พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. เสลาเถรีคาถา

 
บ้านธัมมะ
วันที่  21 พ.ย. 2564
หมายเลข  40718
อ่าน  378

[เล่มที่ 54] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 104

เถรีคาถา ติกนิบาต

๗. เสลาเถรีคาถา


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 54]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 104

๗. เสลาเถรีคาถา

มารกล่าวกะพระเสลาเถรีว่า
[๔๓๖] นิพพานอันเป็นที่สลัดออกไม่มีในโลกท่านจักทำประโยชน์อะไรได้ด้วยวิเวกเล่า ท่านจงบริโภคความยินดีในกามทั้งหลายเถิด อย่าได้เป็นผู้เดือด
ร้อนภายหลังเลย.

พระเสลาเถรีกล่าวว่า
กามทั้งหลายเปรียบด้วยหอกและหลาวครอบงำขันธ์ทั้งหลายไว้ ท่านกล่าวถึงความยินดีในกามใด บัดนี้เราไม่มีความยินดีในกามนั้นแล้ว เรากำจัดความ
เพลิดเพลินในสิ่งทั้งปวงแล้ว ทำลายกองแห่งความมืดได้แล้ว ดูก่อนมารผู้มีบาป ท่านจงรู้อย่างนี้ ดูก่อนมารผู้ทำที่สุด ตัวท่านถูกเรากำจัดแล้ว.

จบ เสลาเถรีคาถา

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 105

๗. อรรถกถาเสลาเถรีคาถา

คาถาว่า นตฺถิ นิสฺสรณํ โลเก เป็นต้น เป็นคาถาของพระเถรี ชื่อ เสลา.
แม้พระเถรีชื่อเสลาองค์นี้ ก็ได้สร้างบุญบารมีไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพนั้นๆ เกิดในเรือนแห่งตระกูลในพระนครหังสวดี รู้ความแล้ว บิดามารดายกให้แก่กุลบุตรผู้มีชาติตระกูลเสมอกัน อยู่ร่วมกับกุลบุตรนั้นอย่างสุขสบายหลายร้อยปี เมื่อกุลบุตรนั้นตาย แม้ตนเองก็ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับแล้ว เกิดความสังเวชแสวงหาว่าอะไรเป็นกุศล เที่ยวไปจากอารามนั้น ไปอารามนั้น จากวิหารนี้ไปวิหารนั้น อยู่ตลอดเวลา ด้วยปรารถนาจักฟังธรรมในสำนักของสมพราหมณ์ วันหนึ่งเข้าไปยังต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระศาสดา นั่งคิดอยู่ว่า ถ้าพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า เป็นผู้ไม่มีใครเสมอ เป็นผู้เสมอด้วยผู้ที่ไม่มีใครเสมอเป็นผู้หาบุคคลเปรียบมิได้จริง ขอต้นโพธิ์นี้จงแสดงปาฏิหาริย์แก่ข้าพเจ้า ต้นโพธิ์ได้สว่างโพลงในลำดับจิตตุปบาทเช่นนั้นของนางนั้นทันที กิ่งทั้งหลายปรากฏเป็นทองไปหมด สว่างไสวไปทุกทิศ นางเห็นปาฏิหาริย์ดังนั้นมีใจเลื่อมใส แสดงความเคารพความนับถือ นั่งประคองอัญชลีไว้เหนือศีรษะอยู่ ณ ที่นั้นเอง ตลอดเจ็ดคืนเจ็ดวัน ในวันที่ ๗ ได้กระทำบูชาสักการะอย่างโอฬาร ด้วยบุญกรรมนั้นนางท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก ในพุทธุปปาทกาลนี้ เกิดเป็นราชธิดาของพระเจ้าอาฬวีกราช มีนามว่า เสลา แต่คนทั้งหลายเรียกเธอว่า อาฬวิกา เพราะเป็นธิดาของพระเจ้าอาฬวีกราช เธอรู้ความแล้ว เมื่อพระศาสดาทรงทรมานอาฬวกยักษ์ ประทานบาตรและจีวรไว้

