พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. ภัททกาปิลานีเถรีคาถา

 
บ้านธัมมะ
วันที่  21 พ.ย. 2564
หมายเลข  40720
อ่าน  543

[เล่มที่ 54] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 114

เถรีคาถา จตุกกนิบาต

๑. ภัททกาปิลานีเถรีคาถา


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 54]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 114

เถรีคาถา จตุกกนิบาต

ว่าด้วยคาถาในจตุกกนิบาต

๑. ภัททกาปิลานีเถรีคาถา

[๔๓๘] พระมหากัสสปเถระผู้เป็นบุตร เป็นทายาทของพระพุทธเจ้า มีจิตตั้งมั่นดี ท่านรู้ขันธ์ที่อยู่อาศัยในก่อน เห็นสวรรค์และอบาย ถึงความสิ้นชาติ เป็นผู้เสร็จกิจแล้วเพราะรู้ยิ่ง เป็นมุนี เป็นพราหมณ์ผู้ได้วิชชา ๓ ด้วยวิชชา ๓ เหล่านี้ นางภัททกาปิลานีก็ได้วิชชา ๓ เหมือนพระมหากัสสปะละมัจจุได้ ทรงร่างกายนี้เป็นที่สุด ชนะมารพร้อมทั้งพาหนะ เราทั้งสองเห็นโทษในโลกแล้วจึงบวช เป็นผู้สิ้นอาสวะ ฝึกตนแล้ว มีความเย็น ดับสนิทแล้ว.

จบ ภัททกาปิลานีเถรีคาถา

จบ จตุกกนิบาต

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 115

อรรถกถาจตุกกนิบาต

๑. อรรถกถาภัททกาปิลานีเถรีคาถา

    ในจตุกกนิบาต มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

    คาถาว่า ปุตฺโต พุทฺธสฺส ทายาโท เป็นต้น เป็นคาถาของพระเถรีชื่อภัททกาปิลานี.

    ได้ยินว่า ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ พระเถรีนั้นเกิดในเรือนแห่งตระกูล ในพระนครหังสวดี รู้ความแล้ว ฟังธรรมในสำนักของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุณีองค์หนึ่งไว้ในตำแหน่งเลิศของภิกษุณีผู้ระลึกชาติได้จึงการทำบุญญาธิการปรารถนาตำแหน่งนั้นแม้เอง กระทำบุญตลอดชีวิต เคลื่อนจากอัตภาพนั้นแล้วท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก เมื่อพระพุทธเจ้ายังมิได้เสด็จอุบัติขึ้น เกิดในเรือนตระกูล ในกรุงพาราณสี แล้วไปสู่ตระกูลสามี วันหนึ่งทะเลาะกับน้องสาวสามี เมื่อน้องสาวสามีถวายบิณฑบาตแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า นางคิดว่าหญิงนี้ถวายทานแด่พระปัจเจกพุทธเจ้านี้แล้ว จักได้สมบัติโอฬาร รับบาตรจากหัตถ์ของพระปัจเจกพุทธเจ้าเทภัตตาหารทิ้ง เอาเปือกตมใส่เต็มถวาย มหาชนติเตียนว่านางคนพาล พระปัจเจกพุทธเจ้าท่านทำผิดอะไรเจ้าหรือ นางละอายเพราะคำของคนเหล่านั้น รับบาตรมาอีก เอาเปือกตมออกล้างบาตรแล้วขัดถูด้วยผงเครื่องหอม เอาของมีรสอร่อย ๔ อย่างใส่เต็ม และวางบาตรที่สว่างด้วยเนยใสซึ่งมีสีเหมือนดอกบัว ที่ราดไว้ข้างบน ตั้งความปรารถนาว่า บิณฑบาตนี้มีแสงสว่างฉันใด ขอร่างกายของเราจงมีแสงสว่างฉันนั้น นางเคลื่อนจากอัตภาพนั้นแล้ว ท่องเที่ยวอยู่ในสุคติภูมิทั้งหลายเท่านั้น ในกาลแห่งพระกัสสปพุทธเจ้า

