พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. ปฏาจาราเถรีคาถา

 
บ้านธัมมะ
วันที่  21 พ.ย. 2564
หมายเลข  40730
อ่าน  1,138

[เล่มที่ 54] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 183

เถรีคาถา ปัญจกนิบาต

๑๐. ปฏาจาราเถรีคาถา


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 54]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 183

๑๐. ปฏาจาราเถรีคาถา

[๔๔๘] พระปฏาจาราเถรี ชี้แจงว่า

ผู้ชายทั้งหลาย ไถนาด้วยไถ หว่านเมล็ดพืชลงที่พื้นนา ได้ทรัพย์มาเลี้ยงดูบุตรภริยา.

ข้าพเจ้าสมบูรณ์ด้วยศีล ทำตามคำสั่งสอนของพระศาสดา ไม่เกียจคร้าน ไม่ฟุ้งซ่าน ไฉนจะไม่ประสบพบพระนิพพานเล่า.

ข้าพเจ้าล้างเท้า ใส่ใจนิมิตในน้ำ เห็นน้ำล้างเท้าไหลจากที่ดอนมาสู่ที่ลุ่ม แต่นั้น ข้าพเจ้าก็ตั้งจิต

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 184

ไว้มั่นคง ดุจม้าอาชาไนยที่ดี ถือประทีปจากที่นั้นไปยังวิหาร มองเห็นที่นอน จึงเข้าไปที่เตียง.

    ต่อนั้น ก็ถือลูกดาลชักไส้ประทีปออกไป ความหลุดพ้นทางใจ ก็ได้มีเหมือนความดับของประทีปที่ติดโพลง ฉะนั้น.

    จบ ปฏาจาราเถรีคาถา

๑๐. อรรถกถาปฏาจาราเถรีคาถา

    คาถาว่า นงฺคเลหิ กสํ เขตฺตํ เป็นต้น เป็นคาถาของพระปฏาจาราเถรี.

    ความพิสดารว่า พระเถรีรูปนี้ ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ บังเกิดในเรือนครอบครัว ในกรุงหังสวดี รู้เดียงสาแล้ว วันหนึ่งฟังธรรมในสำนักพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุณีไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นเลิศของภิกษุณีผู้ทรงวินัย กระทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไปปรารถนาตำแหน่งนั้น. นางกระทำกุศลจนตลอดชีวิต เวียนว่ายไปในเทวดาและมนุษย์ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสป ถือปฏิสนธิในพระราชมณเฑียรของพระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกิ เป็นพระราชธิดาองค์หนึ่ง ระหว่างพระพี่น้องนาง ๗ องค์ ทรงประพฤติโกมาริพรหมจรรย์มาตลอด ๒๐,๐๐๐ ปี ได้ทรงสร้างบริเวณถวายพระภิกษุสงฆ์. นางจุติจากนั้นแล้ว บังเกิดในเทวโลก เสวยทิพยสมบัติอยู่พุทธันดรหนึ่ง ในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดในครอบครัวเศรษฐีเติบโตเป็นสาวแล้ว ได้ทำความสนิทเสน่หากับคนงานคนหนึ่งในเรือนของตน

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 185

บิดามารดาได้กำหนดวันที่จะส่งมอบนางให้ชายหนุ่ม ซึ่งมีชาติเสมอกัน. นางรู้เรื่องนั้นแล้วก็หยิบฉวยทรัพย์ที่สำคัญไว้ในมือ ออกไปทางประตูสำคัญกับชายที่สนิทเสน่หาคนนั้น อาศัยอยู่ในหมู่บ้านตำบลหนึ่ง ก็ตั้งครรภ์. เมื่อครรภ์แก่ นางก็พูดว่า นายจ๋า ประโยชน์อะไรที่จะอยู่อนาถาในที่นี้ ฉันจะกลับไปเรือนของครอบครัวละ เมื่อสามีพูดผัดเพี้ยนว่า วันนี้จะไป พรุ่งนี้ค่อยไปเถิดนางคิดว่าผู้นี้โง่คงไม่พาเรากลับไปบ้านแน่ เมื่อสามีไปนอกบ้านแล้ว ก็เก็บงำสิ่งของที่ควรเก็บงำไว้ในเรือน แล้วสั่งคนที่อยู่ใกล้บ้านเรือนเคียงที่คุ้นเคยไว้ให้ช่วยบอกสามีว่า นางกลับไปเรือนตระกูลแล้ว เดินทางไปลำพังผู้เดียวหมายกลับเรือนตระกูล สามีกลับบ้านไม่พบภริยา ถามพวกคนคุ้นเคย ก็ทราบว่านางกลับบ้านเดิม ครุ่นคิดว่า เพราะตัวเราเอง นางจึงเป็นคนอนาถาจึงเดินสะกดรอยก็ไปทันกัน. นางคลอดบุตร ในระหว่างทางนั่นเอง นับแต่คลอดบุตรแล้ว นางก็ระงับการขวนขวายที่จะไปบ้าน พาสามีกลับไป. แม้ครั้งที่สอง นางก็มีครรภ์. คำดังกล่าวมานี้เป็นต้นทั้งหมด พึงทำให้พิศดารโดยนัยก่อนๆ นั่นแล.

