พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

อชิตมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๑ ว่าด้วยปัญหาของท่านอชิตะ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  22 พ.ย. 2564
หมายเลข  40779
อ่าน  510

[เล่มที่ 67] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 9

ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส

ปารายนวรรค

อชิตมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๑

ว่าด้วยปัญหาของท่านอชิตะ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 67]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 9

อชิตมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๑

ว่าด้วยปัญหาของท่านอชิตะ

[๕๗] (ท่านอชิตะทูลถามปัญหาว่า)

โลกอันอะไรสิหุ้มห่อไว้ โลกไม่ปรากฏเพราะเหตุอะไรสิ อะไรเล่าเป็นเครื่องฉาบทาโลกนั้น ขอพระองค์จงตรัสบอก อะไรเล่าเป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 10

[๕๘] คำว่า โลกอันอะไรสิหุ้มห่อไว้ ความว่า โลกนรก โลกเดียรัจฉาน โลกเปตติวิสัย โลกมนุษย์ โลกเทวดา ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก โลกนี้ โลกอื่น พรหมโลก กับทั้งเทวโลก นี้เรียกว่าโลก โลกนี้อันอะไรปกปิด ปิดบัง ปกคลุม หุ้มห่อ ครอบไว้ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า โลกอันอะไรสิหุ้มห่อไว้.

[๕๙] บทว่า อิติ ในอุเทศว่า "อิจฺจายสฺมา อชิโต" เป็นบทสนธิ เป็นบทเกี่ยวเนื่อง เป็นบทยังบทให้บริบูรณ์ เป็นความประชุมแห่งอักขระ เป็นความสละสลวยแห่งพยัญชนะ บทว่า อิติ นี้เป็นไปตามลำดับบท.

บทว่า อายสฺมา เป็นเครื่องกล่าวด้วยความรัก เป็นเครื่องกล่าวโดยเคารพ.

บทว่า อายสฺมา นี้เป็นเครื่องกล่าวถึง เป็นไปกับด้วยความเคารพและความยำเกรง.

บทว่า อชิโต เป็นชื่อ เป็นเครื่องนับ เป็นเครื่องหมายรู้ เป็นบัญญัติ เป็นเครื่องร้องเรียก เป็นนาม เป็นการตั้งชื่อ เป็นเครื่องแสดงให้ปรากฏ เป็นเครื่องกล่าวเฉพาะของพราหมณ์นั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า "อิจฺจายสฺมา อชิโต."

[๖๐] คำว่า โลกไม่ปรากฏเพราะเหตุอะไรสิ ความว่า โลกไม่ปรากฏ ไม่สว่าง ไม่รุ่งเรือง ไม่ไพโรจน์ ไม่แจ่ม ไม่กระจ่าง เพราะเหตุอะไร เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า โลกไม่ปรากฏ เพราะเหตุอะไรสิ.

[๖๑] คำว่า อะไรเล่าเป็นเครื่องฉาบทาโลกนั้น ขอพระองค์จงตรัสบอก ความว่า อะไรเป็นเครื่องฉาบทา เป็นเครื่องข้อง เป็นเครื่องผูก เป็นเครื่องเข้าไปเศร้าหมองของโลกนั้น คือ โลกอันอะไรฉาบทา ติดให้เปื้อน ให้มัวหมอง เปื้อน ระคนไว้ ข้องไว้ คล้องไว้ พัวพันไว้ ขอพระองค์จงตรัสบอก เล่า แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 11

ทำให้ตื้น ประกาศ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อะไรเล่าเป็นเครื่องฉาบทาโลกนั้น ขอพระองค์จงตรัสบอก.

[๖๒] คําว่า อะไรเล่าเป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น ความว่า อะไรเป็นภัยใหญ่ เป็นเครื่องบีบคั้น เป็นเครื่องเสียดสี เป็นอันตราย เป็นเครื่องขัดข้องของโลกนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อะไรเล่าเป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น.

เพราะเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกล่าวว่า (อชิตมาณพทูลถามปัญหาว่า)

โลกอันอะไรสิหุ้มห่อไว้ โลกไม่ปรากฏเพราะเหตุอะไรสิ อะไรเล่าเป็นเครื่องฉาบทาโลกนั้น ขอพระองค์จงตรัสบอก อะไรเล่าเป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น.

[๖๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูก่อนอชิตะ)

โลกอันอวิชชาหุ้มห่อไว้ โลกไม่ปรากฏเพราะความตระหนี่ เรากล่าวตัณหาว่าเป็นเครื่องฉาบทาโลก ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น.

[๖๔] ความไม่รู้ในทุกข์ ความไม่รู้ในทุกขสมุทัย ความไม่รู้ในทุกขนิโรธ ความไม่รู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ความไม่รู้ในส่วนสุดเบื้องต้น ความไม่รู้ในส่วนสุดเบื้องปลาย ความไม่รู้ทั้งในส่วนสุดเบื้องต้นและส่วนสุดเบื้องปลาย ความไม่รู้ในธรรมทั้งหลาย อันอาศัยกันและกันเกิดขึ้น คือความเป็นปัจจัยแห่งธรรมนี้ ชื่อว่า "อวิชชา" ความไม่รู้ ความไม่เห็น ความไม่ถึงพร้อมเฉพาะ ความไม่ตามตรัสรู้ ความไม่ตรัสรู้พร้อม

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 12

ความไม่แทงตลอด ความไม่ถึงพร้อม ความไม่ถึงรอบ ความไม่เห็นเสมอ ความไม่พิจารณา ความไม่ทำให้ประจักษ์ ความรู้ได้ยาก ความเป็นคนเขลา ความไม่รู้ทั่วพร้อม ความหลงใหล ความมัวเมา อวิชชาเป็นโอฆะ อวิชชาเป็นโยคะ อวิชชาเป็นอนุสัย อวิชชาเป็นเครื่องกลุ้มรุม อวิชชาเป็นข่าย โมหะ อกุศลมูล ชื่อว่า "อวิชชา" ในอุเทศว่า อวิชฺชาย นิวุโต โลโก นี้เรียกว่า อวิชชา. โลกนรก โลกเดียรัจฉาน โลกเปตติวิสัย โลกมนุษย์ โลกเทวดา ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก โลกนี้ โลกหน้า พรหมโลกกับทั้งเทวโลก นี้เรียกว่า โลก. โลกอันอวิชชานี้ ปิดบัง ปกคลุม หุ้มห่อ ครอบไว้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า โลกอันอวิชชาหุ้มห่อไว้.

[๖๕] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อว่า "อชิตะ" บทว่า ภควา นี้เป็นเครื่องกล่าวด้วยความเคารพ. อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำลายราคะ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ภควา ทรงทำลายโทสะ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ภควา ทรงทําลายโมหะ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ภควา ทรงทำลายมานะ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ภควา ทรงทำลายทิฏฐิ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ภควา ทรงทำลายเสี้ยนหนาม เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ภควา ทรงจำแนก ทรงแจกวิเศษ ทรงจำแนกเฉพาะซึ่งธรรมรัตนะ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ภควา ทรงทำซึ่งที่สุดแห่งภพทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ภควา มีกายอันอบรมแล้ว เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ภควา มีศีลอันอบรมแล้ว เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ภควา มีจิตอันอบรมแล้ว มีปัญญาอันเจริญแล้ว เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ภควา.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 13

อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเสพเสนาสนะอันสงัด คือป่าและป่าเปลี่ยว เงียบเสียง ไม่มีเสียงกึกก้อง ปราศจากลมแต่หมู่ชน ควรทำกรรมลับของมนุษย์ สมควรแก่การหลีกออกเร้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ภควา.

อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีส่วนแห่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ภควา.

อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีส่วนแห่งอรรถรส ธรรมรส วิมุตติรส แห่งอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ภควา.

อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีส่วนแห่งฌาน อัปปมัญญา ๔ อรูปสมาบัติ ๔ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ภควา.

อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีส่วนเเห่งวิโมกข์ ๘ อภิภายตนะ ๘ อนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ภควา.

อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีส่วนแห่งสัญญาภาวนา ๒๐ กสิณสมาบัติ ๑๐ สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานัสสติ อสุภฌานสมาบัติ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ภควา.

อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีส่วนแห่งสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ภควา.

อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีส่วนแห่งกำลังของพระตถาคต ๑๐ เวสารัชชญาณ ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ พุทธธรรม ๖ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ภควา. พระนามว่า ภควา นี้ พระมารดามิได้ทรงตั้ง พระบิดามิได้ทรงตั้ง พระภคินีมิได้ทรงตั้ง พระภาดามิได้ทรงตั้ง มิตร

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 14

และอำมาตย์มิได้ตั้ง พระญาติสาโลหิตมิได้ทรงตั้ง สมณพราหมณ์แลเทวดาก็มิได้ตั้ง พระนามว่า ภควา นี้ เป็นวิโมกขันติกนาม คือพระนามที่เกิดขึ้นในที่สุดแห่งความหลุดพ้น พระนามว่า ภควา นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ พระนามของพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลายผู้ตรัสรู้แล้ว พร้อมด้วยการบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ณ ควงไม้มหาโพธิ์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า "อชิตาติ ภควา."

[๖๖] คำว่า โลกไม่ปรากฏเพราะความตระหนี่ มีความว่า ความตระหนี่ ๕ ประการ คือ อาวาสมัจฉริยะ ตระหนี่ที่อยู่ ๑ กุลมัจฉริยะ ตระหนี่สกุล ๑ ลาภมัจฉริยะ ตระหนี่ลาภ ๑ วรรณมัจฉริยะ ตระหนี่วรรณะ ๑ ธรรมมัจฉริยะ ตระหนี่ธรรม ๑ ท่านเรียกว่า เววิจฉะ ความตระหนี่ กิริยาที่ตระหนี่ ความเป็นผู้ตระหนี่ ความปรารถนาต่างๆ ความเหนียวแน่น ความเป็นผู้มีจิตหดหู่ โดยความเป็นจิตเผ็ดร้อน ความที่แห่งจิตอันใครเชื่อไม่ได้เห็นปานนี้ เรียกว่า ความตระหนี่.

อีกอย่างหนึ่ง แม้ความตระหนี่ขันธ์ ท่านก็เรียกว่ามัจฉริยะ แม้ความตระหนี่ธาตุ ท่านก็เรียกว่ามัจฉริยะ.

ความประมาท สมควรกล่าว การปล่อยจิต ความเพิ่มการปล่อยจิต ในกายทุจริตก็ดี ในวจีทุจริตก็ดี ในมโนทุจริตก็ดี ในเบญจกามคุณก็ดี หรือความเป็นผู้ทำโดยความไม่เอื้อเฟื้อ ความเป็นผู้ทำไม่ติดต่อ ความเป็นผู้หยุดๆ ความเป็นผู้มีความประพฤติย่อหย่อน ความเป็นผู้ปลงฉันทะ ความเป็นผู้ทอดธุระ ความเป็นผู้ไม่ซ่องเสพ ความไม่เจริญ ความไม่ทำให้มาก ความไม่ตั้งใจ ความไม่ประกอบเนืองๆ ในการบำเพ็ญกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นความประมาท ความมัวเมา กิริยาที่

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 15

มัวเมา ความเป็นผู้มัวเมา เห็นปานนี้ เรียกว่า ประมาท.

คำว่า โลกไม่ปรากฏเพราะความตระหนี่ เพราะความประมาท ความว่า โลกไม่ปรากฏ ไม่สว่าง ไม่รุ่งเรือง ไม่ไพโรจน์ ไม่แจ่ม ไม่กระจ่าง เพราะความตระหนี่นี้ เพราะความประมาทนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า โลกไม่ปรากฏ เพราะความตระหนี่ เพราะความประมาท.

