มหาโมคคัลลานเถราปทานที่ ๔ (๒) ว่าด้วยบุพจริยาของพระมหาโมคคัลลานะ
เล่มที่ 70 [เล่มที่ 70] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๑
พุทธวรรคที่ ๑
๓. เถราปทาน
มหาโมคคัลลานเถราปทานที่ ๔ (๒)
ว่าด้วยบุพจริยาของพระมหาโมคคัลลานะ
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 70]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๑ - หน้า 484
มหาโมคคัลลานเถราปทานที่ ๔ (๒)
ว่าด้วยบุพจริยาของพระมหาโมคคัลลานะ
[๔] พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนานว่าอโนมทัสสี ผู้ประเสริฐสุดในโลก เป็นนระผู้องอาจ อันหมู่เทพแวดล้อมประทับอยู่ ณ ประเทศหิมวันต์.
เวลานั้น เราเป็นนาคราชมีนามว่า วรุณ แปลงรูปอันน่า ใคร่ได้ต่างๆ อาศัยอยู่ในทะเลใหญ่.
เราละหมู่นาคซึ่งเป็นบริวารทั้งสิ้น มาตั้งวงดนตรีในกาล นั้น หมู่นางนาคแวดล้อมพระสัมพุทธเจ้าประโคมดนตรีอยู่.
เมื่อดนตรีของมนุษย์และนาคประโคมอยู่ ดนตรีของ เทวดาก็ประโคมอยู่ ฝ่ายพระพุทธเจ้าได้ทรงสดับเสียงดนตรี ของทั้งสองฝ่ายทรงตื่นบรรทม.
เรานิมนต์พระสัมพุทธเจ้า ให้เสด็จเข้าไปยังภพของเรา เราปูลาดอาสนะแล้วกราบทูลเวลาเสวยพระกระยาหาร.
พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้นายกของโลก อันพระขีณาสพ หนึ่งพันแวดล้อม ทรงยังทิศทุกทิศให้สว่างไสว เสด็จมายังภพของเรา.
เวลานั้น เราอังคาสพระมหาวีรเจ้าผู้ประเสริฐกว่าเทวดา เป็นนระผู้องอาจ ผู้เสด็จเข้ามา พร้อมกับภิกษุสงฆ์ ให้อิ่มหนำ ด้วยข้าวและน้ำ.
พระมหาวีรเจ้าผู้เป็นสยัมภูอัครบุคคล ทรงอนุโมทนาแล้ว
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๑ - หน้า 485
ประทับนั่งในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
ผู้ใดได้บูชาพระสงฆ์และได้บูชาพระพุทธเจ้าผู้เป็นนายก ของโลก ด้วยจิตอันเลื่อมใส ผู้นั้นจักไปสู่เทวโลก.
จักเสวยเทวรัชสมบัติ ๗๗ ครั้ง จักเสวยราชสมบัติใน แผ่นดิน ครอบครองพสุธา ๑๐๘ ครั้ง
และจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๕ ครั้ง โภคทรัพย์นับไม่ถ้วน จักเกิดแก่ผู้นั้นในทันทีทันใด.
ในกัปที่นับไม่ถ้วนแต่กัปนี้ พระศาสดาพระนามว่าโคตมะ โดยพระโคตร ซึ่งสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จ อุบัติขึ้นในโลก.
ผู้นั้นเคลื่อนจากนรกแล้ว จักถึงความเป็นมนุษย์ จักเป็น เผ่าพันธุ์ของพราหมณ์ นามว่า โกลิตะ โดยนาม.
ภายหลังอันกุศลมูลตักเตือนแล้ว เขาจักบวช. จักได้เป็น พระสาวกที่สองของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่าโคดม.
จักปรารภความเพียร มีจิตอันส่งไปในพระนิพพาน ถึงที่ สุดแห่งฤทธิ์ กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะ นิพพาน.
(เมื่อก่อน) เราอาศัยมิตรผู้ลามก ตกอยู่ในอำนาจกามราคะ มีใจอันโทษประทุษร้ายแล้ว ได้ฆ่าทั้งมารดาและบิดา.
เราเข้าถึงกำเนิดอันเป็นนรกหรือมนุษย์อันพรั่งพร้อมด้วย กรรมลามก ยังต้องศีรษะแตกตาย.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๑ - หน้า 486
นี้เป็นกรรมครั้งหลังสุดของเรา ภพครั้งสุดท้ายยังเป็นไป อยู่ กรรมเช่นนี้จักมีแก่เราในเวลาใกล้จะตายแม้ในที่นี้.
เราหมั่นประกอบวิเวก ยินดีในสมาธิภาวนา กำหนดรู้ อาสวะทั้งปวง เป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่.
แม้แผ่นดินอันลึกหนา ใครๆ กำจัดได้ยาก เราผู้ถึงที่สุด แห่งฤทธิ์ พึงให้ไหวได้ด้วยนิ้วหัวแม่เท้าซ้าย.