    แต่ความต่างกันมีดังนี้ คราวที่อยู่ในระหว่างทาง ลมกัมมัชวาตเกิดปั่นป่วน เมฆฝนอันมิใช่ฤดูกาลก็ตกลงมาห่าใหญ่ ท้องฟ้ามีหยาดฝนตกลงมาไม่ขาดสาย สายฟ้าก็แลบแปลบปลาบไปรอบๆ เสียงเมฆคำรามดังจะแตกทะลาย. นางเห็นแล้วก็พูดกะสามีว่า นายจ๋า ช่วยสร้างที่บังฝนหน่อยสิจ๊ะ สามีก็สำรวจดูที่โน่นที่นี่ พบพุ่มไม้มีหญ้าปกคลุมแห่งหนึ่ง จึงไปที่นั้นประสงค์จะตัดท่อนไม้ที่พุ่มไม้นั้น ด้วยมีดที่ถืออยู่ในมือ จึงตัดต้นไม้ซึ่งอยู่ที่พุ่มไม้นั้น ท้ายจอมปลวกที่หญ้าปกคลุม ในทันใดงูพิษร้ายก็เลื้อยออกมาจากจอมปลวกนั้น กัดเขา ล้มลงตายอยู่ในที่นั้นนั่นเอง. นางต้องประสบทุกข์

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 186

มาก รอคอยการกลับมาของสามี โอบลูกน้อยทั้งสองซึ่งทนลมฝนไม่ไหวร้องไห้จ้าไว้แนบอก สองเข่าสองมือยึดพื้นดินไว้มั่นอยู่ท่านั้นตลอดคืน เมื่อราตรีสว่างก็เอาลูกคนหนึ่งซึ่งมีสีคล้ายชิ้นเนื้อนอนบนเบาะผ้าเก่า โอบด้วยมือกกด้วยอกแล้วกล่าวกะลูกอีกคนหนึ่งว่า มานี่ลูก พ่อเจ้าไปทางนี้แล้วมองดูตามทางที่สามีไป พบสามีนอนตายอยู่ใกล้ๆ จอมปลวก จึงร้องไห้คร่ำครวญว่า เพราะตัวเราทีเดียว สามีเราจึงตาย ระหว่างทางก็ถึงแม่น้ำ ซึ่งกระแสน้ำไหลแค่เข่าแค่นม เพราะฝนตกตลอดทั้งคืนไม่สามารถจะข้ามน้ำพร้อมกับลูกสองคนในคราวเดียวได้ เพราะตนมีความรู้น้อยและอ่อนแอ จึกพักลูกคนโตไว้ฝั่งนี้พาลูกคนเล็กไปยังฝั่งโน้น ปูกิ่งไม้หักไว้ให้ลูกอ่อน นอนบนเบาะผ้าเก่าบนกิ่งไม้ลาดนั้น คิดจะไปหาลูกอีกคนหนึ่ง แต่ไม่อาจจะละลูกอ่อนได้ จึงกลับไปกลับมา มองดูพลางลงน้ำ.

    ขณะที่นางไปถึงกลางแม่น้ำ เหยี่ยวตัวหนึ่งเห็นเด็กอ่อนนั้น นึกว่าเป็นชิ้นเนื้อ จึงโผลงจากอากาศ นางเห็นเหยี่ยวนั้นจึงยกสองมือขึ้นไล่ ทำเสียงดังๆ สามครั้งว่า สุ สุ เหยี่ยวไม่สนใจอาการของนางนั้น เพราะอยู่ไกลกัน ก็เฉี่ยวเอาเด็กอ่อนนั้นเหินขึ้นอากาศไป ลูกคนที่ยืนอยู่ฝั่งนี้ เห็นมารดายกสองมือส่งเสียงดัง ก็นึกว่าแม่เรียกตัว จึงโดดลงน้ำไปโดยเร็ว. ลูกอ่อนของนางถูกเหยี่ยวเฉี่ยวไป ลูกคนโตก็ถูกน้ำพัดไป ด้วยประการฉะนี้. นางร้องไห้คร่ำครวญว่า ลูกเราคนหนึ่งถูกเหยี่ยวเฉี่ยวไป คนหนึ่งถูกน้ำพัดไป สามีเราก็ตายที่หนทาง พลางเดินไปพบชายผู้หนึ่งถามว่า พ่อท่าน เป็นชาวเมืองไหนจ๊ะ ชายผู้นั้นตอบว่า เป็นชาวกรุงสาวัตถีจ้ะแม่คุณ. ถามว่า มีตระกูลชื่อโน้น อยู่ที่ถนนโน้นในกรุงสาวัตถี พ่อท่านรู้จักไหมจ๊ะ. ตอบว่า รู้จักจ้ะแม่คุณ แต่อย่าถามข้าเลย ถามคนอื่นเถิดจ้ะ. นางกล่าวว่า คนอื่นข้าพเจ้า