[๖๗] คำว่า เรากล่าวว่าตัณหาเป็นเครื่องฉาบทาโลก ความว่า ตัณหา เรียกว่า ชัปปา ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ความยินดี ความพลอยยินดี ความเพลิดเพลิน ความกำหนัดด้วยความเพลิดเพลิน ความกำหนัดนักแห่งจิต ความปรารถนา ความหลง ความติดใจ ความอยาก ความพัวพัน ความข้อง ความจม ความหวั่นไหว ความลวงธรรมชาติอันให้สัตว์เกิด ธรรมชาติอันให้สัตว์เกิดกับทุกข์ ธรรมชาติอันเย็บไว้ ธรรมชาติเพียงดังข่าย ธรรมชาติอันไหลไป ธรรมชาติอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ความเป็นผู้หลับ ความกว้างขวาง ธรรมชาติอันให้อายุเสื่อม ความเป็นเพื่อน ความตั้งใจไว้ ธรรมชาติอันเป็นเหตุนําไปสู่ภพ ธรรมชาติเพียงดังว่าป่า ธรรมชาติเพียงดังว่าหมู่ไม้ในป่า ความสนิทสนม ความมีเยื่อใย ความเพ่ง ความพัวพัน ความหวัง กิริยาที่หวัง ความเป็นผู้หวัง ความหวังในรูป ความหวังในเสียง ความหวังในกลิ่น ความหวังในรส ความหวังในโผฏฐัพพะ ความหวังในลาภ ความหวังในทรัพย์ ความหวังในบุตร ความหวังในชีวิต ความกระซิบ ความกระซิบทั่ว ความกระซิบยิ่ง กิริยาที่กระซิบ ความเป็นผู้กระซิบ ความโลภ กิริยาที่โลภ ความเป็นผู้โลภ ความที่ตัณหาหวั่นไหว ความเป็นผู้ต้องการให้สำเร็จ ความกำหนัดผิดธรรมดา ความโลภไม่สม่ำเสมอ ความใคร่ กิริยาที่ใคร่

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 16

ความปรารถนา ความทะเยอทะยาน ความประสงค์ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา รูปตัณหา อรูปตัณหา นิโรธตัณหา รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธรรมตัณหา โอฆะ โยคะ คันถะ อุปาทาน ธรรมชาติเป็นเครื่องกั้น ธรรมชาติเป็นเครื่องบัง ธรรมชาติเป็นเครื่องปิด ธรรมชาติเป็นเครื่องผูก อุปกิเลส อนุสัย กิเลสเครื่องกลุ้มรุม ธรรมชาติเพียงดังว่าเถาวัลย์ ความตระหนี่ มูลแห่งทุกข์ แดนเกิดแห่งทุกข์ บ่วงมาร เบ็ดมาร วิสัยมาร โคจรแห่งมาร เครื่องผูกแห่งมาร ตัณหาเพียงดังว่าแม่น้ำ ตัณหาเพียงดังว่าข่าย ตัณหาเพียงดังว่าสายโซ่ ตัณหาเพียงดังว่าทะเล อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล นี้เรียกว่า ชัปปา (ตัณหา) ตัณหานี้เป็นเครื่องทา เป็นเครื่องข้อง เป็นเครื่องผูก เป็นอุปกิเลสของโลก โลกอันตัณหานี้ไล้ทา ฉาบทา ให้หมอง ให้มัวหมอง ให้เปื้อน ระคนไว้ ข้องไว้ คล้องไว้ พันไว้ เราย่อมกล่าวบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้ตื้น ประกาศ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เรากล่าวว่าตัณหาเป็นเครื่องฉาบทาโลก.

[๖๘] ชื่อว่า ทุกข์ ในอุเทศว่า ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น คือ ชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ โสกะ ปริเทวะ ทุกขโทมนัส อุปายาส ทุกข์ในนรก ทุกข์ในกำเนิดดิรัจฉาน ทุกข์ในเปตติวิสัย ทุกข์ในมนุษย์ ทุกข์มีการก้าวลงสู่ครรภ์เป็นมูล ทุกข์มีการตั้งอยู่ในครรภ์เป็นมูล ทุกข์มีความออกจากครรภ์เป็นมูล ทุกข์เนื่องแต่สัตว์ผู้เกิด ทุกข์เนื่องแก่ผู้อื่นแห่งสัตว์ผู้เกิด ทุกข์เกิดแต่ความเพียรของตน ทุกข์เกิดแต่ความเพียรของผู้อื่น ทุกข์ในทุกข์ สงสารทุกข์ วิปริณามทุกข์ โรคตา โรคหู โรคจมูก โรคลิ้น โรคกาย โรคในศีรษะ โรคในหู โรคในปาก

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 17

โรคฟัน โรคไอ โรคมองคร่อ โรคริดสีดวงจมูก โรคร้อนใน โรคชรา โรคในท้อง โรคสลบ โรคลงแดง โรคจุกเสียด โรคลงท้อง โรคเรื้อน ฝี กลาก โรคหืด โรคลมบ้าหมู หิดด้าน หิดเปื่อย คุดทะราด ลำลาบ คุดทะราดใหญ่ โรครากเลือด โรคดี โรคเบาหวาน โรคริดสีดวงทวาร โรคต่อม บานทะโรค อาพาธมีดีเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีเสมหะเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีดีเป็นต้นประชุมกัน อาพาธเกิดเพราะฤดูแปรไป อาพาธเกิดเพราะเปลี่ยนอิริยาบถไม่สม่ำเสมอกัน อาพาธเกิดเพราะความเพียร อาพาธเกิดเพราะผลกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ทุกข์แต่เหลือบ ยุง ลม แดด และสัมผัสแห่งสัตว์เสือกคลาน ความตายของมารดาก็เป็นทุกข์ ความตายของบิดาก็เป็นทุกข์ ความตายของพี่น้องชายก็เป็นทุกข์ ความตายของพี่น้องหญิงก็เป็นทุกข์ ความตายของบุตรก็เป็นทุกข์ ความตายของธิดาก็เป็นทุกข์ ความฉิบหายแห่งญาติก็เป็นทุกข์ ความฉิบหายแห่งโภคทรัพย์ก็เป็นทุกข์ ความฉิบหายเพราะโรคก็เป็นทุกข์ ความฉิบหายแห่งศีลก็เป็นทุกข์ ความฉิบหายแห่งทิฏฐิก็เป็นทุกข์. ความเกิดขึ้นของธรรมทั้งหลายเหล่าใด ย่อมปรากฏตั้งแต่ต้น ธรรมทั้งหลายเหล่านั้นเมื่อตั้งอยู่ไม่ได้ ความดับย่อมปรากฏ. วิบากอาศัยกรรม กรรมอาศัยวิบาก รูปอาศัยนาม นามก็อาศัยรูป นามรูปไปตามชาติ ชราก็ติดตาม พยาธิก็ครอบงำ มรณะก็ห้ำหั่น ตั้งอยู่ในทุกข์ ไม่มีอะไรต้านทาน ไม่มีอะไรเป็นที่เร้น ไม่มีอะไรเป็นสรณะ ไม่มีอะไรเป็นที่พึ่ง นี้เรียกว่าทุกข์ ทุกข์เป็นภัยใหญ่ เป็นเครื่องบีบคั้น เป็นเครื่องเสียดสี เป็นอันตราย เป็น

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 18

เครื่องขัดข้อง ของโลกนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น.

เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า

โลกอันอวิชชาหุ้มห่อไว้ โลกไม่ปรากฏเพราะความตระหนี่ เรากล่าวว่าตัณหาเป็นเครื่องฉาบทาโลก ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น.

[๖๙] (ท่านอชิตะทูลถามว่า)

กระแสทั้งหลายย่อมไหลไปในอายตนะทั้งปวง อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย ขอพระองค์จงตรัสบอก ธรรมเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย กระแสทั้งหลายอันอะไรย่อมปิดกั้นได้.

[๗๐] กระแส คือ ตัณหา กระแส คือ ทิฏฐิ, กระแส คือ กิเลส, กระแส คือ ทุจริต, กระแส คือ อวิชชา ชื่อว่ากระแสในอุเทศว่า "สวนฺติ สพฺพธิ โสตา."

บทว่า สพฺพธิ คือ ในอายตนะทั้งปวง.

บทว่า สวนฺติ ความว่า ย่อมไหลไป ย่อมไหลหลั่ง ย่อมเลื่อนไป ย่อมเป็นไป คือ ย่อมไหลไป ย่อมหลั่งไป ย่อมเลื่อนไป ย่อมเป็นไปในรูปทางจักษุ ในเสียงทางหู ในกลิ่นทางจมูก ในรสทางลิ้น ในโผฏฐัพพะทางกาย ย่อมไหลไป ย่อมหลั่งไป ย่อมเลื่อนไป ย่อมเป็นไป ในธรรมารมณ์ทางใจ รูปตัณหา ย่อมไหลไป ย่อมหลั่งไป ย่อมเลื่อนไป ย่อมเป็นไปทางจักษุ สัททตัณหาย่อมไหลไป... ทางหู คันธตัณหา ย่อมไหลไป... ทางจมูก รสตัณหาย่อมไหลไป... ทางลิ้น โผฏฐัพพ-

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 19

ตัณหาย่อมไหลไป... ทางกาย ธรรมตัณหาย่อมไหลไป ย่อมหลั่งไป ย่อมเลื่อนไป ย่อมเป็นไปทางใจ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กระแสทั้งหลาย ย่อมไหลไปในอายตนะทั้งปวง.

[๗๑] คำว่า อิติ ในอุเทศว่า อิจฺจายสฺมา อชิโต เป็นบทสนธิ เป็นบทเกี่ยวเนื่อง เป็นบทยังบทให้บริบูรณ์ เป็นความประชุมแห่งอักขระ เป็นความสละสลวยแห่งพยัญชนะ.

คำว่า อิติ นี้ เป็นไปตามลำดับบท.

บทว่า อายสฺมา เป็นเครื่องกล่าวถึง เป็นไปกับด้วยความเคารพและความยำเกรง.

บทว่า อชิโต เป็นชื่อ เป็นเครื่องนับ เป็นเครื่องหมายรู้ เป็นบัญญัติ เป็นเครื่องร้องเรียก เป็นนาม เป็นการตั้งชื่อ เป็นเครื่องทรงชื่อ เป็นภาษาที่เรียกร้องกัน เป็นเครื่องแสดงให้ปรากฏ เป็นเครื่องกล่าวเฉพาะของพราหมณ์นั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า "อิจฺจายสฺมา อชิโต."

[๗๒] คำว่า อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย ความว่า อะไรเป็นเครื่องกั้น คือ เป็นเครื่องห้าม เป็นเครื่องป้องกัน เป็นเครื่องรักษา เป็นเครื่องคุ้มครองกระแสทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย.

[๗๓] คำว่า ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย ความว่า ขอพระองค์จงตรัส คือ จงทรงบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้ตื้น ประกาศ ซึ่งธรรมเป็นเครื่องกั้น คือ ซึ่งธรรมเป็นเครื่องห้าม เป็นเครื่องป้องกัน เป็นเครื่องรักษา เป็นเครื่องคุ้มครองกระแสทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ขอพระองค์จงตรัสบอกซึ่งธรรมเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย.

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 20

[๗๔] คำว่า กระแสทั้งหลายอันอะไรย่อมปิดกั้นได้ ความว่า กระแสทั้งหลายอันอะไรย่อมปิดบังได้ คือ ย่อมตัดขาด ย่อมไม่ไหล ย่อมไม่หลั่ง ย่อมไม่เลื่อน ย่อมไม่เป็นไป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กระแสทั้งหลายอันอะไรย่อมปิดได้.

เพราะเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกล่าวว่า (อชิตมาณพทูลถามว่า)

กระแสทั้งหลายย่อมไหลไปในอายตนะทั้งปวง อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย กระแสทั้งหลายอันอะไรย่อมปิดกั้นได้.

[๗๕] (พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ดูก่อนอชิตะ) กระแสเหล่าใดในโลก สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้น เรากล่าวธรรมเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย กระแสเหล่านี้อันปัญญาย่อมปิดกั้นได้.

[๗๖] คำว่า กระแสเหล่าใดในโลก ความว่า กระแสเหล่านี้ใดเราบอกแล้ว เล่าแล้ว แสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แต่งตั้งแล้ว เปิดเผยแล้ว จำแนกแล้ว ทำให้ตื้นแล้ว ประกาศแล้ว คือ กระแสตัณหา กระแสทิฏฐิ กระแสกิเลส กระแสทุจริต กระแสอวิชชา.

