พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๑. นหาตกมุนีเถรคาถา ว่าด้วยของพระนหาตกมุนีเถระ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  20 พ.ย. 2564
หมายเลข  40626
อ่าน  378

[เล่มที่ 52] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๓ - หน้า 213

เถรคาถา ฉักกนิบาต

๑๑. นหาตกมุนีเถรคาถา

ว่าด้วยของพระนหาตกมุนีเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 52]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๓ - หน้า 213

๑๑. นหาตกมุนีเถรคาถา

ว่าด้วยของพระนหาตกมุนีเถระ

[๓๕๗] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุ เมื่อเธออยู่ในป่าใหญ่อันปราศจากโคจร เป็นป่าเศร้าหมอง ถูกโรคลมครอบงำ จักทำอย่างไร.

พระนหาตกมุนีกราบทูลว่า ข้าพระองค์จักยังปีติและความสุขอันไพบูลย์ให้แผ่ไป สู่ร่างกาย ครอบงำปัจจัยอันเศร้าหมองอยู่ในป่าใหญ่ และ จักเจริญโพชฌงค์ ๗ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ ถึงพร้อมด้วย อรูปฌาน จักเป็นผู้หมดอาสวะอยู่ ข้าพระองค์จักพิจารณา เนืองๆ ซึ่งจิตอันบริสุทธิ์ หลุดพ้นแล้วจากกิเลส ไม่ขุ่นมัว เป็นผู้หมดอาสวะอยู่ อาสนะทั้งปวงของข้าพระองค์ ซึ่งมี อยู่ทั้งภายในและภายนอก ถูกถอนขึ้นหมดแล้ว ไม่เกิด ขึ้นอีกต่อไป เบญจขันธ์ ข้าพระองค์กำหนดรู้แล้ว มีราก อันขาดแล้วตั้งอยู่ ธรรมอันเป็นที่สิ้นทุกข์ ข้าพระองค์ได้ บรรลุแล้ว บัดนี้ ภพใหม่ไม่มี พระเจ้าข้า.

จบนหาตกมุนีเถรคาถา

อรรถกถานหาตกมุนีเถรคาถาที่ ๑๑

คาถาของท่านพระนหาตกมุนีเถระ มีคำเริ่มต้นว่า วาตโรคาภินีโต ดังนี้. เรื่องนี้มีเหตุเกิดขึ้นอย่างไร?

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๓ - หน้า 214

แม้พระเถระนี้ก็ได้บำเพ็ญบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าแต่ปางก่อน ทั้งหลาย สั่งสมบุญไว้ในภพนั้นๆ ในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดในตระกูล พราหมณ์ในนครราชคฤห์ เติบใหญ่ขึ้นได้ถึงความสำเร็จในที่ตั้งแห่งวิชชา เป็นต้น เขารู้กันทั่วว่า นหาตกะ เพราะประกอบด้วยลักษณะของผู้อาบ แล้ว (คือหมดกิเลส).

ท่านนหาตกะนั้น บวชเป็นดาบสยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยลูกเดือย ในราวป่าในที่ประมาณ ๓ โยชน์จากนครราชคฤห์ บำเรอไฟอยู่. พระศาสดาทรงเห็นอุปนิสัยแห่งพระอรหัตของท่านอันโพลงอยู่ในภายในหทัย เหมือนประทีปลุกโพลงอยู่ในหม้อ จงได้เสด็จไปยังอาศรมบทของท่าน.

ท่านได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ร่าเริงดีใจ จึงน้อมนำอาหาร เข้าไปถวายโดยทำนองที่สำเร็จแก่ตน. พระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยอาหาร นั้น ถวายในวันที่ ๒ ที่ ๓ ก็อย่างนั้น ในวันที่ ๔ จึงกราบทูลว่า ข้าแต่ พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์เป็นผู้ละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง ไฉนจึงยังอัตภาพ ให้เป็นไปด้วยอาหารนี้ได้. พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศคุณแห่งอริยสันโดษแก่ท่าน จึงทรงแสดงธรรม.

