พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๒. ธัมมทินนาเถรีคาถา

 
บ้านธัมมะ
วันที่  20 พ.ย. 2564
หมายเลข  40689
อ่าน  714

[เล่มที่ 54] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 27

เถรีคาถา เอกนิบาต

๑๒. ธัมมทินนาเถรีคาถา


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 54]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 27

๑๒. ธัมมทินนาเถรีคาถา

    [๔๑๓] ผู้ที่เกิดฉันทะ มีที่สุด พึงถูกต้องพระนิพพานด้วยใจ ผู้ที่มีจิตไม่ปฏิพัทธ์ ในกามทั้งหลายท่านเรียกว่า มีกระแสในเบื้องบน.

    จบ ธัมมทินนาเถรีคาถา

๑๒. อรรถกถาธัมมทินนาเถรีคาถา

    คาถาว่า ฉนฺทชาตา อวสายี เป็นต้น เป็นคาถาของพระเถรีชื่อธัมมทินนา.

    เล่ากันว่า พระเถรีชื่อ ธัมมทินนา นั้น ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระนาม ปทุมุตตระ เป็นผู้อาศัยคนอื่นเขาเลี้ยงชีพอยู่ในกรุงหังสวดี ถวายทานที่มีบูชาสักการะเป็นเบื้องต้น แด่พระอัครสาวกผู้ออกจากนิโรธ บังเกิดในเทวโลก จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว ท่องเที่ยวอยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า ปุสสะ เธออยู่ในเรือนคนงานของพี่ชายต่างมารดาของพระศาสดา เมื่อสามีพูดพาดพิงถึงทานว่า เธอจงให้หนึ่งส่วน ดังนี้ นางให้สองส่วน ทำบุญเป็นอันมาก ในกาลของพระกัสสปพุทธเจ้า เธอถือปฏิสนธิในพระตำหนักของพระเจ้ากาสีพระนาม กิงกิ เป็นคนหนึ่งภายในพี่น้องหญิง ๗ คน ประพฤติพรหมจรรย์สองหมื่นปี ท่องเที่ยวอยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายพุทธันดรหนึ่ง ในพุทธุปปาทกาลนี้ บังเกิดในเรือนตระกูลในกรุงราชคฤห์ เจริญวัยแล้วไปสู่เรือนของวิสาขเศรษฐี.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 28

    อยู่มาวันหนึ่ง วิสาขเศรษฐีฟังธรรมในสำนักของพระศาสดา ได้เป็นพระอนาคามี ไปเรือน เมื่อขึ้นปราสาทไม่ยึดมือที่นางธัมมทินนาผู้ยืนอยู่หัวบันไดยื่นให้ ขึ้นปราสาท แม้เมื่อบริโภคอาหารก็บริโภคเฉยๆ นางธัมมทินนาใคร่ครวญดูเหตุนั้นกล่าวว่า ข้าแต่ลูกนาย ทำไมวันนี้ท่านจึงไม่ยึดมือฉัน แม้เมื่อบริโภคอาหารก็ไม่พูดอะไรๆ ฉันมีความผิดอะไรหรือ วิสาขเศรษฐีกล่าวว่า แม่ธัมมทินนา เธอไม่มีความผิด ตั้งแต่วันนี้ไป ฉันไม่ควรถูกต้องกายหญิง และไม่ควรทำความเหลาะแหละในอาหาร ฉันแทงตลอดธรรมเช่นนั้นแล้ว ก็ถ้าเธอปรารถนา ก็จงอยู่ในเรือนนี้แหละ ถ้าไม่ปรารถนา ก็จงถือเอาทรัพย์เท่าที่เธอต้องการไปเรือนตระกูล (ของเธอ) . นางธัมมทินนากล่าวว่า ข้าแต่ลูกนาย ฉันจะไม่กลืนอาเจียนที่ท่านคายไว้ ท่านโปรดอนุญาตให้ฉันบวชเถิด วิสาขเศรษฐีกล่าวว่า สาธุ ธัมมาทินนา แล้วเอาวอทองส่งนางไปสำนักภิกษุณี.

