๑๐. ปาราสริยเถรคาถา ว่าด้วยความประพฤติของภิกษุเมื่อก่อนอย่างหนึ่งขณะนี้อย่างหนึ่ง
[เล่มที่ 53] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔ - หน้า 180
เถรคาถา วีสตินิบาต
๑๐. ปาราสริยเถรคาถา
ว่าด้วยความประพฤติของภิกษุเมื่อก่อนอย่างหนึ่งขณะนี้อย่างหนึ่ง
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 53]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔ - หน้า 180
๑๐. ปาราสริยเถรคาถา
ว่าด้วยความประพฤติของภิกษุเมื่อก่อนอย่างหนึ่งขณะนี้อย่างหนึ่ง
[๓๙๔] พระปาราสริยเถระผู้เป็นสมณะ ผู้มีจิตแน่วแน่เป็น อารมณ์เดียว ชอบสงัด เจริญฌาน นั่งอยู่ในป่าใหญ่ มีดอกไม้บานสะพรั่ง ได้มีความคิดว่า เมื่อพระผู้เป็นอุดม บุรุษเป็นนาถะของโลก ยังทรงพระชนม์อยู่ ความประพฤติของภิกษุทั้งหลายเป็นอย่างหนึ่ง เมื่อพระองค์เสด็จ ปรินิพพานไปแล้ว เดี๋ยวนี้ปรากฏเป็นอย่างหนึ่ง คือภิกษุ ทั้งหลายแต่ปางก่อน เป็นผู้สันโดษด้วยปัจจัยตามมีตามได้ นุ่งห่มผ้าเป็นปริมณฑล ก็เพียงเพื่อจะป้องกันความหนาว และลม และปกปิดความละอายเท่านั้น. ภิกษุทั้งหลายแต่ ปางก่อน ขบฉันอาหารประณีตก็ตาม เศร้าหมองก็ตาม น้อยก็ตาม มากก็ตาม ก็เพื่อยังอัตภาพให้เป็นไปเท่านั้น ไม่ติดไม่พัวพันเลย. ภิกษุทั้งหลายแต่ปางก่อน (แม้จะถูก ความเจ็บไข้ครอบงำ) ไม่ขวนขวายหาเภสัชปัจจัยอันเป็น บริขารแห่งชีวิต เหมือนการขวนขวายหาความสิ้นไปแห่ง อาสวะทั้งหลาย ท่านเหล่านั้นขวนขวายพอกพูนวิเวก มุ่ง แต่เรื่องวิเวก อยู่ในป่า โคนไม้ ซอกเขาและถ้ำเท่านั้น ภิกษุทั้งหลายแต่ปางก่อนเป็นผู้อ่อนน้อม มีศรัทธาตั้งมั่น เลี้ยงง่าย อ่อนโยน มีน้ำใจไม่กระด้าง ไม่ถูกกิเลส รั่วรด ปากไม่ร้าย เปลี่ยนแปลงตามความคิดอันเป็น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔ - หน้า 181
ประโยชน์ของตนแลผู้อื่น เพราะเหตุนั้น ภิกษุแต่ปางก่อน เป็นผู้มีข้อปฏิบัติในการก้าวไปข้างหน้า ถอยกลับ การ บริโภคปัจจัย การซ่องเสพโคจร และมีอิริยาบถละมุน ละไม ก่อให้เกิดความเลื่อมใส เหมือนสายน้ำมันไหล ออกไม่ขาดสายฉะนั้น บัดนี้ ท่านเหล่านั้น สิ้นอาสวะ ทั้งปวงแล้ว มักเจริญฌานเป็นอันมาก ประกอบแล้วด้วย ฌานใหญ่ เป็นพระเถระผู้มั่นคงพากันนิพพานไปเสีย หมดแล้ว บัดนี้ ท่านเช่นนั้นเหลืออยู่น้อยเต็มที. เพราะ ความสิ้นไปแห่งกุศลธรรมและปัญญา คำสั่งสอนของ พระชินเจ้า อันประกอบแล้วด้วยอาการอันประเสริฐทุก อย่าง จะสิ้นไปในเวลาที่ธรรมทั้งหลายอันลามก และ กิเลสทั้งหลายเป็นไปอยู่. ภิกษุเหล่าใดปรารถนาความ เพียรเพื่อความสงัด ภิกษุเหล่านั้นชื่อว่าเป็นผู้มีพระสัทธรรมที่เหลือเป็นข้อปฏิบัติ กิเลสเหล่านี้เจริญงอกงาม ขึ้น ย่อมครอบงำคนเป็นอันมากไว้ในอำนาจ ดังจะเล่น กับพวกคนพาล เหมือนปิศาจเข้าสิงทำคนให้เป็นบ้า เพ้อ คลั่งอยู่ฉะนั้น นรชนเหล่านั้นถูกกิเลสครอบงำ ท่องเที่ยว ไปๆ มาๆ ตามส่วนแห่งอารมณ์นั้นๆ ในกิเลสวัตถุ ดุจ ในการโฆษณาที่มีสงครามฉะนั้น. พากันละทิ้งพระสัทธรรม ทำการทะเลาะซึ่งกันและกัน ยึดถือตามความเห็น ของตน สำคัญสิ่งนี้เท่านั้นประเสริฐ นรชนทั้งหลายที่ละ ทิ้งทรัพย์สมบัติ บุตรและภรรยา ออกบวชแล้ว พากันทำ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔ - หน้า 182
