เราไม่พักอยู่ ไม่เพียรอยู่ ข้ามโอฆะได้แล้ว [โอฆตรณสูตร]
[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑- หน้าที่ 2
โอฆตรณสูตร
ว่าด้วยการข้ามโอฆะ
[๒] เทวดานั้น ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ข้าพระองค์ขอทูลถาม พระองค์ข้ามโอฆะได้อย่างไร
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ท่านผู้มีอายุ เราไม่พักอยู่ ไม่เพียรอยู่ ข้ามโอฆะได้แล้ว.
ท. ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ก็พระองค์ไม่พักไม่เพียร ข้ามโอฆะ ได้อย่างไรเล่า.
พ. ท่านผู้มีอายุ เมื่อใด เรายังพักอยู่ เมื่อนั้น เรายังจมอยู่โดยแท้ เมื่อใดเรายังเพียรอยู่ เมื่อนั้น เรายังลอยอยู่โดยแท้ ท่านผู้มีอายุ เราไม่พัก เราไม่เพียร ข้ามโอฆะได้แล้วอย่างนี้แล.
พักแล้วจม - เพียรแล้วลอย หมายความว่าอย่างไร?
โอฆะ คือสังสาระใช่หรือไม่??
โอฆะ แปลว่า ห้วงน้ำ คือ สังสารวัฏฏ์ค่ะ พักแล้วจมคือกิเลส เพียรแล้วลอย เจตนาที่เป็นไปในกุศล อกุศล ขณะที่สติปัฏฐานเกิด ชื่อว่าไม่พัก ไม่เพียร เพราะเป็นหนทางที่จะข้ามโอฆะ คือ ดับกิเลส
...เชิญคลิกอ่าน...
ขออนุโมทนาครับ
ผมกำลังฟังถึงเรื่องนี้อยู่พอดี ยอมรับว่าก็ยังไม่เข้าใจมากเท่าไรครับ เรียนช่วยยกตัวอย่างระหว่างการข้ามโอฆะของพระอริยบุคคลกับปุถุชนได้มั้ยครับ
ขอบพระคุณครับ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
จาก ความเห็นที่ 2
พักแล้วจม - เพียรแล้วลอย หมายความว่าอย่างไร?
ถ้าคิดว่า ไม่เป็นไร ก็ไม่ต้องศึกษาธรรม ก็อยู่ไป ทำงานไป (ตามความพอใจหรืออำนาจกิเลส) ชื่อว่าพักอยู่ด้วยอำนาจกิเลสครับ จมอยู่นั่นเอง อีกอย่าง เพียรด้วยความไม่รู้ เข้าใจหนทางผิดเพียรใหญ่เลย (ความเพียร มีทั้งที่เป็นอกุศลและกุศล) เพียรอย่างนี้ควรเพียรไหม ถ้าเพียรด้วยความเห็นผิด เข้าใจหนทางผิดชื่อว่าลอย แล้วถ้ามีความเข้าใจถูก การเพียรนั้นควรเพียรไหม ควรเพียร ซึ่งเป็นสติปัฏฐานหรือมรรค 8 ชื่อว่า ไม่พักไม่เพียรครับ
โอฆะ คือ คือสังสาระใช่หรือไม่??