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 106

ในมือของอาฬวกยักษ์ เสด็จเข้าพระนครอาฬวีกับอาฬวกยักษ์นั้น เธอเป็นทาริกาเข้าไปเฝ้าพระศาสดากับพระราชา ฟังธรรมแล้วได้ศรัทธาเป็นอุบาสิกา.
กาลต่อมา เธอเกิดความสังเวช บวชในหมู่ภิกษุณี ทำกิจเบื้องต้นแล้วเริ่มเจริญวิปัสสนา พิจารณาสังขารทั้งหลาย มีญาณแก่กล้าเพราะสมบูรณ์ด้วยอุปนิสัย ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัต เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวไว้ในอปทานว่า๑
ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นหญิงท่องเที่ยวอยู่ในพระนครหังสวดี ข้าพเจ้าต้องการกุศลจึงเที่ยวจากอารามนี้ไปอารามนั้น ได้เห็นต้นโพธิ์อันอุดมในวันกาฬปักษ์ ยังจิตให้เลื่อมใสในต้นโพธินั้นแล้วนั่งที่โคนต้นโพธิ์ ตั้งจิตเคารพกระทำอัญชลีไว้เหนือศีรษะแสดงความโสมนัส แล้วคิดอย่างนี้ในขณะนั้นว่า ถ้าพระพุทธเจ้ามีพระคุณนับไม่ได้ ไม่มีบุคคลเปรียบเสมอไซร้ ก็ขอได้โปรดแสดงปาฏิหาริย์แก่เราเถิดขอโพธิ์ต้นนี้จงเปล่งรัศมีเถิด ทันใดนั้นเอง ต้นโพธิ์ก็สว่างโพลงพร้อมกับที่ข้าพเจ้านึก ได้มีรัศมีเป็นสีทองล้วน สว่างไสวไปทุกทิศ ข้าพเจ้านั่งที่โคนต้นโพธิ์นั้น ๗ คืน ๗ วัน ครั้นถึงวันที่ ๗ ข้าพเจ้าได้บูชาด้วยประทีป ประทีป ๕ ดวงสว่างโพลงล้อมรอบอาสนะ ครั้งนั้นประทีปของข้าพเจ้าสว่างโพลงอยู่จนพระอาทิตย์ขึ้น ด้วยกรรมที่ทำไว้ดีนั้น และด้วยความตั้งใจอันแน่วแน่ ข้าพเจ้าละร่างมนุษย์แล้วได้ไปสวรรค์ชั้น


๑. ขุ. ๓๓/ข้อ ๑๔๙ ปัญจทีปีกาเถรีอปทาน.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 107

ดาวดึงส์ วิมานที่บุญกรรมสร้างให้ข้าพเจ้าอย่างสวยงามในดาวดึงส์นั้น เรียกว่าเบญจประทีปวิมาน สูง๑๐๐ โยชน์ กว้าง ๖๐ โยชน์ ประทีปนับไม่ถ้วนส่อง
สว่างรอบข้าพเจ้า ทั่วเทพพิภพโชติช่วงด้วยแสงประทีป คนที่หันหน้าไปทางทิศบูรพา ถ้าข้าพเจ้าปรารถนาจะเห็น ข้าพเจ้าย่อมเห็นได้ด้วยจักษุทุกคน ทั้งเบื้องบนเบื้องล่างและเบื้องขวางข้าพเจ้าหวังจะเห็นกรรมดีและกรรมชั่วที่คนทำในที่มีประมาณเท่าใด ที่มีประมาณเท่านั้น ย่อมไม่มีต้นไม้หรือภูเขามากางกั้น ข้าพเจ้าได้เป็นมเหสีของเทวราช ๘๐ องค์ ได้เป็นมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๐๐ องค์ ข้าพเจ้าเข้าถึงกำเนิดใดๆ คือเป็นเทวดาหรือมนุษย์ ในกำเนิดนั้นๆ ประทีปตั้งแสนส่องสว่างรอบข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจุติจากเทวโลกแล้วเกิดในครรภ์ของมารดา เมื่อข้าพเจ้าอยู่ในครรภ์ของมารดา นัยน์ตาของข้าพเจ้าไม่หลับ ประทีปตั้งแสนดวงส่องสว่างอยู่ในเรือนคลอดของข้าพเจ้าผู้พร้อมเพรียงด้วยบุญกรรม นี้เป็นผลแห่งประทีป ๕ ดวง เมื่อถึงภพสุดท้าย ข้าพเจ้ากลับได้ฉันทะที่มีในใจ เห็นพระนิพพานซึ่งไม่มีชราไม่มีมรณะ เป็นสภาวะเยือกเย็น พอเกิดได้ ๗ ขวบ ข้าพเจ้าก็ได้บรรลุพระอรหัตพระโคตมะพุทธเจ้าทรงทราบคุณ จึงให้ข้าพเจ้าอุปสมบทข้าพเจ้าเข้าฌานอยู่ในมณฑป โคนไม้ ปราสาทถ้ำ หรือเรือนว่างก็ตาม ประทีป ๕ ดวงย่อมส่องสว่าง

