พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. คิริมานันทเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระคิริมานันทเถระ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  20 พ.ย. 2564
หมายเลข  40606
อ่าน  388

[เล่มที่ 52] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๓ - หน้า 81

เถรคาถา ปัญจกนิบาต

๓. คิริมานันทเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระคิริมานันทเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 52]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๓ - หน้า 81

๓. คิริมานันทเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระคิริมานันทเถระ

[๓๓๗] ฝนตกเสียงไพเราะเหมือนเพลงขับ กุฎีของเรามุงดีแล้ว มีประตูหน้าต่างมิดชิดดี เราเป็นผู้สงบอยู่ในกุฎีนั้น ถ้าประสงค์จะตกก็ตกลงมาเถิดฝน ฝนตกไพเราะเหมือนเพลงขับ กุฎีของเรามุงดีแล้ว มีประตูหน้าต่างมิดชิดดี เราเป็นผู้มีจิตสงบอยู่ในกุฎีนั้น ถ้าประสงค์จะตกก็ตกลงมาเถิดฝน ฯลฯ เราเป็นผู้ปราศจากราคะอยู่ในกุฏี นั้น ฯลฯ เราเป็นผู้ปราศจากโทสะอยู่ในกุฎีนั้น ฯลฯ เรา เป็นผู้ปราศจากโมหะอยู่ในกุฎีนั้น ถ้าประสงค์จะตกก็ตกลงมาเถิดฝน.

จบคิริมานันทเถรคาถา

อรรถกถาคิริมานันทเถรคาถาที่ ๓

คาถาของท่านพระคิริมานันทเถระ มีคำเริ่มต้นว่า วสฺสติ เทโว ดังนี้. เรื่องนั้นมีเหตุเกิดขึ้นอย่างไร?

พระเถระแม้นี้ ได้กระทำบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าในปางก่อน สั่งสมบุญไว้ในภพนั้นๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่าสุเมธ บังเกิดในเรือนมีตระกูล เจริญวัยแล้วอยู่ครองฆราวาส เมื่อภรรยาและบุตรของตนทำกาละแล้ว เพียบพร้อมไปด้วยลูกศรคือความโศก เข้าไปสู่ป่า เมื่อพระศาสดาเสด็จไปในที่นั้นแสดงธรรม ถอนลูกศรคือความโศกได้แล้ว

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๓ - หน้า 82

มีจิตเลื่อมใสบูชาด้วยของหอมและดอกไม้ ถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ประคองอัญชลีขึ้นเหนือเศียรแล้วกล่าวชมเชย.

ด้วยบุญกรรมนั้น ท่านท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก ในพุทธุปบาทกาลนี้ เกิดเป็นบุตรแห่งปุโรหิตของพระเจ้าพิมพิสารในกรุงราชคฤห์, ท่านได้นามว่าคิริมานันทะ, ท่านถึงความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว เห็นอานุภาพของพระพุทธเจ้าในการเสด็จไปกรุงราชคฤห์แห่งพระศาสดา ได้ศรัทธาบรรพชา กระทำสมณธรรมอยู่ในหมู่บ้านสิ้น ๒ - ๓ วัน แล้ว ได้ไปยังกรุงราชคฤห์เพื่อถวายบังคมพระศาสดา.

พระเจ้าพิมพิสารมหาราช ทรงทราบการมาของท่าน จึงเสด็จเข้าไปหา ทรงปวารณาว่า ท่านขอรับ ขอท่านจงอยู่ในที่นี้แหละ ข้าพเจ้าจะอุปัฏฐากด้วยปัจจัย ๔ ดังนี้แล้วเสด็จไปไม่ทรงระลึกถึง ความที่พระองค์มีกิจมาก เทวดาทั้งหลายคิดว่า พระเถระย่อมอยู่ในโอกาสกลางแจ้งจึงห้ามฝน เพราะกลัวพระเถรจะเปียก. พระราชาทรงกำหนดถึงเหตุที่ฝนไม่ตก จึงให้สร้างกระท่อมสำหรับพระเถระ. พระเถระอยู่ในกระท่อมได้ทำความเพียรชอบ โดยได้เสนาสนะเป็นสัปปายะ ประกอบความเพียรสม่ำเสมอ บำเพ็ญวิปัสสนาบรรลุพระอรหัต. ด้วยเหตุนั้นท่านจึงกล่าวไว้ในอปทาน (๑) ว่า

ภริยาของเราทำกาละแล้ว บุตรของเราก็ไปสู่ป่าช้า มารดา บิดา และพี่ชายของเราเผาที่เชิงตะกอนเดียวกัน เพราะความเศร้าโศกนั้น เราเป็นผู้เร่าร้อน เป็นผู้ผอมเหลือง จิตเราฟุ้งซ่าน เพราะเราประกอบด้วยความเศร้าโศกนั้น เรามากด้วยลูกศรคือความโศก จึงเข้าไปสู่ชายป่า บริโภคผลไม้ที่หล่นเองอยู่ที่โคนต้นไม้