กรรมที่ไม่ควรทำ แม้เพราะเหตุแห่งภิกษาหารเพียงทัพพี เดียว ภิกษุทั้งหลายฉันภัตตาหารเต็มอิ่มแล้ว ถึงเวลานอน ที่นอนหงาย ตื่นแล้วก็กล่าวแต่ถ้อยคำที่พระศาสดาทรงติ เตียน ภิกษุผู้มีจิตไม่สงบในภายใน พากันเรียนทำแต่ ศิลปะที่ไม่ควรทำ มีการประดับร่มเป็นต้น ย่อมไม่หวัง ประโยชน์ในทางบำเพ็ญสมณธรรมเสียเลย ภิกษุทั้งหลาย ผู้มุ่งแต่สิ่งของดีๆ ให้มาก จึงนำเอาดินเหนียวบ้าง น้ำมัน บ้าง จุรณเจิมบ้าง น้ำบ้าง ที่นั่งที่นอนบ้าง อาหารบ้าง ไม่ สีฟันบ้าง ผลมะขวิดบ้าง ดอกไม้บ้าง ของควรเคี้ยว บ้าง บิณฑบาตบ้าง ผลมะขามป้อมบ้าง ไปให้แก่ คฤหัสถ์ทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายพากันประกอบเภสัช เหมือนพวกหมอรักษาโรค ทำกิจน้อยใหญ่อย่างคฤหัสถ์ ตบแต่งร่างกายเหมือนหญิงแพศยา ประพฤติตนเหมือน กษัตริย์ผู้เป็นใหญ่. บริโภคอามิสด้วยอุบายเป็นอันมาก คือทำให้คนหลงเชื่อ หลอกลวง เป็นพยานโกงตามโรง ศาล ใช้เล่ห์เหลี่ยมต่างๆ อย่างนักเลง. เที่ยวแส่หา ในการอ้างเลศ การพูดเลียบเคียง การพูดปริกัป มีการ เลี้ยงชีพเป็นเหตุ ใช้อุบายรวบรวมทรัพย์ไว้เป็นอันมาก. ย่อมยังบริษัทให้บำรุงตนเพราะเหตุแห่งการงาน แต่มิให้ บำรุงโดยธรรม เที่ยวแสดงธรรมตามถิ่นต่างๆ เพราะ เหตุแห่งลาภ มิใช่เพราะนุ่งประโยชน์ ภิกษุเหล่านั้น ทะเลาะวิวาทกันเพราะเหตุแห่งลาภสงฆ์ เป็นผู้เหินห่าง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔ - หน้า 183
จากอริยสงฆ์ เลี้ยงชีวิตด้วยการอาศัยลาภของผู้อื่น ไม่มี หิริ ไม่ละอาย จริงอย่างนั้น ภิกษุบางพวกไม่ประพฤติ ตามสมณธรรมเสียเลย เป็นเพียงคนโล้น คลุมร่างไว้ ด้วยผ้ากาสาวพัสตร์เท่านั้น ปรารถนาแต่การสรรเสริญ ถ่ายเดียว มุ่งหวังแต่ลาภและสักการะ เมื่อธรรมเป็น เครื่องทำลายมีประการต่างๆ เป็นไปอยู่อย่างนี้ การ บรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ หรือการตามรักษาธรรมที่ได้ บรรลุแล้ว ไม่ใช่ทำได้ง่าย เหมือนเมื่อพระศาสดายัง ทรงพระชนม์อยู่ มุนีพึงตั้งสติเที่ยวไปในบ้าน เหมือน กับบุรุษผู้ไม่ได้สวมรองเท้า ตั้งสติเที่ยวไปในถิ่นที่มีหนาม ฉะนั้น พระโยคีเมื่อตามระลึกถึงวิปัสสนาที่ปรารภแล้ว ในกาลก่อน ไม่ทอดทิ้งวัตรสำหรับภาวนาวิธีเหล่านั้นเสีย ถึงเวลานี้จะเป็นเวลาสุดท้ายภายหลัง ก็พึงบรรลุอมตบท ได้ พระปาราสริยเถระผู้เป็นสมณะมีอินทรีย์อันอบรม แล้ว เป็นพราหมณ์ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ มีภพใหม่ สิ้นไปแล้ว ครั้นกล่าววิธีปฏิบัติอย่างนี้แล้ว ปรินิพพาน ในสาลวัน.
จบปาราสริยเถรคาถา
รวมพระเถระ
ในวีสตินิบาตนี้ พระเถระ ๑๐ รูปนี้ คือ พระอธิมุตตเถระ ๑ พระปาราสริยเถระ ๑ พระเตลุถามิเถระ ๑ พระรัฐปาลเถระ ๑ พระมาลุงกยปุตตเถระ ๑ พระเสลเถระ ๑ พระภัททิยถาลิโคธาปุตตเถระ ๑
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔ - หน้า 184
พระองคุลิมาลเถระ ๑ พระอนุรุทธเถระ ๑ พระปาราสริยเถระ ๑ ประกาศคาถาไว้ดีเรียบร้อยแล้ว รวมคาถาไว้ ๒๔๕ คาถา.
จบวีสตินิบาต
อรรถกถาปาราสริยเถรคาถาที่ ๑๐ (๑)
คาถาของพระปาราสริยเถระ มีคำเริ่มต้นว่า สมณสฺส อหุ จินฺตา ดังนี้. เรื่องของพระเถระนี้ มาแล้วในหนหลังทีเดียว และเมื่อพระศาสดา ยังทรงพระชนม์อยู่ ในเวลาที่ตนยังเป็นปุถุชนอยู่ ท่านได้กล่าวคาถานั้น โดยประกาศความคิดในการข่มอินทรีย์ทั้งหลายอันมีใจเป็นที่ ๖. แต่ใน กาลต่อมา เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว และเมื่อการปรินิพพานของตน ปรากฏขึ้น จึงกล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยอำนาจการประกาศข้อปฏิบัติธรรม เบื้องสูง แก่ภิกษุทั้งหลายในกาลนั้น และในกาลต่อไป. ในข้อนั้น พระสังคีติกาจารย์ ได้ตั้งคาถานี้ไว้ว่า
พระปาราสริยเถระผู้เป็นสมณะ ผู้มีจิตแน่วแน่มี อารมณ์เป็นอันเดียว ชอบสงัด มีปกติเพ่งฌาน นั่งอยู่ ในป่าใหญ่มีดอกไม้บานสะพรั่ง ได้มีความคิดว่า ฯลฯ ดังนี้.
เนื้อความแห่งคำเป็นคาถานั้น มีนัยดังกล่าวในหนหลังนั่นแล.
