พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

ลักขณัตติกนิทเทส

 
บ้านธัมมะ
วันที่  24 พ.ย. 2564
หมายเลข  40896
อ่าน  376

[เล่มที่ 68] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้า 408

ลักขณัตติกนิทเทส

อรรถกถาลักขณัตติกนิทเทส


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 68]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้า 408

ลักขณัตติกนิทเทส

[๗๙] ปัญญาเครื่องทรงจำธรรมที่ได้สดับมาแล้ว คือ เครื่องรู้ชัดธรรมที่ได้สดับมาแล้วนั้นว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ชื่อว่าสุตมยญาณอย่างไร?

ปัญญาเครื่องทรงจำธรรมที่ได้สดับมาแล้ว คือ เครื่องรู้ชัดธรรมที่ได้สดับมาแล้วนั้นว่า รูปไม่เที่ยงเพราะความว่าสิ้นไป เป็นทุกข์เพราะความว่าน่ากลัว เป็นอนัตตาเพราะความว่าหาแก่นสารมิได้ ชื่อว่า สุตมยญาณ ปัญญาเครื่องทรงจำธรรมที่ได้สดับมาแล้ว คือ เครื่องรู้ชัดธรรมที่ได้สดับมาแล้วนั้นว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จักษุ ฯลฯ ชราและมรณะ ไม่เที่ยงเพราะความว่าสิ้นไป เป็นทุกข์เพราะ ความว่าน่ากลัว เป็นอนัตตาเพราะความว่าหาแก่นสารมิได้ ชื่อว่า สุตมยญาณ ชื่อว่าญาณด้วยอรรถว่ารู้ธรรมนั้น ชื่อว่าปัญญาด้วยอรรถว่ารู้ชัด เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาเครื่องทรงจำธรรมที่ได้สดับมาแล้ว คือ เครื่องรู้ชัดธรรมที่ได้สดับมาแล้วนั้นว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ชื่อว่า สุตมยญาณ.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้า 409

อรรถกถาลักขณัตติกนิทเทส

๗๙] บัดนี้ เพราะโลกิยธรรมแม้อย่างหนึ่งๆ ถูกกำจัดด้วยไตรลักษณ์, ฉะนั้นท่านจึงชี้แจงไตรลักษณ์เป็นอันเดียวกัน.

ในบทเหล่านั้น บทว่า อนิจฺจํ ขยฏฺเน - รูปไม่เที่ยงเพราะอรรถว่า สิ้นไป คือ รูป ชื่อว่า ไม่เที่ยง เพราะความสิ้นไปในลักษณะนั้นๆ. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ชื่อว่า ไม่เที่ยง เพราะมีความสิ้นไป เสื่อมไป หมดความยินดี ดับไปเป็นธรรมดา.

บทว่า ทุกฺขํ ภยฏฺเน เป็นทุกข์ เพราะอรรถว่า น่ากลัว คือ ชื่อว่า ทุกข์ เพราะความมีภัยเฉพาะหน้า. เพราะสิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นไม่เที่ยงย่อมนำมาซึ่งความน่ากลัว ดุจความทุกข์ของทวยเทพในสีโหปมสูตร (๑) ฉะนั้น. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ชื่อว่า ทุกฺขํ ด้วยอรรถว่า ชาติ ชรา พยาธิ และมรณะ เป็นสิ่งน่ากลัว.

บทว่า อนตฺตา อสารกฏฺเน เป็นอนัตตา เพราะอรรถว่า หาแก่นสารมิได้ คือ ชื่อว่า อนัตตา เพราะไม่มีแก่นสารในตนที่กำหนดไว้อย่างนี้ว่า ตัวตน ผู้อยู่อาศัย ผู้กระทำ ผู้รู้ ผู้มีอำนาจเอง เพราะว่าสิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ สิ่งนั้นไม่สามารถจะดำรงความไม่เที่ยงแม้ของตนหรือความเกิด ความเสื่อมและความบีบคั้นไว้ได้, จะหา


๑. สํ. ขนฺธ. ๑๗/๑๕๔.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้า 410

ความเป็นผู้กระทำเป็นต้นของตนนั้นได้แต่ไหน. สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากรูปนี้เป็นตัวตนแล้วไซร้, รูปนี้จะไม่พึงเป็นไปเพื่อความอาพาธเลย (๑) อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ชื่อว่า อนัตตา เพราะไม่มีแก่นสารในตน ไม่มีแก่นสารเป็นนิจ.

จบ อรรถกถา ลักขณัตติกนิทเทส


๑. วิ. มหา. ๔/๒๐.