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 187

ไม่ต้องการดอกจ้ะ จะถามท่านนี่แหละพ่อท่าน. ตอบว่า แม่คุณเอ๋ย โปรดไม่ให้บอกท่านไม่ได้หรือ วันนี้แม่นางเห็นฝนตกตลอดคืนยังรุ่งไหมเล่า.ข้าพเจ้าเห็นจ้ะพ่อท่าน ฝนนั้นตกตลอดคืนยังรุ่ง สำหรับข้าพเจ้าด้วยจ้ะแต่ข้าพเจ้าจะเล่าเหตุนั้นภายหลัง ขอท่านโปรดเล่าเรื่องในเรือนเศรษฐีแก่ข้าพเจ้าก่อนเถิดจ้ะ. แม่คุณเอ๋ย วันนี้เมื่อคืนนี้ เรือนล้มทับคน ๓ คน คือเศรษฐี ภริยาของเศรษฐี และบุตรชายเศรษฐี ทั้งสามคน ถูกเผาบนเชิงตะกอนเดียวกัน ควันไฟที่พื้นยังเห็นอยู่เลยจ้ะแม่คุณ. ขณะนั้น นางจำไม่ได้ว่าตนปราศจากผ้านุ่งห่มฟุบล้มลง โดยรูปที่เกิด เพราะเป็นคนบ้าด้วยความเศร้าโศก นางจึงวนเวียนเพ้อรำพันว่า

    ลูกทั้งสองก็ตาย สามีเราก็ตายที่หนทาง บิดามารดาและพี่ชาย ก็ถูกเผาที่เชิงตะกอนเดียวกัน.

    นับตั้งแต่นั้นมา นางก็มีสมญาว่า ปฏาจารา เพราะมีอาจาระตกไปเหตุไม่เที่ยวไปด้วยผ้าแม้แต่เพียงผ้านุ่ง. ผู้คนทั้งหลายเห็นนาง บางพวกก็โยนขยะลงบนศรีษะ. พร้อมทั้งขับไล่ว่า ไปอีคนบ้า. บางพวกก็โปรยฝุ่น อีกพวกหนึ่งก็ขว้างก้อนดินท่อนไม้ พระศาสดากำลังประทับนั่งทรงแสดงธรรมท่ามกลางบริษัทหมู่ใหญ่ ณ พระเชตวันวิหาร ทอดพระเนตรเห็นนางกำลังวนเวียนอย่างนั้น และทรงสำรวจดูความแก่กล้าแห่งญาณ ได้ทรงทำโดยอาการที่นางจะบ่ายหน้ามายังพระวิหาร บริษัทเห็นนาง จึงกล่าวว่า อย่าให้หญิงบ้ามาที่นี่นะ. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อย่าห้ามนางเลย เมื่อนางมาถึงที่ไม่ไกล จึงตรัสว่า แม่นางจงกลับได้สติ ในทันใด นางก็กลับได้สติเพราะพุทธานุภาพ รู้ตัวว่าผ้าที่นุ่งหลุดหล่นหมดแล้ว เกิดหิริโอตตัปปะขึ้นมาก็นั่งคุกเข่าลง ชายผู้หนึ่งก็โยนผ้าห่มให้ นางนุ่งผ้านั้นแล้วก็เข้าเฝ้าพระศาสดา