เราไม่เห็นอัสมิมานะ เราไม่มีมานะ เรากระทำความ ยำเกรงอย่างหนักแม้ชั้นที่สุดในสามเณร.
ในกัปหาประมาณมิได้แต่กัปนี้ เราสั่งสมกรรมใดไว้ เรา ได้บรรลุถึงภูมิแห่งกรรมนั้นโดยลำดับ เป็นผู้บรรลุถึงธรรม เครื่องสิ้นอาสวะแล้ว.
คุณวิเศษเหล่านี้ คือปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และ อภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้า เรา ทำเสร็จแล้ว ฉะนี้แล.
ทราบว่า ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
จบมหาโมคคัลลานเถราปทาน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๑ - หน้า 487
๒. พรรณนามหาโมคคัลลานเถราปทาน
อปทานของ ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระ มีคำเริ่มต้นว่า อโนมทสฺสี ภควา ดังนี้เป็นต้น.
คำมีอาทิว่า ก็พระเถระนี้ได้กระทำบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้า ปางก่อนทั้งหลาย สั่งสมบุญทั้งหลายอันเป็นอุปนิสัยแก่วิวัฏฏะไว้ในภพนั้นๆ ครั้นในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าอโนมทัสสีดังนี้ ได้กล่าวไว้แล้วในเรื่องของพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระ.
ความพิสดารว่า จำเดิมแต่วันที่บวชแล้ว ในวันที่ ๗ พระเถระ เข้าไปอาศัยบ้าน กัลลวาลคาม ในมคธรัฐ บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ เมื่อถีนมิทธะคือความโงกง่วงครอบงำ อันพระศาสดาทรงให้สลดใจด้วยพระดำรัสมีอาทิว่า โมคคัลลานะ ความพยายามของเธออย่าได้ไร้ผลเสียเลย เมื่อได้ฟังธาตุกรรมฐานอันพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงบรรเทาความโงกง่วงแล้ว ตรัสให้ฟังอยู่ ได้บรรลุมรรคทั้ง ๓ เบื้องบน โดยลำดับแห่งวิปัสสนา แล้วถึงที่สุดแห่งสาวกญาณในขณะแห่งผลอันเลิศคือพระอรหัตตผล.
ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระ ครั้นได้บรรลุความเป็นทุติยสาวก อย่างนี้แล้ว ได้ระลึกถึงบุพกรรมของตน เมื่อจะประกาศอปทานอันเป็นบุพจริยาด้วยอำนาจความโสมนัส จึงกล่าวคำมีอาทิว่า อโนมทสฺสี ภควา ดังนี้. ในคำนั้น ที่ชื่อว่าอโนมทัสสี เพราะมีทัสสนะคือความเห็นไม่ต่ำทราม คือไม่เลวทราม. จริงอยู่ พระองค์มีการเห็น อันการทำความไม่อิ่มแก่คนผู้มองดูพระองค์อยู่ตลอดทั้งวัน ตลอดทั้งเดือน ตลอดทั้งปี แม้ตลอดแสนปี เพราะพระองค์เป็นผู้มีพระสรีระประดับด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า อโนมทัสสี อีกอย่าง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๑ - หน้า 488
หนึ่ง ชื่อว่าอโนมทัสสี เพราะมีปกติเห็นพระนิพพานอันไม่ต่ำทรามคือ ไม่เลวทราม พระผู้มีพระภาคเจ้าได้พระนามว่า อโนมทัสสี เพราะเหตุทั้งหลายมีความเป็นผู้มีภาคยะคือบุญเป็นต้น. บทว่า โลกเชฏฺโ ได้แก่ เป็นใหญ่ คือเป็นประธานแห่งสัตว์โลกทั้งมวล. ชื่อว่า อาสภะ เพราะ เป็นเช่นกับวัวผู้ ผู้ยิ่งใหญ่, ผู้ยิ่งใหญ่แห่งนระทั้งหลาย ชื่อว่า นราสภะ. พระผู้มีพระภาคเจ้าอโนมทัสสีผู้เป็นใหญ่แห่งโลก ผู้ยิ่งใหญ่แห่งนระพระองค์นั้น อันหมู่แห่งเทพกระทำไว้ในเบื้องหน้า คืออันหมู่เทพทั้งหลาย ห้อมล้อมแล้ว. เชื่อมความต่อกันไปว่า ประทับอยู่ในหิมวันตประเทศ.
อธิบายความว่า ในคราวที่ได้กระทำความปรารถนาในวาระที่สอง เพื่อเป็นทุติยสาวกนั้น เราได้บั้งเกิดเป็นนาคราชมีนามชื่อว่า วรุณ. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ในกาลนั้น เราเป็นนาคราชมีนามชื่อว่า วรุณ ดังนี้. บทว่า กามรูปี ได้แก่ มีปกตินิรมิตสิ่งที่ใคร่ได้ตามปรารถนา. บทว่า วิกุพฺพามิ แปลว่า กระทำการแผลงฤทธิ์ได้ต่างๆ. บทว่า มโหทธินิวาสหํ ความว่า ในระหว่างนาคเหล่านี้ คือมัญเชริกนาค ๑ นาคที่อยู่บนแผ่นดิน ๑ นาคที่อยู่บนภูเขา ๑ นาคที่อยู่ในแม่น้ำ ๑ นาค ที่อยู่ในสมุทร ๑ เราเป็นนาคอยู่ในสมุทร อาศัยอยู่ อธิบายว่า สำเร็จการอยู่ในห้วงน้ำใหญ่คือในสมุทร.