ส่วนเนื้อความที่เกี่ยวเนื่องกันมีดังต่อไปนี้ :- เมื่อพระศาสดา พระอัครสาวก พระมหาเถระบางพวก ได้ปรินิพพานไปแล้ว เมื่อภิกษุ ทั้งหลายผู้ว่าง่ายผู้ใครต่อการศึกษา หาได้ยาก และภิกษุทั้งหลายผู้ว่ายาก มากไปด้วยการปฏิบัติผิดเกิดขึ้นในพระธรรมวินัย ซึ่งมีพระศาสดาล่วงไป
๑. อรรถกถาปาราปริกเถรคาถา.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔ - หน้า 185
แล้ว พระปาราสริยเถระ ผู้ชื่อว่าสมณะ เพราะสงบบาปได้แล้ว ผู้มีปกติ เพ่งฌาน มีจิตแน่วแน่ มีอารมณ์เดียว นั่งอยู่ในป่าไม้สาละใหญ่ อัน มีดอกบานสะพรั่ง ได้มีความคิดคือการพิจารณาเกี่ยวกับข้อปฏิบัติ. นอกนี้ พระเถระนั่นแหละได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ความว่า
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นอุดมบุรุษ ผู้เป็นที่พึ่ง ของชาวโลก ยังทรงพระชนม์อยู่ ความประพฤติของภิกษุ ทั้งหลายเป็นอย่างหนึ่ง เมื่อพระองค์เสด็จปรินิพพานไป แล้ว เดี๋ยวนี้ปรากฏเป็นอย่างหนึ่ง. คือภิกษุทั้งหลายแต่ ปางก่อน เป็นผู้สันโดษด้วยปัจจัยตามมีตามได้ นุ่งห่ม ผ้าเป็นปริมณฑล เพียงป้องกันความหนาวและลม และ ปกปิดความละอายเท่านั้น. ขบฉันอาหารประณีตก็ตาม เศร้าหมองก็ตาม น้อยก็ตาม มากก็ตาม ก็เพื่อยังอัตภาพ ให้เป็นไปเท่านั้น ไม่ติด ไม่พัวพันเลย. แม้จะถูกความ ป่วยไข้คารอบงำ ก็ไม่ขวนขวายหาปัจจัยเภสัชบริขารเพื่อ ชีวิต เหมือนขวนขวายหาความสิ้นอาสวะ ท่านเหล่านั้น ขวนขวายพอกพูนแต่วิเวก มุ่งแต่ความวิเวก อยู่ในป่า โคนไม้ ซอกเขา และถ้ำเท่านั้น. ภิกษุทั้งหลายแต่ปางก่อน เป็นผู้อ่อนน้อม มีศรัทธาตั้งมั่น เลี้ยงง่าย อ่อนโยน มีน้ำใจไม่กระด้าง ไม่ถูกกิเลสรั่วรด ปากไม่ร้าย เปลี่ยน แปลงตามความคิดอันเป็นประโยชน์แก่ตนและคนอื่น เพราะเหตุนั้น ภิกษุแต่ปางก่อน เป็นผู้มีข้อปฏิบัติในการ ก้าวไปข้างหน้า ถอยกลับ การบริโภคปัจจัย การซ่อง-
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔ - หน้า 186
เสพโคจร และมีอิริยาบถละมุนละไม ก่อให้เกิดความ เลื่อมใส เหมือนสายธารน้ำมันไหลออกไม่ขาดสาย ฉะนั้น. บัดนี้ ท่านเหล่านั้นสิ้นอาสวะทั้งปวงแล้ว เจริญ ฌานเป็นอันมาก ประกอบด้วยฌานใหญ่ เป็นพระเถระ ผู้มั่นคงพากันนิพพานไปเสียหมดแล้ว บัดนี้ ท่านผู้เช่น นั้นเหลืออยู่น้อยเต็มที. เพราะความสิ้นไปแห่งกุศลธรรม และปัญญา คำสั่งสอนของพระชินเจ้าอันประกอบด้วย อาการอันประเสริฐทุกอย่าง จะเสื่อมสูญไปในเวลาที่ ธรรมอันลามกและกิเลสทั้งหลายเป็นไปอยู่. ภิกษุเหล่าใด ปรารถนาความเพียรเพื่อความสงัด ภิกษุเหล่านั้น ชื่อว่า เป็นผู้มีพระสัทธรรมที่เหลือเป็นข้อปฏิบัติ. กิเลสเหล่านั้น เจริญงอกงามขึ้น ย่อมครอบงำคนเป็นอันมากไว้ในอำนาจ ดังจะเล่นกับพวกคนพาล เหมือนปิศาจเข้าสิงทำคนให้เป็น บ้าเพ้อคลั่งอยู่ฉะนั้น. นรชนเหล่านั้นถูกกิเลสครอบงำ ท่องเที่ยวไปๆ มาๆ ตามส่วนแห่งอารมณ์นั้นๆ ในกิเลส วัตถุทั้งหลาย ดุจในการโฆษณาที่มีสงครามฉะนั้น. พา กันละทิ้งพระสัทธรรม ทำการทะเลาะกันแลกัน ยึดถือ ตามความเห็นของตน สำคัญว่าสิ่งนี้เท่านั้นประเสริฐ. นรชนทั้งหลายที่ละทิ้งทรัพย์สมบัติ บุตรภรรยา ออก บวชแล้ว พากันทำกรรมที่ไม่ควรทำ แม้เพราะเหตุแห่ง ภิกษาหารเพียงทัพพีเดียว ภิกษุทั้งหลายฉันภัตตาหาร เต็มอิ่มแล้ว ถึงเวลานอนก็นอนหงาย ตื่นแล้วก็กล่าวแต่
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔ - หน้า 187
ถ้อยคำที่พระศาสดาทรงติเตียน ภิกษุผู้มีจิตไม่สงบใน ภายใน พากันเรียนทำแต่ศิลปะที่ไม่ควรทำ มีการ ประดับร่มเป็นต้น ย่อมไม่หวังประโยชน์ในทางบำเพ็ญ สมณธรรม. ภิกษุทั้งหลายผู้มุ่งแต่สิ่งของดีๆ ให้มาก จึงนำเอาดินเหนียวบ้าง น้ำมันบ้าง จุรณเจิมบ้าง น้ำ บ้าง ที่นั่งบ้าง อาหารบ้าง ไม้สีฟันบ้าง ผลมะขวิดบ้าง ดอกไม้บ้าง ของเคี้ยวบ้าง บิณฑบาตบ้าง ผลมะขาม ป้อมบ้าง ไปให้แก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย. ภิกษุทั้งหลายพา กันประกอบเภสัช เหมือนพวกหมอรักษาโรค ทำกิจน้อย ใหญ่อย่างคฤหัสถ์ ตกแต่งร่างกายเหมือนหญิงแพศยา ประพฤติตนเหมือนกษัตริย์ผู้เป็นใหญ่ บริโภคอามิสด้วย อุบายเป็นอันมาก คือทำให้คนหลงเชื่อ หลอกลวง เป็น พยานโกงตามโรงศาล ใช้เล่ห์เหลี่ยมต่างๆ อย่าง นักเลง. เที่ยวแส่หา (ปัจจัย) ในการอ้างเลศ การเลียบ เคียง การปริกัป มีการเลี้ยงชีพเป็นเหตุ ใช้อุบายรบ รวมทรัพย์ไว้เป็นอันมาก ย่อมยังบริษัทให้บำเรอตน เพราะเหตุแห่งการงาน แต่มิให้บำรุงโดยธรรม เที่ยว แสดงธรรมตามถิ่นต่างๆ เพราะเหตุแห่งลาภ มิใช่มุ่ง ประโยชน์. ภิกษุเหล่านั้นทะเลาะวิวาทกันเพราะเหตุแห่ง ลาภสงฆ์ เป็นผู้เหินห่างจากอริยสงฆ์ เลี้ยงชีวิตด้วยการ อาศัยลาภของผู้อื่น ไม่มีหิริ ไม่ละอาย. จริงอย่างนั้น ภิกษุบางพวกไม่ประพฤติตามสมณธรรมเสียเลย เป็น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔ - หน้า 188
เพียงคนโล้น คลุมร่างไว้ด้วยผ้ากาสาวพัสตร์เท่านั้น ปรารถนาแต่ความสรรเสริญถ่ายเดียว มุ่งหวังต่อลาภ สักการะ. เมื่อธรรมเป็นเครื่องทำลายมีประการต่างๆ เป็นไปอยู่อย่างนี้ การบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ หรือการ ตามรักษาธรรมที่ได้บรรลุแล้ว ไม่ใช่ทำได้ง่าย เหมือน เมื่อพระศาสดายังทรงพระชนม์อยู่. มุนีพึงตั้งสติเที่ยวไป ในบ้าน. เหมือนบุรุษผู้ไม่ได้สวมรองเท้าตั้งสติเที่ยวไป ในถิ่นที่มีหนามฉะนั้น. พระโยคีเมื่อตามระลึกถึงวิปัสสนา ที่ปรารภนาแล้วในกาลก่อน ไม่ทอดทิ้งวัตรสำหรับภาวนาวิธีเหล่านั้น ถึงเวลานี้จะเป็นเวลาสุดท้ายภายหลัง ก็จะ พึงบรรลุอมตบทได้. พระปาราสริยเถระผู้เป็นสมณะ มี อินทรีย์อันอบรมแล้ว เป็นพราหมณ์ผู้แสวงหาคุณอันยิ่ง ใหญ่ มีภพใหม่สิ้นไปแล้ว ครั้นกล่าววิธีปฏิบัติอย่างนี้ ปรินิพพานในป่าสาลวัน.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิริยํ อาสิ ภิกฺขูนํ ความว่า เมื่อ พระโลกนาถ คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นอุดมบุรุษ ยังทรงดำรงอยู่ คือยังทรงพระชนม์อยู่ ภิกษุทั้งหลายได้มีอิริยะคือความประพฤติโดย อย่างอื่น คือโดยประการอื่นจากการปฏิบัติในบัดเดี๋ยวนี้ เพราะยังปฏิบัติ ตามที่ทรงพร่ำสอน.
