พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓๖. อรรถกถา สมสีสัฏฐญาณุทเทส ว่าด้วยสมสีสัฏฐญาณ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  24 พ.ย. 2564
หมายเลข  40844
อ่าน  476

[เล่มที่ 68] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้า 111

มหาวรรค

ญาณกถามาติกา

๓๖. อรรถกถา สมสีสัฏฐญาณุทเทส

ว่าด้วยสมสีสัฏฐญาณ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 68]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้า 111

๓๖. อรรถกถาสมสีสัฏฐญาณุทเทส

ว่าด้วย สมสีสัฏฐญาณ

คำว่า สพฺพธมฺมานํ - แห่งธรรมทั้งปวง ความว่า แห่งธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ ทั้งปวง.

คำว่า สมฺมาสมุจฺเฉเท - ในการตัดขาดโดยชอบ ความว่า ในความดับด้วยดี ด้วยการตัดขาดสันตติด้วย.

คำว่า นิโรเธ จ อนุปฏฺานตา - ในความดับด้วยในความไม่ปรากฏด้วย ความว่า ดำเนินไปในนิโรธ ในความไม่ปรากฏอีก, อธิบายว่า ไม่เกิดขึ้นอีก.

อักษรต้องสัมพันธ์ควบกับ สมฺมาสมุจฺเฉเท จ - ในการตัดขาดดีด้วย, นิโรเธ จ - ในความดับด้วย, อนุปฏฺนาตา จ - ในความไม่ปรากฏด้วย.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้า 112

คำว่า สมสีสฏฺเ าณํ - ญาณในอรรถแห่งธรรมอันสงบ และเป็นประธาน ความว่า ธรรม ๓๗ ประการมีเนกขัมมะเป็นต้น ชื่อ สมะ - ธรรมอันสงบ, ธรรม ๑๓ ประการมีตัณหาเป็นต้น ชื่อ สีสะ - ธรรมอันเป็นประธาน. ชื่อว่า สมะ เพราะปัจนิกธรรมทั้งหลายสงบ, ชื่อว่า สีสะ เพราะเป็นประธานตามสมควรแก่การประกอบ และเพราะเป็นยอด.

ธรรมอันสงบมีเนกขัมมะเป็นต้น และธรรมอันเป็นประธาน มีสัทธาเป็นต้น ในอิริยาบถหนึ่งก็ดี ในโรคหนึ่งก็ดี ในชีวิตินทรีย์หนึ่งด้วยการสืบต่อกันโดยเสมอภาคก็ดี มีอยู่แก่ผู้นั้น ฉะนั้น ผู้นั้นจึงชื่อว่า สมสีสี ผู้มีธรรมอันสงบและธรรมอันเป็นประธาน, อรรถะ คือเนื้อความแห่งสมสีสี ชื่อว่า สมสีสัฏฐะ ในอรรถะแห่งสมสีสะนั้น, อธิบายว่า ในความเป็นสมสีสี.

ความเป็นแห่งสมสีสีย่อมมีแก่พระอรหันต์เท่านั้นผู้ปรารภวิปัสสนาในอิริยาบถหนึ่ง หรือในโรคหนึ่ง หรือในชีวิต ด้วยการสืบต่อกันโดยเสมอภาค แล้วบรรลุมรรค ๔ ผล ๔ ในอิริยาบถนั้นนั่นเอง หรือในโรค ในชีวิต ด้วยการสืบต่อกันโดยเสมอภาค ปรินิพพานอยู่ในขณะนั้นนั่นเอง ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ว่า ญาณในความเป็นแห่ง สมสีสีดังนี้. สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ในปุคคลบัญญัติปกรณ์และอรรถกถาแห่งปกรณ์ว่า

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้า 113

ก็บุคคลชื่อว่าสมสีสี เป็นไฉน? การสิ้นไปแห่งอาสวะและการสิ้นไปแห่งชีวิตของบุคคลใด มีไม่ก่อนไม่หลังกัน บุคคลนี้เรียกว่า สมสีสี (๑) .

พึงทราบวินิจฉัยในสมสีสีนิทเทสดังต่อไปนี้ คำว่า อปุพฺพํ อจริมํ - ไม่ก่อน ไม่หลัง ความว่า ไม่ใช่ในภายหน้า ไม่ใช่ในภายหลัง คือ ในคราวเดียวกันด้วยสามารถแห่งปัจจุบันสันตติ, อธิบาย ว่า ในคราวเดียวกันนั่นเอง.