บทว่า ในโลก คือ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กระแสเหล่าใดในโลก พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อว่า อชิตะ.

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 21

[๗๗] ความระลึก คือ ความตามระลึก ความระลึกเฉพาะ สติ ความระลึก ความทรง ความไม่เลื่อนลอย ความไม่หลงลืม สติ สตินทรีย์ สติสัมโพชฌงค์ เอกายนมรรค (มรรคที่เป็นไปแห่งบุคคลผู้เดียว).

ชื่อว่า สติ ในอุเทศว่า "สติ เตสํ นิวารณํ" นี้เรียกว่า สติ.

บทว่า เป็นเครื่องกั้น ความว่า เป็นเครื่องกั้น คือ เป็นเครื่องห้าม เป็นเครื่องป้องกัน เป็นเครื่องรักษา เป็นเครื่องคุ้มครอง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้น.

[๗๘] คำว่า เราย่อมกล่าวธรรมเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย ความว่า เราย่อมกล่าว ย่อมบอก ย่อมแสดง ย่อมบัญญัติ ย่อมแต่งตั้ง ย่อมเปิดเผย ย่อมจำแนก ย่อมทำให้ตื้น ย่อมประกาศ ซึ่งธรรมเป็นเครื่องกั้น คือ เป็นเครื่องห้าม เป็นเครื่องป้องกัน เป็นเครื่องรักษา เป็นเครื่องคุ้มครอง กระแสทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เราย่อมกล่าวธรรมเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย.

[๗๙] ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ทั่ว ฯลฯ ความไม่หลง ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ ชื่อว่า ปัญญา ในอุเทศว่า ปญฺาเยเต ปิถิยฺยเร.

ข้อว่า กระแสเหล่านี้ อันปัญญาย่อมปิดกั้นได้ ความว่า กระแสเหล่านี้ อันปัญญาย่อมปิดกั้นได้ คือ ย่อมตัดขาด ไม่ไหลไป ไม่หลั่งไป ไม่เลื่อนไป ไม่เป็นไป กระแสเหล่านี้ อันปัญญาของบุคคลผู้รู้เห็นว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ย่อมปิดกั้นได้... ไม่เป็นไป กระแสเหล่านี้ อันปัญญาของบุคคลผู้รู้เห็นว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ย่อมปิดกั้นได้... ไม่เป็นไป กระแสเหล่านี้ อันปัญญาของบุคคลผู้รู้เห็นว่า ธรรมทั้งปวงเป็น

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 22

อนัตตา ย่อมปิดกั้นได้... ไม่เป็นไป กระแสเหล่านี้ อันปัญญาของบุคคลผู้รู้เห็นว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร ย่อมปิดกั้นได้... ไม่เป็นไป กระแสเหล่านี้ อันปัญญาของบุคคลผู้รู้เห็นว่า เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ย่อมปิดกั้นได้... ไม่เป็นไป กระแสเหล่านี้ อันปัญญาของบุคคลผู้รู้เห็นว่า เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป ย่อมปิดกั้นได้... ไม่เป็นไป กระแสเหล่านี้ อันปัญญาของบุคคลผู้รู้เห็นว่า เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ ย่อมปิดกั้นได้... ไม่เป็นไป กระแสเหล่านี้ อันปัญญาของบุคคลผู้รู้เห็นว่า เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ ย่อมปิดกั้นได้... ไม่เป็นไป กระแสเหล่านี้ อันปัญญาของบุคคลผู้รู้เห็นว่า เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา ย่อมปิดกั้นได้... ไม่เป็นไป กระแสเหล่านี้ อันปัญญาของบุคคลผู้รู้เห็นว่า เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา ย่อมปิดกั้นได้... ไม่เป็นไป กระแสเหล่านี้ อันปัญญาของบุคคลผู้รู้เห็นว่า เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน ย่อมปิดกั้นได้... ไม่เป็นไป กระแสเหล่านี้ อันปัญญาของบุคคลผู้รู้เห็นว่า เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ ย่อมปิดกั้นได้... ไม่เป็นไป กระแสเหล่านี้ อันปัญญาของบุคคลผู้รู้เห็นว่า เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ ย่อมปิดกั้นได้... ไม่เป็นไป กระแสเหล่านี้ อันปัญญาของบุคคลผู้รู้เห็นว่า เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ ย่อมปิดกั้นได้... ไม่เป็นไป กระแสเหล่านี้ อันปัญญาของบุคคลผู้รู้เห็นว่า เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับ

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 23

ตัณหาจึงดับ เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชราและมรณะจึงดับ ย่อมปิดกั้นได้ คือ ย่อมปกปิด ย่อมไม่ไหลไป ไม่หลั่งไป ไม่เลื่อนไป ไม่เป็นไป กระแสเหล่านี้ อันปัญญาของบุคคลผู้รู้เห็นว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ย่อมปิดกั้นได้... ไม่เป็นไป กระแสเหล่านี้ อันปัญญาของบุคคลผู้รู้เห็นว่า เหล่านี้อาสวะ นี้เหตุให้เกิดอาสวะ นี้ความดับอาสวะ นี้ปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับอาสวะ ย่อมปิดกั้นได้... ไม่เป็นไป กระแสเหล่านี้ อันปัญญาของบุคคลผู้รู้เห็นว่า ธรรมเหล่านี้ควรรู้ยิ่ง ธรรมเหล่านี้ควรกำหนดรู้ ธรรมเหล่านี้ควรละ ธรรมเหล่านี้ควรเจริญ ธรรมเหล่านี้ควรทำให้แจ้ง ย่อมปิดกั้นได้... ไม่เป็นไป กระแสเหล่านี้ อันปัญญาของบุคคลผู้รู้เห็นความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเป็นเครื่องออกไปแห่งผัสสายตนะ ๖ ย่อมปิดกั้นได้... ไม่เป็นไป กระแสเหล่านี้ อันปัญญาของบุคคลผู้รู้เห็นความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเป็นเครื่องออกไปแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ ย่อมปิดกั้นได้... ไม่เป็นไป กระแสเหล่านี้ อันปัญญาของบุคคลผู้รู้เห็นความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเป็นเครื่องออกไปแห่งมหาภูตรูป ๔ ย่อมปิดกั้นได้... ไม่เป็นไป กระแสเหล่านี้ อันปัญญาของบุคคลผู้รู้เห็นว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา ย่อมปิดกั้นได้ คือ ย่อมปกปิด ย่อมไม่ไหลไป ไม่หลั่งไป ไม่เลื่อนไป ไม่เป็นไป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กระแสเหล่านี้ อันปัญญาย่อมปิดกั้นได้ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 24

กระแสเหล่าใดในโลก สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้น เรากล่าวธรรมเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย กระแสเหล่านี้ อันปัญญาย่อมปิดกั้นได้.

[๘๐] (ท่านอชิตะทูลถามว่า)

ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ปัญญา สติ และนามรูป ย่อมดับไป ณ ที่ไหน ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอพระองค์จงตรัสบอกความข้อนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด.

[๘๑] ความรู้ชัด กิริยาที่รู้ชัด ความเลือกเฟ้น ความเลือกเฟ้นทั่ว ความกำหนดพร้อม ความเข้าไปกำหนด ความเข้าไปกำหนดเฉพาะ ความเป็นบัณฑิต ความเป็นผู้ฉลาด ความเป็นผู้ละเอียดอ่อน ปัญญาเป็นเครื่องจำแนกความคิด ความพิจารณา ปัญญาดังแผ่นดิน ความปรีชา ปัญญาอันน้อมไป ความเห็นแจ้ง ความรู้ทั่วพร้อม ปัญญาอันเจาะแทงเหมือนประตัก ปัญญินทรีย์ ปัญญาเป็นกำลัง ปัญญาเพียงดังศาสตรา ปัญญาเป็นเพียงดังปราสาท ปัญญาเพียงดังแสงสว่าง ปัญญาเพียงดังรัศมี ปัญญาเพียงดังประทีป ปัญญาเพียงดังรัตนะ ความไม่หลง ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ.

ชื่อว่า ปัญญา ในอุเทศว่า "ปญฺา เจว สติ จาปิ" ความระลึก ความตามระลึก ฯลฯ สัมมาสติ ชื่อว่า สติ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อชิตมาณพทูลถามว่า ปัญญา สติ.

[๘๒] คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์... นามรูป ความว่า อรูปขันธ์ ๔ ชื่อว่า นาม. มหาภูตรูป ๔ และรูปอาศัยมหาภูตรูป ๔ ชื่อว่า รูป.

บทว่า มาริส เป็นเครื่องกล่าวด้วยความรัก เป็นเครื่องกล่าวโดย

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 25

เคารพ.

บทว่า มาริส นี้ เป็นเครื่องกล่าวเป็นไปกับด้วยความเคารพและความยำเกรง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์... นามรูป.

[๘๓] คำว่า เอตมฺเม ในอุเทศว่า "เอตมฺเม ปุฏฺโ ปพฺรูหิ" ความว่า ข้าพระองค์ขอทูลถาม ทูลวิงวอน เชื้อเชิญ ให้ประสาทข้อความใด.

บทว่า ปุฏฺโ ความว่า ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว คือ ทูลวิงวอน ทูลขอเชิญให้ประสาท.

บทว่า ปพฺรูหิ ความว่า ขอจงตรัส จงบอก จงแสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้ตื้น ประกาศ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอพระองค์จงตรัสบอกความข้อนั้นแก่ข้าพระองค์.

[๘๔] คำว่า กตฺเถตํ อุปรุชฺฌติ ความว่า นั่นย่อมดับ คือ ย่อมสงบ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ย่อมระงับ ณ ที่ไหน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นั่นย่อมดับ ณ ที่ไหน.

เพราะเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกล่าวว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ปัญญา สติ และนามรูป ย่อมดับไป ณ ที่ไหน ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอพระองค์จงตรัสบอกข้อความนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด.

[๘๕] (พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า)

ดูก่อนอชิตะ ท่านได้ถามปัญหาข้อใดแล้ว เราจะแก้ปัญหาข้อนั้นแก่ท่าน นามและรูปดับไปไม่มีส่วนเหลือ ณ

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 26

ที่ใด นามรูปนั้นก็ดับ ณ ที่นั้น เพราะความดับแห่งวิญญาณ.

[๘๖] บทว่า ยเมตํ ในอุเทศว่า "ยเมตํ ปญฺหํ อปุจฺฉิ" คือ ปัญญา สติ และนามรูป.

บทว่า อปุจฺฉิ คือ มาถาม มาวิงวอน เชื้อเชิญให้ประสาทแล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ท่านได้ถามปัญหาใดแล้ว.

[๘๗] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อว่า "อชิตะ" ในอุเทศว่า "อชิต ตํ วทามิ เต."

บทว่า ตํ คือ ปัญญา สติ และนามรูป.

บทว่า วทามิ ความว่า เราจะกล่าว จะบอก จะแสดง จะบัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้ตื้น ประกาศปัญหานั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ดูก่อนอชิตะ เราจะกล่าวปัญหานั้นแก่ท่าน.

[๘๘] อรูปขันธ์ ๔ ชื่อว่า นาม ในอุเทศว่า "ยตฺถ นามญฺจ รูปญฺจ อเสสํ อุปรุชฺฌติ." มหาภูตรูป ๔ รูปอันอาศัยมหาภูตรูป ๔ ชื่อว่า รูป.

คำว่า อเสสํ ความว่า ไม่เหลือ คือทั้งหมด โดยกำหนดทั้งหมด ทั้งหมดโดยประการทั้งหมด ไม่เหลือ ไม่มีส่วนเหลือ.

คำว่า อเสสํ นี้ เป็นเครื่องกล่าวรวมหมด.

คำว่า อุปรุชฺฌติ ความว่า ย่อมดับ คือสงบ ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ย่อมระงับไป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นามรูปย่อมดับไม่เหลือ ณ ที่ใด.