บทว่า อญฺถา ทานิ ทิสฺสติ มีอธิบายว่า แต่บัดนี้ ความ ประพฤติของภิกษุทั้งหลายปรากฏโดยประการอื่นจากนั้น เพราะไม่ปฏิบัติ ตามความเป็นจริง.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔ - หน้า 189
บัดนี้ เพื่อจะแสดงอาการที่ภิกษุทั้งหลายปฏิบัติ อย่างเมื่อพระศาสดา ทรงประพฤติอยู่ก่อนนั้น จึงกล่าวคำมีอาทิว่า เพียงป้องกันความหนาว และลม ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มตฺตฏฺิยํ ความว่า การป้องกันหนาว และลมนั้นเป็นประมาณ คือเป็นประโยชน์. ภิกษุทั้งหลายใช้สอยจีวร กระทำให้เป็นเพียงป้องกันความหนาวและลมเท่านั้น คือเพียงปกปิดอวัยวะ ที่ให้เกิดความละอายเท่านั้น. อย่างไร? คือเป็นผู้สันโดษปัจจัยตามมีตาม ได้ คือถึงความสันโดษในปัจจัยตามมีตามได้ คือตามที่ได้ จะเลวหรือ ประณีตก็ตาม.
บทว่า ปณีตํ ได้แก่ ดียิ่ง คือระคนด้วยเนยใสเป็นต้น, ชื่อว่า เศร้าหมอง เพราะไม่มีความประณีตนั้น.
บทว่า อปฺปํ ได้แก่ เพียง ๔ - ๕ คำเท่านั้น.
บทว่า พหุํ ยาปนตฺถํ อภุญฺชึสุ ได้แก่ แม้เมื่อจะฉันอาหารมากอัน ประณีต ก็ฉันอาหารเพียงยังอัตภาพให้เป็นไปเท่านั้น. กว่านั้นไปก็ไม่ยินดี คือไม่ถึงกับยินดี. ไม่สยบ คือไม่พัวพันบริโภค เหมือนเจ้าของเกวียน ใช้น้ำมันหยอดเพลา และเหมือนคนมีบาดแผลใช้ยาทาแผลฉะนั้น.
บทว่า ชีวิตานิ ปริกฺขาเร เภสชฺเช อถ ปจฺจเย ได้แก่ ปัจจัย คือคิลานปัจจัย กล่าวคือเภสัชอันเป็นบริขารเพื่อให้ชีวิตดำเนินไป.
บทว่า ยถา เต ความว่า ภิกษุทั้งหลายแต่ปางก่อนนั้น เป็นผู้ ขวนขวาย คือเป็นผู้ประกอบในความสิ้นอาสวะฉันใด ภิกษุทั้งหลาย เหล่านั้นก็ฉันนั้น แม้ถูกโรคครอบงำ ก็ไม่เป็นผู้ขวนขวายมากเกินไปใน คิลานปัจจัย.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔ - หน้า 190
บทว่า ตปฺปรายณา ได้แก่ มุ่งในวิเวก น้อมไปในวิเวก. พระเถระเมื่อแสดงสันโดษในปัจจัย ๔ และความยินดียิ่งในภาวนาด้วยคาถา ๔ คาถาอย่างนี้แล้ว จึงแสดงอริยวังสปฏิปทาของภิกษุเหล่านั้น.
บทว่า นีจา ได้แก่ เป็นผู้มีความประพฤติต่ำ โดยไม่กระทำการยก ตนข่มผู้อื่นว่า เราถือบังสุกุลเป็นวัตร คือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร อธิบายว่า เป็นผู้มีปกติประพฤติถ่อมตน.
บทว่า นิวฏฺา ได้แก่ มีศรัทธาตั้งมั่นในพระศาสนา.
บทว่า สุภรา ได้แก่ เป็นผู้เลี้ยงง่าย โดยความเป็นผู้มักน้อย เป็นต้น.
บทว่า มุทู ได้แก่ เป็นผู้อ่อนโยนในการประพฤติวัตร และใน พรหมจรรย์ทั้งสิ้น คือเป็นผู้ควรในการประกอบให้วิเศษดุจทองคำที่หล่อ หลอมไว้ดีแล้วฉะนั้น.
อีกอย่างหนึ่ง บทว่า มุทู ได้แก่ เป็นผู้ไม่สยิ้วหน้า คือเป็นผู้เงย หน้า มีหน้าเบิกบานประพฤติปฏิสันถาร ท่านอธิบายว่า เป็นผู้นำความสุข มาให้ ดุจท่าดีฉะนั้น.
บทว่า อถทฺธมานสา ได้แก่ ผู้มีจิตไม่แข็ง, ด้วยบทนั้น ท่าน กล่าวถึงความเป็นผู้ว่าง่าย.
บทว่า อพฺยเสก ได้แก่ ผู้เว้นจากการถูกกิเลสรั่วรด เพราะไม่มี ความอยู่ปราศจากสติ อธิบายว่า ผู้ไม่ถูกตัณหา ทิฏฐิ และมานะ ทำให้ นุงนังในระหว่างๆ.
