พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. อุพพิริเถรีคาถา

 
บ้านธัมมะ
วันที่  21 พ.ย. 2564
หมายเลข  40716
อ่าน  381

[เล่มที่ 54] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 90

เถรีคาถา ติกนิบาต

๕. อุพพิริเถรีคาถา


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 54]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 90

๕. อุพพิริเถรีคาถา

พระศาสดาตรัสถามว่า

[๔๓๔] แน่ะอุพพิริ เธอคร่ำครวญอยู่ในป่าว่าลูกชีวาเอ๋ย เธอจงรู้จักตน ธิดาของเธอที่มีชื่อว่า ชีวา ทั้งหมดมีประมาณ ๘๔,๐๐๐ คน ถูกเผาอยู่ในป่าช้านี้ บรรดาธิดาเหล่านั้น เธอเศร้าโศกถึงธิดาคนไหน.

นางอุพพิริทูลว่า

ลูกศรคือความโศกที่เห็นได้ยาก เสียบอยู่แล้วในหทัยของข้าพระองค์ ข้าพระองค์ถอนขึ้นได้แล้ว ข้าพระองค์บรรเทาความเศร้าโศกถึงธิดาของข้าพระองค์ผู้ถูกความโศกครอบงำได้แล้ว วันนี้ข้าพระองค์ถอนลูกศรคือความโศกขึ้นแล้ว หมดความอยาก ดับรอบแล้ว ข้าพระองค์เข้าถึงแล้วซึ่งพระพุทธเจ้าผู้เป็นนักปราชญ์กับทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ.

จบ อุพพิริเถรีคาถา

๕. อรรถกถาอุพพิริเถรีคาถา

คาถาว่า อมฺม ชีวา เป็นต้น เป็นคาถาของพระเถรีชื่ออุพพิริ.

แม้พระเถรีชื่ออุพพิรินี้ ก็ได้สร้างสมบุญบารมีไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานในภพนั้นๆ ในกาลแห่ง

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 91

พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ เกิดในเรือนแห่งตระกูลในพระนครหังสวดี รู้ความแล้ว วันหนึ่งเมื่อบิดามารดาไปเรือนอื่นเพื่อร่วมงานมงคล ตนเองไม่มีเพื่อนถูกละไว้ในเรือน ในเวลาใกล้ภิกขาจารแล้ว เห็นพระเถระขีณาสพองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เดินเข้ามาใกล้ประตูเรือนประสงค์จะถวายภิกษาจึงกล่าวว่า นิมนต์ท่านเข้ามาในที่นี้เจ้าข้า เมื่อพระเถระเข้าเรือนแล้ว ไหว้พระเถระด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ได้ปูลาดอาสนะด้วยพรมที่ทำด้วยขนแกะเป็นต้นถวาย พระเถระนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ นางรับบาตรใส่บิณฑบาตจนเต็มแล้ววางในมือพระเถระ พระเถระอนุโมทนาแล้วหลีกไป ด้วยบุญกรรมนั้น นางเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เสวยทิพย์สมบัติโอฬารในดาวดึงส์นั้นจนตลอดอายุ จุติจากดาวดึงส์นั้นท่องเที่ยวอยู่ในสุคติภูมิทั้งหลายเท่านั้น ในพุทธุปปาทกาลนี้ เกิดในตระกูลคฤหบดีมหาศาล กรุงสาวัตถี ได้นามว่า อุพพิริ เป็นหญิงมีรูปงามน่าทัศนาน่าเลื่อมใส เมื่อเจริญวัยแล้ว นางถูกนำไปสู่พระตำหนักส่วนพระองค์ของพระเจ้าโกศล ล่วงไป ๒ - ๓ ปี ได้ธิดาคนหนึ่ง ญาติพี่น้องทั้งหลายไปตั้งชื่อธิดานั้นว่า ชีวา พระเจ้าโกศลทอดพระเนตรเห็นธิดาของนาง ทรงมีพระทัยยินดี ได้พระราชทานอภิเษกด้วยแผ่นดินมีพืชอุดม แต่ธิดาของนางได้ตายเสีย ในเวลาที่เที่ยววิ่งไปวิ่งมาได้มารดาไปป่าช้าที่เขาเอาร่างของธิดาไปทิ้ง คร่ำครวญอยู่ทุกวัน.

