พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. วิมลาปุราณคณิกาเถรีคาถา

 
บ้านธัมมะ
วันที่  21 พ.ย. 2564
หมายเลข  40722
อ่าน  601

[เล่มที่ 54] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 128

เถรีคาถา ปัญจกนิบาต

๒. วิมลาปุราณคณิกาเถรีคาถา


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 54]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 128

๒. วิมลาปุราณคณิกาเถรีคาถา

[๔๔๐] ข้าพเจ้าเป็นผู้เมาวรรณะ รูปสมบัติความสวยงาม บริวารสมบัติ และมีจิตกระด้างด้วย

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 129

ความเป็นสาว ดูหมิ่นหญิงอื่น ข้าพเจ้าประดับกายนี้ให้วิจิตรงดงาม สำหรับลวงผู้ชายโง่ๆ ได้ยืนอยู่ที่ประตูเรือนหญิงแพศยา ดุจนายพรานที่คอยดักเนื้อฉะนั้น ข้าพเจ้าแสดงเครื่องประดับต่างๆ และอวัยวะที่ควรปกปิดเป็นอันมากให้ปรากฏ กระทำมายาหลายอย่างให้ชายเป็นอันมากยินดี วันนี้ข้าพเจ้านั้นมีศีรษะโล้น ห่มผ้าสังฆาฏิเที่ยวบิณฑบาตแล้วมานั่งอยู่ที่โคนต้นไม่ ได้ฌานอันไม่มีวิตก ข้าพเจ้าตัดเครื่องเกาะเกี่ยวทั้งที่เป็นของทิพย์ทั้งที่เป็นของมนุษย์ได้ทั้งหมด ทำอาสวะทั้งปวงให้สิ้นไป มีความเย็นดับสนิทแล้ว.

    จบ วิมลาปุราณคณิกาเถรีคาถา

๒. อรรถกถาวิมลาเถรีคาถา

    คาถาว่า มตฺตา วณฺเณน รูเปน เป็นต้น เป็นคาถาของพระเถรีชื่อวิมลา.

    แม้พระเถรีชื่อวิมลาองค์นี้ ก็ได้สร้างสมบุญบารมีไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพนั้นๆ ในพุทธุปปาทกาลนี้ เกิดเป็นธิดาของหญิงผู้อาศัยรูปเลี้ยงชีพคนหนึ่งในกรุงเวสาลีมีชื่อว่า วิมาลา นางวิมลาครั้นเจริญวัยแล้วก็เลี้ยงชีพอย่างนั้นเหมือนกัน วันหนึ่งนางเห็นท่านพระมหาโมคคัลลานะเที่ยวบิณฑบาตในกรุงเวสาลี มีจิตปฏิพัทธ์จึงไปถึงที่อยู่ของพระเถระเริ่มทำการเล้าโลมมุ่งพระเถระ อาจารย์บางท่านกล่าวว่า ถูกพวกเดียรถีย์ส่งไปจึงได้ทำอย่างนั้น พระเถระคุกคามแล้วได้


    ๑. บาลี เป็น วิมลาปุราณคณิกาเถรีคาถา.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 130

ให้โอวาทแก่นางโดยการชี้แจงถึงอสุภกัมมัฏฐานเป็นข้อสำคัญ เรื่องนั้นมีมาในเถรคาถาที่แล้วมานั่นแล เมื่อพระเถระให้โอวาทอย่างนั้นแล้ว นางเกิดความสังเวช เกิดหิริโอตตัปปะ ได้ศรัทธาในพระศาสนา เป็นอุบาสิกา เวลาต่อมาได้บวชในหมู่ภิกษุณี เพียรพยายามอยู่ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัต เพราะเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยเหตุ พิจารณาการปฏิบัติของตน ได้กล่าวคาถาเหล่านั้นเป็นอุทานว่า

    ข้าพเจ้าเป็นผู้เมาวรรณะ รูปสมบัติ ความสวยงาม บริวารสมบัติ และมีจิตกระด้างด้วยความเป็นสาว ดูหมิ่นหญิงอื่น ข้าพเจ้าประดับกายนี้ให้วิจิตรงดงามสำหรับลวงผู้ชายโง่ๆ ได้ยืนอยู่ที่ประตูเรือนหญิงเพศยา ดุจนายพรานที่คอยดักเนื้อฉะนั้น ข้าพเจ้าแสดงเครื่องประดับต่างๆ และอวัยวะที่ควรปกปิดเป็นอันมากให้ปรากฏ กระทำมายาหลายอย่างให้ชายเป็นอันมากยินดี วันนี้ข้าพเจ้านั้นมีศีรษะโล้นห่มผ้าสังฆาฏิเที่ยวบิณฑบาตแล้ว มานั่งอยู่ที่โคนต้นไม้ ได้ฌานอันไม่มีวิตก ข้าพเจ้าตัดเครื่องเกาะเกี่ยวทั้งที่เป็นของทิพย์ทั้งที่เป็นของมนุษย์ได้ทั้งหมด ทำอาสวะทั้งปวงให้สิ้นไป มีความเย็น ดับสนิทแล้ว.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มตฺต วณฺเณน รูเปน ได้แก่ ด้วยวรรณะคือคุณ และด้วยรูปสมบัติ. บทว่า โสภคฺเคน ได้แก่ ด้วยความน่าพึงใจ. บทว่า ยเสน ได้แก่ ด้วยบริวารสมบัติ ความว่า เป็นผู้เมา คือถึงความเมาซึ่งได้แก่เมาวรรณะ เมารูป เมาความงาม และเมาบริวาร. บทว่าโยพฺพเนน จุปตฺถทฺธา ความว่า กระด้างยิ่งๆ ขึ้น ด้วยความเมาในความ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 131

