พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖๘. อรรถกถา อินทริยปโรปริยัตตญาณุทเทส ว่าด้วยอินทริยปโรปริยัตตญาณ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  24 พ.ย. 2564
หมายเลข  40869
อ่าน  468

[เล่มที่ 68] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้า 155

มหาวรรค

ญาณกถามาติกา

๖๘. อรรถกถา อินทริยปโรปริยัตตญาณุทเทส

ว่าด้วยอินทริยปโรปริยัตตญาณ


เปิดอ่านหัวข้ออื่นๆ ... (เล่ม 68)


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 68]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้า 155

๖๘. อรรถกถาอินทริยปโรปริยัตตญาณุทเทส

ว่าด้วย อินทริยปโรปริยัตตญาณ

พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ครั้นยกญาณอันทั่วไปแก่พระสาวก ๖๗ ญาณขึ้นแสดงตามลำดับอย่างนี้แล้ว เพื่อจะแสดงญาณอันมีเฉพาะพระตถาคตเจ้าเท่านั้นไม่ทั่วไปแก่พระสาวกทั้งหลาย จึงได้ยกอสาธารณญาณ ๖ มีอินทริยปโรปริยัตตญาณขึ้นแสดง ณ บัดนี้.

แม้บรรดาอสาธารณญาณทั้ง ๖ นั้น พระตถาคตเจ้าทั้งหลาย เมื่อจะทรงตรวจดูความที่สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีภาชนะเป็นเครื่องรองรับพระธรรมเทศนา ก็ย่อมตรวจดูด้วยพุทธจักษุ. อินทริยปโรปริยัตตญาณและอาสยานุสยญาณทั้ง ๒ นี้เท่านั้น ชื่อว่า พุทธจักษุ. สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรวจดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักษุได้ทรงเห็นแล้วแล ซึ่งสัตว์ทั้งหลาย บางพวกมีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อย บางพวกมีธุลีคือกิเลสในจักษุมาก บางพวกมีอินทรีย์แก่กล้า บางพวกมีอินทรีย์อ่อน (๑) ดังนี้เป็นต้น.


๑. วิ.มหา. ๔/๙.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้า 156

และเมื่อตรวจดูสัตว์โลกทั้งหลาย ก็ทรงตรวจดูความแก่กล้าแห่งอินทรีย์ในสันดานของสัตว์ก่อน. ครั้นทรงทราบความแก่กล้าแห่งอินทรีย์แล้ว ต่อแต่นั้นก็ทรงตรวจดูอาสยานุสัยและจริต เพื่อแสดงธรรมตามสมควรแก่อาสยะเป็นต้น, แม้เพราะเหตุนั้น ท่านจึงยก อินทริยปโรปริยัตตญาณขึ้นแสดงก่อน, ในลำดับต่อจากนั้นก็ยกอาสยานุสยญาณขึ้นแสดง.

ก็เมื่อจะทรงแสดงธรรม ย่อมทรงกระทำปาฏิหาริย์แก่ผู้ควรแนะนำด้วยปาฏิหาริย์, เพราะเหตุนั้น พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรจึงยก ญาณในยมกปาฏิหาริย์ ขึ้นแสดงในลำดับต่อจากอาสยานุสยญาณ, เพื่อจะแสดงเหตุแห่งญาณทั้ง ๓ เหล่านี้ จึงยก มหากรุณาญาณ ขึ้นแสดง แล้วยก สัพพัญญุตญาณ ขึ้นแสดงเป็นลำดับต่อไป เพื่อแสดงความบริสุทธิ์แห่งมหากรุณาญาณ.

พึงทราบว่า พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรได้ยก อนาวรณญาณ ขึ้นแสดงในลำดับแห่งสัพพัญญุตญาณนั้น เพื่อแสดงความที่พระสัพพัญญุตญาณเป็นญาณที่เนื่องด้วยการระลึกถึงธรรมทั้งปวง และเพื่อแสดงความที่พระสัพพัญญุตญาณเป็น อนาวริยภาพ คือไม่มีอะไรขัดข้อง.

ในคำว่า อินฺทฺริยปโรปริยตฺตาณํ - ญาณในความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลายนี้ บทว่า สตฺตานํ - แห่งสัตว์ทั้งหลาย ข้างหน้า พึงนำมาประกอบในที่นี้ด้วยเป็น สตฺตานํ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้า 157

อินฺทฺริยปุโรปริยตฺตาณํ. เมื่อควรจะกล่าวว่า ปรานิ จ อปรานิ จ ปราปรานิ ท่านก็เรียกเสียว่า ปโรปรานิ เพราะทำให้เป็น โร อักษร ด้วยสนธิวิธี. ภาวะแห่งปโรประ ชื่อว่า ปโรปริยะ, ปโรปริยะนั่นแหละ ชื่อว่า ปโรปริยัตตะ, ความอ่อนและความแก่กล้าแห่งอินทรีย์ ๕ มีสัทธาเป็นต้น ของเวไนยสัตว์ทั้งหลาย ชื่อว่า อินทริยปโรปริ- ยัตตะ, ญาณในอินทริยปโรปริยัตตะ ชื่อว่า อินทริยปโรปริยัตตญาณ, อธิบายว่า ญาณในความที่อินทรีย์ทั้งหลายเป็นคุณสูงและต่ำ ปาฐะว่า อินฺทฺริยวโรวริยตฺตาณํ - ญาณในความที่อินทรีย์เป็นคุณประเสริฐและไม่ประเสริฐ ดังนี้ก็มี. พึงประกอบคำว่า วรานิ จ อวริยานิ จ วโรวริยานิ - ประเสริฐด้วย ไม่ประเสริฐด้วย ชื่อว่า ประเสริฐและไม่ประเสริฐ, ภาวะแห่งวโรวริยะ ชื่อว่า วโรวริยัตตะ.

คำว่า อวริยานิ - ไม่ประเสริฐ ความว่า ไม่สูงสุด. อีกอย่าง หนึ่ง ปร- อินทรีย์ที่ใช้ได้ด้วย, โอปร - อินทรีย์ที่ใช้ไม่ได้ด้วย ชื่อว่า ปโรประ, พึงประกอบความว่า ภาวะแห่งปโรประ ชื่อว่า ปโรปริยัตตะ - ความเป็นแห่งอินทรีย์ที่ใช้ได้และใช้ไม่ได้ดังนี้.

คำว่า โอปรานิ - อินทรีย์ที่ใช้ไม่ได้ มีคำอธิบายว่า ต่ำทราม, ความว่า ลามก ดุจในคำเป็นต้นว่า พิจารณาธรรมอันลามกของผู้ใดอยู่ (๑) ดังนี้. ท่านตั้งปาฐะไว้เป็นสัตตมีวิภัตติว่า อินฺทฺริยปโรปริยตฺเต าณํ ดังนี้ก็มี.


๑. ขุ. สุ. ๒๕/๓๕๙.