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 188

ถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญขอทรงเป็นที่พึ่งของข้าพระองค์ด้วย เหยี่ยวเฉี่ยวเอาบุตรของข้าพระองค์ไปคนหนึ่ง คนหนึ่งถูกน้ำพัดไป สามีก็ตายที่หนทาง บิดามารดาและพี่ชายก็ถูกเรือนล้มทับตาย เขาเผาที่เชิงตะกอนเดียวกัน. นางก็ทูลเล่าถึงเหตุแห่งความเศร้าโศก. พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนปฏาจารา เจ้าอย่าคิดไปเลย เจ้ามาหาเราซึ่งสามารถจะเป็นที่พึ่งของเจ้าได้ ก็บัดนี้เจ้าหลั่งน้ำตา เพราะความตายของลูกเป็นต้นเป็นเหตุ ฉันใด ในสังสารวัฏฏ์ที่มีเงื่อนต้นเงื่อนปลายตามไปไม่รู้แล้ว ก็ฉันนั้น น้ำตาที่หลั่งเพราะความตายของลูกเป็นต้นเป็นเหตุยังมากกว่าน้ำของมหาสมุทรทั้งสี่อีก เมื่อทรงแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถาว่า

    น้ำในมหาสมุทรทั้งสี่ยังมีปริมาณน้อย ความเศร้าโศกของนรชนผู้ถูกทุกข์กระทบแล้ว น้ำของน้ำตามิใช่น้อย มีปริมาณมากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ นั้นเสียอีก แม่เอย เหตุไร เจ้าจึงยังประมาทอยู่เล่า.

    เมื่อพระศาสดากำลังตรัสกถาบรรยายเรื่องสังสารวัฏฏ์ ที่มีเงื่อนต้นและเงื่อนปลายตามไปไม่รู้แล้ว ความเศร้าโศกของนางก็ค่อยทุเลาลง. ลำดับนั้นพระศาสดาทรงทราบว่า นางมีความเศร้าโศกเบาบางแล้ว เมื่อทรงแสดงว่า ดูก่อนปฏาจารา ขึ้นชื่อว่าปิยชนมีบุตรเป็นต้น ก็ไม่อาจจะช่วย จะซ่อนเร้นหรือเป็นที่พึ่งของคนที่กำลังไปสู่ปรโลกได้ ดังนั้น ปิยชนเหล่านั้นแม้มีอยู่ ก็ชื่อว่าไม่มี เพราะฉะนั้นบัณฑิตพึงชำระศีลของตนแล้ว ทำทางที่จะไปพระนิพพานให้สำเร็จ ดังนี้ จึงทรงแสดงธรรมด้วยคาถาเหล่านี้ว่า

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 189

    ไม่มีบุตรที่จะช่วยได้ บิดาก็ไม่ได้แม้พวกพ้องก็ไม่ได้ เมื่อความตายมาถึงตัวแล้ว หมู่ญาติ ก็ช่วยไม่ได้เลย

    สัจจะ ธรรมะ อหิงสา สัญญมะ และทมะมีอยู่ในผู้ใด พระอริยะทั้งหลายย่อมคบผู้นั้น นั่นเป็นอนามตธรรม ธรรมที่ไม่ตาย (นิพพาน) ในโลก.

    บัณฑิตรู้ใจความข้อนี้แล้ว สำรวมในศีล พึงรีบเร่งชำระทางไปพระนิพพานทีเดียว.

    จบเทศนา นางปฏาจาราก็ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ทูลชอบรรพชากะพระศาสดา พระศาสดาทรงนำไปสำนักภิกษุณีให้บรรพชา นางได้อุปสมบทแล้ว ก็ทำกิจกรรมในวิปัสสนาเพื่อมรรคเบื้องบนขึ้นไป วันหนึ่ง ก็เอาหม้อนำน้ำมาล้างเท้ารดน้ำลง น้ำนั้นไปได้หน่อยหนึ่งแล้วก็ขาดหายไป รดครั้งที่สองน้ำก็ไปได้ไกลกว่าครั้งที่หนึ่งนั้น รดครั้งที่สามน้ำไปได้ไกลกว่าครั้งที่สองนั้น นางยึดน้ำนั้นนั่นแหละเป็นอารมณ์ กำหนดวัยทั้งสามคิดว่า สัตว์เหล่านี้ตายเสียในปฐมวัยก็มี เหมือนน้ำที่เรารดครั้งแรก ตายเสียในมัชฌิมวัยก็มี เหมือนน้ำที่รดครั้งที่สอง ที่ไปไกลกว่าครั้งแรกตายเสียในปัจฉิมวัยก็มี เหมือนน้ำที่รดครั้งที่สามซึ่งไปได้ไกลกว่าครั้งที่สองนั้นเสียอีก พระศาสดาประทับนั่งอยู่ในพระคันธกุฎี ทรงแผ่พระรัศมีไปประหนึ่งประทับยืนตรัสอยู่ต่อหน้านาง เมื่อทรงแสดงความข้อนี้ว่า ดูก่อนปฏาจารา ข้อนั้นก็เป็นอย่างนั้นแหละ สัตว์เหล่านี้ทั้งหมดล้วนมีความตายเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นคนที่เห็นความเกิดความเสื่อมของปัญจขันธ์ มีชีวิตเป็นอยู่วันเดียวก็ดี ขณะเดียวก็ดี ยังประเสริฐกว่าคนที่ไม่เห็นความเกิดความเสื่อมนั้น ถึงจะมีชีวิตเป็นอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี จึงตรัสพระคาถาว่า

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 190

    คนที่เห็นความเกิดความเสื่อม [ของปัญจขันธ์] มีชีวิตเป็นอยู่วันเดียวยังประเสริฐกว่า คนที่ไม่เห็นความเกิดความเสื่อมถึงจะมีชีวิตเป็นอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี.