บทว่า สงฺคณิยํ คณํ หิตฺวา ความว่า ละ คือเว้นหมู่นาคซึ่ง เป็นบริวารประจำ คือซึ่งเป็นบริวารของตน. บทว่า ตุริยํ ปฏฺเปสหํ ความว่า เราเริ่มตั้งดนตรี อธิบายว่า ให้บรรเลงดนตรี. บทว่า สมฺพุทฺธํ ปริวาเรตฺวา ความว่า ในกาลนั้น เหล่านางอัปสร คือนางนาคมาณวิกา ทั้งหลาย แวดล้อมพระอโนมทัสสีสัมพุทธเจ้าบรรเลงแล้ว คือขับร้องด้วย
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๑ - หน้า 489
คำอันไพเราะ บรรเลงด้วยคำพากย์เป็นต้น ได้แก่บรรเลงตามความเหมาะสมที่ตนมีอยู่.
บทว่า วชฺชมาเนสุ ตุริเยสุ ความว่า เมื่อดนตรีมนุษย์และดนตรี นาคอันประกอบด้วยองค์ ๕ บรรเลงอยู่. บทว่า เทวตุริยานิ วชฺชยุํ ความว่า เทวดาชั้นจาตุมหาราชก็บรรเลง คือประโคมดนตรีทิพย์.
บทว่า อุภินฺนํ สทฺทํ สุตฺวาน ความว่า ได้ทรงฟังเสียงกลองเทวดา และมนุษย์ทั้งสองฝ่าย. อธิบายว่า พระพุทธเจ้าแม้ผู้ทรงเสมอด้วยครูของ โลกทั้งสามก็ทรงรู้พร้อม คือทรงทราบ ทรงสดับ.
บทว่า นิมนฺเตตฺวาน สมฺพุทฺธํ ความว่า นิมนต์พระสัมพุทธเจ้า พร้อมทั้งหมู่สาวก เพื่อเสวยในวันพรุ่งนี้ แล้วแวดล้อม. บทว่า สกภวนํ ได้แก่ เข้าไปยังนาคพิภพของตน. บทว่า คนฺตฺวา จ อาสนํ ปญฺาเปตฺวาน ความว่า ให้ปูลาด คือตระเตรียมที่พักกลางคืน ที่พักกลางวัน กุฎี มณฑป ที่นอน และที่นั่ง. บทว่า กาลมาโรจยึ อหํ ความว่า เรา กระทำวิธีเบื้องต้นอย่างนี้แล้ว ให้กราบทูล คือให้ทรงทราบเวลาว่า ได้เวลาแล้วพระเจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จแล้ว. บทว่า นขีณาสวสหสฺเสหิ ความว่า ในกาลนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น อันพระอรหันต์หนึ่งพันห้อมล้อมแล้ว เป็นนายกของโลก ทรงยังทิศทั้งปวงให้สว่างไสว เสด็จเข้าไป คือเสด็จถึงภพของเรา.
เมื่อจะแสดงอาการที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เสด็จเข้าไปยังภพของ ตนแล้ว ให้เสวย จึงกล่าวคำมีอาทิว่า อุปวิฏฺํ มหาวีรํ ดังนี้. คำนั้น เข้าใจได้ง่ายมาก.
บทว่า โอกฺกากกุลสมฺภโว ความว่า พระศาสดาพระนามว่าโคดม โดยพระโคตร คือโดยอำนาจพระโคตร ทรงอุบัติในราชสกุลอันมาแล้ว
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๑ - หน้า 490
โดยสืบๆ กันแห่งพระเจ้าโอกกากราช หรืออุบัติในราชสกุลอันปรากฏ ในชมพูทวีปทั้งสิ้น จักเกิดมีในมนุษยโลก.
ด้วยบทว่า โส ปจฺฉา ปพฺพชิตฺวาน นี้ พระศาสดาได้ทรงกระทำ การพยากรณ์ว่านาคราชนั้นอันกุศลมูลคือบุญสมภารตักเตือน คือส่งเสริม ในภายหลังคือภพสุดท้าย จึงบวชในพระศาสนา จักเป็นทุติยอัครสาวก ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าโคดม.
