วัตถุคาถา ว่าด้วยศีรษะและธรรมอันให้ศีรษะตกไป
[เล่มที่ 67] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 1
ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส
ปารายนวรรค
วัตถุคาถา
ว่าด้วยศีรษะและธรรมอันให้ศีรษะตกไป
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 67]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 1
พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส (๑)
เล่มที่ ๖
ปารายนวรรค
วัตถุคาถา
ว่าด้วยศีรษะและธรรมอันให้ศีรษะตกไป
[๑] พาวรีพราหมณ์ เป็นผู้เรียนจบมนต์ ปรารถนาความเป็นผู้ไม่มีกังวล ออกจากพระนครโกศลอันน่ารื่นรมย์ไปสู่ทักขิณาปถชนบท.
[๒] พราหมณ์นั้นอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี อันเป็นพรมแดนแว่นแคว้นอัสสกะและแว่นแคว้นมุฬกะต่อกัน เลี้ยงชีวิตอยู่ด้วยการเที่ยวภิกขาและผลไม้.
[๓] เมื่อพราหมณ์นั้นเข้าไปอาศัย (อยู่) บ้านได้เป็นหมู่ใหญ่ ด้วยความเจริญอันเกิดแต่บ้านนั้น พราหมณ์นั้นได้บูชามหายัญ.
[๔] พราหมณ์นั้นบูชามหายัญแล้วก็กลับเข้าไปสู่อาศรม เมื่อพราหมณ์นั้นกลับเข้าไปแล้ว พราหมณ์อื่นก็มา.
(๑) บาลีเล่มที่ ๓๐.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 2
[๕] พราหมณ์อื่นมีเท้าพิการ เดินงกงัน ฟันเขลอะ มีธุลีบนศีรษะ เข้าไปหาพาวรีพราหมณ์แล้ว ขอทรัพย์ห้าร้อย.
[๖] พาวรีพราหมณ์เห็นพราหมณ์นั้นเข้าแล้ว ก็เชิญให้นั่ง แล้วก็ถามถึงความสุขสำราญและความไม่มีโรค และได้กล่าวคำนี้ว่า
[๗] ทรัพย์ของเรามีอันจะพึงให้ เราสละหมดแล้ว ดูก่อนพราหมณ์ ท่านเชื่อเราเถิด ทรัพย์ห้าร้อยของเราไม่มี.
[๘] ถ้าเมื่อเราขอ ท่านจักไม่ให้ ในวันที่เจ็ด ศีรษะของท่านจงแตกเจ็ดเสี่ยง.
[๙] พราหมณ์นั้นเป็นคนโกหก ปรุงแต่งแสดงเหตุให้กลัว พาวรีพราหมณ์ได้ฟังคำของพราหมณ์นั้นแล้ว ก็เป็นทุกข์.
[๑๐] มีลูกศรคือความโศกเสียบแทงแล้ว ไม่บริโภคอาหารก็ซูบผอม ใช่แต่เท่านั้น ใจของพาวรีพราหมณ์ผู้มีจิตเป็นอย่างนั้นย่อมไม่ยินดีในการบูชา.
[๑๑] เทวดา (ที่สิงอยู่ใกล้อาศรมของพาวรีพราหมณ์) ผู้ปรารถนาประโยชน์ เห็นพาวรีพราหมณ์หวาดกลัวเป็นทุกข์อยู่ จึงเข้าไปหาพาวรีพราหมณ์แล้วได้กล่าวว่า
[๑๒] พราหมณ์ผู้มีความต้องการทรัพย์นั้น เป็นคนโกหก ย่อมไม่รู้จักศีรษะ ความรู้จักศีรษะหรือธรรมอันให้ศีรษะตกไป ย่อมไม่มีแก่พราหมณ์นั้น.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 3
[๑๓] พาวรีพราหมณ์ดำริว่า เทวดานี้อาจรู้ได้ในบัดนี้ (กล่าวว่า) ข้าพเจ้าถามแล้ว ขอท่านจงบอกศีรษะและธรรมอันให้ศีรษะตกไปแก่ข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าจะขอฟังคำของท่าน.
