พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

ปุณณกมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๓ ว่าด้วยปัญหาของท่านปุณณกะ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  22 พ.ย. 2564
หมายเลข  40782
อ่าน  615

[เล่มที่ 67] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 64

ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส

ปารายนวรรค

ปุณณกมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๓

ว่าด้วยปัญหาของท่านปุณณกะ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 67]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 64

ปุณณกมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๓

ว่าด้วยปัญหาของท่านปุณณกะ

[๑๑๖] (ท่านปุณณกะทูลถามดังนี้ว่า)

ข้าพระองค์มีความประสงค์ด้วยปัญหา จึงมาเฝ้าพระองค์ผู้ไม่มีตัณหาเครื่องหวั่นไหว ผู้เห็นมูล ฤาษี มนุษย์ กษัตริย์ และพราหมณ์เป็นอันมากในโลกนี้อาศัยอะไร จึงพากันแสวงหายัญให้แก่เทวดาทั้งหลาย ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์จงตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์เถิด.

[๑๑๗] คำว่า ผู้ไม่มีตัณหาเครื่องหวั่นไหว ผู้เห็นมูล ความว่า ตัณหา ราคะ สาราคะ ฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล เรียกว่า ความหวั่นไหว ตัณหาอันเป็นความหวั่นไหวนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงละขาดแล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา เพราะเหตุนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าไม่มีความหวั่นไหว.

พระผู้มีพระภาคเจ้าชื่อว่า อเนชะ เพราะพระองค์ทรงละตัณหาเครื่องหวั่นไหวขาดแล้ว ย่อมไม่ทรงหวั่นไหวเพราะลาภ แม้เพราะความเสื่อมลาภ แม้เพราะยศ แม้เพราะความเสื่อมยศ แม้เพราะสรรเสริญ แม้เพราะนินทา แม้เพราะสุข แม้เพราะทุกข์... ไม่หวั่น ไม่ไหว ไม่คลอนแคลน เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า อเนชะ.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 65

คำว่า มูลทสฺสาวี ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นมูล คือ ทรงเห็นเหตุ ทรงเห็นนิทาน ทรงเห็นสมภพ ทรงเห็นสมุฏฐาน ทรงเห็นอาหาร ทรงเห็นอารมณ์ ทรงเห็นปัจจัย ทรงเห็นสมุทัย อกุศลมูล ๓ คือ โลภะอกุศลมูล ๑ โทสะอกุศลมูล ๑ โมหะอกุศลมูล ๑.

สมจริงตามพระพุทธพจน์ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุแห่งความเกิดขึ้นแห่งกรรม ๓ ประการนี้ คือ โลภะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เทวดา มนุษย์ หรือสุคติอย่างใดอย่างหนึ่งแม้อื่น ย่อมไม่ปรากฏ เพราะกรรมเกิดแต่โลภะ เพราะกรรมเกิดแต่โทสะ เพราะกรรมเกิดแต่โมหะ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โดยที่แท้ นรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ปิตติวิสัย หรือทุคติอย่างใดอย่างหนึ่งแม้อื่น ย่อมปรากฏ เพราะกรรมเกิดแต่โลภะ เพราะกรรมเกิดแต่โทสะ เพราะกรรมเกิดแต่โมหะ อกุศลมูล ๓ ประการนี้ เพื่อความเกิดแห่งอัตภาพในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในปิตติวิสัย พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงรู้ทรงเห็นดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นมูล ฯลฯ ทรงเห็นสมุทัย แม้ด้วยประการอย่างนี้.

กุศลมูล ๓ ประการ คือ อโลภะกุศลมูล ๑ อโทสะกุศลมูล ๑ อโมหะกุศลมูล ๑ สมจริงตามพระพุทธพจน์ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ ว่า กุศลมูล ๓ ประการนี้ ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ปิตติวิสัย หรือทุคติอย่างใดอย่างหนึ่งแม้อื่น ย่อมไม่ปรากฏ เพราะกรรมเกิดแต่อโลภะ เพราะกรรมเกิดแต่อโทสะ เพราะกรรมเกิดแต่อโมหะ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โดยที่แท้ เทวดา มนุษย์ หรือสุคติอย่างใดอย่างหนึ่งแม้อื่น ย่อมปรากฏ เพราะกรรมเกิดแต่

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 66

อโลภะ เพราะกรรมเกิดแต่อโทสะ เพราะกรรมเกิดแต่อโมหะ กุศลมูล ๓ ประการนี้ เพื่อความเกิดแห่งอัตภาพในเทวดา และในมนุษย์ พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงรู้ทรงเห็นดังนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงเห็นมูล ฯลฯ ทรงเห็นสมุทัย แม้ด้วยประการอย่างนี้.

และสมจริงตามพระพุทธพจน์ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอกุศล เป็นส่วนอกุศล เป็นฝ่ายอกุศล ธรรมทั้งหมดนั้น มีอวิชชาเป็นมูล มีอวิชชาเป็นที่รวม มีอวิชชาอันอรหัตตมรรคกำจัดได้ ย่อมถึงความเพิกถอนทั้งหมด พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงรู้ทรงเห็นดังนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นมูล ฯลฯ ทรงเห็นสมุทัย แม้ด้วยประการอย่างนี้.

และสมจริงตามพระพุทธพจน์ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นกุศล เป็นส่วนกุศล เป็นฝ่ายกุศล ธรรมทั้งหมดนั้น มีความไม่ประมาทเป็นมูล มีความไม่ประมาทเป็นที่รวม ความไม่ประมาท บัณฑิตกล่าวว่าเป็นยอดแห่งธรรมเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงรู้ทรงเห็นดังนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นมูล ฯลฯ ทรงเห็นสมุทัย แม้ด้วยประการอย่างนี้.

อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงรู้ทรงเห็นว่า อวิชชาเป็นมูลแห่งสังขาร สังขารเป็นมูลแห่งวิญญาณ วิญญาณเป็นมูลแห่งนามรูป นามรูปเป็นมูลแห่งสฬายตนะ สฬายตนะเป็นมูลแห่งผัสสะ ผัสสะเป็นมูลแห่งเวทนา เวทนาเป็นมูลแห่งตัณหา ตัณหาเป็นมูลแห่งอุปาทาน อุปาทานเป็นมูลแห่งภพ ภพเป็นมูลแห่งชาติ ชาติเป็นมูลแห่งชราและ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 67

มรณะ พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงรู้ทรงเห็นดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นมูล ฯลฯ ทรงเห็นสมุทัย แม้ด้วยประการอย่างนี้.

และสมจริงตามพระพุทธพจน์ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอกุศล เป็นส่วนอกุศล เป็นฝ่ายอกุศล ธรรมทั้งหมดนั้น มีอวิชชาเป็นมูล มีอวิชชาเป็นที่รวม มีอวิชชาอันอรหัตตมรรคกำจัดได้ ย่อมถึงความเพิกถอนทั้งหมด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นมูล ทรงเห็นเหตุ ทรงเห็นนิทาน ทรงเห็นสมภพ ทรงเห็นสมุฏฐาน ทรงเห็นอาหาร ทรงเห็นอารมณ์ ทรงเห็นปัจจัย ทรงเห็นสมุทัย แม้ด้วยประการอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่ทรงหวั่นไหว ทรงเห็นมูล.

คำว่า อิติ ในอุเทศว่า อิจฺจายสฺมา ปุณฺณโก เป็นบทสนธิ. คำว่า อายสฺมา เป็นเครื่องกล่าวด้วยความรัก. คำว่า ปุณฺณโก เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น.

[๑๑๘] คำว่า ข้าพระองค์มีความต้องการด้วยปัญหาจึงมาเฝ้า ความว่า ข้าพระองค์มีความต้องการด้วยปัญหาจึงมาเฝ้า คือข้าพระองค์ประสงค์จะทูลถามปัญหาจึงมาเฝ้า เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ข้าพระองค์มีความต้องการด้วยปัญหาจึงมาเฝ้า แม้ด้วยประการอย่างนี้.

อีกอย่างหนึ่ง ความว่า ข้าพระองค์ทั้งหลายประสงค์จะทูลถามปัญหา คือประสงค์จะฟังปัญหาจึงมาเฝ้า คือเข้ามาเฝ้า เข้าใกล้ นั่งใกล้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ข้าพระองค์มีความต้องการด้วยปัญหาจึงมาเฝ้า แม้ด้วยประการอย่างนี้.

อีกอย่างหนึ่ง ความว่า พระองค์ทรงมีประสงค์ด้วยปัญหาจึงเสด็จมา

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 68

คือแม้พระองค์ก็ทรงอาจ ทรงสามารถ ทรงเป็นผู้ควรจะตรัส จะวิสัชนา จะทรงแสดง จะชี้แจง ซึ่งปัญหาที่ข้าพระองค์ทูลถาม เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ข้าพระองค์มีความต้องการด้วยปัญหาจึงมาเฝ้า แม้ด้วยประการฉะนี้.

[๑๑๙] คำว่า กิํนิสฺสิตา ในอุเทศว่า กิํนิสฺสิตา อิสโย มนุชา ความว่า อาศัย คือ หวัง เยื่อใย เข้าไปใกล้ พัวพัน น้อมใจถึงซึ่งอะไร บุคคลพวกใดพวกหนึ่งมีชื่อว่าฤาษี คือผู้ที่บวชเป็นฤาษี เป็นอาชีวก เป็นนิครนถ์ เป็นชฎิล เป็นดาบส ชื่อว่า อิสโย. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกมนุษย์ว่า มนุชา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ฤๅษีมนุษย์อาศัยอะไร.

[๑๒๐] ผู้ที่เกิดเป็นชาติกษัตริย์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ชื่อว่า กษัตริย์ ในอุเทศว่า "ขตฺติยา พฺราหฺมณา เทวตานํ."

ผู้ที่ยกย่องสรรเสริญกันว่า มีวาทะเจริญ เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ชื่อว่า พราหมณ์. คำว่า เทวตานํ ความว่า อาชีวกเป็นเทวดาของพวกอาชีวกสาวก นิครนถ์เป็นเทวดาของพวกนิครนถ์สาวก ชฎิลเป็นเทวดาของพวกชฎิลสาวก ปริพาชกเป็นเทวดาของพวกปริพาชกสาวก ดาบสเป็นเทวดาของพวกดาบสสาวก ช้างเป็นเทวดาของพวกประพฤติหัตถีพรต ม้าเป็นเทวดาของพวกประพฤติอัสสพรต โคเป็นเทวดาของพวกประพฤติโคพรต สุนัขเป็นเทวดาของพวกประพฤติกุกกุรพรต กาเป็นเทวดาของพวกประพฤติกากพรต ท้าววาสุเทพเป็นเทวดาของพวกประพฤติวาสุเทวพรต พลเทพเป็นเทวดาของพวกประพฤติพลเทพพรต ท้าวปุณณภัทร์เป็นเทวดาของพวกประพฤติปุณณภัททพรต ท้าวมณิภัทร์เป็นเทวดาของพวก

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 69

ประพฤติมณิภัททพรต ไฟเป็นเทวดาของพวกประพฤติอัคคิพรต นาคเป็นเทวดาของพวกประพฤตินาคพรต ครุฑเป็นเทวดาของพวกประพฤติสุบรรณพรต ยักษ์เป็นเทวดาของพวกประพฤติยักขพรต อสูรเป็นเทวดาของพวกประพฤติอสูรพรต คนธรรพ์เป็นเทวดาของพวกประพฤติคันธัพพพรต ท้าวมหาราชเป็นเทวดาของพวกประพฤติมหาราชพรต จันทเทวบุตรเป็นเทวดาของพวกประพฤติจันทรพรต สุริยเทพบุตรเป็นเทวดาของพวกประพฤติสุริยพรต อินทเทพบุตรเป็นเทวดาของพวกประพฤติอินทพรต พรหมเป็นเทวดาของพวกประพฤติพรหมพรต พวกเทพเป็นเทวดาของพวกประพฤติเทพพรต ทิศทั้งหลายเป็นเทวดาของพวกประพฤติทิศาพรต พระทักขิไณยบุคคลผู้สมควรแก่ไทยธรรมของชนเหล่าใด ก็เป็นเทวดาของชนเหล่านั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กษัตริย์... พราหมณ์... เทวดาทั้งหลาย.