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 116

เกิดเป็นธิดาเศรษฐีมีสมบัติมาก ในกรุงพาราณสี ด้วยผลแห่งบุพกรรมจึงมีร่างกายเหม็น พวกมนุษย์รังเกียจ นางเกิดความสังเวชจึงเอาเครื่องประดับของตนสร้างอิฐทองประดิษฐานไว้ที่เจดีย์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า และถือดอกอุบลบูชา ด้วยบุญกรรมนั้นร่างกายของนางมีกลิ่นหอมจับใจในภพนั้นเอง นางเป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของสามี ทำกุศลตลอดชีวิตเคลื่อนจากอัตภาพนั้นเกิดในสวรรค์ แม้ในสวรรค์นั้นก็ได้เสวยทิพยสุขตลอดชีวิต จุติจากสวรรค์นั้นเป็นราชธิดาของพระเจ้าพาราณสี เสวยสมบัติเช่นกับสมบัติเทวดาในกรุงพาราณสีนั้น บำรุงพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นเวลานาน เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นปรินิพพานแล้ว เกิดความสังเวช เป็นดาบสอยู่ในพระราชอุทยานเจริญฌานทั้งหลายแล้วเกิดในพรหมโลก จุติจากพรหมโลกนั้นเกิดในเรือนของตระกูลพราหมณ์โกสิยโคตร ในสาคลนคร เติบโตขึ้นด้วยบริวารใหญ่ เจริญวัยแล้วบิดามารดานำไปสู่เรือนของปิปผลิกุมารในมหาติตถคาม เมื่อปิปผลิกุมารออกบวช นางละโภคะกองใหญ่และญาติหมู่ใหญ่ออกเพื่อต้องการบวช เข้าไปอยู่ในอารามเดียรถีย์ ๕ ปี เวลาต่อมา นางได้บรรชาและอุปสมบทในสำนักของพระมหาปชาบดีโคตมี เริ่มตั้งวิปัสสนา ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตเพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในอปทานว่า (๑)

    ในกัปที่หนึ่งแสนแต่ภัทรกัปนี้ พระพิชิตมารพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้รู้จบธรรมทั้งปวง เป็นนายกของโลก เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว ครั้งนั้น ในพระนครหังสวดี มีเศรษฐีชื่อว่าวิเทหะ เป็นผู้มีรัตนะมากข้าพเจ้าเป็นชายาของเขา บางครั้ง เศรษฐีนั้นพร้อมกับชนบริวารเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้เป็นดังดวงอาทิตย์ของนรชนได้ฟังธรรมของพระพุทธองค์ซึ่งเป็นเหตุนำ


    ๑. ขุ. ๓๓/ข้อ ๑๖๗. ภัททกาปิลานีเถรีอปทาน.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 117

มาซึ่งความสิ้นทุกข์ทั้งปวง พระผู้เป็นนายกของโลกทรงประกาศสาวกองค์หนึ่ง ว่าเป็นเลิศของสาวกผู้กล่าวสรรเสริญธุดงค์ เศรษฐีสามีของข้าพเจ้าได้ฟังแล้ว ได้ถวายทานแด่พระพุทธเจ้าผู้คงที่ ตลอด ๗ วันแล้วซบเศียรลงแทบพระยุคลบาท ปรารถนาตำแหน่งนั้น ก็ในกาลนั้นพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐกว่านรชนเมื่อจะทรงให้บริษัทรื่นเริง ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้เพื่อทรงอนุเคราะห์เศรษฐีว่า ดูก่อนลูก เธอจักได้ตำแหน่งที่ปรารถนา จงเย็นใจเถิด ในกัปที่หนึ่งแสนแต่ภัทรกัปนี้ พระศาสดาพระนานว่าโคตมะ มีพระสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราชจักมีในโลก พระศาสดาพระองค์นั้นจักมีธรรมทายาท จักมีโอรสอันธรรมนิรมิต จักมีสาวกนามว่ากัสสปะ เศรษฐีได้ฟังพุทธพยากรณ์ดังนั้น เบิกบานใจ มีจิตประกอบด้วยเมตตาบำรุงพระพิชิตมารผู้เป็นนายกวิเศษ ด้วยปัจจัยทั้งหลายจนตลอดชีวิตในกาลนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าองค์นั้นทรงทำพระศาสนาให้รุ่งเรือง ทรงกำจัดเหล่าเดียรถีย์ชั่วๆ ทรงแนะนำผู้ที่ควรแนะนำแล้วพระองค์กับทั้งพระสาวกก็ปรินิพพาน เมื่อพระองค์ผู้เป็นเลิศในโลกนั้นปรินิพพานแล้ว เศรษฐีนั้นเชิญญาติและมิตรมาประชุมกัน พร้อมกับญาติและมิตรเหล่านั้นได้สร้างพระสถูปสำเร็จด้วยรัตนะ สูง ๗ โยชน์ รุ่งเรืองดังดวงอาทิตย์ และต้นพระยารังที่มีดอกบานสะพรั่ง