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 108

ให้ข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามีทิพยจักษุบริสุทธิ์ ฉลาดในสมาธิบรรลุอภิญญาบารมี นี้เป็นผลแห่งประทีป ๕ ดวง ข้าพเจ้าอยู่จบพรหมจรรย์ทั้งปวง ทำกิจเสร็จแล้ว ไม่
มีอาสวะ ข้าแต่พระมหาวีระผู้มีจักษุ ข้าพระองค์ผู้ชื่อว่าปัญจทีปา ขอถวายบังคมพระยุคลบาท ในกัปที่หนึ่งแสนแต่ภัทรกัปนี้ ข้าพระองค์ได้ถวายประทีปใดใน
กาลนั้น ด้วยการถวายประทีปนั้น ข้าพระองค์ไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งประทีป ๕ ดวง ข้าพเจ้าเผากิเลสแล้ว ถอนภพทั้งหลายได้หมดแล้ว ตัดเครื่อง
ผูกพันเหมือนช้างพังตัดเชือก เป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่ การมาเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐของข้าพเจ้าเป็นการมาดีแล้วหนอ ข้าพเจ้าบรรลุวิชชา ๓ แล้ว ได้ปฏิบัติ
คำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว คุณวิเศษเหล่านี้คือปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ อภิญญา ๖ ข้าพเจ้าทำให้แจ้งแล้ว ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว.

ครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว พระเถรีอยู่ในกรุงสาวัตถี วันหนึ่งเวลาปัจฉาภัตออกจากกรุงสาวัตถี เข้าสู่ป่าอันธวันเพื่อต้องการพักผ่อนกลางวัน นั่งอยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่ง ครั้งนั้น มารประสงค์จะกำจัดพระเถรีนั้นให้พ้นจากวิเวกจึงแปลงรูปเข้าไปกล่าวคาถาว่า
นิพพานอันเป็นที่สลัดออกไม่มีในโลก ท่านจักทำประโยชน์อะไรได้ด้วยวิเวกเล่า ท่านจงบริโภค