    นางธัมมทินนาบวชแล้ว เรียนกัมมัฏฐานอยู่ในสำนักภิกษุณีนั้นสองสามวัน ประสงค์จะอยู่อย่างวิเวกจึงไปหาอุปัชฌาย์อาจารย์กล่าวว่า ข้าแต่แม่เจ้าทั้งหลาย ใจของดิฉันไม่ชอบที่เกลื่อนกล่น ดิฉันจะไปสู่อาวาสใกล้บ้าน พวกภิกษุณีพาเธอไปอาวาสใกล้บ้าน เธออยู่ในที่นั้น ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ทั้งหลาย เพราะเธอย่ำยีสังขารในอดีตได้แล้วเพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในอปทานว่า (๑)

    พระพิชิตมารพระนามปทุมุตตระผู้ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง ทรงเป็นนายกของโลกเสด็จอุบัติขึ้นแล้ว ในกัปที่หนึ่งแสนแต่ภัทรกัปนี้ ในกาลนั้นข้าพเจ้าเกิดในตระกูลหนึ่งในกรุงหังสวดีรับจ้างทำงานของคนอื่น เป็นผู้มีปัญญา สำรวมอยู่ในศีล


    ๑. ขุ. ๓๓/ข้อ ๑๖๓. ธัมมทินนาเถรีอปทาน

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 29

พระสุชาตเถระอัครสาวกของพระปทุมมุตตระพุทธเจ้า ออกจากวิหารไปบิณฑบาต เวลานั้นข้าพเจ้าเดินถือหม้อไปตักน้ำ เห็นท่านแล้วเลื่อมใส ได้ถวายขนมด้วยมือของตน ท่านรับและนั่งฉันตรงนั้นเอง จากนั้นข้าพเจ้าได้นำท่านไปสู่เรือน ได้ถวายโภชนะแด่ท่าน ต่อมานายของข้าพเจ้ามีความยินดีได้ยกข้าพเจ้าเป็นลูกสะใภ้ของท่าน ข้าพเจ้ากับแม่ผัวได้ไปถวายอภิวาทพระสัมพุทธเจ้า ครั้งนั้นพระศาสดาทรงประกาศตั้งภิกษุณีผู้เป็นธรรมกถึก ในตำแหน่งเอตทัคคะ ข้าพเจ้าได้ฟังดังนั้นแล้วมีความยินดี นิมนต์พระสุคตผู้เป็นนายกของโลกพร้อมด้วยพระสงฆ์ ถวายมหาทานปรารถนาตำแหน่งนั้น คราวนั้นพระสุคตผู้มีพระสุรเสียงก้องกังวาลไพเราะ ได้ตรัสกะข้าพเจ้าว่า แน่ะนางผู้เจริญผู้ยินดีบำรุงเราเลี้ยงดูเรากับสงฆ์สาวก ผู้ขวนขวายในการฟังสัทธรรม มีใจเจริญด้วยคุณ เธอจงยินดีเถิด เธอจักได้ผลตามปรารถนา แต่กัปนี้ไปแสนกัป พระศาสดาผู้สมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช มีพระนามว่าโคตมะโดยโคตร จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เธอจักเป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น เป็นโอรสอนธรรมเนรมิต เป็นสาวิกาของพระศาสดาจักมีชื่อว่าธัมมทินนา ข้าพเจ้าได้ฟังดังนั้นแล้วมีความยินดี มีจิตประกอบด้วยเมตตา บำรุงพระมหามุนีผู้เป็นนายกวิเศษด้วยปัจจัยทั้งหลายจนตลอดชีวิต ด้วยกุศลกรรมที่ได้