[๑๒๑] ไทยธรรม คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัย เภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป ท่านเรียกว่า ยัญ ในอุเทศว่า "ยญฺมกปฺปิํสุ ปุถูธ โลเก" คำว่า แสวงหาแล้วซึ่งยัญ ความว่า แม้ชนเหล่าใดย่อมแสวงหา เสาะหา สืบหายัญ คือจีวร... เครื่องประทีป แม้ชนเหล่านั้น ก็ชื่อว่าแสวงหายัญ แม้ชนเหล่าใดย่อมจัดแจงยัญ คือจีวร... เครื่องประทีป แม้ชนเหล่านั้น ก็ชื่อว่า แสวงหายัญ แม้ชนเหล่าใดย่อมให้ ย่อมบูชา ย่อมบริจาคยัญ คือจีวร... เครื่องประทีป แม้ชนเหล่านั้น ก็ชื่อว่า แสวงหายัญ.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 70

คำว่า เป็นอันมาก คือ ยัญเหล่านั้นก็มาก ผู้บูชายัญนั้นก็มาก หรือพระทักขิไณยบุคคลนั้นก็มาก.

ยัญเหล่านั้นมากอย่างไร ยัญเหล่านั้นมาก คือ จีวร... เครื่องประทีป ยัญเหล่านั้นมากอย่างนี้.

ผู้บูชายัญนั้นมากอย่างไร ผู้บูชายัญนั้นมาก คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา และมนุษย์ ผู้บูชายัญนั้นมากอย่างนี้.

หรือพระทักขิไณยบุคคลนั้นมากอย่างไร พระทักขิไณยบุคคลนั้นมาก คือ สมณะ พราหมณ์ ยาจก วณิพก สาวก หรือพระทักขิไณยบุคคลนั้นมากอย่างนี้.

คำว่า ในโลกนี้ คือ ในมนุษยโลก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มากในโลกนี้... แสวงหาแล้วซึ่งยัญ.

[๑๒๒] การถามมี ๓ อย่าง คือ อทิฏฐโชตนาปุจฉา ๑ ทิฏฐสังสันทนาปุจฉา ๑ วิมติเฉทนาปุจฉา ๑ ชื่อว่า ปุจฉา ในอุเทศว่า "ปุจฉามิ ตํ ภควา พฺรูหิ เม ตํ."

อทิฏฐโชตนาปุจฉาเป็นไฉน ลักษณะที่ยังไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เทียบเคียง ไม่พิจารณา ไม่แจ่มแจ้ง ไม่ปรากฏ โดยปกติ บุคคลย่อมถามปัญหาเพื่อรู้ เพื่อเห็น เพื่อเทียบเคียง เพื่อพิจารณา เพื่อต้องการให้แจ่มแจ้ง เพื่อต้องการให้ปรากฏ ซึ่งลักษณะนั้น ชื่อว่า อทิฏฐโชตนาปุจฉา.

ทิฏฐสังสันทนาปุจฉาเป็นไฉน ลักษณะที่รู้ เห็น เทียบเคียง

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 71

พิจารณาแจ่มแจ้ง ปรากฏ โดยปกติ บุคคลย่อมถามปัญหา เพื่อต้องการสนทนากับบัณฑิตอื่นๆ ชื่อว่า ทิฏฐสังสันทนาปุจฉา.

วิมติเฉทนาปุจฉาเป็นไฉน บุคคลแล่นไปสู่ความสงสัย ความเคลือบแคลง มีใจเป็นสองว่า เรื่องนี้เป็นอย่างนี้หรือหนอแล หรือไม่เป็นอย่างนี้ เรื่องนี้เป็นไฉนหนอ หรือเป็นอย่างไร ดังนี้ โดยปกติ บุคคลย่อมถามปัญหา เพื่อต้องการตัดความเคลือบแคลงเสีย นี้ชื่อว่า วิมติเฉทนาปุจฉา ปุจฉา ๓ ประการนี้.

ปุจฉาอีก ๓ ประการ คือ มนุสสปุจฉา ๑ อมนุสสปุจฉา ๑ นิมมิตปุจฉา ๑.

มนุสสปุจฉาเป็นไฉน มนุษย์ทั้งหลายเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ตรัสรู้แล้ว ย่อมทูลถามปัญหา ภิกษุทั้งหลาย... ภิกษุณีทั้งหลาย... อุบาสกทั้งหลาย... อุบาสิกาทั้งหลาย... พระราชาทั้งหลาย... กษัตริย์ทั้งหลาย... พราหมณ์ทั้งหลาย... แพศย์ทั้งหลาย... ศูทรทั้งหลาย... คฤหัสถ์ทั้งหลาย... บรรพชิตทั้งหลาย เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ตรัสรู้แล้ว ย่อมทูลถามปัญหา นี้ชื่อว่า มนุสสปุจฉา.

อมนุสสปุจฉาเป็นไฉน อมนุษย์ทั้งหลายเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ย่อมทูลถามปัญหา นาคทั้งหลาย... ครุฑทั้งหลาย... ยักษ์ทั้งหลาย... อสูรทั้งหลาย... คนธรรพ์ทั้งหลาย... ท้าวมหาราชทั้งหลาย... พระอินทร์ทั้งหลาย... พระพรหมทั้งหลาย... เทวดาทั้งหลาย เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ย่อมทูลถามปัญหา นี้ชื่อว่า อนนุสสปุจฉา.

นิมมิตปุจฉาเป็นไฉน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนิรมิตพระรูปใด

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 72

อันสำเร็จด้วยพระทัย มีอวัยวะครบทุกส่วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง พระพุทธนิรมิตนั้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ตรัสรู้แล้ว ย่อมตรัสถามปัญหา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงวิสัชนา นี้ชื่อว่า นิมมิตปุจฉา ปุจฉา ๓ ประการนี้.

ปุจฉาอีก ๓ ประการ คือ การถามประโยชน์ตน ๑ การถามประโยชน์ผู้อื่น ๑ การถามประโยชน์ทั้งสอง ๑.

ปุจฉาอีก ๓ ประการ คือ การถามถึงทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ๑ การถามถึงสัมปรายิกัตถประโยชน์ ๑ การถามถึงปรมัตถประโยชน์ ๑.

ปุจฉาอีก ๓ ประการ คือ การถามถึงเนื้อความอันไม่มีโทษ ๑ การถามถึงเนื้อความอันไม่มีกิเลส ๑ การถามถึงเนื้อความอันผ่องแผ้ว ๑.

ปุจฉาอีก ๓ ประการ คือ การถามถึงเรื่องอดีต ๑ การถามถึงเรื่องอนาคต ๑ การถามถึงเรื่องปัจจุบัน ๑.

ปุจฉาอีก ๓ ประการ คือ การถามเรื่องภายใน ๑ การถามเรื่องภายนอก ๑ การถามเรื่องทั้งภายในภายนอก ๑.

ปุจฉาอีก ๓ ประการ คือ การถามเรื่องกุศล ๑ การถามเรื่องอกุศล ๑ การถามเรื่องอัพยากฤต ๑.

ปุจฉาอีก ๓ ประการ คือ การถามเรื่องขันธ์ ๑ การถามเรื่องธาตุ ๑ การถามเรื่องอายตนะ ๑.

ปุจฉาอีก ๓ ประการ คือ การถามเรื่องสติปัฏฐาน ๑ การถามเรื่องสัมมัปปธาน ๑ การถามเรื่องอิทธิบาท ๑.

ปุจฉาอีก ๓ ประการ คือ การถามเรื่องอินทรีย์ ๑ การถามเรื่องพละ ๑ การถามเรื่องโพชฌงค์ ๑.

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 73

ปุจฉาอีก ๓ ประการ คือ การถามเรื่องมรรค ๑ การถามเรื่องผล ๑ การถามเรื่องนิพพาน ๑.

คำว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ความว่า ข้าพระองค์ทูลถาม คือ ทูลขอ ทูลเชื้อเชิญ ทูลให้ประสาท ซึ่งปัญหานั้นว่า ขอพระองค์จงตรัสบอกปัญหาแก่ข้าพระองค์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น.

คำว่า ภควา นี้ เป็นคำกล่าวโดยเคารพ ฯลฯ คำว่า ภควา นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ.

คำว่า ขอพระองค์จงตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ ความว่า ขอพระองค์จงตรัส... ขอพระองค์จงประกาศ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์จงตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์.

เพราะเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า

ข้าพระองค์มีความประสงค์ด้วยปัญหา จึงมาเฝ้าพระองค์ผู้ไม่หวั่นไหว ผู้เห็นมูล ฤๅษี มนุษย์ กษัตริย์ พราหมณ์เป็นอันมากในโลกนี้ อาศัยอะไร จึงพากันแสวงหายัญให้แก่เทวดาทั้งหลาย ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์จงตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์เถิด.

[๑๒๓] (พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนปุณณกะ)

ฤๅษี มนุษย์ กษัตริย์ พราหมณ์ พวกใดพวกหนึ่งนี้ เป็นอันมากในโลกนี้ พากันแสวงหายัญแก่เทวดาทั้งหลาย ดูก่อนปุณณกะ ฤๅษี มนุษย์ กษัตริย์ พราหมณ์ เป็น

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 74

อันมาก ในโลกนี้ เหล่านั้น หวังความเป็นอย่างนี้ อาศัยชรา จึงพากันแสวงหายัญแก่เทวดาทั้งหลาย.

[๑๒๔] คำว่า เยเกจิเม ในอุเทศว่า "เยเกจิเม อิสโย มนุชา" ดังนี้ ความว่า ทั้งหมด โดยกำหนดทั้งหมด ทั้งหมดโดยประการทั้งหมด ไม่เหลือ ไม่มีส่วนเหลือ. คำว่า เยเกจิเม นี้เป็นเครื่องกล่าวรวมหมด.

บุคคลพวกใดพวกหนึ่ง มีชื่อว่า ฤๅษี คือ พวกที่บวชเป็นฤๅษี อาชีวก นิครนถ์ ชฎิล ดาบส ชื่อว่า ฤๅษี. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกมนุษย์ ว่า มนุชา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ฤๅษี มนุษย์... เหล่าใดเหล่าหนึ่งนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อว่า ปุณณกะ.

พระนามว่า ภควา นี้ เป็นเครื่องกล่าวโดยเคารพ ฯลฯ พระนามว่า ภควา นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนปุณณกะ.

[๑๒๕] ผู้ที่เกิดเป็นชาติกษัตริย์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ชื่อว่า กษัตริย์ ในอุเทศว่า "ขตฺติยา พฺราหฺมณา เทวตานํ."

ผู้ที่ยกย่องสรรเสริญกันว่ามีวาทะเจริญเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ชื่อว่า พราหมณ์. คำว่า เทวตานํ ความว่า อาชีวกเป็นเทวดาของพวกอาชีวกสาวก ฯลฯ ทิศทั้งหลายเป็นเทวดาของพวกประพฤติทิศาพรต พระทักขิไณยบุคคลผู้สมควรแก่ไทยธรรมของชนเหล่าใด ก็เป็นเทวดาของชนเหล่านั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กษัตริย์ พราหมณ์... แก่เทวดาทั้งหลาย.