โอฆะคือกิเลส ดังเช่นห้วงน้ำใหญ่ ซึ่งก้ไม่พ้นจากทางตา...ใจที่กิเลสจะเกิดขึ้น เป็นโอฆะประเภทต่างๆ (กิเลส) ทำให้จมอยู่ในห้วงน้ำครับ และโอฆะก็หมายถึง สังสารวัฏฏ์ ด้วยครับที่เหมือนห้วงน้ำ เราก็จมอยู่ในห้วงน้ำ ไม่มีทางพ้นไปได้เลยจากสังสารวัฏฏ์และกิเลสครับ ตราบใดที่ไม่มีปัญญา
[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑- หน้าที่ 34
ข้อความบางตอนจาก
โอฆรตรณสูตร
แม้เทวดาก็ฟังคำอันเป็นภายนอกก่อน ธรรมดาว่า บุคคลผู้ข้ามโอฆะ ต้องยืนอยู่ในที่อันตนควรยืน ต้องพยายามในที่อันตนพึงข้ามจึงข้ามไปได้ แต่พระองค์ตรัสว่า เราไม่พักอยู่ ไม่เพียรอยู่ ข้ามได้แล้วซึ่งกองกิเลส คือกิเลส เพียงดังโอฆะ (ห้วงน้ำวน) อันแผ่ควบคุมไปตั้งแต่อเวจีนรกจนถึงภวัคคภูมิ
[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒- หน้าที่ 83
บทว่า ปญฺโจฆติณฺโณ ได้แก่ ข้ามโอฆะคือกิเลสที่เป็นไปในทวารทั้ง ๕.
บทว่า ฉฏฺฐํ ได้แก่ ทรงข้ามโอฆะคือกิเลสที่ ๖ แม้ที่เป็นไปในมโนทวาร.
โอฆะ มี 4 อย่าง
[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑- หน้าที่ 33
โอฆะ ๔ ในพระบาลีว่า โอฆมตริ นี้คือ กาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ และอวิชโชฆะ. ในโอฆะเหล่านั้น ความยินดีพอใจ ในกามคุณ ๕ ชื่อว่า กาโมฆะ. ความยินดีพอใจในรูปภพ อรูปภพและความใคร่ในฌาน ชื่อว่าภโวฆะ. ทิฏฐิ ๖๒ ชื่อว่า ทิฏโฐฆะ. ความไม่รู้ในสัจจะ ๔ ชื่อว่า อวิชโชฆะ.
ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากชีวิตประจำวัน ที่มีในขณะนี้ ที่เรามีทั้ง โอฆะประเภทต่างๆ ครับ ไม่ลืมว่าเป็นธรรมและธรรมไม่ได้อยู่ในตำราแต่อยู่ในขณะนี้ รู้ตามความเป็นจริงว่าไม่ใช่เรา เป็นธรรม
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
จาก ความเห็นที่ 4
ตัวอย่างการข้ามโอฆะของพระอริยบุคคลกับปุถุชน
[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
เล่ม ๔ - หน้าที่ 27
อุทกูปมสูตร
[๑๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลมีเปรียบด้วยน้ำ ๗ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก ๗ จำพวกเป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ จมลงแล้วคราวเดียว ก็เป็นอันจมอยู่นั่นเอง ๑
บางคนโผล่ขึ้นมาแล้ว กลับจมลงไป ๑
บางคนโผล่พ้นแล้วทรงตัวอยู่ ๑
บางคนโผล่ขึ้นแล้ว เหลียวไปมา ๑
บางคนโผล่ขึ้นแล้วเตรียมตัวจะข้าม ๑
บางคนโผล่ขึ้นแล้วได้ที่พึ่ง ๑
บางคนโผล่ขึ้นมาได้แล้วเป็นพราหมณ์ข้ามถึงฝั่งอยู่บนบก ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่จมลงแล้วคราวเดียว ก็เป็นอันจมอยู่นั่นเองอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยอกุศลธรรมฝ่ายดำโดยส่วนเดียว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่จมลงแล้วคราวเดียวก็เป็นอันจมอยู่นั่นเองอย่างนี้แล
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่โผล่ขึ้นมาได้กลับจมลงไปอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้ โผล่ขึ้นมาได้ คือเขามีธรรม คือ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญาชั้นดีๆ ในกุศลธรรมทั้งหลาย แต่ศรัทธาของเขานั้นไม่คงที่ ไม่เจริญขึ้น เสื่อมไปฝ่ายเดียว หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญาของเขานั้น ไม่คงที่ ไม่เจริญขึ้น เสื่อมไปฝ่ายเดียว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่โผล่ขึ้นมาแล้วกลับจมลง อย่างนี้แล.