พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. มหานาคเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระมหานาคเถระ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  20 พ.ย. 2564
หมายเลข  40618
อ่าน  481

[เล่มที่ 52] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๓ - หน้า 164

เถรคาถา ฉักกนิบาต

๓. มหานาคเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระมหานาคเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 52]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๓ - หน้า 164

๓. มหานาคเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระมหานาคเถระ

[๓๔๙] ผู้ใดไม่มีความเคารพในเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย ผู้นั้นย่อมเสื่อมจากสัทธรรม เหมือนปลาในน้ำน้อยฉะนั้น

ผู้ใดไม่มีความเคารพในเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย ผู้นั้น ย่อมไม่งอกงามในสัทธรรม เหมือนพืชที่เน่าในไร่นาฉะนั้น

ผู้ใดไม่มีความเคารพในเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย ผู้นั้นเป็นผู้ไกลจากพระนิพพานในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นพระธรรมราชา

ผู้ใดมีความเคารพในเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย ผู้นั้นย่อมไม่เสื่อมจากสัทธรรม เหมือนปลาในน้ำมากฉะนั้น

ผู้ใดมีความเคารพในเพื่อน สพรหมจารีทั้งหลาย ผู้นั้นย่อมงอกงามในสัทธรรม เหมือนพืชที่ดีในไร่นาฉะนั้น

ผู้ใดมีความเคารพในเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย ผู้นั้นย่อมอยู่ใกล้พระนิพพานในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระธรรมราชา.

จบมหานาคเถรคาถา

อรรถกถามหานาคเถรคาถาที่ ๓

คาถาของท่านพระมหานาคเถระ มีคำเริ่มต้นว่า ยสฺส สพฺรหฺมจารีสุ ดังนี้. เรื่องนั้นมีเหตุเกิดขึ้นอย่างไร?

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๓ - หน้า 165

แม้พระเถระนี้ก็ได้บำเพ็ญบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าอันมีในกาลก่อน ก่อสร้างกุศลอันเป็นอุปนิสัยแก่พระนิพพานในภพนั้นๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า กกุสันธะ ได้บังเกิดในเรือนของตระกูล รู้เดียงสาแล้ว วันหนึ่ง ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้ากกุสันธะหยั่งลงยังป่า ประทับนั่งอยู่ที่โคนไม้ต้นหนึ่ง ด้วยความสุขในฌาน จึงมีใจเลื่อมใส ได้ถวายผลทับทิมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น.

ด้วยบุญกรรมนั้น เขาท่องเที่ยวไปในเทวดาเละมนุษย์ทั้งหลาย ในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดเป็นบุตรของพราหมณ์ นามว่า มธุวาเสฏฐะ ในเมืองสาเกต เขาได้มีชื่อว่า มหานาค มหานาคนั้นรู้เดียงสาแล้ว เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในป่าอัญชนวัน ใกล้เมืองสาเกต ได้เห็น ปาฏิหาริย์ของท่านพระควัมปติเถระ ได้ศรัทธา จึงบวชในสำนักของพระเถระนั่นแหละ ตั้งอยู่ในโอวาทของท่าน จึงบรรลุพระอรหัต. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในอปทาน (๑) ว่า

พระกกุสันธะพระองค์นั้นผู้แกล้วกล้าใหญ่ ถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง หลีกออกจากหมู่ ได้ไปยังระหว่างป่า

เราถือเอาเยื่อในของผลไม้แล้วเอาเครือเถาร้อยไว้ สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าฌานอยู่ในระหว่างภูเขา

ครั้นเราได้ เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นเทพเหนือเทพ มีความเลื่อมใส ได้ถวายเยื่อในของผลไม้แล้วพระวีรเจ้าผู้เป็นทักขิไณยบุคคล

ในกัปนี้แหละ เราได้ถวายเยื่อผลไม้ใดในกาลนั้น ด้วยการถวายเยื่อในผลไม้นั้น เราจึงไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายเยื่อในผลไม้นั้น


๑. ขุ. อ. ๓๓/ข้อ ๓๑.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๓ - หน้า 166

เราเผากิเลสได้แล้ว... ฯลฯ... เราได้กระทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว.