บทว่า อมุขรา แปลว่า ไม่เป็นคนปากกล้า, อีกอย่างหนึ่ง ความว่า ไม่เป็นคนปากแข็ง คือเว้นจากความคะนองทางวาจา.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔ - หน้า 191
บทว่า อตฺถจินฺตาวสานุคา ได้แก่ เป็นผู้คล้อยตามอำนาจความคิดอัน เป็นประโยชน์ คือเป็นไปในอำนาจความคิดที่มีประโยชน์ ได้แก่เป็นผู้ ปริวรรตตามความคิดที่เป็นประโยชน์แก่ตนและคนอื่นเท่านั้น. บทว่า ตโต แปลว่า เพราะเหตุนั้น คือเหตุมีการประพฤติต่ำ เป็นต้น.
บทว่า ปาสาทิกํ ได้แก่ อันยังให้เกิดความเลื่อมใส คือนำความ เลื่อมใสมาให้แก่ผู้ที่ได้เห็นและได้ยินการปฏิบัติ. บทว่า คตํ ได้แก่ การไป มีการก้าวไป ถอยกลับและการเลี้ยวไป เป็นต้น. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า คตํ ได้แก่ ความเป็นไปทางกายและ วาจา.
บทว่า ภุตฺตํ ได้แก่ การบริโภคปัจจัย ๔.
บทว่า นิเสวิตํ ได้แก่ การซ่องเสพโคจร.
บทว่า สินิทฺธา เตลธาราว ความว่า สายธารน้ำมันที่คนฉลาดเท ราดไม่หวนกลับ ไหลไม่ขาดสาย เป็นสายธารติดกันกลมกลืนน่าดูน่าชื่น ชมใจ ฉันใด อิริยาบถของภิกษุเหล่านั้นผู้สมบูรณ์ด้วยมารยาท ย่อมเป็น อิริยาบถไม่ขาดช่วง ละมุนละม่อม สละสลวยน่าดู น่าเลื่อมใส ฉันนั้น.
บทว่า มหาฌายี ความว่า ชื่อว่าผู้เพ่งฌานใหญ่ เพราะมีปกติเพ่ง ด้วยฌานทั้งหลายอันยิ่งใหญ่ หรือเพ่งพระนิพพานใหญ่. เพราะเหตุนั้น แหละ จึงเป็นผู้มีประโยชน์เกื้อกูลใหญ่ อธิบายว่า เป็นผู้ประกอบด้วย ประโยชน์เกื้อกูลมาก.
บทว่า เต เถรา ความว่า บัดนี้ พระเถระทั้งหลายผู้มุ่งการปฏิบัติ มีประการดังกล่าวแล้วนั้น พากันปรินิพพานเสียแล้ว.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔ - หน้า 192
บทว่า ปริตฺตา ทานิ ตาทิสา ความว่า บัดนี้ คือในกาลสุดท้าย ภายหลัง พระเถระทั้งหลายผู้เช่นนั้น คือผู้เห็นปานนั้นมีน้อย ท่านกล่าว อธิบายว่า มีเล็กน้อยทีเดียว.
บทว่า กุสลานญฺจ ธมฺมานํ ได้แก่ ธรรมอันไม่มีโทษอันเป็นเครื่อง อุดหนุนแก่วิโมกข์ อันเป็นอุปนิสัยแก่พระนิพพาน.
บทว่า ปญฺาย จ ได้แก่ และแห่งปัญญาเห็นปานนั้น.
บทว่า ปริกฺขยา ได้แก่ เพราะไม่มี คือเพราะไม่เกิดขึ้น. จริงอยู่ ในที่นี้ แม้ปัญญาก็พึงเป็นธรรมไม่มีโทษโดยแท้ แต่ถึงกระนั้น เพื่อจะ แสดงว่าปัญญามีอุปการะมาก จึงถือเอาปัญญานั้นเป็นคนละส่วน เหมือนคำว่า ปุญฺาณสมฺภารา เป็นธรรมอุดหนุนบุญและญาณฉะนั้น.
บทว่า สพฺพาการวรูเปตํ ความว่า คำสอนของพระผู้มีพระภาคชินเจ้า อันประกอบด้วยอาการอันประเสริฐทั้งหมด คือด้วยความวิเศษ แต่ละประการ จะเสื่อมคือพินาศไป.
ด้วยบทว่า ปาปกานญฺจ ธมฺมานํ กิเลสานญฺจ โย อุตุ เอาคำที่ เหลือมาเชื่อมความว่า ฤดูคือกาลแห่งบาปธรรมมีกายทุจริตเป็นต้น และ แห่งกิเลสมีโลภะเป็นต้นนี้นั้น ย่อมเป็นไป.
บทว่า อุปฏฺิตา วิเวกาย เย จ สทฺธมฺมเสสกา ความว่า ก็ใน กาลเห็นปานนี้ ภิกษุเหล่าใด เข้าไปตั้ง คือปรารภความเพียรเพื่อต้องการ กายวิเวก จิตตวิเวก และอุปธิวิเวก และภิกษุเหล่านั้นย่อมเป็นผู้มีพระสัทธรรมที่เหลือเป็นข้อปฏิบัติ. ก็ในข้อนี้ มีอธิบายดังนี้:-
ภิกษุทั้งหลายแม้เป็นผู้มีศีล และอาจาระอันบริสุทธิ์ก็มีอยู่ แต่บัดนี้ ภิกษุบางพวกยังบุรพกิจมีอาทิอย่างนี้ให้ถึงพร้อม คือทำอิริยาบถให้ดำรง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔ - หน้า 193
อยู่ด้วยดี บำเพ็ญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ตัดปลิโพธใหญ่ ตัด ปลิโพธเล็กๆ น้อยๆ จำเริญภาวนาเนืองๆ อยู่ ภิกษุเหล่านั้นยังมีพระสัทธรรมที่เหลือเป็นข้อปฏิบัติ ย่อมไม่อาจทำข้อปฏิบัติให้ถึงที่สุดได้.
บทว่า เต กิเลสา ปวฑฺฒนฺตา ความว่า ก็ในกาลนั้น กิเลสเหล่าใด ถึงความสิ้นไปจากบุตรอันเกิดแต่พระอุระของพระผู้มีพระภาคเจ้า บัดนี้ กิเลสเหล่านั้นได้โอกาส จึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในหมู่ภิกษุ.