    วันหนึ่ง นางไปเฝ้าพระศาสดาถวายบังคมแล้ว นั่งอยู่หน่อยหนึ่ง ก็ไปยืนที่ฝั่งแม่น้ำอจิรวดีคร่ำครวญถึงลูก พระศาสดาทรงเห็นดังนั้น ประทับนั่งในพระคันธกุฏิอย่างเดิมนั่นเอง แสดงพระองค์ตรัสถามว่า เธอบ่นเพ้อเพราะเหตุไร นางกราบทูลว่า บ่นเพ้อถึงลูกสาวของข้าพระองค์พระเจ้าข้า พระศาสดาตรัสว่า ที่ป่าช้านี้เขาเผาลูกสาวของเธอประมาณ ๘๔,๐๐๐ คน บรรดาลูกสาว

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 92

เหล่านั้น เธอบ่นเพ้อถึงคนไหน ดังนี้แล้ว ทรงแสดงที่เผาศพของลูกสาวเหล่านั้น ตรงนั้นๆ แล้วตรัสพระคาถาครึ่งว่า

    แน่ะอุพพิริ เธอคร่ำครวญอยู่ในป่าว่า ลูกชีวาเอ๋ย เธอจงรู้จักตน ธิดาของเธอที่มีชื่อว่าชีวา ทั้งหมดมีประมาณ ๘๔,๐๐๐ คน ถูกเผาอยู่ในป่าช้านี้ บรรดาธิดาเหล่านั้น เธอเศร้าโศกถึงธิดาคนไหน.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อมฺม ชีวา เป็นคำเรียกธิดาตามชื่อที่ใกล้เคียงมารดา อนึ่งคำนี้เป็นคำแสดงอาการบ่นเพ้อของนาง. บทว่า วนมฺหิกนฺทสิ แปลว่า คร่ำครวญอยู่กลางป่า. บทว่า อตฺตานํ อธิคจฺฉ อุพฺพิริ ความว่า แน่ะอุพพิริ เธอจงรู้จัก คือจงรู้ตามความเป็นจริง ซึ่งตัวของเธอนั่นแหละก่อน. บทว่า จุลฺลาสีติสหสฺสานิ แปลว่า แปดหมื่นสี่พัน.บทว่า สพฺพา ชีวสนามิกา ความว่า ธิดาเหล่านั้นแม้ทั้งหมด มีชื่อเหมือนกันว่า ชีวา. บทว่า เอตมฺหาฬาหเน ทฑฺฒา แปลว่า เผาในป่าช้านี้. บทว่า ตาสํ กมนุโสจสิ ความว่า บรรดาธิดาประมาณ ๘๔,๐๐๐คนที่มีชื่อว่าชีวาเหล่านั้นเธอเศร้าโศก คือถึงความเศร้าโศกถึงคนไหน เมื่อพระศาสดาทรงแสดงพระธรรมอย่างนี้ด้วยประการฉะนี้แล้ว นางส่งญาณไปตามกระแสพระเทศนาปรารภวิปัสสนา ด้วยความไพเราะแห่งเทศนาของพระศาสดา และด้วยความสมบูรณ์แห่งเหตุของตน นางยืนอยู่อย่างนั้นแหละขวนขวายวิปัสสนา ตั้งอยู่ในพระอรหัต ซึ่งเป็นผลเลิศตามลำดับมรรคเพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวได้ในอปทานว่า๑

    ในกาลนั้น ข้าพเจ้าเป็นช่างกรองดอกไม้อยู่ในพระนครหังสวดี บิดามารดาของข้าพเจ้าท่านไปทำงาน


    ๑. ขุ. ๓๓/ข้อ ๑๕๔ เอกาสนทายิกาเถรีอปทาน.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 93