[๑๔] แม้ข้าพเจ้าก็ไม่รู้จักศีรษะและธรรมอันให้ศีรษะตกไป ข้าพเจ้าไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ ความเห็นซึ่งศีรษะและธรรมอันให้ศีรษะตกไป ย่อมมีแก่พระชินเจ้าทั้งหลายเท่านั้น.
[๑๕] พา. ก็ในบัดนี้ ใครในปฐพีมณฑลนี้ย่อมรู้จักศีรษะและธรรมอันให้ศีรษะตกไป ดูก่อนเทวดา ขอท่านจงบอกท่านผู้นั้นแก่ข้าพเจ้าเถิด.
[๑๖] เท. พระศากยบุตร เป็นวงศ์ของพระเจ้าโอกกากราช เสด็จออกจากเมืองกบิลพัสดุ์บุรี เป็นพระพุทธเจ้าผู้นำสัตวโลก เป็นผู้กระทำ (แสดง) ธรรมให้สว่าง.
[๑๗] ดูก่อนพราหมณ์ พระศากยบุตรนั่นแหละ เป็นพระสัมพุทธเจ้า ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง บรรลุกำลังแห่งอภิญญาทั้งปวง มีพระจักษุในธรรมทั้งปวง ทรงถึงธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งธรรมทั้งปวง ทรงน้อมพระทัยไปในธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ.
[๑๘] พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นพระพุทธเจ้าในโลก มีพระจักษุ ย่อมทรงแสดงธรรม ท่านจงไปทูลถามพระองค์เถิด พระองค์จักทรงพยากรณ์ปัญหานั้นแก่ท่าน.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 4
[๑๙] พาวรีพราหมณ์ได้ฟังคำว่า พระสัมพุทธเจ้า แล้วมีความเบิกบานใจ มีความโศกเบาบาง และได้ปีติอันไพบูลย์.
[๒๐] พาวรีพราหมณ์นั้น มีใจยินดี มีความเบิกบานโสมนัส ถามถึง (พระผู้มีพระภาคเจ้า) กะเทวดานั้น (และประกาศว่า) พระสัมพุทธเจ้าผู้เป็นที่พึ่งของสัตวโลก ประทับอยู่ ณ ที่ใด คือบ้าน นิคม หรือชนบทไหน เราทั้งหลายพึงไปนมัสการพระสัมพุทธเจ้าผู้สูงสุดกว่า ณ ที่ใด.
[๒๑] เท. พระศากยบุตรนั้น เป็นพระชินะ มีพระปัญญาสามารถ มีพระปัญญากว้างขวางเช่นแผ่นดินอันประเสริฐ เป็นนักปราชญ์ ไม่มีอาสวะ ทรงรู้แจ้งศีรษะและธรรมอันให้ศีรษะตกไป ทรงองอาจกว่านรชน ประทับอยู่ ณ พระราชมณเฑียรแห่งพระเจ้าโกศลในพระนครสาวัตถีนั้น.
[๒๒] ลำดับนั้น พาวรีพราหมณ์ได้เรียกพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้เป็นศิษย์ ผู้ถึงฝั่งแห่งมนต์มา (บอกว่า) ดูก่อนมาณพทั้งหลาย มานี่เถิด เราจักบอก ขอท่านทั้งหลายจงฟังคำของเรา.
[๒๓] ความปรากฏเนืองๆ แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใดนั้น ยากที่จะหาได้ในโลก วันนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก มีพระนาม
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 5
ปรากฏว่า พระสัมพุทธเจ้า ท่านทั้งหลายจงรีบไปเมืองสาวัตถี ดูพระสัมพุทธเจ้าผู้สูงสุดกว่าสรรพสัตว์.
[๒๔] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ก็ข้าพเจ้าทั้งหลายเห็นแล้วจะรู้จักว่าเป็นพระพุทธเจ้าได้อย่างไร ข้าพเจ้าทั้งหลายจะรู้จักพระสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นด้วยอุบายอย่างไร ขอท่านจงบอกอุบายนั้นแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายผู้ไม่รู้เถิด.
[๒๕] พา. ก็มหาบุรุษลักษณะ ๓๒ ประการ มาแล้วในมนต์ทั้งหลาย ท่านกล่าวไว้แจ่มแจ้ง บริบูรณ์แล้วโดยลำดับ.