    จบพระคาถา พระปฏาจาราภิกษุณี ก็บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในคัมภีร์อปทานว่า (๑)

    พระปฏาจาราเถรีกล่าวบุพกรรมของตนว่า

    พระชินพุทธเจ้า พระนามว่า ปทุมุตตระ ผู้ทรงถึงฝั่งแห่งสรรพธรรม ทรงเป็นผู้นำ เสด็จอุบัติในแสนกัปนับแต่กัปนี้ไป.

    ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเกิดในสกุลเศรษฐีผู้รุ่งโรจน์ด้วยรัตนะนานาชนิด ในกรุงหงสวดี เปี่ยมด้วยสุขเป็นอันมาก เข้าไปเฝ้าพระมหาวีระพระองค์นั้น ได้สดับพระธรรมเทศนา เกิดความเลื่อมใส ก็ถึงพระชินพุทธเจ้าเป็นสรณะ.

    ลำดับนั้น พระผู้ทรงเป็นผู้นำทรงยกย่องภิกษุณีผู้มีความละอาย คงที่ แกล้วกล้าในกิจที่ควรและไม่ควรว่าเป็นเลิศของภิกษุณีผู้ทรงพระวินัย.

    ครั้งนั้น ข้าพเจ้ามีจิตยินดีปรารถนาตำแหน่งนั้นจึงนิมนต์พระทศพลผู้นำโลกพร้อมทั้งพระสงฆ์ให้เสวย ๗ วัน ถวายไตรจีวร หมอบลงแทบพระยุคลบาทด้วยเศียรเกล้า กราบทูลดังนี้ว่า


    ๑. ขุ. ๓๓/ข้อ ๑๕๑ ปฏาจาราเถรีอปทาน.

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 191

    ข้าแต่พระมุนีผู้เป็นปราชญ์ เป็นผู้นำ พระองค์ทรงยกย่องภิกษุณีรูปใดไว้ในกัปที่ ๘ นับแต่กัปนี้ไป ข้าพระองค์จักเป็นเช่นภิกษุณีรูปนั้น ถ้าความปรารถนาของข้าพระองค์สำเร็จ.

    ครั้งนั้น พระศาสดาได้ตรัสกะข้าพเจ้าว่า แม่นางเอย เจ้าอย่ากลัวเลย เบาใจได้ ในอนาคตกาลเจ้าจักได้มโนรถ ความปรารถนานั้น ในแสนกัปนับแต่กัปนี้ไป พระพุทธเจ้าพระนามว่าโคตมะ ทรงสมภพในราชสกุลพระเจ้าโอกกากราช จักเป็นศาสดาในโลก เจ้าจักมีนามว่าปฏาจารา เป็นธรรมทายาทโอรสในธรรมของพระองค์ ถูกเนรมิตโดยธรรม เป็นสาวิกาของพระศาสดา.

    ครั้งนั้น ข้าพเจ้าดีใจมีจิตเมตตา บำรุงพระชินพุทธเจ้า ผู้นำโลกพร้อมทั้งพระสงฆ์ จนตลอดชีวิต.ด้วยกรรมที่ทำมาดีนั้น และด้วยการตั้งใจไว้ชอบ ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้วก็ไปสู่สวรรค์ชั้นดาว-ดึงส์.

    ในภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปเป็นพราหมณ์มียศใหญ่ ประเสริฐกว่าพวกบัณฑิต เสด็จอุบัติ ครั้งนั้นพระเจ้ากาสีจอมนรชน พระนามว่า กิกิประทับ ณ กรุงพาราณสีราชธานี ทรงเป็นอุปฐากบำรุงพระกัสสปพุทธเจ้า ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่.

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 192

    ข้าพเจ้าเป็นราชธิดาองค์ที่สามของพระองค์ปรากฏพระนามว่า ภิกขุนี ฟังธรรมของพระชินพุทธเจ้าผู้เลิศแล้ว ก็ชอบใจบรรพชา พระราชบิดาไม่ทรงอนุญาตพวกเรา ครั้งนั้นพวกเราจึงอยู่แต่ในพระราชมณเฑียร ไม่เกียจคร้าน ประพฤติโกมาริพรหมจรรย์มาถึง ๒๐,๐๐๐ ปี.

