึงเป็นดังคนกาลี ถ้าสละทิ้งคุณธรรมแม้ทั้งปวง ผู้นั้นก็พึงเป็นเหมือนคนตาบอด เพราะไม่เห็นธรรมที่สงบและธรรมไม่สงบ บุคคลพึงทำอย่างใด พึงพูดอย่างนั้นแล ไม่พึงทำอย่างใด ไม่พึงพูดอย่างนั้น บัณฑิตทั้งหลายย่อมกำหนดรู้ว่า บุคคลผู้ไม่ทำ ดีแต่พูดนั้นมีมาก ดอกไม้งามมีสีแต่ไม่มีกลิ่น ฉันใด วาจาอันเป็นสุภาษิต ย่อมไม่มีผลแก่บุคคลผู้ไม่ทำอยู่ ก็ฉันนั้น ดอกไม้งาม มีสี มีกลิ่นฉันใด วาจาอันเป็นสุภาษิตย่อมมีผลแก่บุคคลผู้ทำอยู่ฉะนั้น.

จบสุภูตเถรคาถา

อรรถกถาสุภูตเถรคาถาที่ ๒

คาถาของท่านพระสุภูตเถระ มีคำเริ่มต้นว่า อโยเค ดังนี้. เรื่องนั้นมีเหตุเกิดขึ้นอย่างไร?

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๓ - หน้า 73

พระเถระแม้นี้ ได้ทำบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าในปางก่อน สั่งสมบุญไว้ในภพนั้นๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะ บังเกิดในตระกูลคหบดีมหาศาล ในกรุงพาราณสี ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว วันหนึ่ง ฟังธรรมในสำนักของพระศาสดามีจิตเลื่อมใส ตั้งอยู่ในสรณะและศีล ได้ให้เช็ดทาพระคันธกุฎีของพระศาสดา ด้วยของหอม ๔ อย่าง (จันทน์แดง, กานพลู, กฤษณา, กำยาน) เดือนละ ๘ ครั้งทุกๆ เดือน.

ด้วยบุญกรรมนั้น ท่านเป็นผู้มีร่างกายหอมตลบในที่เกิดแล้วๆ ในพุทธุปบาทกาลนี้บังเกิดในตระกูลคฤหบดีในมคธรัฐ ได้นามว่า สุภูตะ เจริญวัยแล้วละฆราวาส เพราะความที่ตนเป็นผู้มีอัธยาศัยในการสลัดออก จึงบวชในเดียรถีย์ เมื่อไม่ได้สิ่งอันเป็นสาระในที่นั้น เห็นสมณพราหมณ์เป็นอันมาก มีอุปติสสะ โกลิตะ และเสละ เป็นต้น บวชในสำนักของพระศาสดาเสวยความสุขในความเป็นสมณะ ได้ศรัทธาในพระศาสนา จึงบวช แล้วให้อาจารย์และอุปัชฌาย์ยินดี เรียนพระกรรมฐาน อยู่โดยวิเวก เจริญวิปัสสนาบรรลุพระอรหัต. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในอปทาน (๑) ว่า

ในภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้ามีพระนามว่า กัสสป ผู้เป็นพงศ์พันธุ์พรหม ทรงยศใหญ่ ประเสริฐกว่านักปราชญ์ทั้งหลาย ได้เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว พระองค์สมบูรณ์ด้วยอนุพยัญชนะ มีพระลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ มีพระรัศมีล้อมรอบข้างละวา ประกอบด้วยข่ายรัศมี


๑. ขุ. อ ๓๓/ข้อ ๑๔๐. ในชื่อว่า จูฬสุคันธเถระ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๓ - หน้า 74

