พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. วิชยาเถรีคาถา

 
บ้านธัมมะ
วันที่  21 พ.ย. 2564
หมายเลข  40740
อ่าน  391

[เล่มที่ 54] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 271

เถรีคาถา ฉักกนิบาต

๘. วิชยาเถรีคาถา


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 54]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 271

๘. วิชยาเถรีคาถา

    [๔๕๘] พระวิชยาเถรี กล่าวคาถาเป็นอุทานว่า

    ข้าพเจ้ายังทำจิตให้อยู่ในอำนาจไม่ได้ จึงไม่ได้ความสงบใจ ออกจากที่อยู่ ไปข้างนอก ๔ - ๕ ครั้ง ข้าพเจ้าก็เข้าไปหาพระเขมาเถรีไต่ถามโดยเคารพ.

    ท่านได้แสดงธรรม คือ ธาตุ อายตนะ อริยสัจ ๔ อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ อัฏฐังคิกมรรคโปรดข้าพเจ้า เพื่อบรรลุประโยชน์อันสูงสุด.

    ข้าพเจ้าฟังคำของท่านแล้ว กระทำตามคำสั่งสอน ในปฐมยามแห่งราตรีนั้น ก็รู้ปุพเพนิวาสญาณในมัชฌิมยามแห่งราตรี ก็ชำระทิพยจักษุได้หมดจดในปัจฉิมยามแห่งราตรีก็ได้อาสวักขยญาณ ทำลายกองแห่งความมืดได้.

    ครั้งนั้น ข้าพเจ้ามีปีติและสุขแผ่ไปทั่วกาย ในราตรีที่ครบ ๗ ข้าพเจ้าทำลายกองแห่งความมืดแล้วจึงเหยียดเท้าออกได้.

    จบวิชยาเถรีคาถา

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 272

๘. อรรถกถาวิชยาเถรีคาถา

    คาถาว่า จตุกฺขตฺตุํ ดังนี้เป็นต้น เป็นคาถาของพระวิชยาเถรี.

    พระเถรีแม้รูปนี้ ก็ได้บำเพ็ญบารมีมาในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ สะสมกุศลซึ่งเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมาในภพนั้นๆ ผู้มีกุศลมูลอันพอกพูนมาโดยลำดับ เที่ยวเวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายในพุทธุปบาทกาลนี้ก็ได้บังเกิดในเรือนของครอบครัวหนึ่งในกรุงราชคฤห์ รู้เดียงสาแล้วก็เป็นสหายของพระเขมาเถรีครั้งเป็นคฤหัสถ์. ได้ฟังมาว่าพระนางเขมานั้นทรงผนวชแล้วก็คิดว่า พระมเหสีแม้นั้นยังทรงผนวชจะป่วยกล่าวไปไยถึงเราเล่า ก็อยากจะบวชบ้าง จึงเข้าไปหาพระเขมาเถรี พระเถรีทราบอัธยาศัยของนางแล้ว ก็แสดงธรรมโดยวิธีที่นางจะมีใจสังเวชในสงสาร จักเลื่อมใสยิ่งขึ้นในพระศาสนา นางฟังธรรมนั้นแล้วเกิดสังเวช และได้ศรัทธาแล้วก็ขอบวช. พระเถรีให้นางได้บวชแล้ว นางครั้นบวชแล้ว ทำกิจเบื้องต้นเสร็จก็เริ่มวิปัสสนา ไม่นานนักก็บรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ เพราะสมบูรณ์ด้วยเหตุสัมปทาได้พิจารณาการปฏิบัติของตนแล้ว ได้กล่าวคาถาเหล่านั้นเป็นอุทานว่า

    ข้าพเจ้ายังทำจิตให้อยู่ในอำนาจไม่ได้ จึงไม่ได้ความสงบใจ ออกจากที่อยู่ ไปข้างนอก ๔ - ๕ ครั้ง ข้าพเจ้าก็เข้าไปหาพระเขมาภิกษุณีไต่ถามโดยเคารพ ท่านได้แสดงธรรมคือ ธาตุ อายตนะ อริยสัจ ๔ อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ และอัฏฐังคิกมรรค โปรดข้าพเจ้า เพื่อบรรลุประโยชน์อันสูงสุด ข้าพเจ้าฟังคำของท่านแล้ว กระทำตามคำพร่ำสอน ในปฐมยาม

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 273

แห่งราตรีนั้น ก็รู้ปุพเพนิวาสญาณ ในมัชฌิมยามแห่งราตรี ก็ชำระทิพยจักษุให้หมดจด ในปัจฉิมยามแห่งราตรี ก็ได้อาสวักขยญาณ ทำลายกองแห่งความมืดได้ ครั้งนั้น ข้าพเจ้ามีปีติและสุขแผ่ไปทั่วกายอยู่ในราตรีที่ครบ ๗ ข้าพเจ้าทำลายกองแห่งความมืดแล้ว จึงเหยียดเท้าออกได้.

    บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า ภิกฺขุนึ พระเถรีกล่าวหมายถึงพระเขมาเถรี. บทว่า โพชฺฌงฺคฏฺงฺคิกํ มคฺคํ ได้แก่โพชฌงค์ ๗ และอริยมรรคมีองค์ ๘. บทว่า อุตฺตมตฺถสฺส ปตฺติยา ได้แก่ เพื่อบรรลุพระอรหัตหรือนิพพานเท่านั้น.

    บทว่า ปีติสุเขน ได้แก่ ด้วยปีติและสุข เนื่องด้วยผลสมาบัติ.บทว่า กายํ ได้แก่ นามกายที่ประกอบกัน และรูปกายที่ไปตามนามกายนั้น.บทว่า ผริตฺวา ได้แก่ ถูกต้องหรือซึมซาบไป. บทว่า สตฺตมิยา ปาเทปสาเรสึ ความว่า นับจากวันเริ่มวิปัสสนาไปในราตรีที่ ๗ ข้าพเจ้าจึงคลายการนั่งขัดสมาธิเหยียดเท้าได้. ถามว่าทำลายกองแห่งความมืดได้อย่างไร. ตอบว่า ทำลายกองโมหะที่ยังไม่เคยทำลายด้วยดาบคืออรหัตตมรรคญาณ. คำที่เหลือมีนัยดังที่กล่าวมาแล้วในหนหลังทั้งนั้น.

    จบ อรรถกถาวิชยาเถรีคาถา

    จบ อรรถกถาฉักกนิบาต