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 118

เพื่อบูชาพระศาสดา ข้าพเจ้าได้ให้ช่าง ๗ คน เอารัตนะ ๗ อย่าง ทำตะเกียง ๗๐๐,๐๐๐ ดวง เอาน้ำมันหอมใส่เต็มทุกดวงตามประทีปไว้ในที่นั้นๆ ลุกโพลงดังไฟไหม้ป่าอ้อ เพื่อบูชาผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้อนุเคราะห์สัตว์ทั้งปวง ข้าพเจ้าให้ช่างทำหม้อ๗๐๐,๐๐๐ ใบ เต็มด้วยรัตนะต่างๆ มีวัตถุที่ควรบูชาอันเป็นทอง ตั้งไว้ในท่ามกลางระหว่างหม้อทุกๆ ๘หม้อ มีวรรณะรุ่งเรืองเหมือนพระอาทิตย์ในสารทกาลเพื่อบูชาพระศาสดาผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ที่ประตูทั้ง ๔ มีเสาระเนียดล้วนแล้วไปด้วยรัตนะ มีแท่นที่สำเร็จด้วยรัตนะตั้งไว้ งดงามน่ารื่นรมย์ มีคูปลูกพรรณดอกไม้น้ำเป็นระเบียบดี มีธงรัตนะยกขึ้นไว้ล้วนแต่งามไพโรจน์ พระเจดีย์ที่สำเร็จด้วยรัตนะนั้นๆ สร้างไว้มีสีสุกปลั่งงามดี มีวรรณะรุ่งเรืองเหมือนพระอาทิตย์ที่มีรัศมีงาม พระสถูปของข้าพเจ้ามี ๓ ด้าน ด้านหนึ่งเต็มด้วยหรดาล ด้านหนึ่งเต็มด้วยมโนศิลา ด้านหนึ่งเต็มด้วยแร่พลวง ข้าพเจ้าสร้างเครื่องบูชาที่น่ารื่นรมย์เช่นนี้แล้ว ได้ถวายทานแด่พระสงฆ์ผู้กล่าวธรรมอันประเสริฐตามกำลังตลอดชีวิต ข้าพเจ้ากับเศรษฐีนั้นทำยัญเหล่านั้นโดยประการทั้งปวง ตลอดชีวิต ได้ไปสู่สุคติพร้อมกัน ได้เสวยสมบัติทั้งที่เป็นของเทวดาและของมนุษย์ ท่องเที่ยวไปกับเศรษฐีนั้นเหมือนเงาไปกับตัวฉะนั้น ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 119

พระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ผู้เป็นนายกของโลก มีพระเนตรงาม ทรงเห็นแจ้งธรรมทั้งปวง เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว ครั้งนั้นในพระนครพันธุมดี มีพราหมณ์ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ดี เป็นผู้มั่งคั่ง สมบูรณ์ด้วยคุณธรรมและทรัพย์ แต่ภายหลังกลับตกยาก แม้ครั้งนั้นข้าพเจ้าเป็นพราหมณีของเขา มีใจเสมอกัน บางคราวพราหมณ์นั้นเข้าไปเฝ้าพระมหามุนี ซึ่งประทับนั่งแสดงอมตบทอยู่ในหมู่ชน ฟังธรรมแล้วเบิกบานใจได้ถวายผ้าห่มผืนหนึ่ง มีผ้านุ่งผืนเดียวกลับไปเรือนบอกข้าพเจ้าว่า แน่ะเธอผู้มีบุญมาก จงอนุโมทนาเถิดฉันได้ถวายผ้าห่มแด่พระพุทธเจ้าแล้ว ครั้งนั้นข้าพเจ้าทราบดีแล้วประนมมืออนุโมทนาว่า ข้าแต่นาย ผ้าห่มท่านถวายดีแล้วแด่พระพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐ ผู้คงที่พราหมณ์กับข้าพเจ้ามีความเจริญด้วยสุขสมบัติร่วมกันท่องเที่ยวไปในภพน้อยภพใหญ่ ได้เป็นพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ในกรุงพาราณสีที่รื่นรมย์ ครั้งนั้นข้าพเจ้าได้เป็นมเหสีของท้าวเธอ สูงกว่าพวกพระสนม เป็นที่สองของท้าวเธอ ท้าวเธอโปรดปรานข้าพเจ้าเพราะสิเนหาเนื่องมาแต่ภพก่อนๆ พระราชานั้นทอดพระเนตรเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ๘ องค์กำลังเที่ยวบิณฑบาต ทรงเบิกบานพระทัย ได้ถวายบิณฑบาตอันควรแก่ค่ามากแล้วทรงนิมนต์ไว้ ทรงสร้างมณฑปรัตนะผสมด้วยทอง ที่พวกช่างทองทำไว้อย่างงดงาม สูง ๑๐๐ ศอก

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 120

ท้าวเธอทรงเลื่อมใส รับสั่งให้อาราธนาพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นทั้งหมด ได้ถวายทานแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นผู้เข้าไปในพระราชนิเวศน์ ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง แม้ครั้งนั้น ข้าพเจ้าก็ได้ถวายทานร่วมกับพระเจ้ากาสีอีก ท้าวเธอพร้อมด้วยพระภาดามาเกิดในตระกูลกุฏุมพีที่มั่งคั่งมีความสุข ข้าพเจ้าเป็นภรรยาของพราหมณ์ผู้พี่ ได้ประพฤติวัตรในสามีเป็นอย่างดี. น้องชาย (๑) ของสามีของข้าพเจ้าเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วเอาอาหารของพี่ชายถวายแด่พระปัจเจกพุทธเจ้านั้น เมื่อพี่ชายมา ได้บอกว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าท่านมิได้ยินดีทาน ขณะนั้นข้าพเจ้าได้ถวายทานแด่พระปัจเจกพุทธเจ้านั้น สามีของข้าพเจ้าถวายอาหารอันควรแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า เวลานั้นข้าพเจ้าโกรธเททานของพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นเสีย ได้ถวายบาตรที่เต็มด้วยเปือกตมแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้คงที่นั้น ครั้งนั้นข้าพเจ้าเห็นสามีมีหน้าแสดงว่ามีจิตสม่ำเสมอในการให้ การรับ การไม่เคารพ และการประทุษร้าย จึงสลดใจมาก สามีของข้าพเจ้ารับบาตรมาแล้ว เอาน้ำหอมอย่างดีล้างให้สะอาด ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส ได้ถวายน้ำตาลกรวดกับเปรียงเต็มบาตร ข้าพเจ้าเกิดในภพไหนๆ ก็มีรูปงาม เพราะถวายทาน แต่มีกลิ่นตัวเหม็นเพราะทำความไม่ดี หยาบหยามพระปัจเจกพุทธเจ้า


    ๑. อรรถกถาเถรีคาถา เป็นน้องสาว.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 121