บทว่า อารทฺธวีริโย ได้แก่ มีความเพียรในอิริยาบถทั้งหลายมีการ ยืนและการนั่งเป็นต้น. บทว่า ปหิตตฺโต แปลว่า มีจิตส่งไปแล้วใน พระนิพพาน. บทว่า อิทฺธิยา ปารมึ คโต ความว่า ถึง คือบรรลุถึง ความเต็มเปี่ยม คือที่สุดในอธิษฐานฤทธิ์ วิกุพพนฤทธิ์ กัมมวิปากชฤทธิ์ เป็นต้น ด้วยพระดำรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหาโมคคัลลานะนี้เป็น ยอดแห่งภิกษุสาวกของเราผู้มีฤทธิ์. บทว่า สพฺพาสเว ความว่า กำหนดรู้ คือรู้ทั่ว ได้แก่รอบด้าน คือละธรรมคือกาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา ทั้งหมด อันได้ชื่อว่า อาสวะ เพราะไหลไป คือเป็นไปทั่ว คือรอบด้าน เป็นผู้ไม่มีอาสวะ คือไม่มีกิเลส. บทว่า นิพฺพายิสฺสติ เชื่อมความว่า จักนิพพานด้วยกิเลสปรินิพพานและขันธปรินิพพาน.
พระเถระ ครั้นกล่าวถึงการพยากรณ์ที่ได้ด้วยอำนาจบุญของตนอย่าง นี้แล้ว เมื่อจะประกาศจริยาอันลามกอีก จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ปาปมิตฺโตปนิสฺสาย ดังนี้. ในคำนั้น มีอธิบายว่า เข้าไปอาศัย คือกระทำปาปมิตร คือมิตรผู้มีบาปคือผู้ลามก ให้เป็นที่อาศัย ได้แก่ เป็นผู้เกี่ยวข้องกับ ปาปมิตรเหล่านั้น.
ในข้อนั้น มีอนุบุพพิกถาดังต่อไปนี้. สมัยหนึ่ง พวกเดียรถีย์
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๑ - หน้า 491
ประชุมกันปรึกษากันว่า อาวุโสทั้งหลาย พวกท่านรู้ไหม เพราะเหตุไร ลาภสักการะจึงบังเกิดมากมายแก่พระสมโคดม. พวกเดียรถีย์กล่าวว่า พวกเราไม่รู้ ก็ท่านเล่า ไม่รู้หรือ. พวกเดียรถีย์กล่าวว่า เออ เรารู้ ลาภสักการะเกิดขึ้น เพราะอาศัยภิกษุรูปหนึ่งชื่อโมคคัลลานะ. ด้วยว่า พระโมคคัลลานะนั้นไปยังเทวโลก ถามถึงกรรมที่เหล่าเทวดากระทำ แล้ว กลับมาบอกแก่พวกมนุษย์ว่า พวกเขาทำกรรมชื่อนี้ จึงได้สมบัติเห็นปานนี้ และถามกรรมแม้ของพวกที่เกิดในนรก แล้วกลับมาบอกแก่พวกมนุษย์ว่า พวกเขาทำกรรมชื่อนี้จึงได้เสวยทุกข์เห็นปานนี้.
มนุษย์ทั้งหลายได้ฟังถ้อยคำของพระมหาโมคคัลลานะแล้ว จึงนำไป เฉพาะซึ่งลาภสักการะใหญ่. เดียรถีย์ทั้งหมด ได้มีฉันทะเป็นอย่างเดียวกัน ว่า ถ้าพวกเราอาจฆ่าพระโมคคัลลานะนั้น ลาภสักการะนั้นจักบังเกิดแก่ พวกเรา อุบายนี้มีประโยชน์ แล้วคิดกันว่า พวกเราจักกระทำอุบาย อย่างใดอย่างหนึ่ง ฆ่าพระโมคคัลลานะนั้นเสีย จึงชักชวนพวกอุปัฏฐาก ของตน ได้กหาปณะหนึ่งพัน แล้วให้เรียกโจรนักฆ่าคนมาแล้วพูดว่า ชื่อว่าพระมหาโมคคัลลานเถระ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นสมณโคดม อยู่ ณ กาฬศิลาประเทศ ท่านจงไป ณ ที่นั้น แล้วฆ่าพระโมคคัลลานะ นั้นเสีย ครั้นกล่าวแล้วได้ให้กหาปณะหนึ่งพันนั้นแก่โจรเหล่านั้น.
พวกโจรรับคำเพราะได้ทรัพย์ พากันกล่าวว่า พวกเราจักฆ่าพระเถระ จึงไปล้อมสถานที่อยู่ของพระเถระนั้น. พระเถระรู้ว่าพวกโจร เหล่านั้นล้อมตนอยู่ จึงหนีออกไปทางช่องกุญแจ. พวกโจรไม่เห็นพระเถระในวันนั้น จึงพากันล้อมสถานที่อยู่ของพระเถระนั้นในวันรุ่งขึ้น. พระเถระรู้แล้วจึงทำลายมณฑลช่อฟ้า แล้วเหาะไป. เมื่อเป็นอย่างนั้น พวก
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๑ - หน้า 492
โจรเหล่านั้นจึงไม่อาจจับพระเถระทั้งในเดือนต้น และเดือนกลาง แต่เมื่อถึงเดือนหลัง พระเถระรู้ว่ากรรมที่ตนกระทำไว้ชักพามา จึงไม่หลบหนี. พวกโจรประหารพระเถระ ทุบทำลายการทำกระดูกทั้งหลายให้มีขนาดเมล็ดข้าวสารเป็นประมาณ. ทีนั้น พวกโจรสำคัญพระเถระนั้นว่าตายแล้ว จึง โยนไปบนหลังพุ่มไม้แห่งหนึ่ง แล้วพากันหลีกไป.