บทว่า อาวิสนฺติ พหุํ ชนํ ความว่า ครอบงำชนผู้บอดเขลา ผู้งด เว้นกัลยาณมิตร ผู้มากไปด้วยการใส่ใจอันไม่แยบคาย กระทำไม่ให้มี อำนาจอยู่ คือเข้าไปถึงสันดาน. ก็ภิกษุเหล่านั้นผู้เป็นแล้วอย่างนั้น เหมือน จะเล่นกับคนพวก ดังคนถูกปีศาจเข้าสิงทำให้เป็นบ้า เพ้อคลั่งอยู่ฉะนั้น คือว่า คนผู้มีปกติชอบเล่นครอบงำคนบ้าผู้เว้นจากสักการะรากษส ทำคน บ้าเหล่านั้นให้ถึงความวิบัติ จึงเล่นกับคนบ้าเหล่านั้น ชื่อฉันใด กิเลส ทั้งหลายเหล่านั้นก็ฉันนั้น ครอบงำพวกภิกษุอันธพาลผู้เว้นจากความ เคารพในพระพุทธเจ้า ยังความฉิบหายชนิดที่เป็นไปในปัจจุบันเป็นต้น ให้เกิดขึ้นแก่ภิกษุเหล่านั้น เหมือนดังจะเล่นกับภิกษุเหล่านั้น อธิบายว่า ทำเป็นเหมือนเล่น.
บทว่า เตน เตน ได้แก่ โดยส่วนของอารมณ์นั้นๆ.
บทว่า วิธาวิตา แปลว่า แล่นไปผิดรูป คือปฏิบัติโดยไม่สมควร.
บทว่า กิเลสวตฺถูสุ ความว่า สิ่งที่เกิดขึ้นก่อน เป็นกิเลส, กิเลส นั่นแหละเป็นกิเลสวัตถุ เพราะเป็นเหตุแห่งกิเลสทั้งหลายที่เกิดขึ้นภายหลัง. ในกิเลสและกิเลสวัตถุเหล่านั้นที่ร่วมกัน.
บทว่า สสงฺคาเมว โฆสิเต ความว่า การโปรยทรัพย์มีเงินทอง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔ - หน้า 194
แก้วมณี และแก้วมุกดาเป็นต้นแล้ว แล้วโฆษณาให้อยากได้อย่างนี้ว่า เงินและทองเป็นต้นใดๆ อยู่ในมือของคนใดๆ เงินและทองเป็นต้นนั้นๆ จงเป็นของคนนั้นๆ เถิด ดังนี้ ชื่อว่าการโฆษณาที่มีการสงคราม. ใน ข้อนั้น มีอธิบายดังนี้ :-
ภิกษุปุถุชนผู้เป็นคนพาลทั้งหลายนั้น ถูกกิเลสนั้นๆ ครอบงำ แล่น ไป คือถึงการอยู่ตามส่วนแห่งอารมณ์นั้นๆ ในกิเลสและกิเลสวัตถุทั้งหลาย เหมือนในสถานที่มีสงคราม อันมารผู้มีกิเลสเป็นเสนาบดีโฆษณาว่า กิเลส ตัวใดๆ จับสัตว์ใดๆ ครอบงำได้ สัตว์นั้นๆ จงเป็นของกิเลสตัวนั้นๆ.
เพื่อเลี่ยงคำถามที่ว่า ภิกษุเหล่านั้นแล่นไปอย่างนี้ ย่อมกระทำ อะไร? จึงเฉลยว่า พากันละทิ้งพระสัทธรรม ทำการทะเลาะกัน แลกัน.
คำนั้นมีอธิบายว่า ละทิ้งปฏิบัติสัทธรรมเสียแล้วทะเลาะ คือทำการ ทะเลาะกันแลกัน เพราะมีเกสรคืออามิสเป็นเหตุ.
บทว่า ทิฏฺิคตานิ ความว่า เป็นไปตาม คือไปตามทิฏฐิ คือการ ยึดถือผิดมีอาทิอย่างนี้ว่า มีเพียงวิญญาณเท่านั้น รูปธรรมไม่มี และว่า ชื่อว่าบุคคลโดยปรมัตถ์ไม่มีฉันใด แม้สภาวธรรมทั้งหลายก็ฉันนั้น ว่าโดย ปรมัตถ์ย่อมไม่มี มีเพียงโวหารคือชื่อเท่านั้น ย่อมสำคัญว่า นี้ประเสริฐ คือสิ่งนี้เท่านั้นประเสริฐ อย่างอื่นผิด.
บทว่า นิคฺคตา แปลว่า ออกจากเรือน.
บทว่า กฏจฺฉุภิกฺขเหตฺปิ แปลว่า แม้มีภิกษาหารเพียงทัพพีเดียว เป็นเหตุ. ภิกษุทั้งหลายย่อมซ่องเสพ คือกระทำสิ่งที่มิใช่กิจ คือกรรมที่
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔ - หน้า 195
บรรพชิตไม่การทำแก่คฤหัสถ์ผู้ให้ภิกษาหารนั้น ด้วยอำนาจการระคนอัน ไม่สมควร.
บทว่า อุทราวเทหกํ ภุตฺวา ความว่า ไม่คิดถึงคำที่กล่าวว่า เป็นผู้มี ท้องพร่อง มีอาหารพอประมาณ กลับบริโภคจนเต็มท้อง.
บทว่า สยนฺตุตฺตานเสยฺยกา ความว่า ไม่ระลึกถึงวิธีที่กล่าวไว้ว่า สำเร็จสีหไสยา การนอนอย่างราชสีห์ โดยข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อม เท้า มีสติสัมปชัญญะ กลับเป็นผู้นอนหงาย.
ด้วยบทว่า ยา กถา สตฺถุ ครหิตา นี้ ท่านกล่าวหมายเอาเดียรัจฉานกถา มีกถาว่าด้วยพระราชาเป็นต้น.
บทว่า สพฺพการุกสิปฺปานิ ได้แก่ หัตถศิลปทั้งหลายมีการทำพัด ใบตาล สำหรับพัดเวลาฉันภัตเป็นต้น อันนักศิลปมีพวกแพศย์เป็นต้น จะพึงกระทำ.
บทว่า จิตฺตึ กตฺวาน แปลว่า กระทำโดยความเคารพ คือโดยมี ความเอื้อเฟื้อ.
บทว่า อวูปสนฺตา อชฺฌตฺตํ ความว่า ชื่อว่าผู้ไม่สงบในภายใน เพราะไม่มีความสงบระงับกิเลส และเพราะไม่มีความตั้งใจมั่นแม้เพียงชั่ว ขณะรีดนม อธิบายว่า มีจิตไม่สงบระงับ.
บทว่า สามญฺตฺโถ ได้แก่ สมณธรรม.
บทว่า อติอจฺฉติ ได้แก่ นั่งแยกกัน โดยไม่ถูกต้องแม้แต่เอกเทศ ส่วนหนึ่ง เพราะเป็นผู้ขวนขวายกิจเกี่ยวกับอาชีพแก่คฤหัสถ์เหล่านั้น ท่าน อธิบายไว้ว่า ไม่ติดชิดกัน.
บทว่า มตฺติกํ ได้แก่ ดินตามปกติ หรือดิน ๕ สี ที่ควรแก่การ ประกอบกิจของคฤหัสถ์ทั้งหลาย.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔ - หน้า 196
บทว่า เตลจุณฺณญฺจ ได้แก่ น้ำมันและจุรณ ตามปกติ หรือที่ ปรุงแต่ง.