[๘๙] คำว่า นามรูปนั้นดับ ณ ที่นั้น เพราะความดับแห่งวิญญาณ ความว่า ธรรมเหล่าใด คือ นามและรูป พึงเกิดขึ้นในสงสารมีส่วนเบื้องหน้าและที่สุดอันรู้ไม่ได้ เว้นภพ ๗ ธรรมเหล่านั้นย่อมดับ คือ ย่อมสงบ ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ระงับไป ณ ที่นั้น เพราะความดับแห่งวิญญาณอันสัมปยุตด้วยอภิสังขารธรรม ด้วยโสดาปัตติมรรคญาณ.

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 27

ธรรมเหล่าใด คือ นามและรูป พึงเกิดขึ้นในภพ ๕ เว้นภพ ๒ ธรรมเหล่านั้น ย่อมดับ คือ ย่อมสงบ ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ระงับไป ณ ที่นั้น เพราะความดับแห่งวิญญาณอันสัมปยุตด้วยอภิสังขารธรรม ด้วยสกทาคามิมรรคญาณ.

ธรรมเหล่าใด คือ นามและรูป พึงเกิดขึ้นในกามธาตุ รูปธาตุ หรืออรูปธาตุ เว้นภพ ๑ ธรรมเหล่านั้นย่อมดับ คือ ย่อมสงบ ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ระงับไป ณ ที่นั้น เพราะความดับแห่งวิญญาณอันสัมปยุตด้วยอภิสังขารธรรม ด้วยอนาคามิมรรคญาณ.

ธรรมเหล่าใด คือ นามและรูป พึงเกิดขึ้น ธรรมเหล่านั้นย่อมดับ คือ ย่อมสงบ ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ระงับไป ณ ที่นั้น เพราะความดับแห่งวิญญาณอันสัมปยุตด้วยอภิสังขารธรรม ด้วยอรหัตตมรรคญาณ เมื่อพระอรหันต์ปรินิพพาน ด้วยปรินิพพานธาตุอันเป็นอนุปาทิเสส ธรรมเหล่านี้ คือ ปัญญา สติและนามรูป ย่อมดับ คือ ย่อมสงบ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ย่อมระงับไป ณ ที่นั้น เพราะความดับแห่งวิญญาณดวงสุดท้าย (๑) เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นามรูปนั้นย่อมดับ ณ ที่นั้น เพราะความดับแห่งวิญญาณ.

เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า

ดูก่อนอชิตะ ท่านได้ถามปัญหาข้อใดแล้ว เราจะแก้ปัญหาข้อนั้นแก่ท่าน นามและรูปดับไม่มีส่วนเหลือ ณ ที่ใด นามรูปนั้นก็ดับ ณ ที่นั้น เพราะความดับแห่งวิญญาณ.


(๑) บาลีไทยเป็นปุริมวิญฺญาณสฺส วิญญาณดวงก่อน อรรถกถาเป็นจริมวิญฺญาณสฺส ได้แก่ วิญญาณดวงสุดท้าย แปลตามอรรถกถา เพราะตรงตามสภาวะ.

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 28

[๙๐] (ท่านอชิตะทูลถามว่า)

พระอรหันตขีณาสพเหล่าใดผู้มีสังขาตธรรม และพระเสขบุคคลเหล่าใดในที่นี้มีมาก ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอพระองค์ผู้มีปัญญา ได้โปรดตรัสบอกความดำเนินของพระขีณาสพและเสขบุคคลเหล่านั้นแก่ข้าพระองค์เถิด.

[๙๑] คำว่า "เย จ สงฺขาตธมฺมา เส" ความว่า พระอรหันตขีณาสพ ท่านกล่าวว่ามีสังขาตธรรม เพราะเหตุไร พระอรหันตขีณาสพ ท่านจึงกล่าวว่า มีสังขาตธรรม เพราะเหตุว่า พระอรหันตขีณาสพเหล่านั้นมีธรรมอันนับแล้ว คือ มีธรรมอันรู้แล้ว มีธรรมอันพินิจแล้ว มีธรรมอันพิจารณาแล้ว มีธรรมอันเป็นแจ้งแล้ว มีธรรมอันแจ่มแจ้งแล้ว คือ มีธรรมอันนับแล้วว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง... สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์... ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา... เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา.

อนึ่ง ขันธ์ ธาตุ อายตนะ คติ อุปบัติ ปฏิสนธิ ภพ สงสาร วัฏฏะ อันพระอรหันตขีณาสพเหล่านั้นนับพร้อมแล้ว อนึ่ง พระอรหันตขีณาสพเหล่านั้น ตั้งอยู่แล้วในที่สุดแห่งขันธ์ ในที่สุดแห่งธาตุ ในที่สุดแห่งอายตนะ ในที่สุดแห่งคติ ในที่สุดแห่งอุปบัติ ในที่สุดแห่งปฏิสนธิ ในที่สุดแห่งภพ ในที่สุดแห่งสงสาร ในที่สุดแห่งวัฏฏะ ตั้งอยู่ในภพอันมีในที่สุด ตั้งอยู่ในอัตภาพอันมีในที่สุด เป็นพระอรหันต์ผู้ทรงไว้ซึ่งกายอันมีในที่สุด.

 
  ข้อความที่ 21  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 29

ภพและอัตภาพ คือความเกิด ความตาย และสงสารนี้ของพระอรหันตขีณาสพเหล่านั้นมีเป็นครั้งสุดท้าย ท่านไม่มีการเกิดในภพใหม่อีก.

เหตุนั้น พระอรหันตขีณาสพ ท่านจึงกล่าวว่า มีสังขาตธรรม เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พระอรหันตขีณาสพเหล่าใด ผู้มีสังขาตธรรม.

[๙๒] คำว่า "เสกฺขา" ในอุเทศว่า "เย จ เสกฺขา ปุถู อิธ" ความว่า เพราะเหตุไร จึงเรียกว่า พระเสขะ เพราะยังต้องศึกษาต่อไป ศึกษาอะไร ศึกษาอธิศีลสิกขาบ้าง อธิจิตตสิกขาบ้าง อธิปัญญาสิกขาบ้าง.

ก็ อธิศีลสิกขาเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมในปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษ แม้มีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ศีลขันธ์แม้เล็ก ศีลขันธ์แม้ใหญ่ ศีลเป็นที่พึ่ง เป็นเครื่องกั้น เป็นความสำรวม เป็นความระวัง เป็นประมุข เป็นประธานแห่งความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย นี้ชื่อว่า อธิศีลสิกขา.

ก็ อธิจิตตสิกขาเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก วิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ บรรลุทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน นี้ชื่อว่า อธิจิตตสิกขา.

ก็ อธิปัญญาสิกขาเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาเครื่องพิจารณา เห็นความเกิดและความดับ เป็นอริยะ เป็นเครื่องชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ ภิกษุย่อมรู้ชัดตาม

 
  ข้อความที่ 22  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 30

ความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ นี้เหตุให้เกิดอาสวะ นี้ความดับอาสวะ นี้ปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับอาสวะ นี้ชื่อว่า อธิปัญญาสิกขา.

พระเสขะทั้งหลาย คำนึงถึงไตรสิกขานี้ศึกษาอยู่ รู้ศึกษาอยู่ อธิษฐานจิตศึกษาอยู่ น้อมใจไปด้วยศรัทธาศึกษาอยู่ ประคองความเพียรศึกษาอยู่ ตั้งสติไว้ศึกษาอยู่ ตั้งจิตศึกษาอยู่ รู้ทั่วด้วยปัญญาศึกษาอยู่ รู้ยิ่งซึ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่งศึกษาอยู่ กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ศึกษาอยู่ ละธรรมที่ควรละศึกษาอยู่ เจริญธรรมที่ควรเจริญศึกษาอยู่ ทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้งศึกษาอยู่ ประพฤติเอื้อเฟื้อ ประพฤติเต็มใจ สมาทานประพฤติไป เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่า พระเสขะ.

บทว่า ปุถู ความว่า มีมาก คือ พระเสขะเหล่านี้ ได้แก่ พระโสดาบัน ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อโสดาปัตติผล พระสกทาคามี ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อสกทาคามิผล พระอนาคามี ท่านผู้ปฏิบัติเพื่ออนาคามิผล พระอรหันต์และท่านผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัตตผล.

บทว่า อิธ ในที่นี้ คือ ในทิฏฐินี้ ในความควรนี้ ในความชอบใจนี้ ในความถือนี้ ในวินัยนี้ ในธรรมนี้ ในธรรมวินัยนี้ ในปาพจน์นี้ ในพรหมจรรย์นี้ ในสัตถุศาสน์นี้ ในอัตภาพนี้ ในมนุษยโลกนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า และพระเสขะทั้งหลายในที่นี้มีมาก.

[๙๓] อุเทศว่า "เตสํ เม นิปโก อิริยํ ปุฏฺโ ปพฺรูหิ มาริส" ความว่า แม้พระองค์ มีปัญญา เป็นบัณฑิต มีความรู้ มีความตรัสรู้ มีฌาน มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาทำลายกิเลส อันข้าพระองค์ทูลถามแล้ว คือ ไต่ถาม ทูลวิงวอน ทูลอาราธนา ทูลเชื้อเชิญ ให้ประสาทแล้ว

 
  ข้อความที่ 23  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 31

ขอจงตรัส คือ จงบอก แสดงบัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้ตื้น ประกาศซึ่งความดำเนิน คือ ความประพฤติ ความเป็นไป ความประพฤติโดยเอื้อเฟื้อ ธรรมอันเป็นโคจร ธรรมเป็นเครื่องอยู่ ข้อปฏิบัติของพระอรหันตขีณาสพผู้มีสังขาตธรรมและพระเสขะเหล่านั้น.

บทว่า มาริส นี้ เป็นเครื่องกล่าวด้วยความรัก เป็นเครื่องกล่าวโดยเคารพ เป็นเครื่องกล่าวเป็นไปกับด้วยความเคารพและความยำเกรง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอพระองค์ผู้มีปัญญาจงตรัสบอกถึงความดำเนินของพระอรหันตขีณาสพ และพระเสขะเหล่านั้นแก่ข้าพระองค์เถิด.

เพราะเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกล่าวว่า

พระอรหันตขีณาสพเหล่าใดผู้มีสังขาตธรรม และพระเสขบุคคลเหล่าใดในที่นี้มีมาก ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอพระองค์ผู้มีปัญญา จงตรัสบอกความดำเนินของพระอรหันตขีณาสพ และพระเสขบุคคลเหล่านั้นแก่ข้าพระองค์เถิด.

[๙๔] (พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า)

ดูก่อนอชิตะ ภิกษุไม่พึงติดใจในกามทั้งหลาย มีใจไม่ขุ่นมัว ฉลาดในธรรมทั้งปวง พึงมีสติเว้นรอบ.

[๙๕] โดยอุทานว่า กามา ในอุเทศว่า "กาเมสุ นาภิคิชฺเฌยฺย" ดังนี้ กามมี ๒ อย่าง คือ วัตถุกาม ๑ กิเลสกาม ๑.

 
  ข้อความที่ 24  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 32

วัตถุถามเป็นไฉน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าพอใจ เครื่องลาด เครื่องนุ่งห่ม ทาสี ทาส แพะ แกะ สุกร ช้าง โค ม้า ลา นา ที่ดิน เงิน ทอง บ้าน นิคม ราชธานี แว่นแคว้น ชนบท ฉางข้าว เรือนคลัง วัตถุอันชวนให้กำหนัดอย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่า วัตถุกาม.

อีกอย่างหนึ่ง กามส่วนอดีต กามส่วนอนาคต กามส่วนปัจจุบัน กามภายใน กามภายนอก กามทั้งภายในภายนอก กามเลว กามปานกลาง กามประณีต กามมีในอบาย กามมีในมนุษย์ กามอันเป็นทิพย์ กามที่ปรากฏ กามที่นิรมิตเอง กามที่ผู้อื่นนิรมิต กามที่หวงแหน กามที่ไม่หวงแหน กามที่ถือว่าของเรา กามที่ไม่ถือว่าของเรา กามาวจรธรรมทั้งปวง รูปาวจรธรรมทั้งปวง อรูปาวจรธรรมแม้ทั้งปวง ธรรมอันเป็นวัตถุแห่งตัณหา ธรรมอันเป็นอารมณ์แห่งตัณหา ชื่อว่า กาม เพราะอรรถว่า เป็นที่ตั้งแห่งความใคร่ เพราะอรรถว่า เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เพราะอรรถว่า เป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม.