พระเถระคิดว่า เราจักเฝ้าพระศาสดาถวายบังคมแล้วทีเดียว จึงจักปรินิพพาน แล้วประสานอัตภาพด้วยเครื่องประสานคือฌาน แล้วเหาะ ไปยังสำนักของพระศาสดา ถวายบังคมพระศาสดา แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักปรินิพพาน. พระศาสดาตรัสว่า เธอจัก ปรินิพพานหรือโมคคัลลานะ. พระเถระกราบทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ.
พระศาสดา. เธอจักไปปรินิพพานที่ไหน.
พระเถระ. จะไปยังกาฬศิลาประเทศ พระเจ้าข้า.
พระศาสดา. โมคคัลลานะ ถ้าอย่างนั้น เธอกล่าวธรรมแก่เราแล้ว จงไปเถิด. เพราะตั้งแต่บัดนี้ไป เราจะไม่มีการเห็นสาวกเช่นท่าน (อีกต่อไป).
พระเถระกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักทำอย่างนั้น พระเจ้าข้า แล้วถวายบังคมพระศาสดา เหาะขึ้นสู่อากาศ กระทำฤทธิ์มีประการต่างๆ เหมือนพระสารีบุตรเถระ กระทำในวัน ปรินิพพาน แล้วกล่าวธรรม ถวายบังคมลาพระศาสดา ไปยังกาฬศิลาประเทศ แล้วปรินิพพาน. เรื่องราวนี้ว่า เขาว่า พวกโจรฆ่าพระเถระ ดังนี้ ได้แพร่สะพัดไปในชมพูทวีปทั้งสิ้น.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๑ - หน้า 493
พระเจ้าอชาตศัตรูได้ทรงประกอบพวกจารบุรุษ เพื่อให้แสวงหาพวกโจร. เมื่อโจรเหล่านั้นดื่มสุราในโรงดื่มสุราอยู่ เมาเหล้า โจรคนหนึ่ง ประหารหลังของโจรคนหนึ่งให้ล้มลงไป. โจรคนนั้นเมื่อจะคุกคามโจรที่ ประหารตนนั้น จึงกล่าวว่า แน่ะเจ้าคนแนะนำยาก เหตุไร เจ้าจึง ประหารหลังของเรา ทำให้ล้มลง เฮ้ย! เจ้าโจรร้าย ก็พระมหาโมคคัลลานเถระน่ะ เจ้าประหารก่อนหรือ. โจรผู้ประหารกล่าวว่า ก็เจ้าไม่รู้ว่าข้า ประหารก่อนหรือ. เมื่อโจรเหล่านั้นพูดกันอยู่อย่างนี้ว่า ข้าประหาร, ข้าประหาร ดังนี้ จารบุรุษเหล่านั้นได้ฟังแล้วจึงจับโจรเหล่านั้นทั้งหมด แล้ว กราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ. พระราชารับสั่งให้เรียกโจรเหล่านั้นมา แล้วตรัสถามว่า พวกเจ้าฆ่าพระเถระหรือ? พวกโจรกราบทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าแต่สมมติเทพ.