[๑๒๖] ไทยธรรม คือ จีวร... เครื่องประทีป ท่านเรียกว่า ยัญ ในอุเทศว่า ยญฺมกปฺปิํสุ ปุถูธ โลเก. แสวงหาแล้วซึ่งยัญ ความว่า

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 75

แม้ชนเหล่าใดย่อมแสวงหา เสาะหา สืบหา ยัญคือจีวร... เครื่องประทีป แม้ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่าแสวงหายัญ.

คำว่า เป็นอันมาก คือ ยัญเหล่านั้นก็มาก ผู้บูชายัญนั้นก็มาก หรือพระทักขิไณยบุคคลนั้นก็มาก ยัญเหล่านั้นมากอย่างไร ฯลฯ หรือพระทักขิไณยบุคคลมากอย่างนี้.

คำว่า ในโลกนี้ คือ ในมนุษยโลก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มากในโลกนี้... แสวงหาแล้วซึ่งยัญ.

[๑๒๗] คำว่า อาสิํสมานา ในอุเทศว่า อาสิํสมานา ปุณฺณก อิตฺถตํ ความว่า หวัง คือ หวังได้รูป หวังได้เสียง หวังได้กลิ่น หวังได้รส หวังได้โผฏฐัพพะ หวังได้บุตร หวังได้ภรรยา หวังได้ทรัพย์ หวังได้ยศ หวังได้ความเป็นใหญ่ หวังได้อัตภาพในสกุลกษัตริย์มหาศาล หวังได้อัตภาพในสกุลพราหมณ์มหาศาล หวังได้อัตภาพในสกุลคฤหบดีมหาศาล หวังได้อัตภาพในเทวดาชาวจาตุมหาราชิก หวังได้อัตภาพในเทวดาชาวดาวดึงส์ หวังได้อัตภาพในเทวดาชาวยามา หวังได้อัตภาพในเทวดาชาวดุสิต หวังได้อัตภาพในเทวดาชาวนิมมานรดี หวังได้อัตภาพในเทวดาชาวปรนิมมิตวสวัตดี หวัง คือปรารถนา ยินดี ประสงค์ รักใคร่ ชอบใจ ซึ่งการได้อัตภาพในเทวดาที่นับเนื่องในหมู่พรหม เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า หวัง.

คำว่า ปุณฺณก อิตฺถตํ ความว่า หวังความเกิดแห่งอัตภาพในฐานะนี้ คือ หวังความเกิดแห่งอัตภาพในสกุลกษัตริย์มหาศาลนี้... ชอบใจซึ่งความเกิดแห่งอัตภาพในเทวดาที่นับเนื่องในหมู่พรหม เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ดูก่อนปุณณกะ... หวังความเป็นอย่างนี้.

[๑๒๘] คำว่า ชรํ สิตา ในอุเทศว่า ชรํ สิตา ยญฺมกปฺปิํสุ

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 76

ความว่า อาศัยชรา อาศัยพยาธิ อาศัยมรณะ อาศัยโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส บุคคลพวกนั้นแสวงหายัญในเทวดาเพราะอาศัยชาติ หรือว่าอาศัยชาติจึงแสวงหายัญในเทวดา แสวงหายัญในเทวดาเพราะอาศัยชรา หรือว่าอาศัยชราจึงแสวงหายัญในเทวดา แสวงหายัญในเทวดาเพราะอาศัยพยาธิ หรือว่าอาศัยพยาธิจึงแสวงหายัญในเทวดา แสวงหายัญในเทวดาเพราะอาศัยมรณะ หรือว่าอาศัยมรณะจึงแสวงหายัญในเทวดา แสวงหายัญในเทวดาเพราะอาศัยโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส หรือว่าอาศัยโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงแสวงหายัญในเทวดา แสวงหายัญในเทวดาเพราะอาศัยคติ หรือว่าอาศัยคติจึงแสวงหายัญในเทวดา แสวงหายัญในเทวดาเพราะอาศัยอุปบัติ หรือว่าอาศัยอุปบัติจึงแสวงหายัญในเทวดา แสวงหายัญในเทวดาเพราะอาศัยปฏิสนธิ หรือว่าอาศัยปฏิสนธิจึงแสวงหายัญในเทวดา แสวงหายัญในเทวดาเพราะอาศัยภพ หรือว่าอาศัยภพจึงแสวงหายัญในเทวดา แสวงหายัญในเทวดาเพราะอาศัยสงสาร หรือว่าอาศัยสงสารจึงแสวงหายัญในเทวดา แสวงหายัญในเทวดาเพราะอาศัยวัฏฏะ หรือว่าอาศัยวัฏฏะจึงแสวงหายัญในเทวดา ปรารถนา พัวพัน เข้าถึง ติดใจ น้อมใจไปแล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อาศัยชรา จึงแสวงหายัญ.

เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า

ฤๅษี มนุษย์ กษัตริย์ พราหมณ์ พวกใดพวกหนึ่งนี้ เป็นอันมากในโลกนี้ แสวงหายัญ แก่เทวดาทั้งหลาย ดูก่อนปุณณกะ ฤๅษี มนุษย์ กษัตริย์ พราหมณ์ เป็น

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 77

อันมากในโลกนี้เหล่านั้น หวังความเป็นอย่างนี้ อาศัยชราจึงแสวงหายัญแก่เทวดาทั้งหลาย.

[๑๒๙] (ท่านปุณณกะทูลถามว่า)

มนุษย์ กษัตริย์ พราหมณ์ พวกใดพวกหนึ่งนี้ มีเป็นอันมากในโลกนี้ แสวงหาแล้วซึ่งยัญ แก่เทวดาทั้งหลาย ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้นิรทุกข์ ผู้บูชายัญเหล่านั้นไม่ประมาทแล้วในทางยัญ ได้ข้ามพ้นแล้วซึ่งชาติชราบ้างหรือ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์จงตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์เถิด.

[๑๓๐] คำว่า เยเกจิเม ในอุเทศว่า เยเกจิเม อิสโย มนุชา ดังนี้ ฯลฯ คำว่า กจฺจิสุ เต ภควา ยญฺปเถ อปฺปมตฺตา ความว่า การถามเพื่อตัดความสงสัย การถามเพื่อตัดความเคลือบแคลง การถามเพื่อตัดความมีใจเป็นสอง การถามโดยไม่ใช่ส่วนเดียว เรื่องนี้เป็นอย่างนี้หรือหนอแล หรือไม่เป็นอย่างนี้ เรื่องนี้เป็นไฉน หรือเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า บ้างหรือ.

คำว่า เต ความว่า ผู้บูชายัญ.

คำว่า ภควา เป็นเครื่องกล่าวโดยเคารพ ฯลฯ.

คำว่า ภควา นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า บุคคลพวกนั้น... บ้างหรือ.

คำว่า ไม่ประมาทแล้วในทางยัญ ความว่า ยัญนั่นแหละท่านกล่าวว่าทางยัญ อริยมรรค ทางอริยะ มรรคเทวดา ทางเทวดา มรรค-

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 78

พรหม ทางพรหม ฉันใด ยัญนั่นแหละ ท่านกล่าวว่าทางยัญ ฉันนั้นเหมือนกัน.

คำว่า ไม่ประมาทแล้ว ความว่า ไม่ประมาทแล้ว คือ ทำโดยความเคารพ ทำติดต่อ ทำไม่หยุด มีความประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ทอดฉันทะ ไม่ทอดธุระ ในทางยัญ คือ ประพฤติอยู่ในทางยัญนั้น มากอยู่ในทางยัญนั้น หนักอยู่ในทางยัญนั้น น้อมไปในทางยัญนั้น โอนไปในทางยัญนั้น เงื้อมไปในทางยัญนั้น น้อมใจไปในทางยัญนั้น มีทางยัญนั้นเป็นใหญ่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่ประมาทแล้วในทางยัญ แม้ชนเหล่าใดแสวงหา สืบหา เสาะหายัญ คือ จีวร... เครื่องประทีป เป็นผู้กระทำโดยเคารพ ฯลฯ มีทางยัญนั้นเป็นใหญ่ แม้ชนเหล่านั้นเป็นผู้ไม่ประมาทแล้วในทางยัญ แม้ชนเหล่าใดจัดแจงยัญ คือ จีวร... แม้ชนเหล่านั้น เป็นผู้ไม่ประมาทแล้วในทางยัญ แม้ชนเหล่าใดย่อมให้ ย่อมบูชา ย่อมบริจาคยัญ คือ จีวร... แม้ชนเหล่านั้นเป็นผู้ไม่ประมาทแล้วในทางยัญ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้บูชายัญเหล่านั้น ไม่ประมาทในทางยัญ... บ้างหรือ.

[๑๓๑] คำว่า "อตารุํ ชาติญฺจ ชรญฺจ มาริส" ความว่า ผู้บูชายัญเหล่านั้นได้ข้ามพ้นแล้ว คือ ข้ามขึ้นแล้ว ข้ามทั่วแล้ว ก้าวล่วงแล้ว ล่วงไปแล้ว ซึ่งชาติ ชรา และมรณะ.

คำว่า มาริส เป็นเครื่องกล่าวด้วยความรัก เป็นเครื่องกล่าวโดยเคารพ.

คำว่า มาริส นี้ เป็นเครื่องกล่าวเป็นไปกับด้วยความเคารพและความยำเกรง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้นิรทุกข์ ผู้บูชายัญเหล่านั้น ได้ข้ามพ้นแล้วซึ่งชาติและชรา.

[๑๓๒] คำว่า ปุจฺฉามิ ตํ ในอุเทศว่า "ปุจฺฉามิ ตํ ภควา พฺรูหิ

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 79

เม ตํ" ดังนี้ ความว่า ข้าพระองค์ขอทูลถาม คือ ขอทูลวิงวอน ขอเชิญ ขอให้ทรงประสาท ขอจงตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น.

คำว่า ภควา นั้น เป็นเครื่องกล่าวโดยเคารพ ฯลฯ คำว่า ภควา นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ.

คำว่า พฺรูหิ เม ตํ ความว่า ขอพระองค์จงตรัส คือ ขอจงบอก ขอจงแสดง ขอจงบัญญัติ ขอจงแต่งตั้ง ขอจงเปิดเผย ขอจงจำแนก ขอจงทำให้ตื้น ขอจงทรงประกาศ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์จงตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์.

เพราะเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกล่าวว่า

มนุษย์ กษัตริย์ พราหมณ์ พวกใดพวกหนึ่ง มีเป็นอันมากในโลกนี้ แสวงหาซึ่งยัญแก่เทวดาทั้งหลาย ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้นิรทุกข์ ผู้บูชายัญเหล่านั้นไม่ประมาทแล้วในทางยัญ ได้ข้ามพ้นแล้วซึ่งชาติและชราบ้างหรือ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์จงตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์.

[๑๓๓] (พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ดูก่อนปุณณกะ)

ชนทั้งหลายย่อมหวัง ย่อมชม (ย่อมชอบ) ย่อมบูชา อาศัยลาภแล้ว ย่อมชอบกามทั้งหลาย เราย่อมกล่าวว่า ชนเหล่านั้นประกอบการบูชายัญ กำหนัดแล้วด้วยความกำหนัดในภพ ไม่ข้ามพ้นชาติและชราไปได้.