เมื่อสามีสร้างพระเจดีย์แห่งพระกัสสปธีรเจ้าสำเร็จแล้ว ข้าพเจ้ามีความยินดีได้ถวายแผ่นอิฐทองคำอย่างดี เอาแผ่นอิฐนั้นชุบจนเปียกด้วยน้ำหอมที่เกิดแต่เครื่องหอม ๔ ชนิด จึงพ้นจากโทษที่มีกลิ่นตัวเหม็นงดงามดีทั่วสรรพางค์ แล้วให้ช่างเอารัตนะ ๗ ประการทำตะเกียง ๗๐๐,๐๐๐ ดวง ใส่เปรียงเต็ม ให้ใส่ไส้๑,๐๐๐ ไส้ ตามประทีปตั้งไว้ ๗ แถว เพื่อบูชาพระพุทธเจ้าผู้เป็นที่พึ่งของสัตว์โลก ด้วยจิตที่เลื่อมใสแม้ในครั้งนั้น ข้าพเจ้าก็มีส่วนในบุญนั้นเป็นพิเศษ สามีของข้าพเจ้าเกิดในแคว้นกาสี มีนามปรากฏว่าสุมิตตะ ข้าพเจ้าเป็นภรรยานายสุมิตตะนั้น เจริญด้วยสุขสมบัติ เป็นที่รักของสามี ครั้งนั้นสามีได้ถวายผ้าโพกศีรษะเนื้อดีแก่พระปัจเจกมุนี แม้ข้าพเจ้าก็มีส่วนแห่งทานนั้น อนุโมทนาทานอันอุดม สามีเกิดในกำเนิดชาวโกลิยะในแคว้นกาสี ครั้งนั้น สามีของข้าพเจ้าพร้อมกับบุตรชาวโกลิยะ ๕๐๐ คน ได้บำรุงพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ อาราธนาพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นให้อยู่จำพรรษาตลอดไตรมาส และได้ถวายไตรจีวร ข้าพเจ้าเป็นไปตามครรลองแห่งบุญกรรม ได้เป็นภรรยาของโกลิยบุตรคนนั้นในกาลนั้น โกลิยบุตรนั้นเคลื่อนจากอัตภาพนั้นแล้วเป็นพระราชาพระนามว่า นันทะ มีพระอิสริยยศใหญ่ แม้ข้าพเจ้าก็ได้เป็นมเหสีของท้าวเธอ เป็นผู้มั่งคั่งด้วยกามสุขทุกอย่าง

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 122

พระเจ้านันทะนั้นเคลื่อนจากอัตภาพนั้นแล้วเป็นพระเจ้าพรหมทัต ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ครั้งนั้นข้าพเจ้ากับพระเจ้าพรหมทัต ได้อาราธนาพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ ผู้เป็นพระโอรสของพระนางปทุมวดี ให้อยู่ในพระราชอุทยานแล้วบำรุง และบูชาพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นผู้นิพพานแล้ว จนตลอดชีวิต เราทั้งสองสร้างพระเจดีย์ไว้หลายองค์ บวชแล้วเจริญอัปปมัญญา ได้ไปสู่พรหมโลก จุติจากพรหมโลกแล้วสามีของข้าพเจ้าเกิดเป็นพราหมณ์ชื่อปิปผลายนะ บ้านมหาติตถะ มารดาชื่อสุมนเทวี บิดาเป็นพราหมณ์โกสิโคตร ข้าพเจ้าเกิดเป็นธิดาของพราหมณ์นามว่ากปิละ มารดาชื่อสุจีมดีในมัททชนบท เมืองสากลบุรีที่อุดม บิดาหล่อรูปข้าพเจ้าด้วยทองแท่ง แล้วถวายรูปหล่อแก่พระกัสสปพุทธเจ้าผู้เว้นจากกามคุณทั้งหลาย พราหมณ์ปิปผลายนะนั้นเป็นหนุ่ม ไปตรวจตราการงานในบางคราว เห็นสัตว์ทั้งหลายที่ถูกกาเป็นต้นกัดกินแล้วสลดใจ ครั้งนั้นข้าพเจ้าเห็นเมล็ดงาที่มีอยู่ได้เรือน เอาออกผึ่งแดด มีเหล่าหนอนกัดกินอยู่ในความสลดใจ ครั้งนั้น ปิปผลายพราหมณ์ผู้มีปัญญาออกบวชแล้ว ข้าพเจ้าก็บวชตาม อยู่อาศัยในสำนักปริพาชก ๕ ปี เมื่อพระนางโคตมี ผู้เป็นคนเลี้ยงดูพระพิชิตมารทรงผนวชแล้ว ข้าพเจ้าเข้าไปหาท่านในคราวนั้น พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนแล้วไม่นานนักก็ได้

