การแผ่เมตตาที่ถูกต้องเป็นอย่างไร และเมื่อไร
การแผ่เมตตาที่ถูกต้องเป็นอย่างไร เด็กที่บ้านก่อนนอนเราจะไหว้พระกันทุกวันคือนะโมสามจบ แล้วอิมินาสักกาเรนะ แล้วอะระหังสัมมา แล้วเราจะเอาหนังสือนิทานชาดกเล่าให้เขาฟังเมื่อจบแล้วเราจะกราบพระสามครั้งอย่างนี้ถูกไหม และมีวันหนึ่งเด็กเขาฟังชาดกจบแล้วโดยตั้งใจฟังบ้างไม่ตั้งใจบ้าง แล้วอยู่ๆ เขาก็แผ่เมตตา คือ สัพเพสัตตาแล้วจึงกราบพระ ซึ่งเขาเป็นนักเรียนชั้นมัธยม 3 ซึ่งจะมีเรียนวิชาพระพุทธศาสนาที่โรงเรียนด้วย
เมื่อท่านได้อ่านแล้วดิฉันขอความรู้ที่ถูกต้องคะ เราเลี้ยงสุนัขไว้ข้างในบ้านเพราะเด็กๆ อยากเลี้ยง แต่เราเบื่อที่สุนัขอึและฉี่ไปทั่วและชอบกัดและรื้อของไปทั่ว เมตตาเลยไม่เกิดแต่โมโหมาแทน
การแผ่เมตตาในสมัยครั้งพุทธกาล คือ ผู้ที่มีปัญญาอบรมเจริญเมตตาจนมีกำลังมาก ไม่มีประมาณ จิตสงบ ระดับฌานจิต แล้วแผ่ความปรารถนาดี ความหวังดีไปยังสรรพสัตว์ทุกหมู่เหล่า ทุกทิศ ไม่มียกเว้นสัตว์ประเภทใดเลย แต่ก่อนที่จะถึงระดับขั้นที่สามารถแผ่ได้จะต้องอบรมเมตตาตั้งแต่เบื้องต้น คือ ความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อน ความมีไมตรี ความหวังดีแก่เพื่อนๆ แก่สัตว์บุคคลที่เราพบเห็นทั้งหมด ถ้าหากว่ายังไม่สามารถมีความปรารถนาดี หรือเป็นมิตรกับทุกคนที่เราพบ คือยังมีความไม่ชอบหน้าบุคคลบางคน เมตตาชื่อว่ายังไม่ได้เจริญให้มีกำลัง แบบนี้ยังแผ่ไม่ได้ ส่วนการท่องคำแผ่เมตตาว่า สัพเพสัตตา เป็นต้นนั้น เรียกว่า ท่องคำแผ่เมตตาไม่ใช่แผ่เมตตา และยังแผ่ไม่ได้สำหรับการไหว้พระก่อนนอน ไม่มีข้อจำกัดว่าจะต้องเป็นแบบไหน คือ ให้ทราบว่าเป็นการกล่าวคำเพื่อระลึกถึงพระรัตนตรัยเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อสิ่งอื่น
เชิญคลิกอ่านได้ที่ ...
เมตตา คือความเอ็นดู ความรู้สึกที่เป็นเพื่อน ความหวังดี การช่วยเหลือ การเกื้อกูลสงเคราะห์ แต่ไม่ใช่การผูกพัน ซึ่งใกล้กับโลภะคือความติดข้อง การเล่าธรรมชาดกให้เด็กฟัง สอนให้เด็กรู้จักบาปบุญคุณโทษ และเรื่องกฏแห่งกรรม ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว ทำให้เด็กรู้จักกลัวบาป เป็นการปลูกฝังสิ่งที่ดีให้เด็ก การเจริญเมตตาเริ่มต้นให้กับอาจารย์และผู้มีพระคุณก่อน ต่อมาให้กับคนที่รัก และคนที่เฉยๆ คนที่ไม่รักเป็นคนสุดท้ายค่ะ
เคยไปปฏิบัติธรรม ท่านสอนให้แผ่เมตตาทุกวัน เพื่อให้เป็นนิสัยความเคยชิน ให้จิตมีความเมตตา อ่อนโยน ซึ่งดิฉันเองทำไม่ค่อยได้ เพราะจิตไม่สงบและไม่มีพลังที่จะแผ่เมตตาได้ แต่ถ้าครั้งใดที่จิตเป็นกุศล และสงบจึงแผ่เมตตาได้ หลังจากที่แผ่เมตตาแล้วจะรู้สึกว่าจิตตอนนั้นมีความสงบเย็น และเบิกบานมาก
ข้อคิดที่ควรพิจารณา..
