[คำที่ ๕๓๕] ลุทฺท

 
Sudhipong.U
วันที่  20 พ.ย. 2564
หมายเลข  40676
อ่าน  632

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ลุทฺท”

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

ลุทฺท อ่านตามภาษาบาลีว่า ลุด - ทะ แปลว่า บุคคลผู้โหดร้าย แสดงถึงความเป็นจริงของธรรมที่เป็นอกุศลธรรมที่เกิดขึ้น ประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น ขาดความเมตตา ขาดความเป็นมิตรเป็นเพื่อนกับผู้อื่น ในชีวิตประจำวันก็พอจะเห็นได้ว่า ที่มีการเบียดเบียนกันประทุษร้ายกัน ก็เพราะขาดเมตตา ถ้าหากว่ามีเมตตาแล้ว จะไม่เบียดเบียนกันและกันเลย

ข้อความในปปัญจสูทนี อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สาเลยยกสูตร อธิบายความหมายของบุคคลผู้โหดร้าย (ลุทฺท) ไว้ดังนี้

คำว่า “โหดร้าย” ได้แก่ หยาบคาย เหี้ยมโหด หุนหัน พลันแล่น


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา เป็นคำสอนที่เป็นไปเพื่อปัญญาโดยตลอด เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ตามความเป็นจริงแล้วไม่มีใครสามารถทำอะไรให้เกิดขึ้นได้เลย ทุกขณะเป็นสิ่งที่มีจริงที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีอะไรที่เกิดเองลอยๆ โดยปราศจากเหตุปัจจัย แสดงถึงความเป็นจริงของธรรมที่เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

ในสังสารวัฏฏ์อันยาวนาน แต่ละคนได้สะสมความไม่รู้มาอย่างมาก หลงผิดว่าเป็นเรา เป็นของของเรา หรือหลงผิดว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยงที่ยั่งยืน แต่แท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่มีจริงนั้นมีลักษณะเฉพาะแต่ละหนึ่ง ซึ่งปะปนกันไม่ได้ เกิดแล้วก็ดับไปไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน แม้แต่ที่กล่าวว่า ร่างกายของเรา มีความสำคัญในร่างกายตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าว่าเป็นตาเรา หูเรา แขนเรา ขาเรา เป็นต้น ก็เพราะไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า ที่เป็นร่างกายนั้นมีลักษณะอย่างไร ก็ไม่พ้นไปจากธาตุหรือธรรมเลย แต่ละลักษณะที่มีจริงสามารถเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงได้ว่า เมื่อสิ่งนั้นมีจริง มีลักษณะอย่างนั้น แล้วจะเป็นเราได้อย่างไร ซึ่งจะต้องเป็นผู้ตรงตั้งแต่ต้นว่า สิ่งที่มีจริง เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะเป็นอย่างอื่น แม้แต่ที่กล่าวถึงบุคคลผู้โหดร้าย ก็เพราะมีความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรมที่เป็นอกุศล ทำการเบียดเบียนประทุษร้ายต่อผู้อื่น ขาดความเมตตาต่อผู้อื่น จึงรู้ได้ว่านี้คือบุคคลผู้โหดร้าย

การเบียดเบียนประทุษร้ายต่อผู้อื่น ขาดความเมตตาต่อผู้อื่น นั้น เป็นเรื่องของบุคคลผู้ที่ยังมีกิเลส เป็นธรรมฝ่ายที่ไม่ดีที่เกิดขึ้นเป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล แม้แต่เพียงคิดที่จะเบียดเบียนคนอื่น คิดไม่ดีกับคนอื่น ก็ไม่ดีแล้ว ขณะนั้นเป็นอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นทำร้ายจิตใจของตนเอง ยิ่งถ้าล่วงเป็นทุจริตกรรม มีการประทุษร้ายคนทางกายหรือทางวาจา ด้วยแล้ว นั่น เป็นอกุศลกรรม เป็นการสะสมเหตุที่ไม่ดีไว้แล้ว เมื่อถึงคราวที่อกุศลกรรมให้ผล ก็ให้ผลที่ไม่ดีกับตนเองเท่านั้น โดยที่ไม่มีใครทำให้เลย