ทรงยังสัตว์ให้ยินดีได้เหมือนพระจันทร์ แผดแสงเหมือนพระอาทิตย์ ทำให้เยือกเย็นเหมือนเมฆ เป็นบ่อเกิดแห่งคุณเหมือนสาคร มีศีลเหมือนแผ่นดิน มีสมาธิเหมือนขุนเขาหิมวันต์ มีปัญญาเหมือนอากาศ ไม่ข้องเหมือนกับลม ครั้งนั้น เราเกิดในสกุลใหญ่ มีทรัพย์และธัญญาหารมากมาย เป็นที่สั่งสมแห่งรัตนะต่างๆ ในพระนครพาราณสี เราได้เข้าเฝ้าพระองค์ผู้เป็นนายกของโลก ซึ่งประทับนั่งอยู่กับบริวารมากมาย ได้สดับอมตธรรมอันนำมาซึ่งความยินดีแห่งจิต พระพุทธองค์ทรงพระมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ มีนักขัตฤกษ์ดีเหมือนพระจันทร์ ทรงสมบูรณ์ด้วยอนุพยัญชนะ บานเหมือนต้นพญารัง อันข่ายคือพระรัศมีแวดวง มีพระรัศมีรุ่งเรืองเหมือนภูเขาทอง มีพระรัศมีล้อมรอบด้านละวา มีรัศมีนับด้วยร้อยเหมือนอาทิตย์ มีพระพักตร์เหมือนทองคำ เป็นพระพิชิตมารผู้ประเสริฐ เป็นเหมือนภูเขาอันให้เกิดความยินดี มีพระหฤทัยเต็มด้วยพระกรุณา มีพระคุณปานดังสาคร มีพระเกียรติปรากฏแก่โลกเหมือนเขาสิเนรุซึ่งเป็นภูเขาสูงสุด มีพระยศเป็นที่ปลื้มใจ เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาเช่นเดียวกับอากาศ เป็นนักปราชญ์ มีพระทัยไม่ข้องในที่ทั้งปวงเหมือนลม เป็นผู้นำ เป็นที่พึ่งของสรรพสัตว์เหมือนแผ่นดิน เป็นมุนีผู้สูงสุด อันโลกไม่เข้าไปฉาบทาได้

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๓ - หน้า 75

เหมือนปทุมไม่ติดน้ำฉะนั้น เป็นผู้เช่นกับกองไฟเผาหญ้าคือวาทะลวงโลก พระองค์เป็นเสมือนยาบำบัดโรค ทำให้ยาพิษคือกิเลสพินาศ ประดับด้วยกลิ่นคือคุณเหมือนภูเขาคันธมาทน์ เป็นนักปราชญ์ที่เป็นบ่อเกิดแห่งคุณ ดุจดังสาครเป็นบ่อเกิดแห่งรัตนะทั้งหลาย ฉะนั้น และเป็นเหมือนม้าสินธพอาชาไนย เป็นผู้นำไปซึ่งมลทินคือกิเลส ทรงย่ำยีมารและเสนามารเสียได้ เหมือนนายทหารใหญ่ผู้มีชัยโดยพิเศษ ทรงเป็นใหญ่เพราะรัตนะคือโพชฌงค์ เหมือนพระเจ้าจักรพรรดิ ทรงเป็นผู้เยียวยาพยาธิคือโทสะเหมือนกับหมอใหญ่ ทรงเป็นหมอผ่าฝีคือทิฏฐิ เหมือนศัลยแพทย์ผู้ประเสริฐสุด ครั้งนั้น พระองค์ทรงส่องโลกให้โชติช่วง อันมนุษย์และทวยเทพสักการะ เป็นดังพระอาทิตย์ส่องแสงสว่างให้แก่นรชน ทรงแสดงปฐมเทศนาในบริษัททั้งหลาย พระองค์ทรงพร่ำสอนอย่างนี้ว่า บุคคลจะมีโภคทรัพย์มากได้เพราะทำงาน จะเข้าถึงสุคติก็เพราะศีล จะดับกิเลสได้เพราะภาวนา ดังนี้ บริษัททั้งหลายฟังเทศนานั้น อันให้เกิดความแช่มชื่นมาก ไพเราะทั้งเบื้องต้นท่ามกลางและที่สุด มีรสใหญ่ประหนึ่งน้ำอมฤต เราได้สดับพระธรรมเทศนาอันไพเราะดี ก็เลื่อมใสในพระศาสนาของ พระพิชิตมาร จึงถึงพระสุคตเจ้าเป็นสรณะ นอบน้อมตราบเท่าสิ้นชีวิต