กิเลสกามเป็นไฉน ฉันทะ ราคะ ฉันทราคะ สังกัปปะ ราคะ สังกัปปราคะ เป็นกาม ความพอใจในกาม ความกำหนัดในกาม ความเพลิดเพลินในกาม ตัณหาในกาม เสน่หาในกาม ความกระหายในกาม ความเร่าร้อนในกาม ความติดใจในกาม ความหลงในกาม ความพัวพันในกาม ในกามทั้งหลาย กามโอฆะ กามโยคะ กามุปาทาน กามฉันทนิวรณ์ ดูก่อนกาม เราได้เห็นรากเหง้าของเจ้าแล้ว.

ดูก่อนกาม เจ้าเกิดเพราะความดำริถึง เราจักไม่ดำริถึงเจ้าละ ดูก่อนกาม เจ้าจักไม่มีด้วยอาการอย่างนี้.

 
  ข้อความที่ 25  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 33

เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม. ตัณหา ราคะ สาราคะ ฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล เรียกว่า ความติดใจ.

คำว่า ไม่ติดใจในกามทั้งหลาย ความว่า ไม่ติดใจ คือ ไม่พัวพัน เป็นผู้ไม่ติดใจ ไม่ถึงความติดใจ ไม่หลงใหล ไม่พัวพัน ปราศจากความติดใจ สละความติดใจ คายความติดใจ ปล่อยความติดใจ ละความติดใจ สลัดความติดใจ ปราศจากความกำหนัด สละความกำหนัด คายความกำหนัด ปล่อยความกำหนัด ละความกำหนัด สลัดความกำหนัดในกิเลสกามทั้งหลาย ในวัตถุกามทั้งหลาย เป็นผู้ไม่หิว ดับสนิท เย็นแล้ว เป็นผู้เสวยสุข มีตนอันประเสริฐอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่ติดใจในกามทั้งหลาย.

[๙๖] จิต มนะ มานัส หทัย ธรรมชาติขาวผ่อง อายตนะ คือใจ อินทรีย์คือใจ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุ ชื่อว่า ใจ ในอุเทศว่า "มนสานาวิโล สิยา" จิตเป็นธรรมชาติขุ่นมัว ยุ่งไป เป็นไป สืบต่อ หวั่นไหว หมุนไป ไม่สงบ เพราะกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ราคะ โทสะ โมหะ โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปลาสะ อิสสา มัจฉริยะ มายา สาเถยยะ ถัมภะ สารัมภะ มานะ อติมานะ มทะ ปมาทะ จิตเป็นธรรมชาติขุ่นมัว ยุ่งไป เป็นไป สืบต่อไป หวั่นไหว หมุนไป ไม่สงบ เพราะกิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง ความกระวนกระวายทั้งปวง ความเร่าร้อนทั้งปวง ความเดือดร้อนทั้งปวง อกุสลาภิสังขารทั้งปวง.

คำว่า พึงเป็นผู้มีใจไม่ขุ่นมัว ความว่า พึงเป็นผู้ไม่ขุ่นมัว คือไม่ยุ่งไป ไม่เป็นไป ไม่สืบต่อไป ไม่หวั่นไหว ไม่หมุนไป สงบแล้วด้วยจิต

 
  ข้อความที่ 26  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 34

คือพึงละ สละ บรรเทา กระทำให้มีในที่สุด ให้ถึงความไม่มีซึ่งกิเลสทั้งหลาย อันทำความขุ่นมัว พึงเป็นผู้งด เว้น เว้นขาด ออกไป สลัด สงบ ระงับ หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับกิเลสทั้งหลาย อันทำความขุ่นมัว พึงเป็นผู้มีใจปราศจากเขตแดนอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงเป็นผู้มีใจไม่ขุ่นมัวอยู่.

[๙๗] คำว่า กุสโล สพฺพธมฺมานํ ความว่า เป็นผู้ฉลาดในธรรมทั้งปวงว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง... สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์... ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา... เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา พึงเป็นผู้ฉลาดในธรรมทั้งปวงแม้ด้วยอาการอย่างนี้.

อีกอย่างหนึ่ง พึงเป็นผู้ฉลาดในธรรมทั้งปวง โดยเป็นสภาพที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังฝี เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก เป็นอาพาธ เป็นอย่างอื่น เป็นสภาพชำรุด เป็นเสนียด เป็นอุบาทว์ เป็นสภาพไม่สำราญ เป็นภัย เป็นอุปสรรค หวั่นไหว ผุพัง ไม่ยั่งยืน ไม่มีอะไรต้านทาน ไม่มีที่เร้น ไม่มีสรณะ ไม่เป็นที่พึ่ง ว่าง เปล่า สูญ เป็นอนัตตา มีโทษ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ไม่เป็นแก่นสาร เป็นมูลแห่งทุกข์ เป็นผู้ฆ่า เป็นสภาพปราศจากความเจริญ มีอาสวะ มีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นเหยื่อแห่งมาร มีชาติเป็นธรรมดา มีชราเป็นธรรมดา มีพยาธิเป็นธรรมดา มีมรณะเป็นธรรมดา มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสเป็นธรรมดา มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา โดยความเกิด โดยความดับ ไม่มีคุณ มีโทษ ไม่มีอุบายเป็นเครื่องออกไป พึงเป็นผู้ฉลาดในธรรมทั้งปวงแม้ด้วยอาการอย่างนี้.

 
  ข้อความที่ 27  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 35

อีกอย่างหนึ่ง พึงเป็นผู้ฉลาดในขันธ์... ธาตุ... อายตนะ... ปฎิจจสมุปบาท... สติปีฏฐาน... สัมมัปปธาน... อิทธิบาท... อินทรีย์... พละ... โพชฌงค์... มรรค... ผล... นิพพาน พึงเป็นผู้ฉลาดในธรรมทั้งปวงแม้ด้วยอาการอย่างนี้.

อีกอย่างหนึ่ง อายตนะ ๑๒ คือ จักษุ รูป หู เสียง จมูก กลิ่น ลิ้น รส กาย โผฏฐัพพะ ใจ ธรรมารมณ์ เรียกว่า ธรรมทั้งปวง.

ก็ภิกษุเป็นผู้ละความกำหนัดในอายตนะภายในภายนอก คือ ตัดรากขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งเหมือนตาลยอดด้วน ถึงความไม่มีในภายหลัง มีความไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา ด้วยเหตุใด ภิกษุพึงเป็นผู้ฉลาดในธรรมทั้งปวง แม้ด้วยเหตุประมาณเท่านี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ฉลาดในธรรมทั้งปวง.

[๙๘] บทว่า สโต ในอุเทศว่า "สโต ภิกขุ ปริพฺพเช" ความว่า ภิกษุมีสติด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ มีสติเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานในกาย ๑ มีสติเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานในเวทนาทั้งหลาย ๑ มีสติเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานในจิต ๑ มีสติเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานในธรรมทั้งหลาย ๑.

ภิกษุมีสติด้วยเหตุ ๔ ประการแม้อื่นอีก คือ มีสติเพราะเว้นความเป็นผู้ไม่มีสติ ๑ เพราะทำธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความทำสติ ๑ เพราะละธรรมเป็นข้าศึกแก่สติ ๑ เพราะไม่หลงลืมธรรมอันเป็นนิมิตแห่งสติ ๑.

ภิกษุมีสติด้วยเหตุ ๔ ประการแม้อื่นอีก คือ มีสติเพราะความเป็นผู้ประกอบด้วยสติ ๑ เพราะถึงความชำนาญด้วยสติ ๑ เพราะความเป็นผู้คล่องแคล่วด้วยสติ ๑ เพราะไม่กลับปลงจากสติ ๑.

 
  ข้อความที่ 28  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 36

ภิกษุมีสติด้วยเหตุ ๔ ประการแม้อื่นอีก คือ มีสติเพราะความเป็นผู้มีสติเสมอ ๑ เพราะความเป็นผู้สงบ ๑ เพราะความเป็นผู้ระงับ ๑ เพราะความเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของผู้สงบ ๑.

มีสติเพราะพุทธานุสสติ เพราะธัมมานุสสติ เพราะสังฆานุสสติ เพราะสีลานุสสติ เพราะจาคานุสสติ เพราะเทวตานุสสติ เพราะอานาปานัสสติ เพราะมรณานุสสติ เพราะกายคตาสติ เพราะอุปสมานุสสติ สติ ฯลฯ สัมมาสติ สติสัมโพชฌงค์ เอกายนมรรค นี้เรียกว่า สติ ภิกษุเป็นผู้เข้าไป เข้าไปพร้อม เข้ามา เข้ามาพร้อม เข้าถึง เข้าถึงพร้อม ประกอบด้วยสตินี้ ภิกษุนั้นเรียกว่า มีสติ.

คำว่า "ภิกขุ" คือ ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ทำลายธรรม ๗ ประการ คือ เป็นผู้ทำลายสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ภิกษุนั้นเป็นผู้ทำลายอกุศลธรรมอันลามก อันทำให้เศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา และมรณะต่อไป.

(พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อน (๑) สภิยะ)

ภิกษุนั้นบรรลุถึงปรินิพพานแล้ว เพราะธรรมเป็นหนทางที่ตนทำ (ดำเนิน) แล้ว ข้ามพ้นความสงสัยได้แล้ว ละแล้วซึ่งความเสื่อมและความเจริญ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีภพใหม่สิ้นแล้ว.

คำว่า ภิกษุพึงมีสติเว้นรอบ ความว่า ภิกษุพึงมีสติเว้นรอบ คือ พึงมีสติเดิน พึงมีสติยืน พึงมีสตินั่ง พึงมีสตินอน พึงมีสติก้าวไปข้างหน้า


(๑) ขุ. สุ. ๒๕/ข้อ ๓๖๖.

 
  ข้อความที่ 29  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 37

พึงมีสติถอยกลับ พึงมีสติแลดู พึงมีสติเหลียวดู พึงมีสติคู้เข้า พึงมีสติเหยียดออก พึงมีสติทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร พึงมีสติเที่ยวไป พึงมีสติอยู่ คือ เป็นไป เปลี่ยนแปลง รักษา บำรุง เยียวยา ให้เยียวยา เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุพึงมีสติเว้นรอบ.

เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า

ภิกษุไม่พึงติดใจในกามทั้งหลาย มีใจไม่ขุ่นมัว ฉลาดในธรรมทั้งปวง พึงมีสติเว้นรอบ.

[๙๙] พร้อมด้วยเวลาจบพระคาถา ธรรมจักษุ (โสดาปัตติมรรค) ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแล้วแก่เทวดาและมนุษย์หลายพัน ผู้มีฉันทะร่วมกัน มีประโยคร่วมกัน มีความประสงค์ร่วมกัน มีความอบรมวาสนาร่วมกัน กับอชิตพราหมณ์นั้นว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา และจิตของอชิตพราหมณ์นั้น พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น หนังเสือ ชฎา ผ้าคากรอง ไม้เท้า ลักจั่น น้ำ ผม และหนวดของอชิตพราหมณ์หายไปแล้ว พร้อมด้วยการบรรลุอรหัต. อชิตพราหมณ์นั้น เป็นภิกษุครองผ้ากาสายะเป็นบริขาร ทรงสังฆาฏิ บาตร และจีวร เพราะการปฏิบัติตามประโยชน์ นั่งประนมอัญชลีนมัสการพระผู้มีพระภาคเจ้า ประกาศว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก ดังนี้.

จบอชิตมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๑

 
  ข้อความที่ 30  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 38

สัทธัมมปัชโชติกา

อรรถกถาขุททกนิกาย จูฬนิทเทส

อรรถกถาปารายนวรรค

อรรถกถาอชิตมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๑

พึงทราบวินิจฉัยในอชิตสุตตนิทเทส (๑) ที่ ๑ แห่งปารายนวรรค ดังต่อไปนี้.