พระราชา. ใครส่งพวกเจ้ามา. พวกโจร. พวกสมณะ เปลือย พระเจ้าข้า. พระราชารับสั่งให้จับพวกสมณะเปลือยทั้ง ๕๐๐ คน แล้วให้ฝังในหลุมประมาณเพียงสะดือที่ท้องสนามหลวง พร้อมกับพวกโจร ทั้ง ๕๐๐ คน แล้วให้เอาฟางสุมแล้วให้จุดไฟ. ครั้นทรงทราบว่า คนเหล่านั้นถูกเผาแล้ว ให้เอาไถเหล็กไถ ให้ทำคนทั้งหมดให้เป็นท่อนน้อย ท่อนใหญ่. ในกาลนั้น ภิกษุทั้งหลายนั่งสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า พระมหาโมคคัลลานเถระถึงแก่ความตายไม่เหมาะสมแก่ตน. พระศาสดา เสด็จมาแล้วตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากัน เรื่องอะไร เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ความตายของโมคคัลลานะ ไม่เหมาะสมแก่อัตภาพนี้เท่านั้น แต่เหมาะสมแท้แก่กรรมที่โมคคัลลานะนั้นทำไว้ในชาติก่อน อันภิกษุ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๑ - หน้า 494
ทั้งหลายทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็บุรพกรรมของพระเถระนั้น เป็นอย่างไร พระเจ้าข้า จึงตรัสบุรพกรรมนั้นโดยพิสดารว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาล มีกุลบุตรคนหนึ่งในนครพาราณสี กระทำการงานมีการซ้อมข้าวและหุงข้าวเป็นต้นด้วยตนเอง ปฏิบัติบิดามารดา. ทีนั้น บิดามารดาของเขาจึงกล่าวว่า ลูกเอ๋ย เจ้าผู้เดียวกระทำการงานทั้งในบ้านและในป่าลำบาก เราจักนำนางกุมาริกา คนหนึ่งมาให้เจ้า แม้ถูกกุลบุตรนั้นห้ามว่า ข้าแต่คุณพ่อและคุณแม่ ท่านทั้งสองยังมีชีวิตอยู่ตราบใด ลูกจักบำรุงคุณพ่อและคุณแม่ด้วยมือของ ตนเองตราบนั้น ดังนี้ ก็ยังอ้อนวอนอยู่แล้วๆ เล่าๆ แล้วนำนางกุมาริกามาให้. กุมาริกานั้นบำรุงบิดามารดาของเขาได้ ๒ - ๓ วันเท่านั้น ภายหลังไม่ปรารถนาแม้จะเห็นคนทั้งสองนั้น จึงยกโทษว่า ดิฉันไม่อาจอยู่ในที่เดียวกันกับบิดามารดาของท่าน เมื่อกุลบุตรนั้นไม่เชื่อถือถ้อยคำของตน ในเวลาเขาออกไปข้างนอก จึงเอาชิ้นเปลือกปอและฟองข้าวยาคูมาโรย ในที่นั้นๆ อันกุลบุตรนั้นมาแล้วถามว่า นี้อะไรกัน นางจึงกล่าวว่า นี่ เป็นกรรมของคนทั้งแก่ทั้งบอดเหล่านี้ เขาเที่ยวกระทำให้สกปรกไปทั่วเรือน ฉันไม่อาจอยู่ในที่เดียวกันกับคนเหล่านี้ เมื่อนางกล่าวอยู่บ่อยๆ อย่างนี้ สัตว์ผู้ได้บำเพ็ญบารมีมาแล้ว แม้เห็นปานนี้ ก็แตกกับบิดา มารดา. กุลบุตรนั้นจึงกล่าวว่า ช่างเถอะ เราจักรรู้กรรมที่จะทำแก่คนเหล่านั้น จึงให้บิดามารดาบริโภคแล้วกล่าวว่า ข้าแต่คุณพ่อคุณแม่ พวก ญาติของท่านทั้งสองในที่ชื่อโน้น หวังการมา พวกเราจักไปในที่นั้น ดังนี้ แล้วยกบิดามารดาขึ้นยานน้อยพาไป ในเวลาถึงท่ามกลางดง จึง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๑ - หน้า 495
กล่าวว่า ข้าแต่พ่อ ท่านจงถือเชือก พวกโคจะเดินไปตามความสำคัญ ของอาญา ในที่นี้มีพวกโจรอยู่ ฉันจะลงเดินไป แล้วให้เชือกในมือของบิดา ตนเองลงเดินไป ได้เปลี่ยนเสียงกระทำให้เป็นเสียงพวกโจรตั้งขึ้น. บิดามารดาได้ยินเสียง สำคัญว่าโจรตั้งขึ้น จึงกล่าวว่า พ่อ พวกโจรตั้งขึ้นแล้ว พวกเราเป็นคนแก่ พ่อจงรักษาเฉพาะตนเองเถิด. บิดามารดา แม้จะร้องอยู่ เขาก็กระทำเสียงโจร ทุบให้ตายแล้ว โยนทิ้งไปในดงแล้วกลับมา.
พระศาสดาครั้นตรัสบุรพกรรมนี้ของพระเถระแล้วจึงตรัสว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย โมคคัลลานะกระทำกรรมมีประมาณเท่านี้ ไหม้อยู่ในนรก หลายแสนปี ด้วยผลวิบากที่เหลือเพียงนั้น จึงเป็นผู้แหลกละเอียดเพราะ ทุบอย่างนั้นแหละ แล้วถึงความตายสิ้นร้อยอัตภาพ โมคคัลลานะได้ความตายอันสมควรแก่กรรมของตนอย่างนี้ทีเดียว ฝ่ายพวกเดียรถีย์ ๕๐๐ กับโจร ๕๐๐ ประทุษร้ายบุตรของเราผู้ไม่ประทุษร้าย ก็ได้ความตายอัน สมควรเหมือนกัน. เพราะผู้ประทุษร้ายในคนผู้ไม่ประทุษร้าย ย่อมถึงความพินาศเพราะเหตุ ๑๐ ประการนั่นเทียว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
บุคคลใดประทุษร้ายคนผู้ไม่ประทุษร้าย ผู้ไม่มีอาชญา ด้วยอาชญา บุคคลนั้นย่อมพลันเข้าถึงฐานะ ๑๐ อย่าง อย่างใด อย่างหนึ่ง คือ
ย่อมถึงเวทนาอันหยาบ ๑
ความเสื่อม ๑
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๑ - หน้า 496
ความแตกทำลายแห่งสีรระ ๑
อาพาธหนัก ๑
ความฟุ้งซ่านแห่งจิต ๑
ความขัดข้องแต่พระราชา ๑
การกล่าวต่ออย่างร้ายแรง ๑
ความสิ้นญาติ ๑
ความผุพังแห่งโภคทรัพย์ ๑
อีกอย่างหนึ่ง ไฟผู้ชำระย่อมไหม้เรือนของเขา ๑ เพราะ กายแตกทำลาย คนปัญญาทรามนั้น ย่อมเข้าถึงนรก ดังนี้.