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๓ - หน้า 76

ครั้งนั้นเราได้เอาของหอมมีชาติ ๔ ทาพื้นพระคันธกุฎีของพระมหามุนีเดือนหนึ่ง ๘ วัน โดยตั้งปณิธานให้สรีระที่ปราศจากกลิ่นหอมได้มีกลิ่นหอม ครั้งนั้นพระพิชิตมาร ได้พยากรณ์เราผู้อยากได้กายมีกลิ่นหอม ว่านระใดเอาของหอมทาพื้นพระคันธกุฎีคราวเดียว ด้วยผลของกรรมนั้น นระนั้นเกิดในชาติใดๆ จักเป็นผู้มีตัวหอมทุกชาติไป จักเป็นผู้เจริญด้วยกลิ่นคือคุณ จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะปรินิพพาน เพราะกรรมที่ทำไว้ดีนั้น และเพราะการตั้งเจตน์จำนงไว้ เราละร่างมนุษย์แล้ว ได้ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก็ในภพสุดท้ายในบัดนี้ เราเกิดใน สกุลอันมั่นคง เมื่อเรายังอยู่ในครรภ์มารดา มารดาเป็นหญิงมีกลิ่นตัวหอม และในเวลาที่เราคลอดจากครรภ์มารดานั้น พระนครสาวัตถีหอมฟุ้งเหมือนกับถูกอบด้วยกลิ่นหอมทุกอย่าง ขณะนั้นฝนดอกไม้อันหอมหวล กลิ่นทิพย์อันน่ารื่นรมย์ใจ และธูปมีค่ามากหอมฟุ้งไป เราเกิดในเรือนหลังใด เรือนหลังนั้นเทวดาได้เอาธูปและดอกไม้ ล้วนแต่มีกลิ่นหอม และเครื่องหอมมาอบ ก็ในเวลาที่เรายังเยาว์ ตั้งอยู่ในปฐมวัย พระศาสดาผู้เป็นสารถีฝึกนระ ทรงแนะนำบริษัทของพระองค์ที่เหลือแล้ว เสด็จมายังพระนครสาวัตถี พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์เหล่านั้นทั้งหมด ครั้งนั้น เราได้พบพุทธานุภาพจึงออกบวช

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๓ - หน้า 77

เราเจริญธรรม ๔ ประการคือ ศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุตติอันยอดเยี่ยม แล้วบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะ ในคราวที่เราออกบวช ในคราวที่เราเป็นพระอรหันต์ และในคราวที่เราจักนิพพาน ได้มีฝนกลิ่นหอมตกลงมา ก็กลิ่นสรีระอันประเสริฐสุดของเราครอบงำจันทน์อันมีค่าดอกจำปาและดอกอุบลเสีย และเราไปในที่ใดก็ย่อมข่มขี่กลิ่นเหล่านี้เสียโดยประการทั้งปวง ฟุ้งไปเช่นนั้นเหมือนกัน เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ... ฯลฯ ... พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้.