ข้าพเจ้าได้เห็นพระสมณะกำลังเดินไปตามถนนในเวลาเที่ยงวัน ข้าพเจ้าได้ปูลาดอาสนะไว้ ครั้นปูลาดอาสนะด้วยผ้าที่ทำด้วยขนแกะอันวิจิตรเป็นต้นแล้วมีจิตเลื่อมใส ดีใจ ได้กล่าวคำนี้ว่า ภูมิภาคร้อนแรง แก่กล้าเวลาเที่ยงวัน ลมก็ไม่พัด และเวลานี้ก็จวนจะเลยเวลาแล้ว ข้าแต่พระมหามุนี อาสนะนี้ดิฉันปูลาดถวายแด่ท่าน ขอท่านได้โปรดอนุเคราะห์นั่งบนอาสนะของดิฉันเถิด พระสมณะผู้ฝึกตนดีแล้ว มีใจบริสุทธิ์ ได้นั่งบนอาสนะนั้น ข้าพเจ้ารับบาตรของท่านแล้ว ได้ถวายบิณฑบาตตามที่หุงต้มไว้ เพราะกรรมที่ทำไว้ดีนั้นและเพราะความตั้งใจอย่างแน่วแน่ ข้าพเจ้าละร่างมนุษย์แล้ว ได้ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ วิมานที่บุญกรรมสร้างไว้ให้ข้าพเจ้านั้นสวยงาม สูง ๖๐ โยชน์ กว้าง๓๐ โยชน์ ได้สร้างขึ้นอย่างดีเพราะการถวายอาสนะบัลลังก์ของข้าพเจ้ามีหลายอย่าง ต่างๆ ชนิด สำเร็จด้วยทองก็มี ด้วยแก้วมณีก็มี ด้วยแก้วผลึกก็มี ด้วยแก้วปัทมราคก็มี บัลลังก์ของข้าพเจ้าปูลาดด้วยนวมก็มี ด้วยผ้าลาดอันวิจิตรด้วยรูปราชสีห์และเสือโคร่งเป็นต้นก็มี ด้วยผ้าลาดทอด้วยไหม ประดับแก้วอันวิจิตรก็มี ด้วยเครื่องลาดมีขนสัตว์ข้างบนด้านเดียวก็มี เมื่อใดข้าพเจ้าต้องการจะเดินทาง เมื่อนั้นข้าพเจ้าเพรียบพร้อมด้วยการรื่นเริงสนุกสนานไปยังที่ที่ข้าพเจ้า

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 94

ปรารถนา พร้อมด้วยบัลลังก์อันประเสริฐ ข้าพเจ้าได้เป็นมเหสีของเทวราช ๘๐ องค์ เป็นมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ ๗๐ องค์ เมื่อข้าพเจ้ายังท่องเที่ยวอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ ได้โภคะมากมาย ข้าพเจ้าไม่บกพร่องโภคะเลย นี้เป็นผลแห่งอาสนะผืนเดียว ข้าพเจ้าท่องเที่ยวไปแต่ในสองภพ คือเทวโลกและมนุษยโลกภพอื่นๆ ข้าพเจ้าไม่รู้จัก นี้เป็นผลแห่งอาสนะผืนเดียว ข้าพเจ้าเกิดแต่ในสองตระกูล คือตระกูลกษัตริย์และตระกูลพราหมณ์ ข้าพเจ้าเกิดในตระกูลสูงทุกๆ ภพ นี้เป็นผลแห่งอาสนะผืนเดียว ความโทมนัสที่ทำจิตของข้าพเจ้าให้เร่าร้อนข้าพเจ้าไม่รู้จัก ความเป็นผู้ไม่มีวรรณะ ข้าพเจ้าก็ไม่รู้จัก นี้เป็นผลแห่งอาสนะผืนเดียว พี่เลี้ยงนางนมต่างก็บำรุงข้าพเจ้า หญิงค่อมและเด็กรับใช้มีมาก ข้าพเจ้าจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง นี้เป็นผลแห่งอาสนะผืนเดียว พี่เลี้ยงนางนมพวกหนึ่งให้ข้าพเจ้าอาบน้ำ พวกหนึ่งให้รับประทานข้าว พวกหนึ่งประดับตกแต่งข้าพเจ้า พวกหนึ่งคอยทำให้ข้าพเจ้ายินดีทุกเมื่อ พวกหนึ่งไล้ทาของหอมนี้เป็นผลแห่งอาสนะผืนเดียว เมื่อข้าพเจ้าอยู่ในมณฑปก็ตาม ที่โคนไม้ก็ตาม ในเรือนว่างก็ตาม บัลลังก์ดังจะรู้ความดำริของข้าพเจ้า ย่อมปรากฏขึ้น นี้เป็นอัตภาพสุดท้ายของข้าพเจ้า ภพหลังกำลังเป็นไปแม้วันนี้ข้าพเจ้าก็ได้สละราชสมบัติบวชเป็นบรรพชิต