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 123

บรรลุพระอรหัต โอ เรามีพระกัสสปะผู้มีศิริเป็นกัลยาณมิตร พระกัสสปเถระผู้เป็นบุตรเป็นทายาทของพระพุทธเจ้า มีจิตตั้งมั่นดี ท่านรู้ขันธ์ที่อยู่อาศัยในก่อน เห็นสวรรค์และอบาย ถึงความสิ้นชาติเป็นผู้เสร็จกิจแล้วเพราะรู้ยิ่ง เป็นมุนี เป็นพราหมณ์ผู้ได้วิชชา ๓ ด้วยวิชชา ๓ เหล่านี้ นางภัททกาปิลานีก็เหมือนกัน ได้วิชชา ๓ ละมัจจุราชได้ ทรงร่างกายนี้เป็นที่สุด ชนะมารพร้อมทั้งพาหนะ เราทั้งสองเห็นโทษในโลกแล้วบวช เป็นผู้สิ้นอาสวะ ฝึกตนแล้ว มีความเย็นดับสนิทแล้ว ข้าพเจ้าเผากิเลส ถอนภพได้หมดแล้ว ตัดเครื่องผูกพันเหมือนช้างพังตัดเชือกเป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่ การที่ข้าพเจ้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐนี้ เป็นการมาดีแล้วหนอ วิชชา ๓ ข้าพเจ้าบรรลุแล้วโดยลำดับ ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว คุณวิเศษเหล่านี้ คือปฏิสัมภิทา ๔วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้วข้าพเจ้าได้ปฏิบัติคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว.

    ครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว พระเถรีภัททกาปิลานีได้เป็นผู้มีความชำนาญอย่างเชี่ยวชาญในปุพเพนิวาสญาณ เพราะได้สร้างสมบุญบารมีไว้อย่างดียิ่งในภพนั้นๆ กาลต่อมาพระศาสดาประทับนั่งท่ามกลางอริยสงฆ์ ณ พระเชตวัน ทรงตั้งเหล่าภิกษุณีไว้ในตำแหน่งทั้งหลายตามลำดับ ได้ทรงตั้งพระเถรีนั้นไว้ในตำแหน่งเป็นเลิศของภิกษุณีทั้งหลายผู้ระลึกชาติได้ วันหนึ่งพระเถรีนั้น เมื่อเปล่งอุทานซึ่งเริ่มต้นด้วยการชมเชยคุณธรรมของพระมหากัสสปเถระ

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 124

ด้วยการชี้แจงคุณมีความที่ตนทำกิจสำเร็จแล้วเป็นต้นเป็นข้อสำคัญ ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า