ก็แลครั้นท่านบรรลุพระอรหัตแล้ว คิดถึงทุกข์ คือ อัตตกิลมถานุโยค ที่คนบวชในพวกเดียรถีย์ได้รับมา และสุขอันเกิดแต่ฌานเป็นต้น ที่ตนบวชในพระศาสนาได้มา เมื่อจะพยากรณ์พระอรหัตตผล โดยยกเอาการพิจารณาข้อปฏิบัติของตน จึงได้กล่าวคาถา ๕ คาถา๑เหล่านี้ว่า

บุรุษผู้ประสงค์จะทำธุรกิจ เมื่อประกอบตนในกิจที่ไม่ควรประกอบ ถ้าเมื่อขึ้นประพฤติอยู่อย่างนั้น ก็ไม่พึงได้สำเร็จผล การประกอบในกิจที่ไม่ควรประกอบนั้น มิใช่ลักษณะบุญ ถ้าบุคคลใด ไม่ถอนความเป็นอยู่อย่างลำบาก แล้วมาสละธรรมอันเอกเสีย บุคคลนั้นก็พึงเป็นดังคนกาลี ถ้าสละทิ้งคุณธรรมแม้ทั้งปวง ผู้นั้นก็พึงเป็นเหมือนคนตาบอด เพราะไม่เห็นธรรมที่สงบและเห็นธรรมไม่สงบ


๑. ขุ. เถร. ๒๖/ข้อ ๓๓๖.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๓ - หน้า 78

บุคคลพึงทำอย่างใด พึงพูดอย่างนั้นแล ไม่พึงทำอย่างใด ไม่พึงพูดอย่างนั้น บัณฑิตทั้งหลายย่อมกำหนดรู้ว่า บุคคลผู้ไม่ทำ ดีแต่พูดนั้นมีมาก ดอกไม้งามมีสี แต่ไม่มีกลิ่นฉันใด วาจาอันเป็นสุภาษิต ย่อมไม่มีผลแก่บุคคลผู้ไม่ทำอยู่ ก็ฉันนั้น ดอกไม้งามมีสี มีกลิ่น ฉันใด วาจาอันเป็นสุภาษิต ย่อมมีผลแก่บุคคลผู้ทำอยู่ ฉันนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อโยเค ได้แก่ในที่สุด ๒ อย่าง ที่ไม่ ควรประกอบ คือไม่ควรเสพ. แต่ในที่นี้พึงทราบความ ด้วยสามารถแห่งอัตตกิลมถานุโยค ประกอบเนืองๆ ในการทรมานตน.

บทว่า ยุญฺชํ ความว่า ประกอบตนในที่สุด ๒ อย่างนั้น คือปฏิบัติ เหมือนอย่างนั้น.

บทว่า กิจฺจมิจฺฉโก ความว่า ปรารถนากิจที่นำประโยชน์ทั้งสองมา, หากว่าพึงประพฤติอยู่ในกิจไม่ควรประกอบ โดยเป็นปฎิปักษ์ต่อกิจที่ควร ประกอบนั้นไซร้.

บทว่า นาธิคจฺเฉยฺย ความว่า ชื่อว่า ญายะ เพราะไม่พึงบรรลุหิตสุขตามที่ประสงค์ เพราะฉะนั้น เราถูกหลอกลวงด้วยมติของพวกเดียรถีย์ จึงประกอบในสิ่งไม่ควรประกอบ นั่นไม่ใช่ลักษณะบุญ คือไม่ใช่สภาวะแห่งบุญของเรา. ท่านแสดงว่า เราหลงเพราะกรรมเก่า จึงประกอบในสิ่งไม่ควรประกอบ.

บทว่า อพฺพูฬฺหํ อฆคตํ วิชิตํ ความว่า กิเลสมีราคะเป็นต้น ชื่อว่า อฆา เพราะมีการเบียดเบียนเป็นสภาวะ, ความเป็นอันลำบาก คือ อฆา

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๓ - หน้า 79

ความเป็นอยู่แห่งกิเลสที่ลำบาก คือความเป็นไปในสงสาร ความเป็นอยู่แห่งกิเลสที่ลำบากเหล่านั้น ได้แก่ความครอบงำกุศลธรรม. ท่าน กล่าว อฆคตํ วิชิตํ เพราะไม่ลบนิคคหิต. อธิบายว่า ผู้ใดยังละความ เป็นอยู่อันลำบากไม่ได้ ผู้นั้นก็เป็นอยู่อย่างนั้น เพราะทำการเป็นอยู่ลำบาก ที่ยังถอนไม่ได้นั้นให้เป็นแว่นแคว้น คือยังถอนกิเลสขึ้นไม่ได้.