[๒๖] ท่านผู้ใดมีมหาบุรุษลักษณะเหล่านั้นในกายตัว ท่านผู้นั้นมีคติเป็นสองอย่างเท่านั้น มิได้มีคติเป็นที่สาม.
[๒๗] คือ ถ้าอยู่ครองเรือน พึงครอบครองแผ่นดินนี้ ย่อมปกครองโดยธรรม โดยไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศาสตรา.
[๒๘] และถ้าท่านผู้นั้นออกบวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีกิเลสดังหลังคาอันเปิดแล้ว ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า.
[๒๙] พาวรีพราหมณ์ (บอกแล้ว) ซึ่งชาติ โคตร ลักษณะ และมนต์อย่างอื่นอีก กะพวกศิษย์ (ได้สั่งว่า) ท่านทั้งหลายจงถามถึงศีรษะและธรรมอันให้ศีรษะตกไปด้วยใจเท่านั้น.
[๓๐] ถ้าท่านผู้นั้นจักเป็นพระพุทธเจ้า ผู้เห็นธรรมไม่มี
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 6
เครื่องกั้น เมื่อท่านทั้งหลายถามปัญหาด้วยใจแล้ว ก็จักแก้ด้วยวาจา.
[๓๑] พราหมณ์ ๑๖ คนผู้เป็นศิษย์ คือ อชิตพราหมณ์ ติสสเมตเตยยพราหมณ์ ปุณณกพราหมณ์ เมตตคูพราหมณ์.
[๓๒] โธตกพราหมณ์ อุปสีวพราหมณ์ นันทพราหมณ์ เหมกพราหมณ์ โตเทยยพราหมณ์. กัปปพราหมณ์ ชตุกัณณีพราหมณ์ ผู้เป็นบัณฑิต.
[๓๓] ภัทราวุธพราหมณ์ อุทยพราหมณ์ โปสาลพราหมณ์ โมฆราชพราหมณ์ผู้เป็นนักปราชญ์ ปิงคิยพราหมณ์ผู้แสวงหาคุณใหญ่ ได้ฟังวาจาของพาวรีพราหมณ์แล้ว.
[๓๔] ทั้งหมดนั้น เฉพาะคนหนึ่งๆ เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ ปรากฏแก่โลกทั้งปวง เป็นผู้เจริญฌาน ยินดีในฌาน เป็นธีรชนผู้มีจิตอบรมด้วยวาสนาในกาลก่อน.
[๓๕] พราหมณ์ผู้เป็นศิษย์ทุกคน ทรงชฎาและหนังเสือ อภิวาทพาวรีพราหมณ์และกระทำประทักษิณแล้ว มุ่งหน้าเดินไปทางทิศอุดร.
[๓๖] สู่สถานเป็นที่ตั้งแห่งแว่นแคว้นมุฬกะ เมืองมาหิสสติ ในกาลนั้น เมืองอุชเชนี เมืองโคนัทธะ เมืองเวทิสะ เมืองวนสวหยะ.
[๓๗] เมืองโกสัมพี เมืองสาเกต เมืองสาวัตถี เป็นเมืองอุดม เมืองเสตัพยะ เมืองกบิลพัสดุ์ เมืองกุสินารา.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 7
[๓๘] เมืองปาวา โภคนคร เมืองเวสาลี เมืองมคธและปาสาณเจดีย์ อันเป็นรมณียสถานน่ารื่นรมย์ใจ.
[๓๙] พราหมณ์เหล่านั้นรีบขึ้นสู่ภูเขา (ปาสาณเจดีย์) เหมือนคนระหายน้ำรีบหาน้ำเย็น เหมือนพ่อค้ารีบหาลาภใหญ่ และเหมือนคนถูกความร้อนแผดเผาและรีบหาร่มฉะนั้น.
[๔๐] ก็ในสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าอันภิกษุสงฆ์ห้อมล้อมแล้วทรงแสดงธรรมแก่พระภิกษุทั้งหลาย ประหนึ่งว่าราชสีห์บันลือสีหนาทอยู่ในป่า.
[๔๑] อชิตพราหมณ์ ได้เห็นเพระสัมพุทธเจ้าผู้เพียงดังว่าดวงอาทิตย์มีรัศมีฉายออกไป และเหมือนดวงจันทร์เต็มดวงในวันเพ็ญ.