เป็นสาว คือมีจิตกระด้าง ได้แก่มีใจไม่สงบระงับด้วยอหังการ ซึ่งมีความสาวเป็นนิมิต. บทว่า อญฺญาสมติมญฺญิหํ ความว่า ข้าพเจ้าได้ดูหมิ่นหญิงอื่นๆ ด้วยคุณมีวรรณะเป็นต้นของตน แม้โดยประการทั้งปวง อีกอย่างหนึ่งข้าพเจ้าดูหมิ่น คือดูหมิ่นแล้ว ได้แก่ ได้ทำการดูหมิ่นคุณมีวรรณะเป็นต้นของหญิงอื่นๆ .

    บทว่า วิภูสิตฺวา อิมํ กายํ สุจิตฺตํ พาลลาปนํ ความว่าข้าพเจ้าประดับ คือตกแต่งให้สวยงามน่าเลื่อมใส ซึ่งกายของข้าพเจ้านี้ ที่เต็มไปด้วยของไม่สะอาดหลายอย่าง น่าเกลียด ให้วิจิตรงดงามด้วยการประเทืองผิวและแต่งผมเป็นต้น ด้วยพัสตราภรณ์ทั้งหลาย สำหรับลวงผู้ชายโง่ๆ โดยลวงคือพูดกับพวกผู้ชายโง่ๆ ว่า ของฉัน. บทว่า อฎฺาสึ เวสิทฺวารมฺหิลุทฺโธ ปาสมิโวฑฺฑิย ความว่า ข้าพเจ้าได้ยืนเอากายของข้าพเจ้าตามที่กล่าวแล้วซึ่งเป็นบ่วงมารล่อเหยื่ออยู่ที่ประตูเรือนหญิงแพศยา คือที่ประตูเรือนของหญิงแพศยา ดุจนายพรานเนื้อดักบ่วงเนื้อมีตาข่ายผูกท่อนไม้เป็นต้น เพื่อต้องการผูกมัดเนื้อทั้งหลาย.

    บทว่า ปิลนฺธนํ วิทํเสนฺตี คุยฺหํ ปกาสิกํ พหุํ ความว่าแสดงอวัยวะที่ควรปกปิดมีขา ตะโพก และก้นเป็นต้น และอวัยวะที่ควรให้ปรากฏมีเท้าเข่าและศีรษะเป็นต้น คือแสดงอวัยวะที่ควรปกปิดให้ปรากฏ และเครื่องประดับคืออาภรณ์มีประการต่างๆ เป็นอันมาก. บทว่า อกาสึ วิวิธํมายํ อุชฺฌคฺฆนฺตี พหุํ ชนํ ความว่า ข้าพเจ้าหัวเราะเพื่อประเล้าประโลมชายโง่เป็นอันมากที่มัวเมาความสาว ได้กระทำการล่อลวงมีอย่างต่างๆ คือมีประการต่างๆ ด้วยการปกปิดสภาพของสรีระ ด้วยของหอมดอกไม้และพัสตราภรณ์เป็นต้น และด้วยทีท่านั้นๆ มีหัวเราะและภาวะที่มีเสน่ห์เป็นต้น.

    บทว่า สาชฺช ปิณฺฑํ จริตฺวาน มุณฺฑา สงฺฆาฏิปารุตานิสินฺนา รุกฺขมูลมฺหิ อวิตกฺกสฺส ลาภินี ประกอบความว่า ข้าพเจ้า

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 132

นั้นเป็นผู้อยู่ด้วยความประมาทอย่างนี้ วันนี้คือเดี๋ยวนี้ได้ตั้งอยู่ในโอวาทของพระผู้เป็นเจ้ามหาโมคคัลลานเถระ บวชในพระศาสนา มีศีรษะโล้น ห่มผ้าสังฆาฏิเที่ยวบิณฑบาต นั่งฉันภิกษาหาร คือนั่งที่โคนต้นไม้ คือบนอาสนะที่สงัด ณ โคนต้นไม้ เป็นผู้ได้ฌานอันไม่มีวิตก ด้วยการบรรลุพระอรหัตตผลซึ่งมีทุติยฌานเป็นบาท.

บทว่า สพฺเพ โยคา ได้แก่ เครื่องเกาะเกี่ยวแม้ทั้ง ๔ มีเครื่องเกาะเกี่ยวคือกามเป็นต้น. บทว่า สมุจฺฉินฺนา ความว่า ตัดทิ้งคือละโดยชอบทีเดียวตามสมควร ด้วยปฐมมรรคเป็นต้น. คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วแล.

จบ อรรถกถาวิมลาเถรีคาถา