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 80

[๑๓๔] คำว่า อาสิํสนฺติ ในอุเทศว่า อาสิํสนฺติ โถมยนฺติ อภิชปฺปนฺติ ชุหนฺติ ดังนี้ ความว่า หวังได้รูป หวังได้เสียง หวังได้กลิ่น หวังได้รส หวังได้โผฏฐัพพะ หวังได้บุตร หวังได้ภรรยา หวังได้ทรัพย์ หวังได้ยศ หวังได้ความเป็นใหญ่ หวังได้อัตภาพในสกุลกษัตริย์มหาศาล หวังได้อัตภาพในสกุลพราหมณ์มหาศาล หวังได้อัตภาพในสกุลคฤหบดีมหาศาล หวังได้อัตภาพในเทวดาชาวจาตุมหาราชิก ฯลฯ หวังยินดี ปรารถนา รักใคร่การได้อัตภาพในเทวดาที่นับเนื่องในหมู่พรหม เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ย่อมหวัง.

คำว่า ย่อมชม ความว่า ย่อมชมยัญบ้าง ย่อมชมผลบ้าง ย่อมชมทักขิไณยบุคคลบ้าง.

ย่อมชมยัญอย่างไร ย่อมชม คือ ยกย่อง พรรณนา สรรเสริญว่า เราให้ของรัก เราให้ของเจริญใจ เราให้ของประณีต เราให้ของที่ควร เราเลือกให้ เราให้ของไม่มีโทษ เราให้เนืองๆ เมื่อกำลังให้ จิตก็เลื่อมใส ย่อมชมยัญอย่างนี้.

ย่อมชมผลอย่างไร ย่อมชม ยกย่อง พรรณนา สรรเสริญว่า เพราะยัญนี้เป็นเหตุ จักได้รูป... จักได้โผฏฐัพพะ จักได้อัตภาพในสกุลกษัตริย์มหาศาล ฯลฯ จักได้อัตภาพในเทวดาที่นับเนื่องในหมู่พรหม ย่อมชมผลอย่างนี้.

ย่อมชมทักขิไณยบุคคลอย่างไร ย่อมชม ยกย่อง พรรณนา สรรเสริญว่า พระทักขิไณยบุคคลเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยชาติ ถึงพร้อมด้วยโคตร เป็นผู้ชำนาญมนต์ ทรงมนต์ เรียนจบไตรเพท พร้อมด้วยคัมภีร์นิฆัณฑุศาสตร์และเกตุภศาสตร์ เป็นประเภทอักขระ มีคัมภีร์อิติหาส

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 81

เป็นที่ห้า เป็นผู้เข้าใจตัวบท เข้าใจไวยากรณ์ ชำนาญในคัมภีร์โลกายตนะและตำราทํานายมหาบุรุษลักษณะ เป็นผู้ปราศจากราคะบ้าง ปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะบ้าง เป็นผู้ปราศจากโทสะบ้าง ปฏิบัติเพื่อกำจัดโทสะบ้าง เป็นผู้ปราศจากโมหะบ้าง ปฏิบัติเพื่อกำจัดโมหะบ้าง ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ย่อมชมทักขิไณยบุคคลอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ย่อมหวัง ย่อมชม.

คำว่า อภิชปฺปนฺติ ความว่า ย่อมชอบการได้รูป... ชอบการได้โผฏฐัพพะ ชอบการได้อัตภาพในสกุลกษัตริย์มหาศาล ฯลฯ ชอบการได้อัตภาพในเทวดาผู้นับเนื่องในหมู่พรหม เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ย่อมหวัง ย่อมชม ย่อมชอบ.

คำว่า ชุหนฺติ ความว่า ย่อมบูชา คือ ย่อมให้ ย่อมสละ ย่อมบริจาคซึ่งจีวร... เครื่องประทีป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ย่อมหวัง ย่อมชม ย่อมชอบ ย่อมบูชา.

คำว่า ปุณฺณกาติ ภควา ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อว่า ปุณณกะ.

คำว่า ภควา นี้ เป็นเครื่องกล่าวโดยเคารพ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ดูก่อนปุณณกะ.

[๑๓๕] คำว่า อาศัยลาภแล้วย่อมชอบกามทั้งหลาย ความว่า อาศัยการได้รูปแล้วย่อมชอบกามทั้งหลาย ฯลฯ อาศัยการได้อัตภาพในเทวดาผู้นับเนื่องในหมู่พรหมแล้ว ย่อมชอบ คือ ยินดี ปรารถนากามทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อาศัยลาภแล้วย่อมชอบกามทั้งหลาย.

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 82

[๑๓๖] คำว่า เต ในอุเทศว่า "เต ยาชโยคา ภวราครตฺตา นาตริํสุ ชาติชรนฺติ พฺรูมิ" ดังนี้ ความว่า ผู้บูชายัญ.

คำว่า ยาชโยคา ความว่า ผู้ประกอบ คือ ประกอบทั่ว ประกอบทั่วด้วยดี ในการบูชาทั้งหลาย คือ ประพฤติในการบูชา มากอยู่ในการบูชา หนักอยู่ในการบูชา เอนไปในการบูชา โอนไปในการบูชา เงื้อมไปในการบูชา น้อมใจไปในการบูชา มีการบูชาเป็นใหญ่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ชนทั้งหลายผู้ประกอบในการบูชายัญเหล่านั้น.

คำว่า ภวราครตฺตา ความว่า ตัณหาท่านเรียกว่า ภวราคะ (อนึ่ง) ความพอใจในภพ ความกำหนัดในภพ ความเพลิดเพลินในภพ ตัณหาในภพ ความเยื่อใยในภพ ความกระหายในภพ ความเร่าร้อนในภพ ความลุ่มหลงในภพ ความหมกมุ่นในภพ ในภพทั้งหลาย เรียกว่า ภวราคะ ผู้บูชายัญเหล่านั้น กำหนัดแล้ว คือ ติดใจ หลงใหล หมกมุ่น ข้อง เกี่ยวข้อง พัวพันแล้วในภพทั้งหลายด้วยความกำหนัดในภพ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้บูชายัญเหล่านั้น ประกอบในการบูชา ยินดีแล้วด้วยภวราคะ.

คำว่า นาตริํสุ ชาติชรนฺติ พฺรูมิ ความว่า เราย่อมกล่าว คือ ย่อมบอก ย่อมแสดง ย่อมบัญญัติ ย่อมแต่งตั้ง ย่อมเปิดเผย ย่อมจำแนก ย่อมทำให้ตื้น ย่อมประกาศว่า ผู้บูชายัญเหล่านั้น ประกอบในการบูชา กำหนัดแล้วด้วยภวราคะ ไม่ข้าม คือ ไม่ข้ามขึ้น ไม่ข้ามพ้น ไม่ก้าวล่วง ไม่เป็นไปล่วงซึ่งชาติ ชรา และมรณะ คือ เป็นผู้ไม่ออก ไม่สลัดออก ไม่ล่วง ไม่พ้น ไม่เป็นไปล่วงจากชาติ ชรา และมรณะ ย่อมวนเวียนอยู่ภายในชาติ ชรา และมรณะ ย่อมวนเวียนอยู่ภายในทางสงสาร เป็นผู้เป็นไปตามชาติ อันชราแล่นตาม พยาธิก็ครอบงำ มรณะห้ำหั่น ไม่มี

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 83

ที่ต้านทาน ไม่มีที่ซ่อนเร้น ไม่มีอะไรเป็นสรณะ ไม่มีอะไรเป็นที่พึ่ง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เราย่อมกล่าวว่า ผู้บูชายัญเหล่านั้น ประกอบในการบูชา ยินดีด้วยภวราคะ ไม่ข้ามพ้นซึ่งชาติ ชรา และมรณะไปได้.

เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า

ดูก่อนปุณณกะ ชนทั้งหลายย่อมหวัง ย่อมชม (ย่อมชอบ) ย่อมบูชา อาศัยลาภแล้ ย่อมชอบกาม ทั้งหลาย เราย่อมกล่าวว่า ชนเหล่านั้น ประกอบการบูชายัญ กำหนัดแล้วด้วยความกำหนัดในภพ ไม่ข้ามพ้นชาติและชราไปได้.

[๑๓๗] (ท่านปุณณกะทูลถามว่า)

ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ถ้าชนเหล่านั้น ประกอบการบูชาด้วยยัญทั้งหลาย ไม่ข้ามพ้นชาติและชราไปได้ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นดังนี้ บัดนี้ ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลก ได้ข้ามพ้นชาติและชรา ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์จงตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์.

[๑๓๘] คำว่า เต เจ นาตริํสุ ยาชโยคา ความว่า ผู้บูชายัญเหล่านั้น ประกอบในการบูชา กำหนัดแล้วด้วยความกำหนัดในภพ ไม่ข้าม คือ ไม่ข้ามขึ้น ไม่ข้ามพ้น ไม่ก้าวล่วง ไม่เป็นไปล่วงซึ่งชาติ ชรา และ มรณะ คือ เป็นผู้ไม่ออก ไม่สลัดออก ไม่ล่วง ไม่พ้น ไม่เป็นไปล่วงจากชาติ ชรา และมรณะ ย่อมวนเวียนอยู่ภายในชาติชราและมรณะ ย่อมวนเวียนอยู่ภายในทางสงสาร เป็นผู้เป็นไปตามชาติ อันชราแล่นตาม

 
  ข้อความที่ 21  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 84

พยาธิครอบงำ มรณะห้ำหั่น ไม่มีที่ต้านทาน ไม่มีที่ซ่อนเร้น ไม่มีอะไรเป็นสรณะ ไม่มีอะไรเป็นที่พึ่ง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ถ้าชนเหล่านั้นประกอบในการบูชา ไม่ข้ามพ้น.

คำว่า อิติ ในอุเทศว่า อิจฺจายสฺมา ปุณฺณโก เป็นบทสนธิ ฯลฯ ท่านปุณณกะ.

[๑๓๙] คำว่า อญฺเหิ ชาติญฺจ ชรญฺจ มาริส ความว่า ด้วยยัญเป็นอันมาก คือ ด้วยยัญต่างๆ ชนิด ด้วยยัญมากมาย.

คำว่า มาริส เป็นเครื่องกล่าวด้วยความรัก เป็นเครื่องกล่าวโดยเคารพ.

คำว่า มาริส นี้ เป็นเครื่องกล่าวเป็นไปกับด้วยความเคารพและความยำเกรง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ยญฺเหิ ชาติญฺจ ชรญฺจ มาริส.

[๑๔๐] คำว่า อถ โก จรหิ เทวมนุสฺสโลเก อตาริ ชาติญฺจ ชรญฺจ มาริส ความว่า เมื่อเป็นดังนั้น ใครเล่าในโลก พร้อมทั้งเทวโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ข้ามแล้ว คือ ข้ามขึ้น ข้ามพ้น ก้าวล่วง เป็นไปล่วงซึ่งชาติ ชรา และมรณะ.

คำว่า มาริส เป็นเครื่องกล่าวด้วยความรัก เป็นเครื่องกล่าวโดยเคารพ.

คำว่า มาริส นี้ เป็นเครื่องกล่าวเป็นไปกับด้วยความเคารพยำเกรง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นดังนั้น ในบัดนี้ ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลก ได้ข้ามพ้นชาติและชราไปได้.

[๑๔๑] คำว่า ปุจฺฉามิ ตํ ภควา พฺรูหิ เม ตํ ความว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น คือ ขอวิงวอน ขอเชื้อเชิญ ขอให้ทรง

 
  ข้อความที่ 22  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 85

ประสาทปัญหานั้น ขอพระองค์จงตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น.

คำว่า ภควา นี้ เป็นเครื่องกล่าวเป็นไปกับด้วยความเคารพ ฯลฯ คำว่า ภควา นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ.