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่โผล่ขึ้นมาแล้วทรงตัวอยู่อย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้ โผล่ขึ้นมาได้ คือ เขามีธรรมเหล่านี้ คือ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญาชั้นดีๆ ในกุศลธรรมทั้งหลาย แต่ศรัทธาของเขานั้นไม่เสื่อมลง ไม่เจริญขึ้น คงที่อยู่ หิริ โอตตัปปะ วิริยะ และปัญญาของเขานั้นไม่เสื่อมลง ไม่เจริญขึ้น คงที่อยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่โผล่ขึ้นมาได้แล้วทรงตัวอยู่อย่างนี้แล.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่โผล่ขึ้นมาได้แล้วเหลียวไปมาอย่างไร บุคคลบางตนในโลกนี้ โผล่ขึ้นมาได้ คือ เขามีธรรมเหล่านี้คือ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญาชั้นดีๆ ในกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป เขาเป็นพระโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่โผล่ขึ้นมาได้แล้วเหลียวไปมาอย่างนี้แล.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่โผล่ขึ้นมาได้แล้วเตรียมตัวจะข้ามอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้ โผล่ขึ้นมาได้ คือ เขามีธรรมเหล่านี้ คือ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญาชั้นดีๆ ในกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป เพราะทำราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางลง เขาเป็นพระสกทาคามี มาสู่โลกนี้อีกครั้งเดียวเท่านั้น แล้วทำที่สุดทุกข์ได้ บุคคลที่โผล่ขึ้นมาได้แล้ว เตรียมตัวจะข้าม อย่างนี้แล.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่โผล่ขึ้นมาแล้วได้ที่พึ่งอย่างไร บุคคลบางตนในโลกนี้ โผล่ขึ้นมาได้ คือ เขามีธรรมเหล่านี้ คือ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญา ชั้นดีๆ ในกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป เขาเป็นพระอนาคามี จักปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา บุคคลที่โผล่ขึ้นมาแล้วได้ที่พึ่งอย่างนี้แล.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่โผล่ขึ้นมาได้แล้วเป็นพราหมณ์ ข้ามถึงฝั่งอยู่บนบกอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้ โผล่ขึ้นมาได้ คือ เขามีธรรมเหล่านี้ คือ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญาชั้นดีๆ ในกุศลธรรมทั้งหลาย เขากระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ บุคคลที่โผล่ขึ้นมาได้แล้วเป็นพราหมณ์ ข้ามถึงฝั่งอยู่บนบกอย่างนี้แล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลเปรียบด้วยน้ำ ๗ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก.
จบ อุทกูปมสูตรที่ ๕
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
อนุโมทนาด้วยค่ะ สงสัยมานานแล้ว เพราะประสบการณ์ทำให้คิดว่า "ลอยเป็นเรื่องดี"เลยสงสัยเรื่องเพียรแล้วลอย อ่านคำตอบของคุณแล้วเจอกัน จึงได้เกิดรู้ขึ้นมาว่า พระองค์จะข้ามต่างหาก ถ้าลอยอยู่ก็แปลว่ายังข้ามไม่ได้ และการอธิบายถึงการเพียรที่ผิดทำให้กระจ่าง
ขอบคุณค่ะ
เคยเรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ว่า ไม่พัก ไม่เพียร ข้ามโอฆะได้ หมายความว่าอย่างไร? ท่านอาจารย์ตอบว่า คือ มรรคมีองค์ 8
มรรคมีองค์ 8 ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ (มีความเห็นชอบ) สัมมาสังกัปปะ (มีความดำริชอบ) สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) สัมมากัมมันตะ (การงานชอบ) สัมมาอาชีวะ (อาชีพชอบ) สัมมาวายามะ (มีความเพียรชอบ) สัมมาสติ (ระลึกชอบ) สัมมาสมาธิ (ตั้งมั่นชอบ)