[๔๒] ลำดับนั้น อชิตพราหมณ์ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง รื่นเริงใจเพราะได้เห็นอนุพยัญชนะบริบูรณ์ ในพระกายของพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทูลถามปัญหาด้วยใจ.
[๔๓] อ. ท่านเจาะจงใคร จงบอกโคตรพร้อมด้วยลักษณะ บอกความสำเร็จในมนต์ทั้งหลาย พราหมณ์สอนมาณพเท่าไร.
[๔๔] พ. พราหมณ์นั้นมีอายุ ๑๒๐ ปี ชื่อพาวรีโดยโคตร ลักษณะ ๓ อย่างมีในตัวของพราหมณ์นั้น พราหมณ์นั้นเป็นผู้ถึงฝั่งแห่งไตรเพท.
[๔๕] พาวรีพราหมณ์ ถึงความสำเร็จในธรรมของตน สอน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 8
มาณพ ๕๐๐ ในมหาบุรุษลักษณะ และคัมภีร์อิติหาสะ พร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุศาสตร์ และคัมภีร์เกฏุภศาสตร์.
[๔๖] ข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดกว่านรชน ผู้ตัดเสียซึ่งตัณหา ขอพระองค์ทรงประกาศความกว้างแห่งลักษณะทั้งหลายของพาวรีพราหมณ์ ความสงสัยอย่าได้มีแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายเลย.
[๔๗] พราหมณ์นั้นย่อมปกปิดหน้าได้ด้วยลิ้น มีอุณาโลมอยู่ในระหว่างคิ้ว และมีอวัยวะที่ซ่อนอยู่ในผ้า อยู่ในฝัก ดูก่อนมาณพ ท่านจงรู้อย่างนี้.
[๔๘] ชนทั้งปวงไม่ได้ฟังใครๆ ซึ่งเป็นผู้ถาม ได้ฟังปัญหาทั้งหลาย ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแก้แล้ว เกิดความโสมนัส ประนมอัญชลี ย่อมคิดไปต่างๆ (ว่า)
[๔๙] ใครหนอ เป็นเทวดา เป็นพระพรหม หรือเป็นพระอินทร์ผู้สุชัมบดี เมื่อเขาถามปัญหาด้วยใจ จะแก้ปัญหานั้นกะใครได้.
[๕๐] อ. พาวรีพราหมณ์ย่อมถามถึงศีรษะ และธรรมอันทำให้ศีรษะตกไป ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงแสวงหา ขอพระองค์ทรงโปรดพยากรณ์ข้อนั้น กำจัดเสียซึ่งความสงสัยของข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด.
[๕๑] พ. ท่านจงรู้เถิดว่า อวิชชาเป็นศีรษะ วิชชาประกอบกับศรัทธา สติ สมาธิ ฉันทะ และวิริยะ เป็นธรรมเครื่องยังศีรษะให้ตกไป.
[๕๒] ลำดับนั้น อชิตมาณพผู้อันความโสมนัสเป็นอันมาก
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 9
อุดหนุนแล้ว กระทำซึ่งหนังเสือเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง แล้วซบเศียรลงแทบพระยุคลบาท (ทูลว่า)
[๕๓] ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ผู้มีพระจักษุ พาวรีพราหมณ์พร้อมด้วยพวกศิษย์ มีจิตเบิกบานโสมนัส ขอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์.
[๕๔] พ. พาวรีพราหมณ์พร้อมด้วยพวกศิษย์จงเป็นผู้มีสุข ดูก่อนมาณพ และแม้ท่านก็ขอให้มีความสุข มีชีวิตอยู่ยืนนานเถิด.
[๕๕] เราให้โอกาสแก่พาวรีพราหมณ์ แก่ท่าน และแก่พราหมณ์ทั้งหมด ตลอดข้อสงสัยทั้งปวง ท่านทั้งหลายย่อมปรารถนาปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งไว้ในใจ ก็จงถามเถิด.
[๕๖] เมื่อพระสัมพุทธเจ้าทรงประทานโอกาสแล้ว อชิตพราหมณ์นั่งประนมมือ แล้วทูลถามปฐมปัญหากะพระตถาคต ในบริษัทนั้น.
จบวัตถุคาถา