คำว่า ขอพระองค์จงตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ ความว่า ขอพระองค์จงตรัสบอก... ขอจงประกาศ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์จงตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์.

เพราะเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกล่าวว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ถ้าชนเหล่านั้น ประกอบในการบูชายัญทั้งหลาย ไม่ข้ามพ้นชาติและชราไปได้ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นดังนี้ ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลก ได้ข้ามพ้นชาติและชรา ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์จงตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์.

[๑๔๒] (พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ดูก่อนปุณณกะ)

เราย่อมกล่าวว่า ความหวั่นไหวในโลกไหนๆ มิได้มีแก่พระอรหันตขีณาสพใด เพราะทราบ ฝั่งนี้และฝั่งโน้นในโลก พระอรหันตขีณาสพนั้น เป็นผู้สงบ ขจัดทุจริตเพียงดังว่าควัน ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง ได้ข้ามแล้วซึ่งชาติและชรา.

 
  ข้อความที่ 23  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 86

[๑๔๓] ญาณ ปัญญา ความรู้ทั่ว ฯลฯ ความไม่หลง ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ ตรัสว่า สังขา ในอุเทศว่า "สงฺขาย โลกสฺมิํ ปโรปรานิ."

คำว่า ปโรปรานิ ความว่า มนุษยโลกตรัสว่าฝั่งนี้ เทวโลกตรัสว่าฝั่งโน้น กามธาตุตรัสว่าฝั่งนี้ รูปธาตุและอรูปธาตุตรัสว่าฝั่งโน้น กามธาตุรูปธาตุตรัสว่าฝั่งนี้ อรูปธาตุตรัสว่าฝั่งโน้น.

คำว่า สงฺขาย โลกสฺมิํ ปโรปรานิ ความว่า เพราะทราบ คือ รู้ เทียบเคียง พิจารณา ให้แจ่มแจ้ง ทำให้ปรากฏ ซึ่งฝั่งนี้และฝั่งโน้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร ฯลฯ โดยไม่มีอุบายเครื่องสลัดออกได้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เพราะทราบฝั่งโน้นและฝั่งนี้ในโลก.

คำว่า ปุณณกาติ ภควา ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อว่า ปุณณกะ.

คำว่า ภควา นี้ เป็นเครื่องกล่าวโดยเคารพ ฯลฯ.

คำว่า ภควา นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนปุณณกะ.

[๑๔๔] คำว่า ยสฺส ในอุเทศว่า "ยสฺสิญฺชิตํ นตฺถิ กุหิญฺจิ โลเก" ดังนี้ ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ.

คำว่า อิญฺชิตํ คือ ความหวั่นไหวเพราะตัณหา ความหวั่นไหวเพราะทิฏฐิ ความหวั่นไหวเพราะกิเลส ความหวั่นไหวเพราะมานะ ความหวั่นไหวเพราะกรรม ความหวั่นไหวเหล่านั้น ไม่มี คือ ไม่ปรากฏ ไม่ประจักษ์ แก่พระอรหันตขีณาสพใด คือ ความหวั่นไหวเหล่านี้ พระอรหันตขีณาสพใด ละได้แล้ว

 
  ข้อความที่ 24  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 87

ตัดขาดแล้ว สงบแล้ว ระงับแล้ว ทำไม่ให้อาจเกิดขึ้น เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ.

คำว่า กุหิญฺจิ ความว่า ไหนๆ คือ แห่งไหน แห่งไร ภายในหรือภายนอก หรือทั้งภายในภายนอก.

คำว่า โลเก คือ ในอบายโลก ฯลฯ ในอายตนโลก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ความหวั่นไหวในโลกไหนๆ มิได้มีแก่พระอรหันตขีณาสพใด.

[๑๔๕] คำว่า สนฺโต ในอุเทศว่า "สนฺโต วิธูโม อนีโฆ นิราโส อตาริ โส ชาติชรนฺติ พฺรูมิ" ดังนี้ ความว่า ชื่อว่า สันตะ เพราะเป็นผู้มีราคะสงบ มีโทสะสงบ มีโมหะสงบ ชื่อว่าสงบแล้ว คือเข้าไปสงบแล้ว ระงับแล้ว ดับแล้ว ระงับเฉพาะแล้ว เพราะเป็นผู้สงบแล้ว ถึงความสงบแล้ว เข้าไปสงบแล้ว เผาแล้ว ดับแล้ว ปราศจากแล้ว ระงับเฉพาะแล้วซึ่งความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่ ความตีเสมอ ความริษยา ความตระหนี่ ความลวง ความโอ้อวด ความกระด้าง ความแข่งดี ความเมา ความประมาท กิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง ความกระวนกระวายทั้งปวง ความเร่าร้อนทั้งปวง ความเดือดร้อนทั้งปวง อกุสลาภิสังขารทั้งปวง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า สงบ.

คำว่า วิธูโม ความว่า กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต อันพระอรหันตขีณาสพขจัดแล้ว กำจัดแล้ว ทำให้เหือดแห้งแล้ว ทำให้สิ้นสุดแล้ว ราคะ โทสะ โมหะ ความโกรธ... ความประมาท กิเลสทั้งปวง... อกุสลาภิสังขารทั้งปวง อันพระอรหันตขีณาสพขจัดแล้ว กำจัดแล้ว ทำให้เหือดแห้งแล้ว ทำให้สิ้นสุดแล้ว.

 
  ข้อความที่ 25  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 88

อนึ่ง ความโกรธ ท่านกล่าวว่าเป็นดังควัน

ดูก่อนพราหมณ์ ท่านมีมานะเปรียบเหมือนดังเครื่องหาบ มีความโกรธเปรียบเหมือนควัน มีการพูดเท็จ เปรียบเหมือนเถ้า มีลิ้นเปรียบเหมือนทัพพี หฤทัยของสัตว์ทั้งหลายเปรียบเหมือนสถานที่บูชายัญของท่าน ตนที่ฝึกดีแล้ว เป็นกำเนิดของบุรุษ.

อนึ่ง ความโกรธย่อมเกิดด้วยอาการ ๑๐ อย่าง คือ ความโกรธเกิดด้วยผูกใจว่า คนโน้นได้ประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เราแล้ว ๑ คนโน้นประพฤติอยู่ซึ่งสิ่งไม่เป็นประโยชน์แก่เรา ๑ คนโน้นจักประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา ๑ คนโน้นได้ประพฤติแล้วซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ๑ คนโน้นประพฤติอยู่ซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ๑ คนโน้นจักประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ๑ คนโน้นได้ประพฤติแล้วซึ่งประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ๑ คนโน้นประพฤติอยู่ซึ่งประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ๑ คนโน้นจะประพฤติซึ่งสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ๑.

อีกอย่างหนึ่ง ความโกรธย่อมเกิดในฐานะอันไม่ควร ๑ ความปองร้าย ความมุ่งร้าย ความขัดเคือง ความโกรธตอบ ความเคือง ความเคืองทั่ว ความเคืองเสมอ ความชัง ความชังทั่ว ความชังเสมอ ความพยาบาทแห่งจิต ความประทุษร้ายในใจ ความโกรธ กิริยาที่โกรธ ความเป็นผู้โกรธ ความชัง กิริยาที่ชัง ความเป็นผู้ชัง ความพยาบาท กิริยาที่พยาบาท ความเป็นผู้พยาบาท ความพิโรธ ความพิโรธตอบ

 
  ข้อความที่ 26  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 89

ความเป็นผู้ดุร้าย ความเพาะวาจาชั่ว ความไม่พอใจของจิต นี้เรียกว่า ความโกรธ.

อนึ่ง พึงทราบความโกรธมาก โกรธน้อย ความโกรธเป็นแต่เพียงทำจิตให้ขุ่นมัวในบางครั้งก็มี แต่ยังไม่ถึงให้มีหน้าเง้าหน้างอ ความโกรธเป็นแต่เพียงทำให้หน้าเง้าหน้างอในบางครั้งก็มี แต่ไม่ถึงให้คางสั่น ความโกรธเป็นแต่เพียงทำให้คางสั่นในบางครั้งก็มี แต่ยังไม่ถึงเปล่งผรุสวาจา ความโกรธเป็นแต่เพียงทำให้เปล่งผรุสวาจาในบางครั้งก็มี แต่ยังไม่ถึงให้เหลียวดูทิศทางต่างๆ ความโกรธเป็นแต่เพียงทำให้เหลียวดูทิศต่างๆ ในบางครั้งก็มี แต่ยังไม่ถึงการจับท่อนไม้และศาสตรา ความโกรธเป็นแต่เพียงทำให้จับท่อนไม้และศาสตราในบางครั้งก็มี แต่ยังไม่ถึงเงื้อท่อนไม้และศาสตรา ความโกรธเป็นแต่เพียงทำให้เงื้อท่อนไม้และศาสตราในบางครั้งก็มี แต่ยังไม่ถึงตีฟัน ความโกรธเป็นแต่เพียงทำให้ตีฟันในบางครั้งก็มี แต่ยังไม่ถึงฉีกขาดเป็นบาดแผล ความโกรธเป็นแต่เพียงทำให้ถึงฉีกขาดเป็นบาดแผลในบางครั้งก็มี แต่ยังไม่ให้หักให้แหลก ความโกรธเป็นแต่เพียงทำให้หักให้แหลกในบางครั้งก็มี แต่ยังไม่ให้อวัยวะน้อยใหญ่เคลื่อนที่ ความโกรธเป็นแต่เพียงทำให้อวัยวะน้อยใหญ่เคลื่อนที่ในบางครั้งก็มี แต่ยังไม่ให้ชีวิตดับ ความโกรธเป็นแต่เพียงทำให้ชีวิตดับในบางครั้งก็มี แต่ยังไม่ถึงความสละบริจาคอวัยวะทั้งหมด เมื่อใดความโกรธให้ฆ่าบุคคลอื่นแล้วให้ฆ่าตน เมื่อนั้นความโกรธถึงความเป็นความโกรธแรงยิ่ง ถึงความเป็นความโกรธมากยิ่ง โดยอาการอย่างนี้.

ความโกรธนั้นอันพระอรหันตขีณาสพใด ละได้แล้ว ตัดขาดแล้ว สงบระงับแล้ว ทำไม่ให้อาจเกิดขึ้นอีก เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ พระอรหันตขีณาสพนั้น

 
  ข้อความที่ 27  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 90

เรียกว่าผู้กำจัดกิเลสเพียงดังควัน. พระอรหันตขีณาสพชื่อว่าวิธูมะ เพราะเป็นผู้ละความโกรธ เพราะเป็นผู้กำหนดรู้วัตถุแห่งความโกรธ เพราะเป็นผู้ตัดขาดซึ่งเหตุแห่งความโกรธ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า วิธูมะ.

คำว่า อนีโฆ ความว่า ราคะเป็นทุกข์ โทสะเป็นทุกข์ โมหะเป็นทุกข์ ความโกรธเป็นทุกข์ ความผูกโกรธเป็นทุกข์ ฯลฯ อกุสลาภิสังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ทุกข์เหล่านั้น อันพระอรหันตขีณาสพใดละได้แล้ว... เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ พระอรหันตขีณาสพนั้น เรียกว่า ผู้ไม่มีทุกข์.

คำว่า ไม่มีความหวัง ความว่า ตัณหาเรียกว่าความหวัง ราคะ สาราคะ ฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล เรียกว่าความหวัง ตัณหาอันเป็นความหวังนั้น อันพระอรหันตขีณาสพใดละได้แล้ว เผาเสียได้แล้วด้วยไฟคือญาณ พระอรหันตขีณาสพนั้น เรียกว่า ผู้ไม่มีความหวัง.

