พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. คุตตาเถรีคาถา

 
บ้านธัมมะ
วันที่  21 พ.ย. 2564
หมายเลข  40739
อ่าน  422

[เล่มที่ 54] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 267

เถรีคาถา ฉักกนิบาต

๗. คุตตาเถรีคาถา


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 54]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 267

๗. คุตตาเถรีคาถา

[๔๕๗] พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงประทานโอวาทโปรดข้าพเจ้าว่า

ดูก่อนคุตตา การละบุตร สมบัติและของรักออกบวช เพื่อประโยชน์แก่นิพพานอันใด เธอจงพอกพูนนิพพานอันนั้นเนืองๆ เถิด เธออย่าตกอยู่ในอำนาจจิตนะ สัตว์ทั้งหลาย ผู้ไม่รู้แจ้ง ถูกจิตลวงแล้ว ยินดีในวิสัยของมาร พากันท่องเที่ยวไปสู่ชาติสงสารนี้มิใช่น้อย ก็ไม่รู้.

ดูก่อนภิกษุณี เธอจงละขาดสังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องต่ำเหล่านี้ คือ กามฉันทะ พยาบาท สักกายทิฏฐิ สีลัพพตปรามาส และวิจิกิจฉา เป็นที่ครบ ๕ เธออย่ากลับมาสู่กามอีกนะ เธอจงละเว้นราคะ มานะ อวิชชา อุทธัจจะ และตัดสังโยชน์ทั้งหลายเสียแล้ว ก็จักทำที่สุดทุกข์ได้ เธอทำชาติสงสารให้สิ้นไปแล้วกำหนดรู้ภพใหม่ หมดความทะยานอยาก จักเป็นผู้สงบระงับ เที่ยวไปในปัจจุบัน.

จบคุตตาเถรีคาถา

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 268

๗. อรรถกถาคุตตาเถรีคาถา

    คาถาว่า คุตฺเต ยทตฺถํ ปพฺพชฺชา ดังนี้เป็นต้น เป็นคาถาของพระคุตตาเถรี.

    พระเถรีแม้รูปนี้ ก็บำเพ็ญบารมีมาในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ สะสมกุศล ซึ่งเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมาในภพนั้นๆ รวบรวมธรรมเครื่องปรุงแต่งวิโมกข์มาโดยลำดับ มีกุศลมูลแก่กล้าแล้ว ท่องเที่ยวไปในสุคติเท่านั้นในพุทธุปบาทกาลนี้ ก็บังเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล กรุงสาวัตถีนี้ นางได้มีชื่อว่า คุตตา. คุตตานั้น รู้เดียงสาแล้ว ถูกอุปนิสัยสมบัติคอยตักเตือนอยู่เกลียดการอยู่ครองเรือน ขออนุญาตบิดามารดาแล้ว ก็บวชในสำนักของพระมหาปชาบดีโคตมี ครั้นบวชแล้วเริ่มตั้งวิปัสสนา ประกอบภาวนาอยู่เนืองๆ จิตของนางก็พล่านไปในอารมณ์ภายนอก เพราะเก็บสะสมมาช้านาน หามีอารมณ์เดียวเป็นสมาธิไม่ พระศาสดาทรงเห็น เมื่อจะทรงอนุเคราะห์พระเถรีทรงแผ่รัศมีไป เหมือนประทับนั่งในพระคันธกุฎี ทรงแสดงพระองค์คล้ายประทับนั่งบนอากาศใกล้กับนางคุตตานั้น เมื่อทรงโอวาทได้ตรัสคาถาเหล่านั้นว่า

    ดูก่อนคุตตา การละบุตรสมบัติและของรักออกบวชเพื่อประโยชน์แก่นิพพานอันใด เธอจงพอกพูนนิพพานอันนั้นเนืองๆ เถิด เธออย่าตกอยู่ในอำนาจจิตนะ สัตว์ทั้งหลายผู้ไม่รู้แจ้ง ถูกจิตลวงแล้ว ยินดีในวิสัยคืออารมณ์ของมาร พากันท่องเที่ยวไปสู่ชาติสงสารมิใช่น้อย ก็ไม่รู้ ดูก่อนภิกษุณี เธอจงละขาดสังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องต่ำเหล่านี้ คือ กามฉันทะ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 269