บทว่า เอกญฺเจ โอสฺสเชยฺย ความว่า หากพึงละ คือพึงสละความไม่ประมาทอันหนึ่ง และความประกอบชอบ ด้วยเป็นผู้ไม่มีเพื่อน ๒ และด้วยความเป็นผู้มีความเพียร. บุคคลนั้นเหมือนกาลี คือพึงเป็นเหมือน คนกาลกิณี.

บทว่า สพฺพานิปิ เจ โอสฺสเชยฺย ความว่า หากบุคคลนั้น พึงสละสัทธินทรีย์ วีริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ และปัญญินทรีย์ อันบ่มด้วยวิมุตติแม้ทั้งหมด, คือหากพึงทิ้งเสียด้วยการไม่อบรม, คนนั้นก็พึงเป็นเหมือนคนบอด เพราะไม่เห็นธรรมที่สงบและธรรมที่ไม่สงบ.

ศัพท์ว่า ยถา เป็นนิบาต ใช้ในอรรถเปรียบเทียบโดยอุปมา.

บทว่า วณฺณวนฺตํ แปลว่า สมบูรณ์ด้วยสีและสัณฐาน.

บทว่า อคนฺธกํ ได้แก่ เว้นจากกลิ่น อันต่างด้วยดอกทองกวาว ดอกอัญชันเขียว ดอกชัยพฤกษ์เป็นต้น.

บทว่า เอวํ สุภาสิตา วาจา ความว่า พุทธพจน์คือปิฎก ๓ อัน เสมือนกับดอกไม้อันสมบูรณ์ด้วยสีและสัณฐาน ชื่อว่าวาจาสุภาษิต เหมือนอย่างว่า กลิ่นย่อมไม่แผ่ไปในสรีระของผู้ทัดทรงดอกไม้ที่ไม่มีกลิ่น ฉันใด พระพุทธพจน์ก็ฉันนั้น ผู้ใดไม่ประพฤติให้สม่ำเสมอด้วยกิจ มีการฟังโดยเคารพเป็นต้น

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๓ - หน้า 80

ย่อมไม่นำมาซึ่งกลิ่นคือสุตะ และกลิ่นคือการปฏิบัติ คือ ไม่มีผลแก่ผู้นั้น ผู้ไม่ประพฤติโดยเคารพ ชื่อว่า แก่ผู้ไม่กระทำกิจที่พึงกระทำในพระพุทธพจน์นั้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า วาจาอันเป็นสุภาษิต ย่อมไม่มีผลแก่ผู้กระทำ ด้วยประการฉะนี้.

บทว่า สุคนฺธกํ ได้แก่ ดอกไม้หอมต่างด้วยดอกมะลิ ดอกจำปา และดอกอุบลเขียวเป็นต้น.

บทว่า เอวํ ความว่า กลิ่นย่อมแผ่ไปในสรีระของบุคคลผู้ทัดทรงดอกไม้ฉันใด แม้วาจาอันเป็นสุภาษิต กล่าวคือพระพุทธพจน์ คือปิฎก ๓ ก็ฉันนั้น ย่อมมีผล คือย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มากแก่บุคคลผู้การทำกิจที่ควรกระทำในพระพุทธพจน์นั้น ด้วยกิจมีการฟังโดยเคารพเป็นต้น. เพราะฉะนั้น พึงปฏิบัติในโอวาท คือพึงทำอย่างไร พึงกล่าวอย่างนั้น คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วแล.

อรรถกถาสุภูตเถรคาถาที่ ๒ จบ