อชิตมาณพได้ทูลถามปัญหาว่า

โลกอันอะไรหุ้มห่อไว้ โลกไม่ปรากฏ เพราะเหตุอะไร อะไรเล่าเป็นเครื่องฉาบทาโลกนั้น ขอพระองค์จงตรัสบอก อะไรเล่าเป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น.

เราจะเว้นบทที่กล่าวแล้วในปัญหาที่ ๑ ที่อชิตมาณพทูลถามในปัญหาที่สูงขึ้นไป และในนิทเทสทั้งหลาย และบทที่ง่าย จักกล่าวเฉพาะความต่างกันเท่านั้น.

ในบทเหล่านั้นบทว่า นิวุโต คือ หุ้มห่อไว้.

บทว่า กิสฺสาภิเลปนํ พฺรูสิ คือ อะไรเล่าเป็นเครื่องฉาบทาโลก ขอพระองค์จงตรัสบอก.

บทว่า อาวุโต คือ ปกปิด.

บทว่า โอผุโฏ ปิดบัง คือ ปิดเบื้องล่าง.

บทว่า ปิหิโต ปกคลุม คือ คลุมส่วนบน.

บทว่า ปฏิจฺฉนฺโน หุ้มห่อ คือ ไม่


(๑) ในปารายนวรรคนี้ อรรถกถาใช้คำว่า สุตตนิทเทส แทนปัญหานิทเทสทั้ง ๑๖ ปัญหา เพราะอธิบายพระสูตรในสุตตนิบาต ขุ. สุ. ๒๕/ข้อ ๔๒๕ - ๔๔๓.

 
  ข้อความที่ 31  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 39

เปิดออก.

บทว่า ปฏิกุชฺชิโต ครอบไว้ คือ ครอบให้มีหน้าคว่ำลง.

บทว่า นปฺปกาสติ คือ ไม่ปรากฏ.

บทว่า นปฺปภาสติ ไม่สว่าง คือ ไม่ทำความสว่างด้วยญาณ.

บทว่า น ตปติ ไม่รุ่งเรือง คือ ไม่ทำความรุ่งเรืองด้วยญาณ.

บทว่า น วิโรจติ ไม่ไพโรจน์ คือ ไม่ทำความไพโรจน์ด้วยญาณ.

บทว่า น สญฺายติ คือ ไม่แจ่ม.

บทว่า น ปญฺายติ คือ ไม่กระจ่าง.

บทว่า เกน ลิตฺโต คือ อะไรเล่าเป็นเครื่องฉาบทา. เพิ่มอุปสรรคเป็น ปลิตฺโต อุปลิตฺโต คือ ฉาบทาทั่ว เข้าไปฉาบทา.

พึงเห็นความอย่างนี้ว่า ขอพระองค์จงตรัสบอกด้วยอุเทศ (ยกหัวข้อขึ้นแสดง) จงทรงแสดงด้วยนิเทศ (การจำแนกแสดง) ทรงบัญญัติด้วยปฏินิเทศ (การรวมแสดง) เมื่อรู้อรรถโดยประการนั้นๆ จงทรงแต่งตั้ง เมื่อแสดงเหตุแห่งมรรคนั้นๆ จงทรงเปิดเผย เมื่อแสดงความเป็นพยัญชนะ จงทรงจำแนก เมื่อนำออกเสียได้ซึ่งความครอบไว้และความลึกซึ้งแล้ว ให้เกิดที่ตั้งของญาณทางหู จงทรงทำให้ตื้น เมื่อกำจัดความมืดคือความไม่รู้ทางหูด้วยอาการเหล่านั้นแม้ทั้งหมด จงทรงประกาศดังนี้.

บทว่า เววิจฺฉา นปฺปกาสติ โลกไม่ปรากฏเพราะความตระหนี่ คือ ไม่ปรากฏเพราะความตระหนี่เป็นเหตุ และเพราะความประมาทเป็นเหตุ.

จริงอยู่ ความตระหนี่ ย่อมไม่ให้เพื่อประกาศคุณทั้งหลาย มีทานเป็นต้นแก่เขา และความประมาทมัวเมาย่อมไม่ให้เพื่อประกาศคุณทั้งหลาย มีศีลเป็นต้น.

บทว่า ชปฺปาภิเลปนํ ตัณหาเป็นเครื่องฉาบทาโลกนั้นไว้ดุจตังดักลิง เป็นเครื่องฉาบทาของลิงฉะนั้น.

บทว่า ทุกฺขํ ได้แก่ ทุกข์ มีชาติเป็นต้น.

บทว่า เยสํ ธมฺมานํ ได้แก่ ธรรม มีรูปเป็นต้นเหล่าใด.

บทว่า อาทิโต สมุทาคมนํ ปญฺายติ คือ ความเกิดขึ้นย่อมปรากฏ

 
  ข้อความที่ 32  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 40

ตั้งแต่ขณะแรก (อุปาทขณะ).

บทว่า อตฺถงฺคมโต นิโรโธ คือ เมื่อแตกดับ ความดับย่อมปรากฏ.

บทว่า กมฺมนิสฺสิโต วิปาโก วิบากอาศัยกรรม คือ กุศลวิบากและอกุศลวิบาก ท่านเรียกว่า วิบากอาศัยกรรม เพราะไม่ละกรรมเป็นไป.

บทว่า วิปากนิสฺสิตํ กมฺมํ กรรมอาศัยวิบาก คือ กุศลกรรมและอกุศลกรรม ท่านเรียกว่า กรรมอาศัยวิบาก เพราะกระทำโอกาสแก่วิบากตั้งอยู่.

บทว่า นามนิสฺสิตํ รูปํ รูปอาศัยนาม คือ รูปในปัญจโวการภพ (ภพที่มีขันธ์ ๕) ท่านเรียกว่า รูปอาศัยนาม เพราะไม่ละนามเป็นไป.

บทว่า รูปนิสฺสิตํ นามํ นามอาศัยรูป คือ นามในปัญจโวการภพ ท่านเรียกว่า นามอาศัยรูป เพราะไม่ละรูปเป็นไป.

บทว่า สวนฺติ สพฺพธิ โสตา กระแสทั้งหลายย่อมไหลไปในอายตนะทั้งปวง คือกระแสทั้งหลาย มีตัณหาเป็นต้น ย่อมไหลไปในอายตนะ มีรูปเป็นต้นทั้งปวง.

บทว่า โสตานํ กิํ นิวารณํ คือ อะไรเป็นเครื่องกั้น อะไรเป็นเครื่องรักษากระแสเหล่านั้น.

บทว่า สํวรํ พฺรูหิ ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลายเหล่านั้น.

อชิตมาณพทูลถามถึงการละธรรมที่เป็นเครื่องกั้นกระแสที่เหลือด้วยบทนี้.

บทว่า เกน โสตา ปิถิยฺยเร กระแสทั้งหลายอันอะไรปิดกั้นไว้ คือ กระแสเหล่านั้นอันธรรมอะไรปิดกั้นไว้ คือ ตัดขาด.

ด้วยบทนี้ อชิตมาณพทูลถามถึงการละกระแสที่ไม่เหลือ.

บทว่า สวนฺติ ย่อมไหลไป คือ ย่อมเกิดขึ้น.

บทว่า อาสวนฺติ ย่อมไหลหลั่ง คือ ไหลลงเบื้องต่ำ.

บทว่า สนฺทนฺติ ย่อมเลื่อนไป คือ ไหลไปไม่มีสิ้นสุด.

บทว่า ปวตฺตนฺติ ย่อมเป็นไป คือ เป็นไปบ่อยๆ.

บทว่า สติ เตสํ นิวารณํ สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้น คือ

 
  ข้อความที่ 33  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 41

สติอาศัยเสมอๆ ซึ่งคติแห่งกุศลธรรมและอกุศลธรรมทั้งหลายอันประกอบด้วยวิปัสสนา เป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้น.

บทว่า โสตานํ สํวรํ พฺรูมิ เรากล่าวธรรมเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย อธิบายว่า เรากล่าวสตินั่นแลว่าเป็นธรรมเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย.

บทว่า ปญฺาเยเต ปิถิยฺยเร กระแสเหล่านี้อันปัญญาย่อมปิดกั้นไว้ คือ กระแสเหล่านี้อันมรรคปัญญา ที่สำเร็จด้วยการแทงตลอดความเป็นของไม่เที่ยงในรูปเป็นต้น ปิดกั้นไว้ โดยประการทั้งปวง.

บทว่า ปจฺฉิชฺชนฺติ คือ ตัดขาด.

บทว่า สมุทยญฺจ ความเกิด คือ ปัจจัย.

บทว่า อตฺถงฺคมญฺจ ความดับ คือ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ถึงความไม่มี หรือเมื่อยังไม่เกิดขึ้น ก็ไม่เกิด.

บทว่า อสฺสาทํ ความพอใจ คือ อานิสงส์.

บทว่า อาทีนวญฺจ คือ โทษ.

บทว่า นิสฺสรณญฺจ คือ อุบายเป็นเครื่องออกไป.

พึงทราบความแห่งคาถาที่เป็นปัญหาว่า ปญฺาเจว ดังนี้เป็นต้นต่อไป.

พึงทราบความสังเขปอย่างนี้ว่า ปัญญา สติ และนามรูป ตามที่พระองค์ตรัสไว้แล้วทั้งหมดนั้น ย่อมดับไป ณ ที่ไหน. ขอพระองค์จงตรัสบอกปัญหาที่ข้าพระองค์ทูลถามเถิด.

บทว่า กตฺเถตํ นิรุชฺฌติ คือ นามรูปนั้นดับ ณ ที่ไหน.

บทว่า วูปสมติ คือ ย่อมดับ.

บทว่า อตฺถงฺคจฺฉติ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ คือ ถึงความไม่มี.

บทว่า ปฏิปสฺสมฺภติ ย่อมระงับ คือ ย่อมสงบ.

อนึ่ง พึงทราบคาถาวิสัชนาปัญหาของอชิตมาณพนั้นต่อไป. เพราะปัญญาและสติสงเคราะห์เข้าเป็นนามเท่านั้น ฉะนั้น จะไม่กล่าวถึงปัญญาและสติไว้ต่างหาก.

ความย่อในบทวิสัชนานี้มีดังนี้.

ดูก่อนอชิตะ ท่านได้ถามปัญหาข้อใดกะเราว่า นามรูปนั้นย่อมดับ ณ ที่ไหน เพราะเหตุนั้น

 
  ข้อความที่ 34  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 42

เราจะบอกปัญหานั้นกะท่านว่า นามและรูปใดดับไม่มีส่วนเหลือ ณ ที่ใด นามและรูปนั้นก็ดับ ณ ที่นั้นพร้อมกับความดับแห่งวิญญาณนั้นๆ นั่นเอง ไม่ก่อนไม่หลัง คือย่อมดับในเพราะวิญญาณดับนี้เอง เพราะวิญญาณดับในภายหลังอย่างนี้ นามและรูปนั้นจึงเป็นอันดับไปด้วย. ท่านอธิบายว่า นามและรูปนั้นไม่เลยไป.

บทว่า โสตาปตฺติมคฺคาเณน อภิสงฺขารวิญฺาณสฺส นิโรเธน เพราะความดับแห่งวิญญาณอันสัมปยุตด้วยอภิสังขารด้วยโสดาปัตติมรรคญาณ คือ เพราะความดับจิตที่สัมปยุตด้วยกุศลและอกุศลเจตนา ด้วยอำนาจการเกิดขึ้นอันไม่สมควรเสียได้ ด้วยปัญญาอันสัมปยุตด้วยโสดาปัตติมรรค.

