พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. มิตตาเถรีคาถา

 
บ้านธัมมะ
วันที่  21 พ.ย. 2564
หมายเลข  40704
อ่าน  358

[เล่มที่ 54] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 61

เถรีคาถา ทุกนิบาต

๗. มิตตาเถรีคาถา


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 54]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 61

๗. มิตตาเถรีคาถา

    [๔๒๖] ข้าพเจ้าปรารถนาเทพนิกาย เข้าจำอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ประการตลอดวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ๘ ค่ำแห่งปักษ์ และตลอดปาฏิหาริยปักษ์ วันนี้ข้าพเจ้ามีภัตตาหารมื้อเดียว มีศีรษะโล้น ห่มผ้าสังฆาฏิ ไม่ปรารถนาเทพนิกาย ข้าพเจ้ากำจัดความกระวนกระวายในหทัยได้.

    จบ มิตตาเถรีคาถา

๗. อรรถกถามิตตาเถรีคาถา

    คาถาว่า จาตุทฺทสึ ปญฺจทสึ เป็นต้น เป็นคาถาของพระเถรีชื่อมิตตา อีกองค์หนึ่ง.

    แม้พระเถรีชื่อ มิตตา องค์นี้ ก็สร้างสมบารมีไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมกุศลที่เป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพนั้นๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามวิปัสสี นางเกิดในตระกูลกษัตริย์ รู้ความแล้วเป็นนางในของพระเจ้าพันธุมะ เห็นพระเถรีผู้เป็นขีณาสพองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นสาวิกาของพระผู้มีพระภาคเจ้าวิปัสสี มีใจเลื่อมใส รับบาตรจากมือของพระเถรีนั้นแล้วใส่ของเคี้ยวอันประณีตจนเต็ม ไปถวายพร้อมกับผ้าสาฎกมีค่ามากสองผืน ด้วยบุญกรรมนั้น นางท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก ในพุทธุปปาทกาลนี้เกิดในศากยราชตระกูล ในกรุงกบิลพัสดุ์ รู้ความแล้ว ฟังธรรมในสำนัก

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 62

ของพระศาสดา ได้ศรัทธา ได้เป็นอุบาสิกา เวลาต่อมานางบวชในสำนักของพระมหาปชาบดีเถรี เจริญวิปัสสนาอยู่ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัต เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในอปทานว่า (๑)

ในพระนครพันธุมดี มีกษัตริย์พระนามว่า พันธุมราช ข้าพเจ้าเป็นมเหสีของท้าวเธอ ประพฤติร่วมกัน ในกาลนั้นข้าพเจ้าอยู่ในที่ลับนั่งคิดอย่างนี้ว่า บุญกุศลที่จะพาเราไปไม่ได้ทำไว้เลย เราจะต้องตกนรกที่มีความเร่าร้อนมาก ทั้งเผ็ดร้อนร้ายแรงแสนทารุณเป็นแน่ เราไม่สงสัยในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าเข้าเฝ้าพระราชากราบทูล คำนี้ว่า ขอพระองค์โปรดประทานสมณะองค์หนึ่งแก่หม่อมฉัน หม่อมฉันจักให้ท่านฉัน พระเจ้าข้าพระราชาผู้ใหญ่ได้ประทานสมณะผู้อบรมอินทรีย์แล้วแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้ารับบาตรของท่านเอาภัตตาหารอย่างประณีตใส่จนเต็ม ครั้นให้เต็มแล้วได้ทำภัตตาหารและของหอมเครื่องลูบไล้อย่างประณีต ปิดด้วยตาข่ายแล้วเอาผ้าเหลืองคลุมไว้ ข้าพเจ้าระลึกถึงเรื่องนั้นเป็นอารมณ์ของข้าพเจ้าตลอดชีวิต ทำจิตให้เลื่อมใสในเรื่องนั้น ได้ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้เป็นมเหสีของเทวราช ๓๐ องค์ สิ่งที่ใจปรารถนาได้เกิดแก่ข้าพเจ้าสมปรารถนา ข้าพเจ้าได้เป็นมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ ๒๐ องค์ ข้าพเจ้าสร้างสรรค์ตนเองท่องเที่ยวไปในภพน้อยใหญ่ ข้าพเจ้าพ้นจากเครื่องผูกพันทุกอย่าง


    ๑. ขุ. ๓๓/ข้อ ๑๔๖ เอกปิณฑปาตทายิกาเถรีอปทาน.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 63

แล้ว มีการอุบัติไปปราศแล้ว อาสวะทุกอย่างหมดสิ้นแล้ว บัดนี้ภพใหม่มิได้มี ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ข้าพเจ้าได้ให้ทานใดในกาลนั้น ด้วยทานนั้นข้าพเจ้าไม่รู้จักทุคติ นี้เป็นผลแห่งบิณฑบาต ข้าพเจ้าเผากิเลสแล้ว ฯลฯ ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว.

    ครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว พิจารณาการปฏิบัติของตนได้กล่าวคาถาสองคาถานี้เป็นอุทานว่า

    ข้าพเจ้าปรารถนาเทพนิกาย เข้าจำอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ตลอดวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ๘ ค่ำแห่งปักษ์ และตลอดปาฏิหาริยปักษ์ วันนี้ข้าพเจ้ามีภัตตาหารมื้อเดียว มีศีรษะโล้น ห่มผ้าสังฆาฏิ ไม่ปรารถนาเทพนิกาย ข้าพเจ้ากำจัดความกระวนกระวายในหทัยได้.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จาตุทฺทสึ ปญฺจทสึ ได้แก่ ดิถีเป็นที่เต็มแห่งวัน ๑๔ ชื่อจาตุททสี ดิถีเป็นที่เต็มแห่งวัน ๑๕ ชื่อปัญจทสี ตลอดวันจาตุททสี ๑๔ ค่ำ และวันปัญจทสี ๑๕ ค่ำ นั้น เชื่อมความว่า แห่งปักษ์. ก็บทนี้เป็นทุติยาวิภัตติใช้ในอรรถอัจจันตสังโยค (แปลว่า ตลอด) ประกอบความว่าตลอดดิถีที่ ๘ แห่งปักษ์นั้นด้วย. บทว่า ปาฏิหาริยปกฺขญฺจได้แก่ ปักษ์สำหรับผู้รักษาอุโบสถ และปักษ์แห่งอุโบสถศีลที่พึงรักษาในวัน๑๓ ค่ำ แรม ๑ ค่ำ ๗ ค่ำ และ ๙ ค่ำ โดยวันต้นเป็นวันเข้า วันสุดท้ายเป็นวันออกตามลำดับของวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ. อฏฺงฺคสุสมาคตํความว่า ประกอบด้วยดีด้วยองค์ ๘ ประการ มีเจตนางดเว้น จากปาณาติบาต

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 64

เป็นต้น. อุโปสถํ อุปาคจฺฉึ แปลว่า เข้าไปอยู่จำ ความว่า อยู่จำ. ที่ท่านกล่าวหมายถึงว่า

    ไม่พึงฆ่าสัตว์ ไม่พึงถือเอาของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ไม่พึงกล่าวเท็จ ไม่พึงดื่มน้ำเมา พึงงดเว้นเมถุนซึ่งมิใช่พรหมจรรย์ ไม่พึงบริโภควิกาลโภชน์ในราตรีไม่พึงทัดทรงดอกไม้และใช้ของหอม พึงนอนบนเตียงบนแผ่นดิน หรือบนสันถัตเครื่องปูลาด บัณฑิตทั้งหลายกล่าวอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แหละ ที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศเพื่อคุณคือความสิ้นทุกข์ (๑)

    บทว่า เทวกายาภินนฺทินี ประกอบความว่า ข้าพเจ้าปรารถนาอย่างยิ่งซึ่งเทพนิกายมีชั้นจาตุมหาราชเป็นต้น จึงเข้าจำอุโบสถ เพราะหวังเกิดในเทพนิกายนั้น. บทว่า สาชฺช เอเกน ภตฺเตน ความว่า ข้าพเจ้านั้นวันนี้ คือในวันนี้แหละ มีเวลาบริโภคภัตตาหารหนเดียว. บทว่า มุณฺฑาสงฺฆาฏิปารุตา ความว่า โกนผมและคลุมร่างกายด้วยผ้าสังฆาฏิบวชแล้ว.บทว่า เทวกายํ น ปตฺเถหํ ความว่า ข้าพเจ้าไม่ปรารถนาเทพนิกายอะไรๆ เพราะแม้มรรคอันเลิศข้าพเจ้าก็บรรลุแล้ว. เพราะเหตุนั้นแหละจึงกล่าวว่าวิเนยฺย หทเย ทรํ ความว่า กำจัดความกระวนกระวายคือกิเลสที่อยู่ในจิตด้วยการถอนขึ้น ก็คำนี้แหละเป็นการพยากรณ์พระอรหัตตผลของพระเถรีนั้น.

    จบอรรถกถามิตตาเถรีคาถา


    ๑. อัง. ติก. ๒๐/ข้อ ๕๑๐ อุโบสถสูตร.