บทว่า ปวิเวกมนุยุตฺโต ความว่า ประกอบเนืองๆ คือ ประกอบแล้ว ได้แก่ ประกอบแล้ว ประกอบทั่วแล้วซึ่งความสงัด คือ ความเป็นผู้เดียวโดยอาการ. บทว่า สมาธิภาวนารโต ความว่า ยินดี แล้ว คือติดแน่นแล้วในการเจริญปฐมฌานเป็นต้น. เชื่อมความว่า จัก กำหนดรู้ คือรู้แล้ว ได้แก่ ละแล้วซึ่งอาสวะทั้งปวงได้แก่กิเลสทั้งสิ้น เป็นผู้ไม่มีอาสวะ คือไม่มีกิเลสอยู่.
บัดนี้ เมื่อจะแสดงบุพจริตด้วยอำนาจบุญสมภารของตน จึงกล่าว คำมีอาทิว่า ธรณิมฺปิ สุคมฺภีรํ ดังนี้.
ในคำนั้น มีอนุปุพพิกถาดังต่อไปนี้. บทว่า ปุพฺเพน โจทิโต ความว่า อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตักเตือนแล้ว คือทรงส่งไปแล้ว. บทว่า ภิกฺขุสงฺฆสฺส เปกฺขโต ความว่า เมื่อภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เห็นอยู่. บทว่า มิคารมาตุปาสาทํ ปาทงฺคุฏฺเน กมฺปยิ ความว่า เราทำมหา-
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๑ - หน้า 497
ปราสาทอันประดับด้วยเสาพันต้น ซึ่งนางวิสาขามหาอุบาสิกาให้สร้างไว้ ในบุพพาราม ให้หวั่นไหวด้วยนิ้วหัวแม่เท้าของตน. ก็สมัยนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในปราสาทตามที่กล่าวแล้วในบุพพาราม พวก ภิกษุมากหลายนั่งในปราสาทชั้นบน ไม่คำนึงถึงแม้แต่พระศาสดา เริ่มกล่าวเดรัจฉานกถา พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสดับดังนั้น ทรงพระ ประสงค์จะให้พวกภิกษุเหล่านั้นสลดใจแล้ว กระทำให้เป็นภาชนะรองรับพระธรรมเทศนาของพระองค์ จึงตรัสเรียกท่านพระมหาโมคคัลลานเถระ มาว่า โมคคัลลานะ เธอจงเห็นพวกภิกษุใหม่ผู้ประกอบเดรัจฉานกถา. พระเถระได้ฟังพระดำรัสนั้น ทราบพระอัธยาศัยของพระศาสดา จึงเข้าจตุตถฌาน มีอาโปกสิณเป็นอารมณ์ มีอภิญญาเป็นบาท แล้วออกจากจตุตถฌาน อธิษฐานว่า โอกาสที่ปราสาทตั้งอยู่จงเป็นน้ำ แล้วเอานิ้ว หัวแม่เท้าประหารจอมยอดปราสาท. ปราสาทได้เอนตะแคงไปข้างหนึ่ง พระเถระประหารซ้ำอีก ปราสาทได้ตะแคงไปข้างอื่น. ภิกษุเหล่านั้น กลัวตื่นเต้น เพราะกลัวตกปราสาท จึงออกจากปราสาทนั้นแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้า. พระศาสดาทรงตรวจดูอัธยาศัยของภิกษุ เหล่านั้น แล้วทรงแสดงธรรม. เพราะได้ฟังพระธรรมนั้น บรรดาภิกษุ เหล่านั้น บางพวกตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล บางพวกตั้งอยู่ในสกทาคามิผล บางพวกตั้งอยู่ในอนาคามิผล บางพวกตั้งอยู่ในอรหัตตผล. เนื้อความนี้นั้น พึงแสดงด้วยปาสาทกัมปนสูตร.