บทว่า อุทกาสนโภชนํ ได้แก่ น้ำ อาสนะ และโภชนะ.
บทว่า อากงฺขนฺตา พหุตฺตรํ ความว่า ผู้หวังบิณฑบาตเป็นต้นที่ดีๆ มากมาย จึงมอบให้แก่พวกคฤหัสถ์ ด้วยความประสงค์ว่า เมื่อพวกเรา ให้ดินเหนียวเป็นต้น มนุษย์ทั้งหลายเป็นผู้มีการคบหากันเป็นหลักเป็นฐาน จักให้จตุปัจจัยที่ดีๆ มาก.
ชื่อว่าไม้ชำระฟัน เพราะเป็นเครื่องชำระฟัน คือทำฟันให้บริสุทธิ์ ได้แก่ไม้สีฟัน.
บทว่า กปิตฺถํ แปลว่า ผลมะขวิด.
บทว่า ปุปฺผํ ได้แก่ ดอกไม้มีดอกมะลิ และดอกจำปาเป็นต้น.
บทว่า ขาทนียานิ ได้แก่ ของเคี้ยวพิเศษทั้ง ๑๘ ชนิด.
บทว่า ปิณฺฑปาเต จ สมฺปนฺเน ได้แก่ ข้าวสุกพิเศษที่ประกอบ ด้วยกับข้าวเป็นต้น.
ก็ด้วยศัพท์ว่า อมฺเพ อามลกานิ จ ท่านสงเคราะห์เอาผลมะงั่ว ผลตาล และผลมะพร้าวเป็นต้นที่มิได้กล่าวไว้ด้วย จ ศัพท์ ในทุกๆ บท มีวาจาประกอบความว่า หวังของดีๆ มาก จึงน้อมเข้าไปให้แก่คฤหัสถ์.
บทว่า เภสชฺเชสุ ยถา เวชฺชา อธิบายว่า พวกภิกษุปฏิบัติเหมือน หมอทั้งหลาย ผู้ทำการประกอบเภสัชแก่พวกคฤหัสถ์.
บทว่า กิจฺจากิจฺเจ ยถา คิหี ความว่า กระทำกิจน้อยใหญ่แก่ พวกคฤหัสถ์ เหมือนคฤหัสถ์ทั้งหลาย.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔ - หน้า 197
บทว่า คณิกาว วิภูสายํ ได้แก่ เครื่องประดับร่างกายของตน เหมือนพวกหญิงผู้อาศัยรูปเลี้ยงชีพ.
บทว่า อิสฺสเร ขตฺติยา ยถา ความว่า ประพฤติเป็นเจ้าแห่ง ตระกูลในความเป็นใหญ่ คือในการแผ่ความเป็นใหญ่ เหมือนกษัตริย์ ทั้งหลาย.
บทว่า เนกติกา ได้แก่ ประกอบในการโกง, คือยินดีในการ ประกอบของเทียม โดยกระทำสิ่งที่ไม่ใช่แก้วมณีแท้ ให้เป็นแก้วมณี สิ่งที่ ไม่ใช่ทองแท้ ให้เป็นทอง.
บทว่า วญฺจนิกา ได้แก่ ยึดเอาผิด ด้วยการนับโกงเป็นต้น.
บทว่า กูฏสกฺขี ได้แก่ เป็นพยานไม่จริง.
บทว่า อปาฏุกา ได้แก่ เป็นนักเลง อธิบายว่า เป็นผู้มีความ ประพฤติไม่สำรวม.
บทว่า พหูหิ ปริกปฺเปหิ ได้แก่ ด้วยชนิดแห่งมิจฉาชีพเป็นอันมาก ตามที่กล่าวแล้ว และอื่นๆ.
บทว่า เลสกปฺเป ได้แก่ มีกัปปิยะเป็นเลศ คือสมควรแก่กัปปิยะ.
บทว่า ปริยาเย ได้แก่ ในการประกอบการเลียบเคียงในปัจจัย ทั้งหลาย.
บทว่า ปริกปฺเป ได้แก่ ในการกำหนดมีกำไรเป็นต้น, ในทุกบท เป็นสัตตมีวิภัตติ ใช้ในอรรถว่าวิสัยคืออารมณ์.
บทว่า อนุธาวิตา ได้แก่ แส่ไป คือแล่นไปด้วยบาปธรรมทั้งหลาย มีความมักใหญ่เป็นต้น. มีการเลี้ยงชีวิตเป็นอรรถ คือมีการเลี้ยงชีวิตเป็น ประโยชน์ ได้แก่มีอาชีพเป็นเหตุ.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔ - หน้า 198
บทว่า อุปาเยน ได้แก่ ด้วยอุบายมีปริกถาเป็นต้น คือด้วยนัยอัน จะยังปัจจัยให้เกิดขึ้น.
บทว่า สงฺกฑฺฒนฺติ แปลว่า รวบรวม.
บทว่า อุปฏฺาเปนฺติ ปริสํ ความว่า ยังบริษัทให้บำรุงตน คือ สงเคราะห์บริษัท โดยประการที่บริษัทจะบำรุงตน.
บทว่า กมฺมโต ได้แก่ เพราะเหตุการงาน. จริงอยู่ ภิกษุเหล่านั้น ให้บริษัทบำรุง เพราะมีการขวนขวายอันจะพึงทำแก่ตนเป็นเหตุ.
บทว่า โน จ ธมฺมโต ความว่า แต่ไม่ให้บำรุงเพราะเหตุแห่งธรรม อธิบายว่า ไม่สงเคราะห์ด้วยการสงเคราะห์บริษัทผู้ดำรงอยู่ในสภาวะที่จะ ยกขึ้นกล่าวอวด ซึ่งพระศาสดาทรงอนุญาตไว้.
บทว่า ลาภโต แปลว่า เหตุลาภ, ภิกษุเหล่านั้นตั้งอยู่ในอิจฉาจาร ว่า มหาชนเมื่อยกย่องอย่างนี้ว่า พระผู้เป็นเจ้าเป็นพหูสูต เป็นผู้บอก เป็นธรรมกถึก จักน้อมนำลาภสักการะมาเพื่อเราดังนี้ จึงแสดงธรรมแก่ คนอื่นเพราะลาภ.
บทว่า โน จ อตฺถโต ความว่า ประโยชน์นั้นใดอันภิกษุผู้กล่าว พระสัทธรรม ตั้งอยู่ในธรรมมีวิมุตตายตนะเป็นประธานจะพึงได้ ย่อม ไม่แสดงธรรมมีประโยชน์เกื้อกูล ต่างโดยประโยชน์ปัจจุบันนั้นเป็นต้น เป็นนิมิต.