ความเกิด ความเกิดพร้อม ความก้าวลง ความบังเกิด ความเกิดเฉพาะ ความปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลาย ความได้เฉพาะซึ่งอายตนะทั้งหลาย ในหมู่สัตว์นั้นๆ แห่งสัตว์เหล่านั้นๆ ชื่อว่า ชาติ.

ความแก่ ความเสื่อม ความเป็นผู้มีฟันหัก ความเป็นผู้มีผมหงอก ความเป็นผู้มีหนังย่น ความเสื่อมอายุ ความแก่แห่งอินทรีย์ทั้งหลาย ในหมู่สัตว์นั้นๆ แห่งสัตว์เหล่านั้น ชื่อว่า ชรา.

คำว่า สนฺโต วิธูโม อนีโฆ นิราโส อตาริ โส ชาติชรนฺติ พฺรูมิ ความว่า เราย่อมกล่าว... ย่อมประกาศว่า พระอรหันตขีณาสพใดเป็นผู้สงบ กำจัดกิเลสเพียงดังว่าควัน ไม่มีทุกข์ และไม่มีความหวัง พระอรหันตขีณาสพนั้นข้ามได้แล้ว ข้ามขึ้นแล้ว ข้ามทั่วแล้ว ล่วงแล้ว

 
  ข้อความที่ 28  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 91

เป็นไปล่วงแล้วซึ่งชาติ ชรา และมรณะ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เราย่อมกล่าวว่า พระอรหันตขีณาสพนั้น เป็นผู้สงบ กำจัดกิเลสเพียงดังว่าควัน ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง ข้ามได้แล้วซึ่งชาติและชรา.

เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า

เราย่อมกล่าวว่า ความหวั่นไหวในโลกไหนๆ มิได้มีแก่พระอรหันตขีณาสพใด เพราะทราบฝั่งนี้และฝั่งโน้นในโลก พระอรหันตขีณาสพนั้น เป็นผู้สงบ กำจัดกิเลสเพียงดังว่าควัน ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง ได้ข้ามแล้วซึ่งชาติและชรา.

พร้อมด้วยวาจาจบคาถา ฯลฯ ท่านพระปุณณกะนั้น เป็นภิกษุครองผ้ากาสายะเป็นบริขาร ทรงสังฆาฏิ บาตร และจีวร นั่งประนมอัญชลีนมัสการพระผู้มีพระภาคเจ้า ประกาศว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก ดังนี้.

จบปุณณกมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๓

อรรถกถาปุณณกมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๓

พึงทราบวินิจฉัยในปุณณกสุตตนิทเทสที่ ๓.

บทว่า อเนชํ ผู้ไม่หวั่นไหวแม้นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้ามโมฆราชตรัสแล้ว โดยนัยก่อนนั่นแล.

 
  ข้อความที่ 29  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 92

ในบทเหล่านั้นบทว่า มูลทสฺสาวี ผู้เห็นมูล คือ เห็นมูลของอกุศล.

บทว่า อิสโย ฤๅษี ชฎิลทั้งหลายมีชื่อว่าฤาษี.

บทว่า ยญฺํ คือ ไทยธรรม.

บทว่า อกปฺปิํสุ คือ แสวงหา.

บททั้งหมดมีอาทิว่า เหตุทสฺสาวี ทรงเห็นเหตุ เป็นไวพจน์ของการณะ (เหตุ). เพราะการณะย่อมปรารถนา ย่อมเป็นไปเพื่อผลของตน ฉะนั้น จึงเรียกว่าเหตุ. เพราะการณะย่อมมอบให้ซึ่งผลนั้นดุจตั้งใจว่า เชิญพวกท่านรับผลนั้นเถิด ฉะนั้น จึงเรียกว่า นิทาน.

บทห้าบทมีอาทิว่า สมฺภวทสฺสาวี ทรงเห็นสมภพ มีนัยดังที่แสดงไว้แล้วในหนหลัง. เพราะการณะนั้นอาศัยผลนั้นย่อมเป็นไป ผลนั้นจึงเกิดขึ้น ฉะนั้น จึงเรียกว่า ปัจจัยและสมุทัย.

บทว่า ยา วา ปนญฺาปิ กาจิ สุคติโย สุคติอย่างใดอย่างหนึ่งแม้อื่น คือ มนุษย์กำพร้าและผู้มีอาหารและเครื่องนุ่งห่มหาได้ยาก มีศักดิ์น้อยมีอุตตรมารดาเป็นต้น พ้นแล้วจากอบาย ๔ พึงทราบว่าเป็นผู้ถูกทุกข์เบียดเบียน.

บทว่า ยา วา ปนญฺาปิ กาจิ ทุคฺคติโย ทุคติอย่างใดอย่างหนึ่งแม้อื่น เป็นต้นว่าพระยายม พระยานาค ครุฑ เปรต และผู้มีฤทธิ์.

บทว่า อตฺตภาวาภินิพฺพตฺติยา เพื่อความเกิดแห่งอัตภาพ คือ เพื่อได้อัตภาพด้วยปฏิสนธิในฐานะ ๓.

บทว่า ชานาติ คือ ย่อมทรงรู้ด้วยสัพพัญญุตญาณ.

บทว่า ปสฺสติ คือ ย่อมทรงเห็นด้วยสมันตจักษุ.

บทว่า อกุสลา ได้แก่ ความเป็นผู้ไม่ฉลาด.

บทว่า อกุสลํ ภชนฺติ ย่อมเสพธรรมเป็นอกุศล คือ ในส่วนที่เป็นอกุศล.

บทว่า อกุสลปกฺเข ภว คือ เป็นฝ่ายอกุศล.

ชื่อว่า อวิชฺชามูลกา เพราะธรรมทั้งหมดเหล่านั้นมีอวิชชาเป็นมูลเหตุ.

ชื่อว่า อวิชฺชาสโมสรณา เพราะมีอวิชชาเป็นที่รวมโดยชอบ.

บทว่า อวิชฺชาสมุคฺฆาตาย คือ มีอวิชชาอันอรหัตตมรรคถอนได้.

บทว่า สพฺเพ เต

 
  ข้อความที่ 30  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 93

สมุคฺฆาตํ คจฺฉนฺติ ย่อมถึงความเพิกถอนทั้งหมด ได้แก่ อกุศลกรรมดังกล่าวแล้ว อกุศลกรรมทั้งหมดเหล่านั้นย่อมถึงความถูกกำจัด.

บทว่า อปฺปมาทมูลกา ได้แก่ ชื่อว่า อปฺปมาทมูลกา เพราะมีความไม่ประมาท คือ ความไม่อยู่ปราศจากสติเป็นมูลเหตุ.

ชื่อว่า อปฺปมาทสโมสรณา เพราะรวมลงในความไม่ประมาทโดยชอบ.

บทว่า อปฺปมาโท เตสํ ธมฺมานํ อคฺคมกฺขายติ ความไม่ประมาท บัณฑิตกล่าวว่าเป็นยอดแห่งธรรมเหล่านั้น คือ แม้ผู้ท่องเที่ยวไปในกามาวจรก็ชื่อว่าเป็นยอด เพราะมีธรรมเป็นไปในภูมิ ๔ เป็นที่พึ่งอาศัย.

บทว่า อลมตฺโต คือ เป็นผู้สามารถ.

บทว่า มยา ปุจฺฉิตํ คือ อันข้าพระองค์ทูลถามแล้ว.

บทว่า วหสฺเสตํ ภารํ คือ จงนำภาระที่นำมาแล้วไป.

บทว่า เยเกจิ อิสิปพฺพชฺชํ ปพฺพชิตา ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งบวชเป็นฤๅษี ปาฐะว่า อิสิปพฺพชฺชา ปพฺพชิตา บวชเป็นฤๅษีดังนี้บ้าง.

บทว่า อาชีวกสาวกานํ อาชีวกา เทวตา อาชีวกเป็นเทวดาของพวกอาชีวกสาวก คือ ชนเหล่าใด เชื่อฟังคำของอาชีวกชนเหล่านั้น ชื่อว่า อาชีวก. อาชีวกของอาชีวกสาวกเหล่านั้นย่อมรับไทยธรรมของอาชีวกสาวก อาชีวกเหล่านั้นจึงเป็นเทวดา.

ในบททั้งปวงก็อย่างนี้เหมือนกัน.

บทว่า เย เยสํ ทกฺขิเณยฺยา พระทักขิไณยบุคคลผู้สมควรแก่ไทยธรรมของชนเหล่าใด คือ อาชีวกเป็นต้นเหล่าใด ผู้มีทิศเป็นที่สุด สมควรแก่ไทยธรรมของกษัตริย์เป็นต้นเหล่าใด.

บทว่า เต เตสํ เทวดา คือ อาชีวกเหล่านั้นเป็นเทวดาของกษัตริย์เป็นต้นเหล่านั้น.

บทว่า ยญฺํ เอเสนฺติ คือ ปรารถนาไทยธรรม.

บทว่า คเวสนฺติ แสวงหา คือ แลดู.

บทว่า ปริเยสนฺติ เสาะหา คือ ให้เกิดขึ้น.

บทว่า ยญฺา วา เอเต ปุถู คือ ยัญเหล่านั้นก็มาก.

บทว่า ยญฺยาชกา วา ผู้บูชายัญ

 
  ข้อความที่ 31  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 94

คือ ผู้บูชาไทยธรรมเหล่านั้นก็มาก.

บทว่า ทกฺขิเณยฺยา วา เอเต ปุถู ทักขิไณยบุคคลก็มาก คือ ทักขิไณยบุคคลผู้สมควรแก่ไทยธรรมก็มากเหมือนกัน.

พระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อทรงแสดงถึงยัญเหล่านั้นโดยพิสดาร จึงตรัสว่า ยัญเหล่านั้นมากอย่างไร.

บทว่า อาสิํสมานา หวังอยู่ คือ ปรารถนาในรูปเป็นต้น.

บทว่า อิตฺถตฺตํ คือ ปรารถนาความมีอยู่. อธิบายว่า ปรารถนาความเป็นมนุษย์เป็นต้น.

บทว่า ชรํ สิตา คือ อาศัยชรา.

ในบทนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงทุกข์ในวัฏฏะทั้งหมดด้วยหัวข้อว่า ชรา. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงแสดงว่า อาศัยทุกข์ในวัฏฏะไม่พ้นจากทุกข์นั้นจึงแสวงหา.

บทว่า รูปปฏิลาภํ อาสิํสมานา หวังได้รูป คือ ปรารถนาได้สมบัติอันเป็นบ่อเกิดแห่งวรรณะ.

แม้ในเสียงเป็นต้น ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.

บทว่า ขตฺติยมหาสาลกุเล อตฺตภาวปฏิลาภํ หวังได้อัตภาพในตระกูลกษัตริย์มหาศาล คือ ปรารถนาได้อัตภาพ คือปฏิสนธิในตระกูลมหาศาลอันเพียบพร้อมด้วยสมบัติ.

แม้ในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.

ในบทนี้ว่า พฺรหฺมกายิเกสุ เทเวสุ ในเทวดาที่นับเนื่องในหมู่พรหม ท่านกล่าวหมายถึงส่วนเบื้องต้น.

บทว่า อตฺถ คือ ในตระกูลกษัตริย์เป็นต้น.

บทว่า ชรนิสฺสิตา คือ อาศัยชรา.

แม้ในบทมีอาทิว่า พฺยาธินิสฺสิตา อาศัยพยาธิ ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.

ด้วยบทเหล่านี้ เป็นอันทรงแสดงถือเอาทุกข์ในวัฏฏะทั้งหมด.