    พวกเราราชธิดา อยู่ในความสุข บันเทิง ยินดีเนื่องนิตย์ในการบำรุงพระพุทธเจ้า เป็นพระราชธิดา ๗ พระองค์ คือ สมณะ สมณคุตตา ภิกขุนี ภิกขุทาสิกา ธัมมา สุธัมมา และสังฆทาสิกาที่ครบ ๗.

    บัดนี้ ก็คือข้าพเจ้า อุบลวรรณา เขมา ภัททาภิกขุนี กิสาโคตมี ธัมมทินนาและวิสาขาที่ครบ ๗.

    ด้วยกรรมที่ทำมาดีเหล่านั้น และด้วยการตั้งใจไว้ชอบ ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว ก็ไปสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ บัดนี้ภพสุดท้าย ข้าพเจ้าเกิดในสกุลเศรษฐีผู้มั่งคั่ง รุ่งเรือง มีทรัพย์มาก ในกรุงสาวัตถี ราชธานีแคว้นโกศล.

    ข้าพเจ้าเติบโตเป็นสาวตกอยู่ในอำนาจความวิตก พบชายชนบทก็หนีตามไปกับเขา ข้าพเจ้าคลอดบุตรคนหนึ่ง คนที่สองยังอยู่ในครรภ์ ข้าพเจ้าตกลงใจว่าจะบอกบิดามารดา ข้าพเจ้าไม่บอกสามีของข้าพเจ้าเมื่อสามีไปค้างแรม ข้าพเจ้าก็ออกจากบ้านลำพังคนเดียว

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 193

หมายจะไปกรุงสาวัตถี แต่นั้น สามีก็ตามมาทันข้าพเจ้าในระหว่างทาง.

    ครั้งนั้น ลมกัมมัชวาตเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าอย่างทารุณยิ่ง เมฆฝนขนาดใหญ่ก็เกิดขึ้นในเวลาที่ข้าพเจ้าคลอดบุตร ขณะนั้น สามีไปหาทัพสัมภาระเพื่อกำบังฝน แต่ก็ถูกงูกัดตาย.

    ครั้งนั้น เพราะทุกข์ที่คลอดบุตร ข้าพเจ้าก็เป็นคนอนาถายากไร้ เห็นแม่น้ำเล็กๆ น้ำเต็มเปี่ยม ก็เดินไปแม่น้ำตรงที่ตื้นเขิน พาลูกอ่อนข้ามน้ำ อีกคนหนึ่งเอาไว้ฝั่งโน้น ให้ลูกอ่อนดื่มนม เพื่อข้ามไปอีกฝั่งหนึ่ง เหยี่ยวโฉบเฉี่ยวลูกอ่อนที่ร้องจ้าไป ลูกอีกคนหนึ่งกระแสน้ำพัดไป ข้าพเจ้านั้นเปี่ยมด้วยความเศร้าโศก.

    ข้าพเจ้ากลับไปกรุงสาวัตถี ได้ยินข่าวว่าบิดามารดาพี่ชายตายเสียแล้ว ครั้งนั้น ข้าพเจ้าถูกความเศร้าโศกบีบคั้น เต็มเปี่ยมด้วยความเศร้าโศกใหญ่หลวง.

    บุตรทั้งสองก็ตาย สามีของข้าพเจ้าก็ตายเสียที่หนทาง บิดามารดาและพี่ชายก็ถูกเผาบนเชิงตะกอนเดียวกัน.

    ครั้งนั้น ข้าพเจ้าผอมเหลือง ไม่มีที่พึ่ง มีใจห่อเหี่ยว เดินซมซานไปพบพระผู้ทรงฝึกชนที่ควรฝึก พระศาสดาได้ตรัสกะข้าพเจ้าว่า อย่าเศร้าโศกถึงบุตร

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 194

เลย จงเบาใจเถิด จงแสวงหาตนของเจ้าเถิด จะเดือดร้อนไร้ประโยชน์ไปทำไม.

ไม่มีบุตรที่จะช่วยได้ดอก บิดาก็ไม่ได้ แม้พวกพ้องก็ไม่ได้ เมื่อความตายมาถึงตัว หมู่ญาติก็ช่วยไม่ได้เลย.

ข้าพเจ้าฟังพระดำรัสของพระมุนีแล้วก็บรรลุผลอันดับแรก [โสตาปัตติผล] แล้วก็บวช ไม่นานนักก็บรรลุพระอรหัต.