๑. ขุ. อป. ๓๒/ข้อ ๓๙๙. ในชื่อว่า คิริมานันทเถระ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๓ - หน้า 83

พระสัมพุทธชินเจ้าพระนามว่าสุเมธ ผู้กระทำที่สุดทุกข์ พระองค์ประสงค์จะช่วยเหลือเรา จึงเสด็จมาในสำนักของเรา

เราได้ยินเสียงพระบาทของพระพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธ ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ยิ่ง จึงชะเง้อศีรษะดูพระมหามุนี

พระมหาวีรเจ้าเสด็จเข้ามา ปีติเกิดขึ้นแก่เรา ในกาลนั้น เราได้เห็นพระองค์ผู้เป็นนายกของโลก แล้วมีใจไม่ฟุ้งซ่านกลับได้สติ แล้วได้ถวายใบไม้กำมือหนึ่ง

พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีจักษุประทับนั่งบนใบไม้นั้นด้วยความอนุเคราะห์ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสุเมธ ผู้เป็นนายของโลก ผู้ตรัสรู้แล้ว ครั้นประทับนั่งบนใบไม้นั้นแล้ว ทรงแสดงธรรมเครื่องบรรเทาลูกศรคือความโศกแก่เราว่า

ชนเหล่านั้น ใครไม่ได้เชื้อเชิญให้มาก็มาจากปรโลกนั้นเอง ใครไม่ได้อนุญาตให้ไป ก็ไปจากมนุษยโลกนี้แล้ว เขามาแล้ว ฉันใด ก็ไปฉันนั้น จะปริเทวนาไปทำไมในการตายของเขานั้น

สัตว์มีเท้า เมื่อฝนตกลงมา เขาก็เข้าไปอาศัยในโรงเพราะฝนตก เมื่อฝนหายแล้ว เขาก็ไปตามปรารถนา ฉันใด มารดาบิดาของท่านก็ฉันนั้น จะปริเทวนาไปทำไม ในการตายของเขานั้น

แขกผู้จรมา ทำให้เจ้าของบ้านต้องวิ่งเต้นต้อนรับ ฉันใด มารดาบิดาของท่านก็ฉันนั้น จะปริเทวนาไปทำไมในการตายของเขานั้น

งูละคราบเก่าแล้ว ย่อมไปสู่กายเดิมฉันใด มารดาบิดาของท่านก็ฉันนั้น จะปริเทวนาไปทำไมในการตายของเขานั้น

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๓ - หน้า 84

แขกผู้จรมา ทำให้เจ้าของบ้านต้องวิ่งเต้นต้อนรับ ฉันใด มารดาบิดาของท่านก็ฉันนั้น จะคร่ำครวญไปทำไมในการตายของเขานั้น (*1)

งูลอกคราบเก่าแล้ว ย่อมหนีไปฉันใด มารดาบิดาของท่านก็ฉันนั้น ย่อมละกายของตนในโลกนี้ไป (*2)

เราได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสแล้ว ละลูกศรคือความโศกได้ ยังความปราโมทย์ให้เกิดแล้ว ได้ถวายบังคมพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด

ครั้นถวายอภิวาทแล้ว ได้บูชาพระพุทธเจ้าผู้ล่วงพ้นภูเขาคือ กิเลส เป็นพระมหานาค ทรงสมบูรณ์ด้วยกลิ่นหอมอันเป็นทิพย์ พระนามว่าสุเมธ เป็นนายกของโลก

ครั้นบูชาพระสัมพุทธเจ้าแล้ว ประนมกรอัญชลีขึ้นเหนือเศียร อนุสรณ์ถึงคุณอันเลิศแล้ว ได้สรรเสริญพระองค์ผู้เป็นนายกของโลกว่า

ข้าแต่พระมุนีมหาวีรเจ้า พระองค์เป็นสัพพัญญู เป็นนายกของโลก ทรงข้ามพ้นแล้ว ยังทรงรื้อขนสรรพสัตว์ด้วยพระญาณอีก

ข้าแต่พระมหามุนีผู้มีจักษุ พระองค์ตัดความเคลือบแคลงสงสัยแล้ว ได้ทรงยังมรรคให้เกิดแก่ข้าพระองค์ ด้วยพระญาณของพระองค์ พระอรหันต์ผู้ถึงความสำเร็จ ได้อภิญญา ๖ มีฤทธิ์มากเที่ยวไปในอากาศได้เป็นนักปราชญ์ ห้อมล้อมอยู่ทุกขณะ พระเสขะผู้กำลังปฏิบัติ และผู้ตั้งอยู่ในผลเป็นสาวกของพระองค์ สาวกทั้งหลายของพระองค์ย่อมบานเหมือนดอกปทุมเมื่ออาทิตย์อุทัย