ยัญนั้นแหละคือทางยัญ ในบทนี้ว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้นิรทุกข์ ผู้บูชายัญเหล่านั้นไม่ประมาทแล้วในทางยัญ ได้ข้ามพ้นแล้วซึ่งชาติชราบ้างหรือ. ข้อนี้มีอธิบายว่า ผู้บูชายัญเหล่านั้นไม่ประมาทแล้วใน

 
  ข้อความที่ 32  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 95

ยัญ ปรารถนายัญ ได้ข้ามพ้นทุกข์ในวัฏฏะบ้างหรือ.

บทว่า เยปิ ยญฺํ ยชนฺติ คือ บูชายัญด้วยการให้ไทยธรรม.

บทว่า ปริจฺจชนฺติ คือ สละ.

บทว่า อาสิํสนฺติ หวัง คือ ปรารถนาได้รูปเป็นต้น.

บทว่า โถมยนฺติ ยินดี คือ สรรเสริญยัญเป็นต้นโดยนัยมีอาทิว่า ทานที่ให้แล้วย่อมมีผล.

บทว่า อภิชปฺปนฺติ ย่อมชม คือ กล่าววาจาเพื่อได้ลาภเป็นต้น.

บทว่า ชุหนฺติ คือ ย่อมบูชา.

บทว่า กามาภิชปฺปนฺติ ปฏิจฺจ ลาภํ ชมกามเพราะอาศัยลาภ คือ ชมกามทั้งหลายบ่อยๆ เพราะอาศัยการได้รูปเป็นต้น กล่าวว่า ไฉนหนอกามทั้งหลายจะพึงมีแก่เราบ้าง. อธิบายว่า เพิ่มพูนตัณหาในกามนั้น.

บทว่า ยาชโยคา ผู้ประกอบในการบูชา คือ น้อมไปในการบูชา.

บทว่า ภวราครตฺตา ยินดีแล้วด้วย ภวราคะ คือ ยินดีแล้วด้วยภวราคะนั่นเอง ด้วยความหวังเป็นต้นเหล่านี้อย่างนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ยินดีแล้วในภวราคะ กระทำความหวังเป็นต้นเหล่านี้.

บทว่า นาตริํสุ คือ ไม่ข้ามทุกข์ในวัฏฏะมีชาติเป็นต้นได้.

บทว่า ยญฺํ วา โถเมนฺติ คือ ชนทั้งหลายย่อมสรรเสริญการให้.

บทว่า ผลํ วา คือ การได้มีรูปเป็นต้น.

บทว่า ทกฺขิเณยฺยํ วา คือ ทักขิไณยบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยชาติเป็นต้น.

บทว่า สุจิทินฺนํ คือ กระทำให้สะอาดแล้วให้.

บทว่า มนาปํ คือ ยังใจให้เจริญ.

บทว่า ปณีตํ คือ มีรสอร่อย.

บทว่า กาเลน คือ ในกาลอันถึงพร้อมแล้วนั้นๆ.

บทว่า กปฺปิยํ คือ เว้นสิ่งที่เป็นอกัปปิยยะแล้วให้.

บทว่า อนวชฺชํ คือ ไม่มีโทษ.

บทว่า อภิณฺหํ คือ บ่อยๆ.

บทว่า ททํ จิตฺตํ ปสาทิตํ เมื่อให้จิตผ่องใส คือ เมื่อให้ จิตขณะบริจาคก็ผ่องใส เพราะเหตุนั้น จึงสรรเสริญชมเชย.

บทว่า กิตฺเตนฺติ ย่อมประกาศ คือ ย่อมทำคุณให้ปรากฏ.

บทว่า

 
  ข้อความที่ 33  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 96

วณฺเณนฺติ คือ ย่อมกล่าวสรรเสริญ.

บทว่า ปสํสนฺติ คือ ย่อมให้ถึงความเลื่อมใส.

บทว่า อิโต นิทานํ คือ เพราะให้แล้วแต่มนุษยโลกนี้เป็นเหตุ.

บทว่า อชฺฌยกา คือ ร่ายมนต์.

บทว่า มนฺตธรา คือ ผู้ทรงไว้ซึ่งมนต์.

บทว่า ติณฺณํ เวนานํ คือ ไตรเพท มีอิรุพเพท ยชุพเพท สามเพท.

ชื่อว่า ปารคู เพราะเป็นผู้ถึงฝั่งด้วยการทำให้กระทบริมฝีปาก พร้อมด้วยคัมภีร์นิฆัณฑุศาสตร์ และเกฏุภศาสดร์.

บทว่า นิฆณฺฑุ เป็นศาสตร์ บอกชื่อของต้นไม้เป็นต้น.

บทว่า เกฏุภํ การกำหนดกิริยามารยาท อันเป็นศาสตร์เพื่อเป็นอุปการะของกวีทั้งหลาย.

เป็นประเภทอักขระ พร้อมด้วยอักขระประเภท. การศึกษา และภาษา ชื่อว่า อักขรประเภท.

บทว่า อิติหาสปญฺจมานํ มีคัมภีร์อิติหาสเป็นที่ ๕.

ชื่อว่า อิติหาสปญฺจโม เพราะมีคัมภีร์อิติหาส (หนังสือประเภทประวัติศาสตร์และประเพณีโบราณ) กล่าวคือ เรื่องราวเก่าๆ ประกอบด้วยคำพูดเช่นนี้ว่า อิติห อาส อิติห อาส เป็นที่ ๕ มีอาถรรพณเวทเป็นที่ ๔.

ชื่อว่า เป็นผู้เข้าใจตัวบทเข้าใจไวยากรณ์ เพราะเรียนรู้ตัวบทและไวยากรณ์อันเหลือจากตัวบทนั้น.

ตำรา พูดให้คนหลงเชื่อ เรียกว่า โลกายตนะ.

ตำราประมาณ ๑๒,๐๐๐ บท แสดงลักษณะของพระพุทธเจ้าเป็นต้น ผู้เป็นพระมหาบุรุษ ชื่อว่า มหาปุริสลักษณะ ได้ชื่อว่า เป็นพุทธมนต์ประมาณ ๑๖,๐๐๐ คาถา.

ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ประกอบด้วยพระลักษณะนี้ด้วยอำนาจแห่งพุทธมนต์ใด ด้วยพุทธมนต์นี้ ย่อมรู้ความต่างกันว่า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอัครสาวก พระอสีติมหาสาวก พระพุทธมารดา พระพุทธบิดา อัครอุปัฏฐาก อัครอุปัฏฐายิกา พระราชา พระเจ้าจักรพรรดิ.

บทว่า อนวยา ไม่บกพร่อง คือ ในคัมภีร์โลกายตนะ และคัมภีรมหาปุริสลักษณะไม่พร่อง บริบูรณ์

 
  ข้อความที่ 34  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 97

อธิบายว่า ไม่ขาดตกบกพร่อง. ผู้ใดไม่สามารถทรงศาสตร์เหล่านั้นไว้ได้โดยอรรถและโดยคัณฐะ (คัมภีร์) ผู้นั้นชื่อว่า บกพร่อง.

บทว่า วีตราคา คือ ละราคะได้แล้ว. ด้วยบทนี้ท่านกล่าวถึงผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตผล.

ท่านกล่าวถึงผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรคด้วยบทนี้ว่า ราควินยาย วา ปฏิปนฺนา เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะ.

บทว่า วีตโทสา ปราศจากโทสะ คือ ด้วยบทนี้ท่านกล่าวถึงท่านผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิผล. ท่านกล่าวถึงผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิมรรคด้วยบทนี้ว่า โทสวินยาย ปฏิปนฺนา เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อกำจัดโทสะ.

บทว่า วีตโมหา ปราศจากโมหะ คือ ด้วยบทนี้ท่านกล่าวถึงท่านผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตผล. ท่านกล่าวถึงผู้ที่ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรคด้วยบทนี้ว่า โมหวินยาย ปฏิปนฺนา เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อกําจัดโมหะ.

บทว่า สีลสมาธิปญฺาวิมุตฺติสมฺปนฺนา ความว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลเป็นต้น อันเจือด้วยโลกิยะและโลกุตระ ๔ เหล่านี้ คือ ศีล สมาธิ ปัญญาและวิมุตติ.

พึงทราบว่า ท่านกล่าวถึงผู้ถึงพร้อมด้วยปัจจเวกขณญาณด้วยบทนี้ว่า วิมุตฺติาณทสฺสนสมฺปนฺนา เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ. ญาณนั้นเป็นโลกิยะอย่างเดียว.

บทว่า อภิชปฺปนฺติ ย่อมชอบ คือ ย่อมปรารถนา.

บทว่า ชปฺปนฺติ คือ ย่อมหวัง.

บทว่า ปชปฺปนฺติ ย่อมอ้อนวอน คือ ย่อมหวังอย่างยิ่ง.

บทว่า ยาเค ยุตฺตา ผู้ประกอบในการบูชายัญ คือ ประกอบด้วยการบูชาอย่างยิ่งในไทยธรรมที่เขาบูชาให้.

ท่านปุณณกะทูลถามว่า อถ โก จรหิ เมื่อเป็นเช่นนั้น บัดนี้ ใครเล่าได้ข้ามพ้นแล้ว.

บทว่า สงฺขาย คือ พิจารณาแล้วด้วยญาณ.

บทว่า ปโรปรานิ คือ ฝั่งนี้และฝั่งโน้น. อธิบายว่า ฝั่งนี้และฝั่งโน้นมีอัตภาพของคนอื่น และอัตภาพของตนเป็นต้น.

บทว่า วิธูโม ปราศจาก

 
  ข้อความที่ 35  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 98

ควัน คือ ปราศจากควันมีกายทุจริตเป็นต้น.

บทว่า อนิโฆ คือ ปราศจากทุกข์มีราคะเป็นต้น.

บทว่า อตาริ โส คือ พระอรหันต์นั้นได้ข้ามชาติและชราได้แล้ว.

บทว่า สกรูปา คือ รูปของตน.

บทว่า ปรรูปา คือ รูปของคนอื่น.

บทว่า กายทุจฺจริตํ วิธูมิตํ กำจัดกายทุจริต คือ ทำความกำจัดกายทุจริต ๓ อย่าง.

บทว่า วิธมิตํ คือ ทำให้พินาศไป.

บทว่า มาโน หิ เต พฺราหฺมณ ขาริภาโร ดูก่อนพราหมณ์ ท่านมีมานะเปรียบเหมือนดังเครื่องหาบ คือ ยกมานะขึ้นอาศัยวัตถุเป็นที่ตั้งแห่งมานะ มีชาติ โคตร ตระกูลเป็นต้น ให้เกิดริษยาในมานะนั้นๆ ย่อมจมในอบาย เหมือนอย่างแบกเครื่องหาบไป แม้ตั้งอยู่ข้างบนก็ยังสัมผัสแผ่นดินในที่เหยียบแล้วๆ ฉะนั้น. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ ท่านมีมานะเปรียบเหมือนเครื่องหาบ.

บทว่า โกโธ ธูโม คือ ความโกรธเปรียบเหมือนควัน เพราะอรรถว่า เป็นความเศร้าหมองแห่งไฟคือญาณของท่าน. ไฟคือญาณเศร้าหมองด้วยความโกรธเปรียบดังควันนั้น ย่อมไม่ไพโรจน์.

บทว่า ภสฺมนิ โมสวชฺชํ คือ มีการพูดเท็จเปรียบเหมือนเถ้า เพราะไม่รุ่งเรือง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า เหมือนอย่างว่าไฟถูกเถ้าปกปิดย่อมไม่รุ่งเรืองฉันใด ญาณของท่านถูกปกปิดด้วยการพูดเท็จก็ฉันนั้น.