ใครคือบุคคลผู้โหดร้ายที่สุด? คือ บุคคลผู้ที่เห็นผิด เข้าใจผิด เป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิ กล่าวตู่พระสัมมา-สัมพุทธเจ้า กล่าวคำที่คลาดเคลื่อนจากความจริง ไม่ตรงตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในความลึกซึ้งของแต่ละคำ บุคคลผู้นี้ทำให้คนอื่นเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงตามไปด้วย ทำให้คนอื่นออกจากคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วตั้งอยู่ในความเห็นอื่นซึ่งเป็นความเห็นผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่ใช่แต่เฉพาะในขณะนั้นเท่านั้น แต่ยังทำให้เขาได้สะสมความเห็นผิดต่อไปอีกในสังสารวัฏฏ์ ตัดโอกาสที่จะได้เข้าใจความจริงซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด การกระทำดังกล่าวโหดร้ายเป็นอย่างยิ่ง ไม่หวังดีต่อผู้อื่นที่ให้สิ่งที่ผิดๆ แก่ผู้อื่น ทำลายทั้งตนเอง ทำลายทั้งผู้อื่น และทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งก็เท่ากับทำลายหรือประทุษร้ายพระสรีระของพระองค์เลยทีเดียว จะโหดร้ายแค่ไหน และ โทษก็ต้องมากเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำลายสิ่งที่ประเสริฐที่สุด

ข้อที่น่าพิจารณาคือ สำหรับมิจฉาทิฏฐิ ซึ่งเป็นความเห็นผิดนั้น ผู้ที่จะดับได้จริงๆ ต้องเป็นพระโสดาบันบุคคล เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังไม่ใช่พระโสดาบันบุคคล ยังเป็นผู้ที่เริ่มสนใจในการฟังพระ

ธรรมศึกษาพระธรรม แต่ยังไม่ได้ดับความเห็นผิดได้อย่างเด็ดขาด ก็จะต้องพากเพียร อดทน จริงใจที่จะฟังที่จะศึกษาพระธรรม ด้วยความเคารพ ละเอียด รอบคอบ เพื่อให้มีความเห็นถูกเพิ่มขึ้นจนกว่าจะดับความเห็นผิดได้ มิฉะนั้นแล้ว ไม่มีใครรับประกันได้ว่า ต่อไปจะค่อยๆ โน้มเอียงเป็นความเห็นผิดบ้างหรือเปล่า เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่ละเอียดรอบคอบ และพร้อมที่จะทิ้งความเห็นผิดทันที เพราะความเห็นผิดมีโทษมากจริงๆ แม้ว่าจะได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างเช่น พวกอัญญเดียรถีย์ ก็ยังไม่สามารถพิจารณาพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงได้เลย ยังคงยึดถือความเห็นผิดต่อไป เป็นโทษเป็นภัยอย่างยิ่ง

ควรอย่างยิ่งที่แต่ละคนจะได้คิดพิจารณาว่า ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าจะละจากโลกนี้ไปเมื่อใด ควรที่จะเห็นคุณค่าของการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์อันยากแสนยาก ด้วยการสะสมแต่สิ่งที่ดีงามในชีวิตประจำวัน มีความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อน หวังดี ต่อผู้อื่น ไม่เบียดเบียนประทุษร้ายผู้อื่น เป็นต้น รวมถึงการอบรมเจริญปัญญา ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกในในสิ่งที่มีจริงตรงตามความเป็นจริง เพราะเมื่อปัญญาเจริญขึ้น กุศลธรรมประการต่างๆ ก็จะเจริญขึ้นตามระดับของปัญญา อกุศลธรรมทั้งหลายก็จะลดน้อยลงด้วย จนกว่าจะสามารถดับกิเลสทั้งหลายได้ตามลำดับขั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ทุกคำ เป็นคำจริง เป็นคำอนุเคราะห์เกื้อกูล ไม่มีคำเท็จ ไม่มีคำหลอกลวง ไม่มีคำหวังร้ายจากทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย ซึ่งควรค่าแก่การฟังการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลโดยตลอด เป็นที่พึ่งที่แท้จริงสำหรับชีวิต


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
petsin.90
วันที่ 20 พ.ย. 2564

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
lokiya
วันที่ 22 พ.ย. 2564

กราบอนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