มหาสมุทรประมาณไม่ได้ ไม่มีอะไรเหมือน ยากที่จะข้ามได้ฉันใด ข้าแต่พระองค์ผู้มีจักษุ พระองค์สมบูรณ์ด้วยพระญาณก็ประมาณไม่ได้ฉันนั้น เราถวายบังคมพระพุทธเจ้าผู้ชนะโลกมีจักษุ มียศมาก นมัสการทั่ว ๔ ทิศแล้วได้กลับไป

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๓ - หน้า 85

เราเคลื่อนจากเทวโลกแล้วรู้สึกตัว กลับมีสติ ท่องเที่ยวอยู่ในภพน้อยใหญ่ลงสู่ครรภ์มารดา

ออกจากเรือนแล้วบวชเป็นบรรพชิต เป็นผู้มีความเพียร มีปัญญา มีการหลีกเร้นอยู่เป็นอารมณ์ ตั้งความเพียร ยังพระมหามุนีให้ทรงโปรดปราน พ้นแล้วจากกิเลส ดังพระจันทร์พ้นแล้วจากกลีบเมฆอยู่ทุกเมื่อ

เราเป็นผู้ขวนขวายในวิเวก สงบระงับ ไม่มีอุปธิ กำหนดรู้ อาสวะทั้งปวงแล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่ในกัปที่ ๓ หมื่น แต่กัปนี้ เราได้บูชาพระพุทธเจ้าใด ด้วยการบูชานั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา เราเผากิเลส ทั้งหลายแล้ว... ฯลฯ... พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้.

ครั้น เมื่อพระเถระบรรลุพระอรหัตแล้ว เมื่อฝนตกอยู่ดุจมีเสียงร่าเริงยินดี เมื่อจะพยากรณ์พระอรหัตตผลนั้น โดยประกอบข้อที่ฝนหลั่งลงมาแต่เบื้องบน จึงได้กล่าวคาถา ๕ คาถา (๑) นี้ว่า

ฝนตกเสียงไพเราะเหมือนเพลงขับ กุฎีของเรามุงดีแล้ว มีประตูหน้าต่างมิดชิดดี เราเป็นผู้สงบอยู่ในกุฎีนั้น ถ้าประสงค์จะตกก็ตกลงมาเถิดฝน ฝนตกไพเราะเหมือนเพลงขับ กุฎีของเรามุงดีแล้ว มีประตูหน้าต่างมิดชิดดี เราเป็นผู้มีจิตสงบอยู่ในกุฎีนั้น ถ้าประสงค์จะตกก็ตกลงมาเถิดฝน. ฯลฯ เราเป็นผู้ปราศจากราคะอยู่ในกุฎีนั้น ฯลฯ


๑. ขุ. เถร. ๒๖/ข้อ ๓๓๗.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๓ - หน้า 86

เราเป็นผู้ปราศจากโทสะอยู่ในกุฎีนั้น ฯลฯ เราเป็นผู้ปราศจากโมหะอยู่ในกุฎีนั้น ถ้าประสงค์จะตกก็ตกลงมาเถิดฝน.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยถาสุคีตํ แปลว่า สมควรแก่เพลงขับที่ไพเราะ, อธิบายว่า สมควรแก่เพลงขับแห่งเมฆฝนอันดีนั่นเอง. จริงอยู่ เมฆเมื่อตั้งขึ้นโดยชั้นพันชั้นแล้วคำรนร้องกระหึ่ม แม้แลบออกจากสายฟ้าไม่ตกลงย่อมงาม เหมือนเมื่อไม่ร้องกระหึ่มตกลงอย่างเดียว ย่อมไม่งามฉะนั้น แต่เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้วตกลงย่อมงาม เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า วสฺสติ เทโว ยถาสุคีตํ ฝนตกลงเหมือนเสียงเพลงขับ. เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า เมฆที่เปล่งเสียงน่าชมเชยยิ่ง และว่าคำรามร้อง และตกลง.

บทว่า ตสฺสํ วิหรามิ ความว่า ย่อมอยู่ในกระท่อมนั้น โดยห้องอริยวิหารธรรม คือโดยอิริยาบถวิหาร.

บทว่า วูปสนฺตจิตฺโต ได้แก่มีจิตสงบโดยชอบด้วยสมาธิอันสัมปยุตด้วยอรหัตตผล.

วลาหกเทวบุตร รับการขวนขวายที่พระเถระกระทำหลายครั้งด้วยเศียรเกล้าอย่างนี้ ยังที่ลุ่มและที่ดอนให้เต็ม ยังฝนใหญ่ให้ตก.

จบอรรถกถาคิริมานันทเถรคาถาที่ ๓