ข้าพเจ้ากระทำตามคำสั่งสอนของพระศาสดาก็เป็นผู้ชำนาญในฤทธิ์ ในทิพโสตธาตุ รู้ปรจิตตวิชชารู้ปุพเพนิวาสญาณ ชำระทิพยจักษุ ทำอาสวะให้สิ้นไปหมด เป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีมลทิน.

ต่อนั้น ข้าพเจ้าก็เล่าเรียนพระวินัยทั้งหมดในสำนัก ของพระผู้ทรงเห็นทุกอย่าง อย่างพิสดารและนำสืบทอดมา ตามเป็นจริง.

พระชินเจ้า ทรงยินดีในคุณข้อนั้น จึงทรงสถาปนาข้าพเจ้าว่า ปฏาจาราภิกษุณีผู้เดียวเป็นเลิศของภิกษุณี ผู้ทรงพระวินัย.

พระศาสดา ข้าพเจ้าก็บำรุงแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ทำเสร็จแล้ว.

ภาระหนัก ข้าพเจ้าก็ปลงลงแล้ว ตัณหาที่นำไปในภพ ข้าพเจ้าก็ถอนเสียแล้ว คนทั้งหลายออกจาก

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 195

เรือนบวชไม่มีเรือน เพื่อประโยชน์อันใด ประโยชน์อันนั้น ข้าพเจ้าก็บรรลุแล้ว ธรรมเป็นที่สิ้นสังโยชน์ทั้งหมด ข้าพเจ้าก็บรรลุแล้ว.กิเลสทั้งหลาย ข้าพเจ้าก็เผาเสียแล้ว ฯลฯ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ทำเสร็จแล้ว.

    ก็แล พระปฏาจาราเถรี ครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว พิจารณาทบทวนถึงการปฏิบัติของตนในเวลาเป็นเสกขบุคคล เมื่อจะชี้แจงอาการบังเกิดของผลเบื้องบน จึงได้กล่าวคาถาเหล่านั้นเป็นอุทานว่า

    ผู้ชายทั้งหลายไถนาด้วยไถ หว่านเมล็ดพืชลงที่พื้นนา ย่อมได้ทรัพย์มาเลี้ยงดูบุตรภริยา ข้าพเจ้าสมบูรณ์ด้วยศีล ทำตามคำสั่งสอนของพระศาสดา ไม่เกียจคร้าน ไม่ฟุ้งซ่าน ไฉนจะไม่ประสบพบพระนิพพานเล่า.

    ข้าพเจ้าล้างเท้า ใส่ใจนิมิตในน้ำ เห็นน้ำล้างเท้าไหลจากที่ดอนมาสู่ที่ลุ่ม แต่นั้น ข้าพเจ้าก็ตั้งจิตไว้ได้มั่นคง ดุจม้าอาชาไนยที่ดี ถือประทีปจากที่นั้นเข้าไปยังวิหาร มองเห็นที่นอน จึงเข้าไปที่เตียง

    ต่อนั้น ก็ถือลูกดาล ชักไส้ประทีปออกไปความหลุดพ้นทางใจก็ได้มี เหมือนความดับของประทีปที่ติดโพลง ฉะนั้น.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กสํ ได้แก่ ไถนา ทำกสิกรรม ความจริงคำนี้เป็นเอกวจนะ ใช้ในอรรถพหุวจนะ. บทว่า ปวปํ ได้แก่ หว่านเมล็ดพืช.

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 196

บทว่า ฉมา แปลว่า บนพื้นดิน. ความจริง คำนี้เป็นปฐมาวิภัตติใช้ในอรรถสัตตมีวิภัตติ. ในข้อนี้ มีความสังเขป ดังนี้ว่า ผู้ชายคือสัตว์เหล่านี้ ไถนาด้วยไถ คือผาลทั้งหลาย หว่านเมล็ดพืชทั้งหลาย ที่ต่างโดยเป็นปุพพัณณชาติบ้าง อปรัณณชาติบ้าง ลงที่พื้นเนื้อนา ตามที่ประสงค์ ย่อมได้ทรัพย์มาเลี้ยงดูตนและบุตรภริยาเป็นต้น เพราะการไถนาหว่านพืชนั้นเป็นเหตุเป็นนิมิต ธรรมดาว่า การทำอย่างลูกผู้ชาย คือความพากเพียรจำเพาะตนที่บุคคลประกอบโดยแยบคาย ก็มีผลมีกำไรอย่างนั้น.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กิมหํ สีลสมฺปนฺนา สตฺถุสาสนการิกา นิพฺพานํ นาธิคจฺฉามิ อกุสีตา อนุทฺธตา ความว่า ข้าพเจ้ามีศีลบริสุทธิ์ดี ชื่อว่าไม่เกียจคร้าน เพราะเป็นผู้ปรารภความเพียร และชื่อว่าไม่ฟุ้งซ่าน เพราะเป็นผู้มีจิตตั้งมั่นดีในภายใน กระทำคำสั่งสอนของพระศาสดากล่าวคือเจริญกรรมฐานที่มีสัจจะ ๔ เป็นอารมณ์ เหตุไรจะไม่ประสบ คือบรรลุพระนิพพานเล่า.