ในบทนั้น นิโรธ มี ๒ อย่าง คือ อนุปาทินนกนิโรธ ๑ อุปาทินนกนิโรธ ๑

จิต ๕ ดวง คือจิตที่สัมปยุตด้วยทิฏฐิ ๔ ดวง จิตที่สหรคตด้วยวิจิกิจฉา ๑ ดวง ย่อมดับไปด้วย โสดาปัตติมรรค. จิตเหล่านั้นให้รูปเกิดขึ้น. รูปนั้นเป็นรูปขันธ์ที่ไม่มีใจครอง. จิตเหล่านั้นเป็นวิญญาณขันธ์. เวทนา สัญญา สังขาร ที่สัมปยุตกับวิญญาณขันธ์นั้นเป็นอรูปขันธ์ ๓. ในอรูปขันธ์นั้น หากพระโสดาบันไม่ได้อบรมโสดาปัตติมรรคแล้วไซร้ จิต ๕ ดวงเหล่านั้นพึงถึงความแผ่ซ่านไปในอารมณ์ ๖. แต่โสดาปัตติมรรคห้ามความเกิดแห่งความแผ่ซ่านไปของจิตเหล่านั้น กระทำการเพิกถอนซึ่งความเกิดอันไม่สมควรเสีย ด้วยอริยมรรค ชื่อว่า อนุปาทินนกนิโรธ ดับอนุปาทินนกะ.

จิต ๖ ดวง ด้วยอำนาจแห่งกามราคะและพยาบาทอันหยาบ คือจิต

 
  ข้อความที่ 35  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 43

๔ ดวงที่ไม่ประกอบด้วยทิฏฐิ จิต ๒ ดวงที่สหรคตด้วยโทมนัส ย่อมดับด้วยสกทาคามิมรรค.

จิต ๖ ดวงเหล่านั้น ด้วยอำนาจแห่งกามราคะและพยาบาทที่สหรคตด้วยส่วนที่ละเอียด (อณุสหคต) ย่อมดับด้วย อนาคามิมรรค.

อกุศลจิต ๕ ดวง คือจิต ๔ ดวงที่ไม่ประกอบด้วยทิฏฐิ และจิต ๑ ดวงที่สหรคตด้วยอุทธัจจะ ย่อมดับด้วย อรหัตตมรรค.

ในจิตเหล่านั้น หากว่าพระอริยะเหล่านั้นไม่อบรมมรรคเหล่านั้นแล้วไซร้ จิตเหล่านั้นพึงถึงความแผ่ซ่านไปในอารมณ์ ๖. อนึ่ง มรรคของพระอริยะเหล่านั้น ห้ามความเกิดแห่งความแผ่ซ่านไป กระทำการถอนเสียซึ่งความที่จิตเหล่านั้นไม่ควรจะเกิดขึ้นด้วยอริยมรรค ชื่อว่า อนุปาทินนกนิโรธ ดับอนุปาทินนกะ. พึงทราบความดับอนุปาทินนกะอย่างนี้.

ก็หากว่าพระโสดาบันไม่ได้เป็นผู้อบรมโสดาปัตติมรรค ความเป็นไปแห่งอุปาทินนกขันธ์พึงเป็นไปได้ในสังสารวัฏฏ์ มีเบื้องต้นเบื้องปลายอันบุคคลตามไปอยู่รู้ไม่ได้ เว้นภพ ๗ เพราะเหตุไร. เพราะมีเหตุแห่งความเป็นไปของโสดาปัตติมรรคนั้น. ก็มรรคนั้นเมื่อเกิดขึ้นย่อมถอนกิเลส ๕ อย่างเหล่านี้ได้ คือสังโยชน์ ๓ ทิฏฐานุสัย ๑ วิจิกิจฉานุสัย ๑. ความเป็นไปแห่งอุปาทินนกะของพระโสดาบัน จักเป็นไปในสังสารวัฏฏ์มีเบื้องต้นเบื้องปลาย อันบุคคลตามไปอยู่รู้ไม่ได้ เว้นภพ ๗ ได้แต่ไหนในบัดนี้. โสดาปัตติมรรคเมื่อกระทำอุปาทินนกะให้เป็นไปไม่ได้อย่างนี้ ชื่อว่า อุปาทินนกนิโรธ ดับอุปาทินนกะ.

หากว่า พระสกทาคามีไม่ได้เป็นผู้อบรมสกทาคามิมรรค ความเป็น

 
  ข้อความที่ 36  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 44

ไปแห่งอุปาทินนกะพึงเป็นไปได้ในภพ ๕ เว้นภพ ๒. เพราะเหตุไร. เพราะมีเหตุแห่งความเป็นไปของสกทาคามิมรรคนั้น. มรรคนั้นเมื่อเกิด ย่อมถอนกิเลส ๔ เหล่านี้ได้ คือกามราคสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์อย่างหยาบ กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัยอย่างหยาบ. ความเป็นไปแห่งอุปาทินนกะของพระสกทาคามีจักเป็นไปในภพ ๕ เว้นภพ ๒ ได้แต่ไหนในบัดนี้. สกทาคามิมรรคเมื่อกระทำอุปาทินนกะให้เป็นไปไม่ได้อย่างนี้ ชื่อว่า อุปาทินนกนิโรธ ดับอุปาทินนกะ.

หากว่า พระอนาคามีไม่ได้เป็นผู้อบรมอนาคามิมรรค ความเป็นไปแห่งอุปาทินนกะพึงเป็นไปในภพที่ ๒ เว้นภพที่ ๑. เพราะเหตุไร. เพราะมีเหตุแห่งความเป็นไปของอนาคามิมรรคนั้น. ก็มรรคนั้นเมื่อเกิดขึ้นย่อมถอนกิเลส ๔ อย่างเหล่านี้ได้ คือกามราคสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์อันสหรคตด้วยส่วนละเอียด กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัยอันสหรคตด้วยส่วนละเอียด ความเป็นไปแห่งอุปาทินนกะของพระอนาคามี จักเป็นไปในภพที่ ๒ เว้นภพที่ ๑ ได้แต่ไหนในบัดนี้ อนาคามิมรรคเมื่อกระทำให้อุปาทินนกะเป็นไปไม่ได้อย่างนี้ ชื่อว่า อุปาทินนกนิโรธ ดับอุปาทินนกะ.

หากว่า พระอรหันต์ไม่ได้อบรมอรหัตตมรรค ความเป็นไปแห่งอุปาทินนกะพึงเป็นไปในรูปภพและอรูปภพได้. เพราะเหตุไร. เพราะมีเหตุแห่งความเป็นไปของอรหัตตมรรคนั้น. อนึ่ง มรรคนั้นเมื่อเกิดย่อมถอนกิเลส ๘ อย่างเหล่านี้ได้ คือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา มานานุสัย ภวราคานุสัย อวิชชานุสัย. ความเป็นไปแห่งอุปาทินนกะของพระขีณาสพ จักเป็นไปในภพใหม่ได้แต่ไหนในบัดนี้. อรหัต-

 
  ข้อความที่ 37  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 45

มรรคเมื่อกระทำอุปาทินนกะไม่ให้เป็นไปได้อย่างนี้ ชื่อว่า อุปาทินนกนิโรธ ดับอุปาทินนกะ.

อนึ่ง อาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า โสดาปัตติมรรคย่อมดับอบายภพ. สกทาคามิมรรคย่อมดับได้ส่วนหนึ่งของสุคติกามภพ. อนาคามิมรรคย่อมดับกามภพได้. อรหัตตมรรคย่อมดับรูปภพอรูปภพ แม้ในภพทั้งปวงได้. พึงทราบอุปาทินนกนิโรธ การดับอุปาทินนกะด้วยประการฉะนี้.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงการดับอนุปาทินนกะด้วยบทนี้ว่า อภิสงฺขารวิญฺาณสฺส นิโรเธน ด้วยการดับวิญญาณอันสัมปยุตด้วยอภิสังขาร.

ทรงแสดงการดับอุปาทินนกะด้วยบทนี้ว่า เย อุปฺปชฺเชยฺยุํ นามญฺจ รูปญฺจ เอตฺเถเต นิรุชฺฌนฺติ ธรรมเหล่าใด คือนามและรูปพึงเกิดขึ้น ณ ที่ใด ธรรมเหล่านั้น ย่อมดับไป ณ ที่นั้น.

ในบทเหล่านั้นบทว่า สตฺต ภเว เปตฺวา เว้นภพ ๗ คือเว้นภพ ๗ ของสัตว์ผู้ท่องเที่ยวไปสู่กามภพจากกามภพ.

บทว่า อนมตคฺเค สํสาเร ในสังสารมีเบื้องต้นเบื้องปลาย อันบุคคลไปตามอยู่รู้ไม่ได้ คือ ธรรมทั้งหลายพึงเกิดขึ้นในสังสารวัฏฏ์ที่พรรณนาไว้ว่า

ลำดับขันธ์ ธาตุ อายตนะ ทั้งหลาย อันเป็นไปไม่ขาดสาย ท่านเรียกว่า สงสาร.

บทว่า นามญฺจ รูปญฺจ ได้แก่ ธรรมเหล่านี้ คือนาม อันได้แก่ ขันธ์ ๔ มีการน้อมไปเป็นลักษณะ และรูปอันได้แก่ภูตรูปและอุปาทายรูป มีการสลายไปเป็นลักษณะ พึงเกิดขึ้น.

บทว่า เอตฺเถเต นิรุชฺฌนฺติ ธรรมเหล่านั้นย่อมดับไป ณ ที่นั้น คือธรรมอันได้แก่นามและรูปเหล่านี้ ย่อมถึงการดับไป ด้วยอำนาจการเกิดอันไม่สมควรในโสดาปัตติมรรคนี้.

 
  ข้อความที่ 38  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 46

พึงทราบวินิจฉัยในบทนี้ว่า สกทาคามิมคฺคาเณน ด้วยสกทาคามิมรรคญาณเป็นต้น ชื่อว่าสกทาคามี เพราะมาสู่โลกนี้คราวเดียวเท่านั้น ด้วยอำนาจปฏิสนธิ. มรรคแห่งสกทาคามีนั้น ชื่อว่าสกทาคามิมรรค. ด้วยญาณอันประกอบด้วยมรรคนั้น.

บทว่า เทฺว ภเว เปตฺวา เว้นภพ ๒ คือเว้นภพ ๒ อันเป็นกามธาตุ ด้วยอำนาจการปฏิสนธิ.

บทว่า ปญฺจสุ ภเวสุ คือ (เกิด) ในภพ ๕ อันเหลือจากภพ ๒ นั้น.

บทว่า เอตฺเถเต นิรุชฺฌนฺติ คือ ธรรมเหล่านี้ย่อมดับไป โดยนัยที่กล่าวแล้วด้วยสกทาคามิมรรค ณ ที่นี้.

บทว่า เอกํ ภวํ เปตฺวา เว้นภพ ๑ คือเว้นภพ ๑ ด้วยรูปธาตุหรืออรูปธาตุ ด้วยอำนาจแห่งความอุกฤษฏ์.

บทว่า รูปธาตุยา วา อรูปธาตุยา วา ได้แก่ รูปธาตุและอรูปธาตุในภพที่ ๒.

ในบทว่า นามญฺจ รูปญฺจ นี้ ในรูปภพได้แก่ นามและรูป ในอรูปภพ ได้แก่ นามเท่านั้น.

บทว่า เอตฺเถเต นิรุชฺฌนฺติ ได้แก่ ธรรมอันเป็นนามและรูปเหล่านี้ ย่อมดับไปโดยนัยดังกล่าวแล้ว ด้วยอรหัตตมรรค ณ ที่นี้.

บทว่า อรหโต ได้แก่ พระขีณาสพ ได้ชื่อว่าพระอรหันต์ เพราะเป็นผู้ไกลจากกิเลสทั้งหลาย.

บทว่า อนุปาทิเสสาย นิพฺพานธาตุยา ด้วยนิพพานธาตุอันเป็นอนุปาทิเสส คือนิพพานธาตุมี ๒ อย่าง เป็นอุปาทิเสสนิพพานและอนุปาทิเสสนิพพาน.

ในบทนั้นชื่อว่า อุปาทิ เพราะยึดมั่น คือยึดถือมั่นว่า เรา ของเรา. บทนี้เป็นชื่อของขันธ์ ๕. อุปาทิอันเหลือชื่อว่า อุปาทิเสสะ. ชื่อว่า สอุปาทิเสสะ เพราะเป็นไปกับด้วยเบญจขันธ์ที่เหลืออยู่. ชื่อว่า อนุปาทิเสสะ เพราะไม่มีเบญจขันธ์เหลืออยู่. อนุปาทิเสสะนี้. ด้วยนิพพานธาตุ อันเป็นอนุปาทิเสสะนั้น.