    พระกัสสปเถระผู้เป็นบุตรเป็นทายาทของพระพุทธเจ้า มีจิตตั้งมั่นดี ท่านรู้ขันธ์ที่อยู่อาศัยในก่อนเห็นสวรรค์และอบาย ถึงความสิ้นชาติ เป็นผู้เสร็จกิจแล้วเพราะรู้ยิ่งเป็นมุนี เป็นพราหมณ์ผู้ได้วิชชา ๓ด้วย วิชชา ๓ เหล่านี้ นางภัททกาปิลานีก็ได้วิชชา๓ เหมือนกัน ละมัจจุราชได้ ทรงร่างกายนี้เป็นที่สุดชนะมารพร้อมทั้งพาหนะ เราทั้งสองเห็นโทษในโลกแล้วบวช เป็นผู้สิ้นอาสวะ ฝึกตนแล้วมีความเย็นดับสนิทแล้ว.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุตฺโต พุทฺธสฺส ทายาโท ความว่าพระกัสสปเถระเป็นอนุชาตบุตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยความเป็นผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า เป็นทายาทโดยการถือเอาโลกุตรธรรม ๙ ซึ่งเป็นการให้นั้น จากพระพุทธเจ้านั้นแล ชื่อว่ามีจิตตั้งมั่นดี เพราะความเป็นผู้มีมีจิตตั้งมั่นด้วยดีด้วยสมาธิที่เป็นโลกิยะและโลกุตระ. บทว่า ปุพฺเพนิวาสํโส เวที ความว่า พระมหากัสสปเถระนั้น ได้รู้แล้ว คือรู้ทั่วแล้ว คือแทงตลอดแล้ว ซึ่งขันธ์ที่อยู่อาศัยในก่อน คือซึ่งขันธ์สันดานที่เคยอยู่อาศัยทั้งของตนและของคนอื่นๆ ทำให้ปรากฏด้วยปุพเพนิวาสานุสสติญาณ. บทว่าสคฺคาปายญฺจ ปสฺสติ ความว่า เห็นสวรรค์ ซึ่งแบ่งเป็นเทวโลก ๒๖ ภูมิและอบายภูมิ ๔ ภูมิ ด้วยทิพยจักษุ เหมือนเห็นมะขามป้อมในฝ่ามือ.

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 125

    บทว่า อโถ ชาติกฺขยํ ปตฺโต ความว่า บรรลุพระอรหัตกล่าวคือความสิ้นชาติ ต่อจากนั้น เป็นผู้เสร็จกิจแล้ว คือถึงแล้วซึ่งความสำเร็จ คือเป็นผู้ทำกิจเสร็จแล้ว เพราะรู้ยิ่ง คือเพราะรู้ยิ่งซึ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง เพราะกำหนดรู้ซึ่งธรรมที่ควรกำหนดรู้ เพราะละซึ่งธรรมที่ควรละ เพราะทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ด้วยญาณอันน่าปรารถนายิ่ง คือประเสริฐยิ่ง ชื่อว่าเป็นมุนี เพราะบรรลุโมนะกล่าวคือปัญญาเป็นเครื่องทำอาสวะให้สิ้นไป.

    บทว่า ตเถว ภทฺทกาปิลานี ความว่า พระมหากัสสปะเป็นผู้ได้วิชชา ๓ ด้วยวิชชา ๓ เหล่านั้น คือตามที่กล่าวแล้ว และเป็นผู้ละมัจจุราชได้ฉันใด พระเถรีภัททกาปิลานีก็ได้วิชชา ๓ และละมัจจุได้ ฉันนั้นเหมือนกันต่อจากนั้น พระเถรีแสดงตนนั่นแหละ ทำให้เป็นเหมือนผู้อื่น ด้วยบทว่าธาเรติ อนฺติมํ เทหํ เชตฺวา มารํ สวาหนํ.

    บัดนี้ พระเถรีภัททกาปิลานีเมื่อแสดงว่า ความงามในเบื้องต้น ความงามในท่ามกลาง ความงามในที่สุดแห่งการปฏิบัติ ของพระเถระฉันใด แม้ของเราก็ฉันนั้น จึงกล่าวคาถาสุดท้ายว่า ทิสฺวา อาทีนวํ เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตฺยมฺห ขีณาสวา ทนฺตา ความว่า เราทั้งหลายเหล่านั้น คือพระมหากัสสปเถระและข้าพเจ้า เป็นผู้ฝึกตนแล้วด้วยการฝึกสูงสุดและเป็นผู้มีอาสวะสิ้นแล้วโดยประการทั้งปวง. บทว่า สีติภูตามฺห นิพฺพุตาความว่า เป็นผู้มีความเย็น เพราะไม่มีความเร่าร้อนคือกิเลสนั้นเอง และเป็นผู้ดับสนิทด้วยสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ.

    จบอรรถกถาภัททกาปิลานีเถรีคาถา

    จบอรรถกถาจตุกกนิบาต