คำว่า ปริยาทานํ - การละ ได้แก่ การสิ้นไปรอบ.

คำว่า อยํ - บุคคลนี้ ความว่า บุคคลนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกชื่อว่าสมสีสี. ก็สมสีสีบุคคลนี้นั้นมีอยู่ ๓ จำพวก คืออิริยาปถสมสีสี ๑, โรคสมสีสี ๑, ชีวิตสมสีสี ๑.

บรรดาสมสีสีบุคคลทั้ง ๓ จำพวกนั้น บุคคลใดกำลังจงกรมอยู่ เริ่มตั้งวิปัสสนาแล้วบรรลุพระอรหัต ยังจงกรมอยู่นั่นเองก็ปรินิพพาน, บุคคลใดกำลังยืนอยู่เริ่มตั้งวิปัสสนาแล้วบรรลุพระอรหัต ยังยืนอยู่


๑. อภิ.ปุ. ๓๖/๓๒.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้า 114

นั่นเองก็ปรินิพพาน, บุคคลใดกำลังนั่งอยู่เริ่มตั้งวิปัสสนาแล้วบรรลุพระอรหัต ยังนั่งอยู่นั่นเองก็ปรินิพพาน บุคคลนี้ชื่อว่า อิริยาปถสมสีสี.

ส่วนบุคคลใดเกิดโรคอย่างหนึ่งแล้ว เริ่มตั้งวิปัสสนาในภายในโรคนั่นเองแล้วบรรลุพระอรหัต แล้วปรินิพพานไปด้วยโรคนั้นนั่นแหละ, บุคคลนี้ชื่อว่า โรคสมสีสี.

บุคคล ชื่อว่า ชีวิตสมสีสี เป็นไฉน? ศีรษะมี ๑๓ (๑). บรรดาศีรษะเหล่านั้น อรหัตตมรรคย่อมครอบงำอวิชชาอันเป็นกิเลสสีสะ, จุติจิตย่อมครอบงำชีวิตินทรีย์อันเป็นปวัตตสีสะ, จิตที่ครอบงำอวิชชา ครอบงำชีวิตินทรีย์ไม่ได้. จิตที่ครอบงำชีวิตินทรีย์ก็ครอบงำอวิชชาไม่ได้. จิตที่ครอบงำอวิชชาเป็นอย่างหนึ่ง, และจิตที่ครอบงำชีวิตินทรีย์ ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง. ก็ทั้ง ๒ ศีรษะนี้ของบุคคลใดย่อมถึงซึ่งการครอบงำพร้อมกัน. บุคคลนั้นชื่อว่า ชีวิตสมสีสี.

ศีรษะทั้ง ๒ นี้ จะมีพร้อมกันได้อย่างไร? มีได้เพราะพร้อมกันโดยวาระ. อธิบายว่า การออกจากมรรคมีในวาระใด พระอริยบุคคลตั้งอยู่ในปัจจเวกขณญาณ ๑๙ คือ


๑. ตัณหา, มานะ, ทิฏฐิ, อุทธัจจะ, อวิชชา, สัทธา, วิริยะ, สติ, สมาธิ, ปัญญา, ชีวิตินทรีย์, วิโมกข์, นิโรธะ.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้า 115

ในโสดาปัตติมรรค มีปัจจเวกขณญาณ ๕,

ในสกทาคามิมรรค มีปัจจเวกขณญาณ ๕,

ในอนาคามิมรรค มีปัจจเวกขณญาณ ๕,

ในอรหัตตมรรค มีปัจจเวกขณญาณ ๔,

แล้วหยั่งลงสู่ภวังค์ จึงปรินิพพาน.

การครอบงำศีรษะทั้ง ๒ ชื่อว่าย่อมมีพร้อมกันได้ เพราะพร้อมกันโดยวาระนี้นั่นเอง เพราะเหตุนั้น บุคคลนี้ ท่านจึงเรียกว่า ชีวิตสมสีสี. ก็ชีวิตสมสีสีบุคคลนี้แล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์เอาแล้วในที่นี้.