ธรรมข้อคิด 1

 
แล้วเจอกัน
วันที่  22 มิ.ย. 2550
หมายเลข  4075
อ่าน  1,114

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ตราบใดที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับชีวิตของเรา เราก็จะไม่มีความสุขอย่างสมบูรณ์ ความไม่รู้เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับปัญญา (ปัญญาคือ ความเห็นถูกเข้าใจถูก) ปัญญาเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งกว่าสมบัติใดๆ เป็นสิ่งที่จะเกื้อกูลเราได้มากที่สุด

ผู้ที่เป็นสาวกล้วนเป็นผู้ที่ฟังพระธรรม แล้วแต่บารมีว่าสามารถเข้าใจได้มาก หรือน้อย ถ้าเข้าใจได้มากสัมมาสติก็เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง

ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์


  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wannee.s
วันที่ 23 มิ.ย. 2550

ชีวิตที่เกิดมาจะมีค่าถ้าอยู่ด้วยการทำความดีและมีปัญญาค่ะ (การฟังธรรม การอบรมเจริญสติปัฏฐาน)

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
พุทธรักษา
วันที่ 23 มิ.ย. 2550
อนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
aditap
วันที่ 23 มิ.ย. 2550

ขออุโมทนากับคุณ แล้วเจอกันครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
medulla
วันที่ 24 มิ.ย. 2550
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ลัดดาวัลย์
วันที่ 24 มิ.ย. 2550

ขอความกรุณาอธิบายเพิ่มอีกหน่อยได้ไหมคะ

๑.การฟังพระธรรมอย่างไรจึงจะเกื้อกูลให้สติเกิด

๒.ความเข้าใจพระธรรมมีหลายระดับอยากทราบว่ามีอย่างไรบ้างคะ

ขอบพระคุณคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 24 มิ.ย. 2550

การฟังพระธรรมอย่างไรจึงจะเกื้อกูลให้สติเกิด?

สติเกิดในที่นี้ หมายถึง สติที่เป็นสติปัฏฐานคือ เป็นสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธัมมะที่ปรากฎในชีวิตประจำวันว่า ไม่ใช่เรา เป็นธัมมะ แล้วฟังธรรมอย่างไรจะทำให้สติเกิด คือ ฟังธรรมในเรื่องที่มีจริงก็คือ เรื่องสภาพธัมมะที่มีในขณะนี้จนเข้าใจว่า ธรรมคืออะไร อยู่ขณะไหน จนมั่นคงว่าทุกอย่างเป็นธรรม ดังนั้นฟังอย่างไรก็คือฟัง ด้วยความเข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตามที่ฟัง ก็ไม่ลืมว่าเป็น ธรรมเท่านั้น เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม สติก็เกิดระลึกสภาพธัมมะ แต่ต้องไม่ลืมว่าเป็น อนัตตาบังคับให้สติเกิดไม่ได้ และประการสำคัญที่สุดครับ โลภะ ความต้องการให้ สติเกิดโดยการหาวิธีต่างๆ ก็เป็นเครื่องกั้น ไม่ให้สติเกิด เพราะขณะที่ต้องการ ขณะนั้น ไม่มีสติ การฟังธรรม ศึกษาธรรมเมื่อเข้าใจว่าเป็นอนัตตา (แม้สติ) ก็เป็นเรื่องเบา เพราะเราฟังธรรมก็คงไม่เข้าใจทุกครั้ง บางครั้งก็เข้าใจ บางครั้งก็ไม่เข้าใจ เพราะเป็นธรรม ไม่ใช่เรา จึงบังคับ ให้เข้าใจหรือไม่เข้าใจตอนไหนไม่ได้ เมื่อไหร่เข้าใจ เมื่อนั้น ธรรมก็ปรุงแต่งเอง จนเป็นปัจจัยให้สติเกิดครับ สรุปว่า ฟังแล้วไม่ว่าเรื่องอะไรให้ มั่นคงเสมอว่าทุกอย่างเป็นธรรม (แม้ขั้นการฟัง) จึงจะเกื้อกูลให้สติปัฏฐานเกิดครับ
แต่ต้องไม่ลืมนะ ยิ่งอยากให้สติเกิด สติยิ่งไม่เกิดครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 24 มิ.ย. 2550

ความเข้าใจพระธรรมมีหลายระดับอยากทราบว่ามีอย่างไรบ้างคะ?

ความเข้าใจพระธรรม ก็คือ ปัญญานั่นเอง ปัญญามีหลายระดับ เช่น ปัญญาที่เชื่อในกรรมและผลของกรรม หรือปัญญาที่เป็นไปในเรื่อง การอบรมสมถภาวนาและปัญญาที่เป็นไปในเรื่อง วิปัสสนาภาวนา (สติปัฏฐาน) ซึ่งจะขออธิบายปัญญาที่เป็นไปในเรื่อง วิปัสสนาภาวนา (สติปัฏฐาน) ซึ่งก็มีหลายระดับเช่นกัน ดังจะอธิบายดังนี้

ปัญญาขั้นการฟัง ก็เป็นระดับหนึ่งที่เข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธรรม แต่รู้จริงๆ ด้วยสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธัมมะนั้นจริงๆ หรือเปล่า ว่าเป็นธรรม ก็ยัง เพราะเป็นปัญญาขั้นการฟัง

ปัญญาที่เป็นระดับสติปัฏฐาน หมายถึง ปัญญาที่เกิดพร้อมสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธัมมะนั้นจริงๆ ที่เกิดขึ้นว่าเป็นธรรม รู้ตรงลักษณะของธรรมที่เกิด ไม่ใช่ขั้นนึกคิดว่า เสียงเป็นธรรม แต่เมื่อเสียงเกิดขึ้นก็ระลึกตรงลักษณะของสภาพธัมมะนั้นจริงๆ ว่าเป็นธรรมครับ แต่ก็ยังไม่ประจักษ์ชัดถึงลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แยกขาดจากกันจริงๆ

ปัญญาที่เป็นระดับวิปัสสนาญาณ เป็นปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธัมมะที่เป็นนามธรรม รูปธรรมแยกขาดกันจริงๆ และเห็นความเกิดขึ้นและดับไปของธรรม แต่ยังละกิเลสไม่ได้

ปัญญาขั้น โลกุตตร เป็นปัญญาที่สามารถดับกิเลสได้ครับ

ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
แวะเข้ามา
วันที่ 25 มิ.ย. 2550

ปัญญาคือ ความเข้าใจ เมื่อฟังพระธรรมเข้าใจก็เป็นปัญญาระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากปัญญามีหลายระดับ และอวิชชาที่สะสมมาก็มีมาก ปัญญาขั้นการฟังเพียงอย่างเดียวย่อมไม่สามารถทำลายกิเลสได้ จึงต้องอาศัยการพิจารณา ศึกษา สังเกตสภาพธรรมที่กำลังปรากฎบ่อยๆ เนืองๆ ว่าตรงกับสิ่งที่ได้ฟังมาอย่างไร ขณะที่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นชื่อว่าปัญญารู้จริง รู้ตรง และรู้ถูก อบรมจนกว่าจะรู้ชินและรู้ทั่ว

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
WS202398
วันที่ 26 มิ.ย. 2550
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 17 ม.ค. 2567

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