บทว่า ชิวฺหา สุชา มีลิ้นเปรียบเหมือนทัพพี พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ลิ้นพอที่จะให้เกิดการบูชาธรรมของเราเป็นทัพพี เหมือนทัพพีเพื่อให้เกิดการบูชายัญที่ทำด้วยทองคํา เงิน โลหะ ไม้และดินเหนียว อย่างใดอย่างหนึ่งของท่านฉะนั้น.

บทว่า หทยํ โชติฏฺานํ หทัยของสัตว์ทั้งหลายเปรียบเหมือนที่บูชายัญ คือ หทัยของสัตว์ทั้งหลายเป็นที่บูชายัญ เพราะเป็นที่ให้เกิดการบูชาธรรมของ

 
  ข้อความที่ 36  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 99

เรา เหมือนที่บูชายัญ ณ ฝั่งแม่น้ำของท่านฉะนั้น.

บทว่า อตฺตา คือ จิต.

บทว่า ชาติ คือ เป็นกำเนิดด้วยอำนาจแห่งความเกิด. บทนี้เป็นสภาพเฉพาะตัวในที่นี้. สัญชาติ (ความเกิดพร้อม) ด้วยอำนาจแห่งความเกิดร่วมกัน. เพิ่มบทอุปสัค.

บทว่า โอกฺกนฺติ (ความก้าวลง) ด้วยอำนาจ แห่งการหยั่งลง.

หรือชื่อว่า ชาติ ด้วยอรรถว่าเกิด. ความเกิดนั้นประกอบด้วยอายตนะยังไม่ครบ.

ชื่อว่า สญฺชาติ ด้วยอรรถว่าเกิดพร้อม. สัญชาตินั้นประกอบด้วยอายตนะครบ.

ชื่อว่า โอกฺกนฺติ เพราะอรรถว่า ก้าวลง. โอกกันตินั้นย่อมควรด้วยอัณฑชะกำเนิด (เกิดแต่ฟอง) และชลาพุชะกำเนิด (เกิดแต่น้ำ). เพราะสัตว์เหล่านั้นก้าวลงเข้าไปสู่ฟองไข่และช่องมดลูกย่อมถือปฏิสนธิดุจก้าวลงเข้าไป.

ชื่อว่า อภินิพฺพตฺติ (เกิดเฉพาะ) เพราะอรรถว่า เกิดยิ่ง. อภินิพพัตตินั้นย่อมควรด้วยสังเสทชะกำเนิด (เกิดแต่เหงื่อไคล) และโอปปาติกะกำเนิด (ผุดเกิดขึ้น).

จริงอยู่ สัตว์เหล่านั้นเกิดปรากฏเป็นตัวตนเลย. นี้เป็นเพียงสมมติกถา.

บัดนี้จะพูดถึงปรมัตถกถา.

จริงอยู่ โดยปรมัตถ์ ขันธ์เท่านั้นปรากฏ ไม่ใช่สัตว์ปรากฏ.

ในบทว่า ขนฺธานํ พึงทราบการถือเอาขันธ์หนึ่งในเอกโวการภพ ภพที่มีขันธ์หนึ่ง, ขันธ์ ๔ ในจตุโวการภพภพที่มีขันธ์๔, ขันธ์ ๕ ในปัญจโวการภพภพที่มีขันธ์ ๕.

บทว่า ปาตุภาโว ความปรากฏ คือ ความเกิด.

ในบทว่า อายตนานํ นี้ พึงทราบการสงเคราะห์อายตนะอันเกิดขึ้นในขันธ์นั้นๆ.

บทว่า ปฏิลาโภ การได้เฉพาะ คือ ความปรากฏในปฏิสนธินั่นเอง.

จริงอยู่ อายตนะเหล่านั้นเมื่อปรากฏอยู่ เป็นอันชื่อว่าได้แล้ว.

อนึ่ง ชาตินี้นั้นมีการเกิดครั้งแรกในภพนั้นๆ เป็นลักษณะ มีการมอบให้เป็นรส มีการผุดขึ้นในภพนี้จากภพในอดีตเป็นเครื่องปรากฏ หรือมีความ

 
  ข้อความที่ 37  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 100

เป็นผู้เต็มไปด้วยทุกข์ด้วยอำนาจแห่งผลเป็นเครื่องปรากฏ.

บทว่า ชรา ความแก่ เป็นสภาพเฉพาะตน.

บทว่า ชิรณตา ความเสื่อม แสดงถึงอาการ.

บท ๓ บทมีอาทิว่า ขณฺฑิจฺจํ ความเป็นผู้มีฟันหักเป็นต้น แสดงถึงกิจในเมื่อล่วงกาลผ่านวัยไป. ๒ บทหลังแสดงถึงปกติ.

แสดงโดยความเป็นสภาพด้วยบทนี้ว่า อยํ หิ ชรา นี่แหละชรา. นี้เป็นสภาพเฉพาะตนของชราด้วยบทนั้น.

แสดงโดยกิจ คือ การทำฟันและเล็บให้หัก ในเมื่อล่วงกาลผ่านวัยไปด้วยบทนี้ว่า ขณฺฑิจฺจํ ความเป็นผู้มีฟันหัก.

แสดงโดยกิจ คือ การทำให้ผมและขนหงอก ด้วยบทนี้ว่า ปาลิจฺจํ ความเป็นผู้มีผมหงอก.

แสดงโดยกิจ คือ การทำให้เนื้อเหี่ยวหนังย่นด้วยบทนี้ว่า วลิตฺตจตา ความเป็นผู้มีหนังย่น.

บท ๓ บทมีอาทิว่า ขณฺฑิจฺจํ นี้ แสดงกิจในเมื่อล่วงกาลผ่านวัยไปแห่งชรานั้น.

ด้วยบทเหล่านั้นท่านแสดงชราปรากฏชัดด้วยการเห็นความวิการเหล่านี้.

เหมือนอย่างว่า ทางไปของน้ำ ลม ไฟ หรือหญ้าต้นไม้เป็นต้นย่อมปรากฏ เพราะหักโค่นล้มหรือเพราะถูกไฟไหม้ แต่ทางไปไม่ปรากฏ น้ำเป็นต้นไม่ปรากฏ ฉันใด ทางไปของชราย่อมปรากฏโดยความเป็นผู้มีฟันหักเป็นต้น แม้ลืมตาคอยจับความเป็นผู้มีฟันหักเป็นต้นไม่ปรากฏ ชราก็ไม่ปรากฏฉันนั้น. เพราะชราไม่พึงรู้ด้วยตา.

บทว่า อายุโน สํหานิ อินฺทฺริยานํ ปริปาโก ความเสื่อมแห่งอายุ ความแก่แห่งอินทรีย์ทั้งหลาย ความว่า ท่านแสดงตามปกติ กล่าวคือความเสื่อมแห่งอายุและความแก่แห่งอินทรีย์มีจักขุนทรีย์เป็นต้น เพราะรู้เท่าทันในเมื่อล่วงกาลผ่านวัยไปด้วยบทเหล่านี้.

พึงทราบว่า สองบทหลังนี้แสดงถึงปกติของอายุนั้น.

ในบทนั้นเพราะเมื่อถึงชราอายุย่อมเสื่อม ฉะนั้น ชราท่านกล่าวด้วยความใกล้เคียงผลว่า ความเสื่อมแห่งอายุ ก็เพราะเมื่อยังเป็น

 
  ข้อความที่ 38  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 101

หนุ่ม อินทรีย์มีจักขุนทรีย์เป็นต้นแจ่มใสดี สามารถจับวิสัยของตนแม้ละเอียดอ่อนได้โดยง่าย เมื่อถึงชราอินทรีย์ก็แก่หง่อม ขุ่นมัว เศร้าหมอง ไม่สามารถจะจับวิสัยของตนแม้หยาบได้ ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวโดยใกล้เคียงผลว่า อินฺทฺริยานํ ปริปาโก ความแก่แห่งอินทรีย์ทั้งหลาย.

ก็เมื่อได้แสดงถึงชรานั้นอย่างนี้แล้วจึงสรุปได้ว่า ชรามีสองอย่าง คือ ชราปรากฏ และชราปกปิด.

ในชราทั้งสองนั้น ชราในรูปธรรม ชื่อว่า ชราปรากฏ เพราะแสดงความมีฟันหักเป็นต้น. แต่ชราในอรูปธรรม ชื่อว่า ชราปกปิด เพราะไม่เห็นความวิการเช่นนั้น. ความเป็นผู้มีฟันหักเป็นต้น จักปรากฏเป็นสีของฟันเป็นต้นเช่นนั้น. ครั้นเห็นสีนั้นด้วยตา คิดด้วยใจ จึงรู้ชราว่าขันธ์ทั้งหลายถูกชรากำจัดเสียแล้ว. ดุจแลดูจันทน์เหลืองเป็นต้น ที่เขาผูกไว้ในที่มีน้ำ แล้วก็รู้ว่าน้ำมีอยู่ข้างล่าง.

ชรายังมีอีกสองอย่าง คือ อวิจิชรา ๑ สวิจิชรา ๑ ในชราสองอย่างนั้น ชราชื่อว่า อวิจิชรา เพราะรู้ในความแตกต่างของสี มีมณี ทอง เงิน แก้วประพาฬ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์เป็นต้นในระหว่างๆ ได้ยาก ดุจของสัตว์มีชีวิต ในบรรดาพระเจ้ามันธาตุราชและท้าวสักกะเป็นต้น และดุจของสิ่งไม่มีชีวิต ในบรรดาดอกไม้ ผลไม้ และใบไม้อ่อนเป็นต้น. อธิบายว่า ชราต่อเนื่อง.

ชราชื่อว่า สวิจิชรา เพราะรู้ความแตกต่างของสิ่งในระหว่างๆ ในสิ่งอื่นจากนั้นตามที่กล่าวแล้วได้ง่าย.

ในชราสองอย่างนั้น สวิจิชราพึงแสดงอย่างนี้ด้วยอุปาทินนกะ. เพราะว่าเด็กเล็กฟันน้ำนมขึ้นก่อน แต่ไม่มั่นคง. เมื่อฟันน้ำนมหักฟันก็ขึ้นอีก. ฟันเหล่านั้นตอนแรกก็ขาว ครั้นถึงคราวลมชรากระทบก็ดำ. ส่วนผมตอนแรกก็แดงบ้างดำบ้าง. ส่วนผิวมีสีแดง เมื่อเจริญเติบโตก็ปรากฏเป็นผิวขาวผิวดำ. ครั้น

 
  ข้อความที่ 39  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 102

ถึงคราวถูกลมชรากระทบก็เกิดรอยย่น เวลาอบด้วยตนเองก็ขาว ภายหลังก็เขียวแก่. ครั้นถูกลมชรากระทบก็ขาว. ควรเปรียบด้วยหน่อมะม่วง.

อนึ่ง ชรานั้นมีความแก่ของขันธ์ เป็นลักษณะ มีการนำเข้าไปสู่มรณะ เป็นรส มีการหมดความเป็นหนุ่มสาว เป็นเครื่องปรากฏ.

บทที่เหลือในบททั้งปวงชัดดีแล้ว.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจบพระสูตรนี้ลงด้วยธรรมเป็นยอด คือ พระอรหัตด้วยประการฉะนี้.

เมื่อจบเทศนา พราหมณ์พร้อมด้วยอันเตวาสิก ๑,๐๐๐ ก็ตั้งอยู่ในพระอรหัต. ธรรมจักษุเกิดขึ้นแล้วแก่ชนเหล่าอื่นหลายพัน.

บทที่เหลือเช่นกับที่ได้กล่าวไว้แล้วนั่นแล.

จบอรรถกถาปุณณกมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๓