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 30

ทำไว้ และด้วยความตั้งใจแน่วแน่ ข้าพเจ้าละร่างมนุษย์แล้วได้ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระพุทธเจ้าเผ่าพันธุ์ผู้ประเสริฐมียศมาก พระนามว่ากัสสปะตามโคตรประเสริฐกว่าบัณฑิตทั้งหลาย ได้เสด็จอุบัติแล้วในภัทรกัปนี้ ในครั้งนั้นพระเจ้ากาสีพระนาม กิงกิ ผู้เป็นใหญ่กว่านรชนในกรุงพาราณสีอันอุดม ทรงเป็นอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าพเจ้าเป็นธิดาคนที่หกของท้าวเธอ ปรากฏนามว่าสุธรรมาได้ฟังธรรมของพระพิชิตมารผู้เลิศแล้ว พอใจบรรพชาแต่พระชนกนาถไม่ทรงอนุญาตแก่พวกเรา ครั้งนั้นพวกเราอยู่ในอาคารนั่นแล เป็นเจ้าหญิงที่มีความสุข ไม่เกียจคร้าน ประพฤติพรหมจรรย์ตั้งแต่เป็นกุมารีอยู่สองหมื่นปี ราชธิดา ๗ องค์ คือ นางสมณี ๑นางสมณคุตตา ๑ นางภิกขุนี ๑ นางภิกขุทาสิกา ๑นางธรรมา ๑ นางสุธรรมา ๑ และนางสังฆทาสีเป็นคนที่ ๗ เป็นผู้ยินดีบันเทิงใจในการบำรุงพระพุทธเจ้าได้ (กลับชาติ) มาเป็นพระเขมาเถรี ๑ พระอุบลวรรณาเถรี ๑ พระปฏาจาราเถรี ๑ พระกุณฑลเกสีเถรี ๑ พระกิสาโคตมีเถรี ๑ ข้าพเจ้า ๑ และวิสาขาอุบาสิกาซึ่งเป็นคนที่ ๗ ด้วยกุศลกรรมที่ได้ทำไว้แล้วนั้น และด้วยความตั้งใจแน่วแน่ ข้าพเจ้าละร่างมนุษย์แล้วได้ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และในภพหลังครั้งนี้ ข้าพเจ้าเกิดในตระกูลเศรษฐีที่มั่งคั่ง สมบูรณ์

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 31

ด้วยกามสุขทุกอย่าง ในกรุงราชคฤห์อันอุดม เมื่อข้าพเจ้าประกอบด้วยรูปสมบัติและคุณสมบัติ ตั้งอยู่ในปฐมวัย ไปสู่ตระกูลอื่น (แต่งงาน) เพียบพร้อมด้วยความสุข สามีของข้าพเจ้าเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้เป็นสรณะแห่งสัตว์โลก ฟังพระธรรมเทศนาแล้วได้บรรลุอนาคามิผล เป็นคนมีปัญญาดี คราวนั้นข้าพเจ้าขออนุญาตบวชเป็นบรรพชิต ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัต. คราวนั้น อุบาสกนั้น เข้าไปหาข้าพเจ้า ได้ถามปัญหาที่ลึกซึ้งละเอียดอ่อน ข้าพเจ้าพยากรณ์ปัญหาทั้งหมดนั้นได้ พระพิชิตมาร ทรงยินดีในคุณข้อนั้นจึงทรงตั้งข้าพเจ้าไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ ด้วยพระดำรัสว่า เรามิได้เห็นภิกษุณีรูปอื่นผู้เป็นธรรมกถึกเช่นนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงทรงจำไว้ว่าภิกษุธัมมทินนาเป็นนักปราชญ์ ข้าพเจ้าอันพระผู้เป็นนายกของสัตว์โลกทรงอนุเคราะห์แล้ว ชื่อว่าเป็นบัณฑิตอย่างนี้ ข้าพเจ้าบำรุงพระศาสดาแล้ว ปฏิบัติคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ปลงภาระหนักแล้วถอนตัณหาอันนำไปสู่ภพได้แล้ว กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นที่ไม่มีเรือน เพื่อต้องการประ-โยชน์ใด ประโยชน์นั้น คือธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งสัญโญชน์ทั้งปวงข้าพเจ้าบรรลุแล้ว ข้าพเจ้าเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์ และในทิพโสตธาตุ รู้จิตผู้อื่น

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 32

กระทำตามคำสอนของพระศาสดา ข้าพเจ้ารู้ปุพเพนิวาสญาณ และทิพยจักษุอันหมดจดวิเศษ ยังอาสวะทั้งปวงให้สิ้นไปแล้ว เป็นผู้บริสุทธิ์ปราศจากมลทินข้าพเจ้าเผากิเลสแล้ว ภพทั้งหมดข้าพเจ้าถอนได้แล้ว ข้าพเจ้าตัดเครื่องผูกพัน เป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่ ดังช้างพังตัดเชือกแล้ว การมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐของข้าพเจ้า เป็นการมาดีแล้วหนอ ข้าพเจ้าได้บรรลุวิชชาสามตามลำดับ ข้าพเจ้าปฏิบัติคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทาสี่ วิโมกข์แปดและอภิญญาหก ข้าพเจ้าทำให้แจ้งแล้ว ข้าพเจ้าปฏิบัติคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว.

    ครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว พระธัมมทินนาเถรีคิดว่าใจของเราหมดกิเลสแล้ว บัดนี้เราจักอยู่ทำอะไรในที่นี้ เราจักไปกรุงราชคฤห์ถวายบังคมพระศาสดา และพวกญาติของเราเป็นจำนวนมากจักกระทำบุญ จึงกลับมากรุงราชคฤห์กับภิกษุณีทั้งหลาย. วิสาขอุบาสกทราบว่าพระธัมมทินนาเถรีมา เมื่อจะทดลองการตรัสรู้ของพระเถรีนั้น ได้ถามปัญหาเรื่องเบญจขันธ์เป็นต้น พระธัมมทินนาเถรีได้วิสัชนาปัญหาที่ถามแล้วๆ เหมือนตัดก้านบัวด้วยศัสตราอันคมกริบฉะนั้น วิสาขอุบาสกกราบทูลนัยแห่งคำถามและคำตอบทั้งหมดแด่พระศาสดา พระศาสดาทรงสรรเสริญพระเถรีนั้น ด้วยพระพุทธพจน์ว่า วิสาขะ ภิกษุณีธัมมทินนาเป็นบัณฑิตเป็นต้น ทรงประกาศการพยากรณ์ปัญหาเทียบกับพระสัพพัญญุตญาณ ทรงทำจูฬเวทัลลสูตรนั้นแลให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุเกิดเรื่อง ทรงตั้งพระธัมมทินนาเถรีนั้นไว้ในตำแหน่งเลิศของภิกษุณีผู้เป็นธรรมกถึก ก็พระเถรี

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 33

นั้นอยู่ในอาวาสใกล้บ้านนั้น บรรลุมรรคเบื้องต้นแล้วเริ่มต้นเจริญวิปัสสนาเพื่อมรรคเบื้องสูงในกาลใดในกาลนั้นได้กล่าวคาถานี้ว่า

ผู้ที่เกิดฉันทะ มีที่สุด พึงถูกต้องพระนิพพานด้วยใจ ผู้ที่มีจิตไม่ปฏิพัทธ์ในกามทั้งหลาย ท่านเรียกว่าผู้มีกระแสในเบื้องบน.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ฉนฺทชาตา ได้แก่เกิดฉันทะเพื่ออรหัตตผลความสิ้นสุด คือความจบลง ท่านเรียกว่า อวสายะ. ในบทว่า อวสายี.แม้บทนั้นก็พึงทราบว่า ความจบลงแห่งสมณกิจ เพราะเนื้อความที่ท่านกล่าวว่าผู้มีกระแสในเบื้องบน เพราะมีจิตไม่ปฏิพัทธ์ในกามทั้งหลาย ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง ฉะนั้นจึงมีอธิบายเนื้อความดังนี้ว่า เป็นผู้มีใจยังไม่บรรลุแม้ด้วยบททั้งสอง ยังปรารถนาพระนิพพานที่เป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม.บทว่า มนสา จ ผุฏฺา สิยา ความว่า พึงเป็นผู้ถูกต้องคือสัมผัสพระนิพพาน ด้วยมรรคจิตสามดวงเบื้องต่ำ. บทว่า กาเมสุ อปฺปฏิพทฺธจิตฺตาได้แก่ ผู้มีจิตไม่ปฏิพัทธ์ในกามทั้งหลาย ด้วยอำนาจอนาคามิมรรค. บทว่าอุทฺธํโสตา ความว่า ชื่อว่า ผู้มีกระแสในเบื้องบน เพราะพระเถรีนั้นมีกระแสมรรคและกระแสสังสารวัฏฏ์ในเบื้องบนนั่นแล อธิบายว่า เหมือนอย่างว่าอรหัตตมรรคย่อมเกิดขึ้นแก่พระอนาคามี มรรคอื่นย่อมไม่เกิด ฉันใด ความเกิดในภพเบื้องบนเท่านั้น ย่อมมีแก่พระอนาคามี ผู้เกิดขึ้นในสุทธาวาสภพมีชั้นอวิหาเป็นต้นจนถึงชั้นอกนิษฐ์ฉันนั้น.

จบ อรรถกถาธัมมทินนาเถรีคาถา