พยาบาท สักกายทิฏฐิ สีลัพพตปรามาส และวิจิกิจฉาเป็นที่ครบ ๕ เธออย่ากลับมาสู่กามภพอีกนะ เธอจงละเว้นราคะ มานะ อวิชชา อุทธัจจะ และตัดสังโยชน์ทั้งหลาย ก็จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ เธอทำชาติสงสารให้สิ้นไปแล้ว กำหนดรู้ภพใหม่ หมดความทะยานอยาก จักเป็นผู้สงบระงับ เที่ยวไปในปัจจุบัน.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยทตฺถํ ได้แก่ เพื่อประโยชน์แก่การดับสนิทแห่งกิเลส และการดับสนิทแห่งขันธ์อันใด. บทว่า หิตฺวา ปุตฺตํวสุํ ปิยํ ได้แก่ การละเครือญาติและกองแห่งโภคะอันพึงรัก ปรารถนาการบวชในศาสนาของเรา คือ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์. บทว่า ตเมวอนุพฺรูเหหิ ได้แก่ เธอพึงเจริญ คือพึงให้นิพพานนั้นถึงพร้อม. บทว่ามา จิตฺตสฺส วสํ คมิ ได้แก่ เธออย่าตกอยู่ในอำนาจของจิตที่โกง ซึ่งเติบโตด้วยอารมณ์มีรูปเป็นต้นมานาน.

ก็เพราะเหตุที่ปุถุชนคนบอด ถูกจิตใดหลอกลวงแล้ว ชื่อว่า จิตนั้นเปรียบด้วยมายากล สัตว์เหล่านั้น ตกอยู่ในอำนาจของมารย่อมล่วงสงสารไปหาได้ไม่ ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสคำว่า จิตฺเตน วญฺจิตา ดังนี้ เป็นต้น.

บทว่า สํโยชนานิ เอตฺนิ ความว่า ชื่อว่า สังโยชน์ เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องผูก ๕ อย่าง ตามที่กล่าวแล้ว โดยนัยมี กามฉันทะ พยาบาทเป็นต้น เหล่านั้น. บทว่า ปชหิตฺวาน ได้แก่ ตัดขาดแล้วด้วยอนาคามิมรรค บทว่า ภิกฺขุนี เป็นคำเรียกภิกษุณีนั้น. บทว่า โอรมฺภาคมนียานิ ได้แก่เกื้อกูลอุปการะแก่ความเป็นอยู่ของมนุษย์ในกามธาตุ อันเป็นส่วนเบื้องต่ำกว่ารูปธาตุและอรูปธาตุ เพราะเป็นปัจจัยแห่งปฏิสนธิในกามธาตุนั้น. อักษรทำการเชื่อมบท บาลีว่า โอรมาคมนียานี ก็มีความอย่างนั้นเหมือนกัน.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 270

บทว่า นยิทํ ปุนเรหิสิ ความว่า เธอจักไม่มาสู่กามภพซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งกามนี้อีกด้วยอำนาจปฏิสนธิ เพราะละสังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องต่ำได้. อักษรทำการเชื่อมบท.

บาลีว่า อิตฺถํ ก็มี มีความว่า ความเป็นอย่างนี้ คือ กามภพ.บทว่า ราคํ ได้แก่ รูปราคะและอรูปราคะ. บทว่า มานํ ได้แก่มานะจะพึงฆ่าด้วยอรหัตตมรรค แม้ในบทว่า อวิชฺชญฺจ อุทฺธจฺจญฺจ นี้ก็มีนัยเหมือนกัน. บทว่า วิวชฺชิย ได้แก่ ข่มไว้ได้ด้วยวิปัสสนา.

บทว่า สํโยชนานิ เฉตฺวาน ได้แก่ ตัดซึ่งสังโยชน์ทั้งหลายส่วนเบื้องสูง ๕ อย่างมีรูปราคะเป็นต้นเหล่านั้น ได้เด็ดขาดแล้ว. บทว่า ทุกฺขสฺสนฺตํกริสฺสสิ ความว่า เธอจักบรรลุที่สุดแห่งวัฏทุกข์แม้ทั้งสิ้น.

บทว่า เขเปตฺวา ชาติสํสารํ ได้แก่ ทำความเป็นไปแห่งสงสารมีชาติเป็นมูล ให้สิ้นไปแล้ว. บทว่า นิจฺฉาตา ได้แก่ หมดตัณหา. บทว่าอุปสนฺตา ได้แก่ เข้าไปสงบระงับ ด้วยความเข้าไปสงบกิเลสทั้งหลายโดยประการทั้งปวง. คำที่เหลือ มีนัยที่กล่าวมาแล้วทั้งนั้น.

เมื่อพระศาสดาทรงภาษิตคาถาเหล่านี้อย่างนี้แล้ว พอจบคาถาพระเถรีก็บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ ได้กล่าวคาถาเหล่านั้น โดยทำนองที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงภาษิตไว้ เป็นอุทานนั่นแล ด้วยเหตุนั้นแล คาถาเหล่านั้น จึงชื่อว่าเถรีคาถา.

จบอรรถกถาคุตตาเถรีคาถา