ดาบสได้ฟังธรรมนั้นแล้ว เป็นพระโสดาบัน บวชแล้วบรรลุพระอรหัต. พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทำดาบสนั้นให้ดำรงอยู่ในพระอรหัต แล้วก็เสด็จไป. ฝ่ายดาบสนั้นอยู่ในที่นั้นแหละ ต่อมาถูกโรคลมเบียดเบียน. พระศาสดาได้เสด็จไปในที่นั้น เมื่อจะตรัสถามธรรมเครื่องอยู่ของท่าน โดยทางปฏิสันถาร จึงตรัสพระคาถาว่า

ดูก่อนภิกษุ เมื่อเธออยู่ในป่าใหญ่ อันปราศจากโคจร เป็นป่าเศร้าหมอง ถูกโรคลมครอบงำจักทำอย่างไร.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๓ - หน้า 215

ลำดับนั้น พระเถระจึงประกาศธรรมเครื่องอยู่ของตนแด่พระศาสดา ด้วยคาถา๑เหล่านี้ว่า

ข้าพระองค์จักยังปีติและสุขให้แผ่ไปสู่ร่างกาย ครอบ งำปัจจัยอันเศร้าหมองอยู่ในป่าใหญ่ และจักเจริญโพชฌงค์ ๗ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ ถึงพร้อมด้วยฌานโสขุมมะ คืออรูปฌาน จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่ ข้าพระองค์จัก พิจารณาเนืองๆ ถึงจิตอันบริสุทธิ์ หลุดพ้นจากกิเลสแล้ว ไม่ขุ่นมัว ไม่มีอาสวะอยู่. อาสวะทั้งปวงของข้าพระองค์ ซึ่งมีอยู่ทั้งภายในและภายนอก ถูกถอนขึ้นหมดแล้ว ไม่ เกิดขึ้นต่อไป เบญจขันธ์ข้าพระองค์กำหนดรู้แล้ว มีราก ขาดแล้วตั้งอยู่ ธรรมอันเป็นที่สิ้นทุกข์ ข้าพระองค์ได้ บรรลุแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มีพระเจ้าข้า.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ณานโสขุมฺมสมฺปนฺโน ได้แก่ ผู้ประกอบ ด้วยภาวะอันละเอียดอ่อนแห่งฌาน. อรูปฌาน ชื่อว่า ฌานสุขุมะ. เพราะฉะนั้น ท่านจึงอธิบายไว้ว่า เราเป็นผู้ได้สมาบัติ ๘. ด้วยบทว่า ฌานโสขุมฺมสมฺปนฺโน นั้น ท่านพระดาบสแสดงถึงความที่ตนเป็นอุภโตภาค- วิมุตติ. ส่วนอาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า ด้วยบทว่า โสขุมฺมํ นี้ ท่าน ประสงค์เอาอธิปัญญาสิกขาในอรหัตตมรรคและอรหัตตผล. แต่นั้น ท่าน ประกาศถึงความที่ตนเป็นอุภโตภาควิมุตติ ด้วย ฌาน ศัพท์.

บทว่า วิปฺปมุตฺตํ กิเลเสหิ ความว่า ชื่อว่าหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง เพราะปฏิปัสสัทธิวิมุตติ ชื่อว่าจิตบริสุทธิ์ เพราะหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง


๑. ขุ. เถร. ๒๖/ข้อ ๓๕๗.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๓ - หน้า 216

นั้นนั่นแหละ ชื่อว่าไม่ขุ่นมัว เพราะความเป็นผู้มีความดำริอันไม่ขุ่นมัว ด้วยบททั้ง ๓ ท่านกล่าวถึงจิตอันสัมปยุตด้วยอรหัตตผลนั่นเอง.

คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล และพระเถระได้มีการ พยากรณ์พระอรหัตตผลดังกล่าวมาฉะนี้แล.

จบอรรถกถานหาตกเถรคาถาที่ ๑๑