ธรรมเป็นเรื่องของการน้อมประพฤติปฏิบัติตาม ทุกวันนี้ มนุษย์ในยุคปัจจุบัน เป็นผู้หนาในกิเลสมาก ดังนั้น คุณธรรมที่ควรอบรมในชีวิตประจำวันอย่างหนึ่งที่ควรอบรม คือเมตตา ความเป็นมิตร เป็นเพื่อน ด้วยการกระทำทางกาย วาจา ใจ ควรมีความเข้าใจและเห็นใจกัน อย่างน้อยเราก็เป็นเพื่อนร่วมในสังสารวัฏฏ์ การไม่ชอบกันไม่เกิดประโยชน์ มีแต่โทษ ในเมื่อพบกันชาติเดียวในชื่อ บุคคลนี้ ควรมีเมตตากันครับ
ผู้ที่จะแผ่เมตตาได้ ผู้นั้นเป็นผู้ที่มีปกติอยู่ด้วยเมตตา มีการอบรมความสงบของจิตที่เป็นสมถภาวนา ด้วยการเจริญพรหมวิหาร จนถึงขั้นอุปจารและอัปปนา
เปิดฟังคลิกที่ ..
เมตตาที่ถูกต้อง คือสภาพของจิตซึ่งมีความเป็นมิตรเป็นไปขณะที่มีสัตว์ มีบุคคล ไม่ว่าจะเป็น ณ สถานที่ใดก็ตามแล้วก็บุคคลนั้นจะเป็นใครก็ตาม ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอยู่ด้วยเมตตาก็จะเป็นผู้ที่พร้อมที่จะเกื้อกูลบุคคลอื่น ด้วยเหตุนี้ เมตตาจึงเป็นพรหมวิหารหมายความว่าเป็นธรรมเครื่องอยู่ที่ประเสริฐ
ข้อความในขุททกนิกาย จริยาปิฎก มีว่า อนึ่ง จิตของพระมหาบุรุษนั้น ถึงความสงัดตั้งมั่นโดยไม่ยากความเป็นผู้มีจิตเมตตาย่อมตั้งอยู่ แม้ในฝ่ายที่เป็นศัตรูอย่างเร็ว แสดงว่าไม่มีใครที่จะเป็นศัตรูได้ บางครั้งท่านอาจคิดขุ่นเคืองใจ คิดว่าบุคคลนั้น บุคคลนี้เป็นผู้ที่ตัดรอนประโยชน์ของท่านด้วยประการใดๆ ก็ตาม แต่ถ้าเป็นผู้ที่สะสมกุศล และมีความตั้งมั่นในการที่จะขัดเกลากิเลสแล้วก็จิตของท่านจะสงบตั้งมั่นได้ไม่ยากแล้วจะเป็นผู้ที่มีจิตเมตตา แม้ในฝ่ายที่เป็นศัตรูอย่างเร็ว
จากหนังสือ ..บารมี๑๐ในชีวิตประจำวัน
โกรธได้เป็นเรื่องธรรมดา แต่อย่าถึงกับเกลียด เพราะนั้นเป็นกิเลสที่ลึก ให้คิดถึงความตายบ่อยๆ เพราะว่าเราอยู่ในโลกนี้อีกไม่นานก็ต้องตายจากกันไปแล้ว ถ้าเราผูกโกรธจนกลายเป็นศัตรู เกิดชาติหน้าก็เป็นศัตรูกันอีก ถ้าจะเจริญเมตตาก็เริ่มต้นด้วยการไม่ผูกโกรธและให้อภัยค่ะ
เมตตาเกิดหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่คำกล่าว แต่อยู่ที่นามธรรมที่เกิดขณะนั้น