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 95

ในแสนกัปแต่ภัทรกัปนี้ ข้าพเจ้าได้ให้ทานใดในกาลนั้น ด้วยทานนั้น ข้าพเจ้าไม่รู้จักทุคติ นี้เป็นผลแห่งอาสนะผืนเดียว ข้าพเจ้าเผากิเลสแล้ว ถอนภพทั้งหลายขึ้นหมดแล้ว ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันเหมือนช้างพังตัดเชือก เป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่ การมาเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐของข้าพเจ้า เป็นการมาดีแล้วหนอ ข้าพเจ้าบรรลุวิชชา ๓ แล้ว ได้ปฏิบัติคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว คุณวิเศษเหล่านี้คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าทำให้แจ้งแล้ว ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว.

    ครั้นตั้งอยู่ในพระอรหัตแล้ว เมื่อประกาศคุณวิเศษที่ตนบรรลุ ได้กล่าวสองคาถาเหล่านี้ว่า

    ลูกศรคือความโศกที่เห็นได้ยาก เสียบอยู่แล้วในหทัยของข้าพระองค์ ข้าพระองค์ถอนขึ้นได้แล้วข้าพระองค์บรรเทาความเศร้าโศกถึงธิดาของข้าพระองค์ผู้ถูกความโศกครอบงำได้แล้ว วันนี้ข้าพระองค์ถอนลูกศรคือความโศกขึ้นแล้ว หมดความอยาก ดับรอบแล้ว ข้าพระองค์เข้าถึงแล้วซึ่งพระพุทธเจ้าผู้เป็นนักปราชญ์ กับทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 96

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อพฺพุหิ วต เม สลฺลํ ทุทฺทสํททยนิสฺสิตํ ความว่า ข้าพระองค์ได้ถอนขึ้นแล้วหนอ คือได้นำออกแล้วหนอ ซึ่งความโศกและความยาก ที่ได้ชื่อว่า สัลละ ลูกศร เพราะให้เกิดความเบียดเบียน เพราะถอนออกไปได้ยาก และเพราะแทงอยู่ในภายในที่เห็นโดยแน่นอนได้ยาก เพราะมิได้สั่งสมกุศลสมภารไว้ ที่เสียบอยู่ในใจของของข้าพระองค์. บทว่า ยํ เม โสกปเรตาย ประกอบความว่า เพราะข้าพระองค์ได้บรรเทา คือนำออกโดยไม่เหลือ ซึ่งความเศร้าโศกถึงธิดาของข้าพระองค์ผู้ถูกความโศกครอบงำแล้ว ฉะนั้น ข้าพระองค์จึงถอนลูกศรคือความโศกที่เสียบอยู่ในหทัยของข้าพระองค์ได้แล้ว.

    บทว่า สาชฺช อพฺพูฬฺหสลฺลาหํ ความว่า วันนี้ ข้าพระองค์นั้นได้ถอนลูกศรคือความอยากขึ้นได้ โดยประการทั้งปวงแล้ว เพราะเหตุนั้นแหละจึงเป็นผู้หมดความอยาก ดับรอบแล้ว. บทว่า มุนึ ความว่า ข้าพระองค์เข้าถึง คือเข้าไปใกล้ด้วย รู้ด้วย เสพด้วย ซึ่งพระพุทธเจ้าผู้สัพพัญญูด้วยซึ่งโลกุตรธรรม ๙ อย่าง จำแนกเป็นมรรค ผล และนิพพาน ที่พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงแสดงไว้ด้วย ซึ่งพระสงฆ์กล่าวคือหมู่พระอริยบุคคล ๘ ผู้ดำรงอยู่ในโลกุตรธรรมนั้นด้วย ว่าเป็นสรณะ คือเป็นที่ต้านทาน เป็นที่เร้น เป็นที่พึ่ง เพราะประกอบด้วยพระรัตนตรัยที่ยอดเยี่ยมเหล่านั้น และเพราะทำวัฏฏทุกข์ทั้งสิ้นให้พินาศ.

    จบ อรรถกถาอุพพิริเถรีคาถา