บทว่า นิพฺพายนฺตสฺส ได้แก่ ดับ คือเป็นไป

 
  ข้อความที่ 39  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 47

ไม่ได้ เหมือนไฟหมดเชื้อฉะนั้น.

บทว่า จริมวิญฺาณสฺส นิโรเธน เพราะดับวิญญาณดวงสุดท้าย คือเพราะดับลมหายใจเข้าออกในเบญจขันธ์นี้.

จริมะ (สุดท้าย) มี ๓ คือ ภวจริมะ, ฌานจริมะ, จุติจริมะ. ในบรรดาภพทั้งหลาย ลมหายใจเข้าออกย่อมเป็นไปในกามภพ ไม่เป็นไปในรูปภพและอรูปภพ ฉะนั้น ลมอัสสาสปัสสาสะ นั้น จึงชื่อว่า ภวจริมะ. ในฌานทั้งหลาย ลมหายใจเข้าออกย่อมเป็นไปใน ๓ ฌานต้น ไม่เป็นไปในฌานที่ ๔ เพราะฉะนั้น ลมอัสสาสปัสสาสะจึงชื่อว่า ฌานจริมะ. อนึ่ง ธรรมเหล่าใดเกิดพร้อมกับจิตที่ ๑๖ ก่อนหน้าจุติจิต ธรรมเหล่านั้นย่อมดับไปพร้อมกับจุติจิต นี้ชื่อว่า จุติจริมะ. จุติจริมะนี้ประสงค์เอาว่า จริมะ ในที่นี้. พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอริยสาวกทั้งหลาย โดยที่สุดแม้แต่มดดำมดแดงทั้งหมด ย่อมกระทำกาละด้วยภวังคจิตนั่นแหละ อันเป็นอัพยากฤต เป็นทุกขสัจเหมือนกันหมด. เพราะฉะนั้น คำว่า จริมวิญฺาณสฺส นิโรเธน เพราะดับวิญญาณดวงสุดท้าย จึงหมายถึงเพราะดับจุติจิต.

พึงกำหนดเอาอรูปขันธ์ ๔ ด้วยบทเหล่านี้ คือ ปญฺา จ สติ จ นามญฺจ ปัญญา สติ และนาม. พึงกำหนดเอามหาภูตรูป ๔ และอุปาทายรูป ๒๔ ด้วยบทนี้ว่า รูปญฺจ ดังนี้.

บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงถึงอุบายการดับนามรูปนั้น จึงตรัสว่า เพราะวิญญาณดับ นามและรูปนี้จึงดับ ณ ที่นี้.

บทเหล่านั้น บทว่า วิญฺาณํ ได้แก่ จริมวิญญาณบ้าง อภิสังขารวิญญาณบ้าง. เพราะละและดับอภิสังขารวิญญาณ นามและรูปนี้จึงดับ

 
  ข้อความที่ 40  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 48

ณ ที่นี้ ย่อมถึงความไม่มีบัญญัติดุจเปลวประทีปฉะนั้น. เพราะความที่จริมวิญญาณเป็นปัจจัยแห่งความไม่เกิด นามและรูปจึงดับไปด้วยอำนาจความไม่เกิดขึ้น ด้วยความดับ คือความไม่เกิด (แห่งจริมวิญญาณ).

ก็ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศทุกขสัจ ด้วยบทนี้ว่า ทุกฺขมสฺส มหพฺภยํ ทุกข์เป็นภัยใหญ่หลวงของโลก ทรงประกาศสมุทยสัจด้วยบทนี้ว่า ยานิ โสตานิ กระแสเหล่าใด ทรงประกาศมรรคสัจด้วยบทนี้ว่า ปญฺาเยเต ปิถิยฺยเร กระแสเหล่านี้อันปัญญาปิดกั้นไว้. ทรงประกาศนิโรธสัจด้วยบทนี้ว่า อเสสํ อุปรุชฺฌติ ดับไม่มีเหลือ อชิตมาณพแม้ฟังสัจจะ ๔ ประการอย่างนี้ด้วยประการฉะนี้แล้ว ก็ยังไม่บรรลุอริยภูมิ เมื่อจะทูลถามถึงปฏิปทาของพระเสกขะและพระอเสกขะอีก จึงทูลว่า เย จ สงฺขาตธมฺมาเส พระอรหันตขีณาสพเหล่าใดผู้มีสังขาตธรรม.

ในบทเหล่านั้น บทว่า สงฺขาตธมฺมา ได้แก่ ธรรมที่พิจารณาแล้ว โดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น. บทนี้เป็นชื่อของพระอรหันต์ทั้งหลาย.

บทว่า เสกฺขา คือ ผู้ยังต้องศึกษาศีลเป็นต้น ได้แก่ อริยบุคคลที่เหลือ.

บทว่า ปุถู มาก ได้แก่ ชนเป็นอันมาก.

บทว่า เตสํ เม นิปโก อริยํ ปุฏฺโ ปพฺรูหิ คือ ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอพระองค์ ผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญา ได้โปรดบอกถึงข้อปฏิบัติของพระเสกขะและอเสกขะเหล่านั้น แก่ข้าพระองค์เถิด.

บทว่า เตสํ ขนฺธา สงฺขาตา ขันธ์ของพระขีณาสพเหล่านั้นมีธรรมอันนับได้แล้ว คือขันธ์ ๕ ของพระขีณาสพเหล่านั้นสิ้นไปแล้ว กระทำให้ไม่มีปฏิสนธิ หรือสิ้นสุดไปแล้ว. แม้ในธาตุทั้งหลายเป็นต้นก็มีนัยนี้เหมือนกัน.

บทว่า อิริยํ คือ การประกอบ.

 
  ข้อความที่ 41  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 49

บทว่า จริยํ คือ การกระทำ.

บทว่า วุตฺติํ คือ การเข้าถึง.

บทว่า อาจารํ คือ ความประพฤติ.

บทว่า โคจรํ คือ ปัจจัย.

บทว่า วิหารํ คือ การเป็นไปแห่งอิริยาบถ.

บทว่า ปฏิปทํ คือ การปฏิบัติ. (๑)

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะกิเลสทั้งหลายตั้งแต่กามฉันทนิวรณ์เป็นต้น อันพระเสกขะพึงละ ฉะนั้น จึงแสดงถึงเสกขปฏิปทาแก่อชิตมาณพนั้นด้วยคาถากึ่งหนึ่ง มีอาทิว่า กาเมสุ ในกามทั้งหลาย ดังนี้.

บทนั้นมีความดังนี้ ภิกษุไม่พึงติดใจในวัตถุกามทั้งหลายด้วยกิเลสกาม ละธรรมอันทำใจให้ขุ่นมัวมีกายทุจริตเป็นต้น พึงมีใจไม่ขุ่นมัว.

อนึ่ง เพราะพระอเสขะชื่อว่าเป็นผู้ฉลาดในธรรมทั้งปวง เพราะเป็นผู้พิจารณาโดยรอบคอบถึงสังขารทั้งปวงเป็นต้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นผู้มีสติด้วยเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นต้น เป็นผู้ถึงความเป็นภิกษุ เพราะทำลายสักกายทิฏฐิเป็นต้น ย่อมเว้นรอบในอิริยาบถทั้งปวง. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงปฏิปทาของพระอเสกขะด้วยคาถากึ่งหนึ่งว่า กุสโล เป็นผู้ฉลาด ดังนี้เป็นต้น.

บทว่า นาภิคิชฺเฌยฺย ไม่ติดใจ คือ ไม่ถึงความกำหนัด.

บทว่า น ปลิคิชฺเฌยฺย ไม่พัวพัน คือ ไม่ถึงความโลภ.

บทว่า น ปลิพุชฺเฌยฺย ไม่หมกมุ่น คือ ไม่ติดแน่นด้วยอำนาจความโลภ.

บทว่า อาวิลกเร กิเลเส ปชเหยฺย คือ พึงละกิเลสทั้งหลายอันทำให้ขุ่นมัว ได้แก่ พึงละกิเลสอันได้แก่ความเดือดร้อนอันทำให้จิตขุ่นมัว.

บทว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา คือ ท่านกล่าวถึงการทํานิพพานไว้ในภายใน.

บทว่า ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา คือ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีปัจจัยเป็นสภาพ.


(๑) ม. เป็นวิปัสสนา.

 
  ข้อความที่ 42  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 50

บทว่า สห คาถาปริโยสานา คือ พร้อมด้วยเวลาจบคาถา.

บทว่า เยเต พฺราหฺมเณน สทฺธิํ เอกจฺฉนฺทา เทวดาและมนุษย์ต่างมีฉันทะร่วมกันกับพราหมณ์ คือ มีกัลยาณฉันทะ มีอัธยาศัยร่วมกันกับอชิตมาณพ.

บทว่า เอกปฺปโยคา มีประโยคร่วมกัน คือ มีกายประโยค วจีประโยค และมโนประโยคร่วมกัน.

บทว่า เอกาธิปฺปายา คือ มีความประสงค์ มีความพอใจร่วมกัน. อธิบายว่า มีความชอบใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน.

บทว่า เอกวาสนวาสิตา มีการอบรมวาสนาร่วมกัน คือ มีการอบรมร่วมกันมาในคำสอนของพระพุทธเจ้าในอดีต.

บทว่า อเนเกสํ ปาณสหสฺสานํ คือ แก่เทวดาและมนุษย์หลายพัน.

บทว่า วิรชํ วีตมลํ ปราศจากธุลีมลทิน คือ ปราศจากธุลี มีราคะเป็นต้น และปราศจากมลทิน มีราคะเป็นต้น.

โสดาปัตติมรรคท่านประสงค์เอาในบทว่า ธมฺมจกฺขุํ นี้ ในที่อื่นประสงค์เอามรรคเบื้องต่ำ ๓ ท่านกล่าวว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับเป็นธรรมดา เพื่อแสดงเหตุแห่งการเกิดมรรคนั้น. เพราะโสดาปัตติมรรคนั้น ทํานิโรธสัจให้เป็นอารมณ์ แล้วแทงตลอดสังขตธรรมทั้งปวงอย่างนี้ ด้วยอำนาจแห่งกิจย่อมเกิดขึ้น.

บทว่า ตสฺส จ พฺราหฺมณสฺส อนุปาทาย อาสเวหิ จิตฺตํ วิมุจฺจิ. จิตของพราหมณ์พ้นแล้วจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น คือ จิตของอชิตพราหมณ์นั้น และอันเตวาสิกหนึ่งพัน เมื่อพ้นจากกามาสวะเป็นต้นในขณะมรรค พ้นแล้วในขณะผล เพราะไม่ถือมั่นด้วยตัณหาเป็นต้น.

บทว่า สห อรหตฺตปฺปตฺตา พร้อมด้วยการบรรลุพระอรหัต คือ หนังเสือ ชฎา ผ้าคากรอง ไม้เท้า ลักจั่น เป็นต้น ของท่านอชิตะพร้อมด้วยอันเตวาสิกหายไปแล้ว พร้อมด้วยการบรรลุอรหัตนั่นเอง. ทั้งหมดทรง

 
  ข้อความที่ 43  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 51

บาตรจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ มีผม ๒ องคุลี เป็นเอหิภิกขุ นั่งถวายนมัสการพระผู้มีพระภาคเจ้า. แต่ในบาลีปรากฏเฉพาะ พระอชิตเถระ เท่านั้น.

ในบทเหล่านั้นบทว่า อนฺวตฺถปฏิปตฺติยา เพราะการปฏิบัติตามประโยชน์ คือ เพราะได้การปฏิบัติอันเป็นสัจจาภิเษก (อภิเษกด้วยสัจจะ). อธิบายว่า เพราะได้พระนิพพาน.

บทที่เหลือในบททั้งปวงชัดดีแล้ว.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจบเทศนาลงด้วยธรรมเป็นยอดคือพระอรหัต ด้วยประการฉะนี้.

จบอรรถกถาอชิตมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๑