บทว่า สงฺฆลาภสฺส ภณฺฑนฺติ ความว่า ย่อมบาดหมางกัน คือ ย่อมทำการทะเลาะกัน เพราะเหตุลาภสงฆ์ โดยนัยมีอาทิว่า ถึงแก่เรา ไม่ถึงแก่ท่าน.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔ - หน้า 199
บทว่า สงฺฆโต ปริพาหิรา ได้แก่ เป็นผู้มีภายนอกจากพระอริยสงฆ์ เพราะในพระอริยสงฆ์ไม่มีการทะเลาะกันนั้น.
บทว่า ปรลาโภปชีวนฺตา ความว่า พวกภิกษุผู้การทำความบาด หมางกัน เลี้ยงชีวิตด้วยการอาศัยลาภของผู้อันนั้น เพราะลาภในพระศาสนาเกิดขึ้นเฉพาะพระเสขะ ผู้สมบูรณ์ด้วยคุณมีศีลเป็นต้น ผู้เป็นคน อื่นจากพวกอันธพาลปุถุชน หรือลาภที่จะพึงได้จากทายกอื่น ชื่อว่าผู้ไม่ ละอาย เพราะไม่มีการเกลียดบาป ย่อมไม่ละอายใจ แม้ว่า เราบริโภค ลาภของผู้อื่น, เรามีความเป็นอยู่เนื่องด้วยผู้อื่น.
บทว่า นานุยุตฺตา ได้แก่ ไม่ประกอบด้วยธรรมอันทำให้เป็น สมณะ.
บทว่า ตถา ได้แก่ เหมือนดังท่านผู้ประพันธ์คาถาเป็นต้น กล่าว ไว้ในเบื้องต้น.
บทว่า เอเก แปลว่า บางพวก.
บทว่า มุณฺฑา สงฺฆาฏิปารุตา ความว่า ชื่อว่าเป็นผู้โล้น เพราะ เป็นผู้มีผมโล้นอย่างเดียว ผู้มีร่างกายครองจีวร อันได้นามว่า สังฆาฏิ เพราะอรรถว่า เอาผ้าท่อนเก่ามาติดต่อกัน.
บทว่า สมฺภาวนํเยวิจฺฉนฺติ ลาภสกฺการมุจฺฉิตา ความว่า เป็นผู้ สยบ คือติดด้วยความหวังลาภสักการะ หรือว่าเป็นผู้แต่งคำพูดอันไพเราะ ว่า ผู้มีศีลเป็นที่รัก ผู้มีวาทะกำจัดกิเลส ผู้สดับตรับฟังมาก และ ปรารถนา คือแสวงหาการยกย่อง คือการนับถือมากอย่างเดียวเท่านั้นว่า เป็นพระอริยะ, หาได้ปรารถนาคุณความดี อันมีการยกย่องนั้นเป็นเหตุไม่.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔ - หน้า 200
บทว่า เอวํ ได้แก่ โดยนัยที่กล่าวว่า เพราะความสิ้นไปแห่งกุศลธรรมและปัญญา.
บทว่า นานปฺปยาตมฺหิ ได้แก่ เมื่อธรรมอันเป็นเครื่องทำลายมี ประการต่างๆ ไปร่วมกันคือกระทำร่วมกัน อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสังกิเลสธรรมเริ่มไปด้วยกัน คือดำเนินไปด้วยประการต่างๆ.
บทว่า น ทานิ สุกรํ ตถา ความว่า ในบัดนี้ คือในเวลานี้ซึ่งหา กัลยาณมิตรได้ยาก และหาการฟังพระสัทธรรมอันเป็นสัปปายะได้ยาก ไม่ ใช่ทำได้โดยง่าย คือไม่อาจให้สำเร็จได้ เหมือนเมื่อพระศาสดายังทรง พระชนม์อยู่ การถูกต้องคือการบรรลุฌานและวิปัสสนา ซึ่งยังไม่ได้ถูก ต้อง คือยังไม่ได้บรรลุ หรือการอนุรักษ์คือการรักษา โดยประการที่ ธรรมซึ่งได้บรรลุแล้ว ไม่เป็นหานภาคิยะ หรือไม่เป็นฐิติภาคิยะให้เป็น วิเสสภาคิยะนั้น ทำได้ง่าย ฉะนั้น.
บัดนี้ เพราะใกล้กับเวลาปรินิพพานของตน พระเถระเมื่อจะโอวาท เพื่อนสพรหมจารีด้วยโอวาทย่อๆ จึงกล่าวค่ามีอาทิว่า ยถา กณฺกฏฺานมฺหิ ดังนี้.
คำนั้นมีอธิบายว่า บุรุษผู้ไม่สวมรองเท้าเที่ยวไปในถิ่นที่มีหนาม ด้วยประโยชน์บางอย่างเท่านั้น เข้าไปตั้งสติว่า หนามอย่าได้คำเราดังนี้ แล้วเที่ยวไป ฉันใด มุนีเมื่อเที่ยวไปในโคจรตามที่สั่งสมหนามคือกิเลสก็ ฉันนั้น เข้าไปทั้งสติประกอบด้วยสติสัมปชัญญะไม่ประมาทเลย พึงเที่ยว ไป ท่านอธิบายว่า ไม่ละกรรมฐาน.
บทว่า สริตฺวา ปุพฺพเก โยคี เตสํ วตฺตมนุสฺสรํ ความว่า ท่านผู้ ชื่อว่าโยคี เพราะเป็นผู้ประกอบการอบรมโยคะ อันมีในก่อนระลึกถึง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔ - หน้า 201
ท่านผู้ปรารภวิปัสสนาแล้ว หวนระลึกถึงวัตรของท่านเหล่านั้น คือวิธี อบรมสัมมาปฏิบัติตามแนวแห่งพระสูตรที่มา ไม่ทอดทิ้งธุระเสียปฏิบัติ อย่างไรๆ อยู่.
บทว่า กิญฺจาปิ ปจฺฉิโม กาโล ความว่า แม้ถึงเวลานี้เป็นกาล สุดท้าย อันมีพระศาสดาล่วงลับไปแล้ว ถึงอย่างนั้น เมื่อปฏิบัติตามธรรม นั่นแล เจริญวิปัสสนาอยู่ พึงถูกต้องอมตบท คือพึงบรรลุพระนิพพาน.
บทว่า อิทํ วตฺวา ความว่า ครั้นแล้วกล่าววิธีปฏิบัตินี้ ในการทำ ให้ผ่องแผ้วจากสังกิเลสตามที่แสดงไว้แล้ว. ก็คาถาสุดท้ายนี้ พึงทราบว่า ท่านพระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายกล่าว ไว้ เพื่อประกาศการปรินิพพานของพระเถระ.
จบอรรถกถาปาราสริยเถรคาถาที่ ๑๐
จบปรมัตถทีปนี
อรรถกถาเถรคาถา วีสตินิบาต