ก็พระเถระครั้นได้บรรลุพระอรหัตแล้ว จึงอยู่ด้วยสุขอันเกิดแต่วิมุตติ เห็นภิกษุฉัพพัคคีย์ไม่กระทำความเคารพในเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย จึงกล่าวคาถา ๖ คาถานี้ เนื่องด้วยการให้โอวาทแก่ภิกษุฉัพพัคคีย์ นั้นว่า

ผู้ใดไม่มีความเคารพในเพื่อนสพรหมจารี ผู้นั้นย่อมเสื่อมจากพระสัทธรรม เหมือนปลาในน้ำน้อย

ผู้ใดไม่มีมีความเคารพในเพื่อนสพรหมจารี ผู้นั้นย่อมไม่งอกงาม ในพระสัทธรรม เหมือนพืชที่เน่าในไร่นา

ผู้ใดไม่มีความเคารพในเพื่อนสพรหมจารี ผู้นั้นย่อมอยู่ไกลจากพระนิพพาน ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นพระธรรมราชา.

ผู้ใดมีความเคารพในเพื่อนสพรหมจารี ผู้นั้น ย่อมไม่เสื่อมจากพระสัทธรรม เหมือนปลาในน้ำมาก ฉะนั้น

ผู้ใดมีความเคารพในเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย ผู้นั้นย่อมงอกงามในพระสัทธรรม เหมือนพืชดีในไร่นา ฉะนั้น

ผู้ใดมีความเคารพในเพื่อนสพรหมจารี ผู้นั้นย่อมอยู่ใกล้พระนิพพาน ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นพระธรรมราชา.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺรหฺมจารีสุ ความว่า ชื่อว่า เพื่อนสพรหมจารี เพราะประพฤติธรรมอันประเสริฐมีศีลเป็นต้นที่มีอยู่, ผู้ที่ถึงความเสมอกันด้วยศีลและทิฏฐิ ชื่อว่า สหธรรมิก, ในเพื่อนสพรหมจารี และสหธรรมิกเหล่านั้น.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๓ - หน้า 167

บทว่า คารโว ได้แก่ ความเป็นผู้มีความเคารพ คือกระทำความเคารพอันมีคุณมีศีลเป็นต้นเป็นเหตุ.

บทว่า นูปลพฺภติ ได้แก่ ไม่มี คือไม่เป็นไป อธิบายว่า ไม่เข้า ไปตั้งอยู่.

บทว่า นิพฺพานา ได้แก่จากการทำกิเลสให้ดับ คือจากความสิ้น กิเลส.

บทว่า ธมฺมราชสฺส ได้แก่ พระศาสดา. จริงอยู่ พระศาสดาชื่อว่า พระธรรมราชา เพราะยังโลกพร้อมทั้งเทวโลก ให้ยินดีด้วยธรรมอันเป็น โลกิยะ และโลกุตระ ตามสมควร.

ก็ด้วยคำว่า ในศาสนาของพระธรรมราชา นี้ ในคาถานั้น ชื่อว่า พระนิพพานย่อมมีในศาสนาของพระธรรมราชาเท่านั้น ไม่มีในศาสนาอื่น.

ในคาถานั้น ท่านแสดงว่า ผู้ใดเว้นความเคารพในเพื่อนสพรหมจารี ผู้นั้นย่อมเป็นผู้ห่างไกลแม้จากศาสนาของพระธรรมราชา เหมือนอยู่ห่างไกลจากพระนิพพานฉะนั้น.

บทว่า พโหฺวทเก ได้แก่ ในน้ำมาก.

บทว่า สนฺติเก โหติ นิพฺพานํ ความว่า พระนิพพานย่อมมีอยู่ในสำนัก คือในที่ใกล้บุคคลนั้น คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแหละ. ก็คาถาเหล่านี้แหละ เป็นคาถาพยากรณ์พระอรหัตผลของพระเถระ.

จบอรรถกถามหานาคเถรคาถาที่ ๓