    ก็ พระเถรีครั้นคิดอย่างนี้แล้ว กระทำอยู่ซึ่งกรรมในวิปัสสนา ในวันหนึ่งถือนิมิตในน้ำล้างเท้า ด้วยเหตุนั้น พระเถรีจึงกล่าวว่า ปาทา ปกฺขาล ยิตฺวาน เป็นต้น. คำนั้นมีความว่า ข้าพเจ้าเมื่อล้างเท้า ในจำนวนน้ำที่รด ๓ ครั้ง เหตุล้างเท้า ก็เห็นน้ำล้างเท้าไหลจากที่ดอนมาสู่ที่ลุ่ม ก็ทำให้เป็นนิมิต.

    ข้าพเจ้าพิจารณาอนิจจลักษณะอย่างนี้ว่า น้ำนี้สิ้นไป เสื่อมไปเป็นธรรมดา ฉันใด อายุและสังขารของสัตว์ทั้งหลาย ก็ฉันนั้น และพิจารณาทุกขลักษณะ และอนัตตลักษณะ ตามแนวนั้น เจริญวิปัสสนา แต่นั้นก็ทำจิตให้ตั้งมั่น เหมือนสารถีฝึกม้าอาชาไนยที่ดี อธิบายว่า สารถีผู้ฉลาด ฝึกม้าอาชาไนยตัวสำคัญให้เชื่อฟังโดยง่าย ฉันใด ข้าพเจ้าฝึกจิตของตนให้ตั้งมั่นโดยง่าย

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 197

ก็ฉันนั้น ได้การทำจิตที่ตั้งมั่นแล้ว ด้วยสมาธิสัมปยุตด้วยวิปัสสนา.อนึ่ง ข้าพเจ้าเมื่อเจริญวิปัสสนาอย่างนั้น เข้าห้องน้อยเมื่อต้องการอุตุสัปปายะถือประทีปเพื่อกำจัดความมืดเข้าห้องแล้ววางประทีป พอนั่งลงบนเตียง ก็หมุนไส้ประทีปขึ้นลงด้วยลูกดาล เพื่อเพ่งประทีป ทันใดนั่นเอง จิตของพระเถรีนั้นก็ตั้งมั่น เพราะได้อุตุสัปปายะ หยั่งลงสู่วิถีแห่งวิปัสสนา สืบต่อด้วยมรรค.แต่นั้น อาสวะทั้งหลาย ก็สิ้นไปโดยประการทั้งปวง ตามลำดับมรรค. ด้วยเหตุนั้น พระเถรีจึงกล่าวว่า แต่นั้น ข้าพเจ้าก็ถือประทีป ฯลฯ ความหลุดพ้นทางใจได้มีแล้ว.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เสยฺยํ โอโลกยิตฺวาน ได้แก่ เห็นที่นอนโดยแสงสว่างแห่งประทีป. บทว่า สูจึ ได้แก่ ลูกดาล. บทว่า วฏฺฏึโอกสฺสยามิ ได้แก่หมุนไส้ประทีป ที่ตรงต่อน้ำมันขึ้นลง เพื่อดับประทีป. บทว่า วิโมกฺ โข ได้แก่ ความหลุดพ้นจากกิเลสทั้งหลาย. ก็วิโมกข์นั้น เพราะเหตุที่เป็นความสืบต่อแห่งจิตโดยปรมัตถ์ ฉะนั้น พระเถรีจึงกล่าวว่า เจตโสเหมือนอย่างว่าเมื่อปัจจัยมีไส้และน้ำมันมีอยู่ ประทีปที่ควรจะติดขึ้น แต่ไม่ติดขึ้นเพราะไม่มีปัจจัยนั้น จึงเรียกว่าดับ ฉันใด เมื่อปัจจัยมีกิเลสเป็นต้นมีอยู่จิตที่ควรจะเกิดขึ้น แต่ไม่เกิดขึ้น เพราะไม่มีปัจจัยนั้น จึงเรียกว่าดับฉันนั้นเพราะฉะนั้นพระเถรีจึงกล่าวว่า ความหลุดพ้นทางใจได้มีแล้ว เหมือนความดับของประทีปที่ติดโพลง ฉะนั้น.

    จบ อรรถกถาปฏาจาราเถรีคาถา