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 109

ความยินดีในกามทั้งหลายเถิด อย่าได้เป็นผู้เดือดร้อนในภายหลังเลย.
คาถานั้นมีความว่า เมื่อสอบสวนดูแม้ลัทธิทั้งปวงชื่อว่านิพพานอันเป็นที่สลัดออก ไม่มีในโลก. คำนี้เป็นเพียงโวหาร ที่สมณพราหมณ์ทั้งหลายนั้นๆ ปฏิญาณตามความพอใจเท่านั้น เพราะฉะนั้น ท่านจักทำประโยชน์อะไรด้วยวิเวกเล่า คือท่านยังตั้งอยู่ในปฐมวัยที่สมบูรณ์เห็นปานนี้ จักทำประโยชน์อะไรด้วยกายวิเวกนี้เล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านจงบริโภคความยินดีในกามทั้งหลาย คือจงกลับเสวยความยินดีในการเล่น ที่อาศัยวัตถุกามและกิเลสกามเถิด เพราะเหตุไร. บทว่า มาหุ ปจฺฉานุตาปินี อธิบายว่า ท่านอย่าได้มีความเดือดร้อนภายหลังว่า เราประพฤติพรหมจรรย์เพื่อนิพพานใด นิพพานนั้นไม่มีเลย เพราะเหตุนั้นเองเราจึงไม่ได้บรรลุนิพพานนั้น ทั้งยังเสื่อมจากกามโภคะเสียด้วย เราพินาศหนอ.
พระเถรีได้ฟังดังนั้นคิดว่า มารที่คัดค้านพระนิพพานซึ่งประจักษ์แก่เรา และยังเชื้อเชิญเราในกามทั้งหลาย ไม่รู้ว่าเราเป็นผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว ผู้นี้โง่แท้ เอาเถอะ เราจักให้เขารู้เรื่องนั้นแล้วจักคุกคามเขา จึงกล่าวคาถา ๒ คาถานี้ว่า
กามทั้งหลายเปรียบด้วยหอกและหลาว ครอบงำขันธ์ทั้งหลายไว้ ท่านกล่าวถึงความยินดีในกามใด บัดนี้เราไม่มีความยินดีในกามนั้นแล้ว เรากำจัดความเพลิดเพลินในสิ่งทั้งปวงแล้ว ทำลายกองแห่งความมืดได้แล้ว ดูก่อนมารผู้มีบาป ท่านจงรู้อย่างนี้ ดูก่อนมารผู้กระทำซึ่งที่สุด ตัวท่านถูกเรากำจัดแล้ว.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 110

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สตฺติสูลูปมา กามา ความว่า ชื่อว่ากามทั้งหลาย พึงเห็นว่าเหมือนหอกและเหมือนหลาวที่ติดอยู่ เพราะแทงตลอดสัตว์ผู้ยึดมั่นนั้น. บทว่า ขนฺธา ได้แก่ อุปาทานขันธ์. บทว่า อาสํ ได้แก่เหล่านั้น. บทว่า อธิกุฏฺฏนา ได้แก่ เป็นที่ตั้งมั่นเพื่อการตัด ความว่า เป็นที่ยึดถืออย่างยิ่ง เพราะสัตว์ทั้งหลาย ยึดถืออย่างยิ่ง ซึ่งขันธ์ทั้งหลายแล้ว ย่อมถูกประหารถูกทำลายด้วยกามทั้งหลาย. บทว่า ยํ ติวํ กามรตึ พฺรูสิอรตี ทานิ สา มม ความว่า ดูก่อนมารผู้มีบาป ท่านกล่าวความยินดีในกามใดว่าน่ายินดี น่าเสพ บัดนี้ ความยินดีในกามนั้นเป็นเช่นกับอุจจาระเพราะเราไม่ยินดี เราไม่มีความต้องการอะไรๆ ด้วยความยินดีในกามนั้น.

ด้วยบทว่า สพฺพตฺถ วิหตา นนฺทิ เป็นต้น ในคาถานั้น ท่านกล่าวถึงเหตุ. บทว่า เอวํ ชานาหิ ในคาถานั้น ความว่า ท่านจงรู้ว่าเราละตัณหาและอวิชชาได้หมดแล้ว อธิบายว่า ดูก่อนมารผู้กระทำซึ่งที่สุด ผู้มีความประพฤติลามก เพราะเหตุนั้นแหละ เราจึงได้กำจัดคือเบียดเบียนท่านด้วยการทำลายกำลังและก้าวล่วงวิสัย แต่ท่านจะเบียดเบียนเราไม่ได้.

มารถูกพระเถรีคุกคามอย่างนี้แล้ว ได้อันตรธานไปในที่นั้นเอง. แม้พระเถรีก็พักผ่อนอยู่ตลอดวันในป่าอันธวัน ด้วยความสุขอันเกิดแต่ผลสมาบัติ
เวลาเย็นจึงได้ไปยังที่อยู่นั่นแล.

จบ อรรถกถาเสลาเถรีคาถา

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 111