บทว่า เวชยนฺตปาสาทํ ความว่า เวชยันตปราสาทนั้นสูงพันโยชน์ ประดับด้วยป้อมและเรือนยอดหลายพันผุดขึ้น ในตอนเนื้อท้าวสักกะจอม-
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๑ - หน้า 498
เทพ ชนะพวกอสูรในเทวาสุรสงครามแล้วประทับอยู่ในท่ามกลางนคร ในภพดาวดึงส์ เป็นปราสาทอันได้นามว่า เวชยันต์ เพราะบังเกิดตอน ที่สุดชัยชนะ, ท่านหมายเอาปราสาทนั้น จึงกล่าวว่า เวชยนฺตปาสาทํ ดังนี้ พระเถระทำเวชยันตปราสาทแม้นั้น ให้ไหวด้วยนิ้วหัวแม่เท้า. ก็ สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในบุพพาราม ท้าวสักกเทวราช เข้าไปเฝ้าแล้วทูลถามถึงวิมุตติ คือธรรมเครื่องสิ้นตัณหา. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงวิสัชนาแก่ท้าวเธอ. ท้าวเธอได้ทรงสดับดังนั้น ทรงดีพระทัย ร่าเริง ทรงอภิวาทแล้วกระทำประทักษิณ เสด็จไปยังเทวโลกของพระองค์ ทันที.
ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะคิดอย่างนี้ว่า ท้าวสักกะเข้าไป เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วทูลถามปัญหาอันประกอบด้วยพระนิพพาน อันลึกซึ้งเห็นปานนี้ และพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ทรงแก้ปัญหาแล้ว ท้าว สักกะรู้แล้วจึงเสด็จไป หรือว่าไม่รู้ได้เสด็จไปแล้ว. ถ้ากระไรเราควรไป ยังเทวโลกแล้วพึงรู้ความนั้น.
ในทันใดนั้น พระเถระได้ไปยังภพดาวดึงส์ ทูลถามเนื้อความนั้น กะท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพ. ท้าวสักกะเป็นผู้ประมาทมัวเมาในทิพสมบัติ จึงได้กระทำให้สับสน. เพื่อจะให้เกิดความสลดใจแก่ท้าวเธอ พระเถระ จึงทำเวชยันตปราสาทให้ไหวด้วยนิ้วหัวแม่เท้า. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึง กล่าวว่า
พระเถระผู้มั่นคงด้วยกำลังฤทธิ์ ทำเวชยันตปราสาทให้ ไหวด้วยนิ้วหัวแม่เท้า และทำเทวดาทั้งหลายให้สลดใจแล้ว ดังนี้.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๑ - หน้า 499
ก็เนื้อความนี้พึงแสดงด้วยจูฬตัณหาสังขยวิมุตติสูตร. อาการที่ไหว ได้กล่าวไว้แล้วในหนหลังหมดแล้ว. คำว่า พระเถรนั้นสอบถามท้าวสักกะ ดังนี้ ท่านกล่าวหมายเอาการที่พระเถระถามวิมุตติ คือธรรมเครื่องสิ้น ตัณหา ตามที่กล่าวไว้แล้วนั่นแหละ. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ผู้มีอายุ ท่านทราบตัณหาขยวิมุตติบ้างไหม ดังนี้. ท้าวสักกะได้พยากรณ์แก่ พระเถระนั้นแล้ว. คำนี้ท่านกล่าวหมายเอาว่า เมื่อพระเถระกระทำปราสาท ให้ไหวแล้ว ท้าวเธอสลดพระทัย ทรงละความประมาทแล้วทรงใส่ใจโดย แยบคายแล้วจึงทรงพยากรณ์ปัญหา. ก็ในกาลนั้น ท้าวเธอตรัสตาม ทำนองที่พระศาสดาทรงเทศนาเหมือนกัน. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ท้าวเธอถูกพระเถระถามแล้วจึงพยากรณ์ปัญหาตามเป็นจริง ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สกฺกํ โส ปริปุจฺฉติ ความว่า พระมหาโมคคัลลานเถระถามถึงความที่ตัณหาสังขยวิมุตติ ที่พระศาสดาทรง แสดงแล้ว เป็นอันรับมาถูกต้อง กะท้าวสักกเทวราช. ก็คำนี้เป็นคำ กล่าวในกาลปัจจุบัน ใช้ในอรรถเป็นอดีตกาล. บทว่า อปาวุโส ชานาสิ ความว่า ผู้มีอายุ พระองค์ทราบบ้างไหม คือทรงทราบหรือ. ด้วยบทว่า ตณฺหกฺขยวิมุตฺติโย นี้ พระเถระทูลถามว่า พระศาสดาทรงแสดงตัณหา สังขยวิมุตติแก่พระองค์ เมื่อเป็นอย่างนั้น พระองค์ย่อมทรงทราบหรือ อีกอย่างหนึ่ง ด้วย บทว่า ตณฺหกฺขยวิมุติติโย นี้ พระเถระทูลถามถึงการ แสดงตัณหาสังขยวิมุตติสูตร.
บทว่า พฺรหฺมานํ ได้แก่ ท้าวมหาพรหม. บทว่า สุธมฺมายาภิโต สภํ ได้แก่ ในสุธรรมาสภา. ก็สุธรรมาสภานี้เป็นสุธรรมาสภาในพรหมโลก ไม่ใช่ในภพดาวดึงส์. ธรรมดาเทวโลกที่เว้นจากสุธรรมาสภา ย่อม
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๑ - หน้า 500
ไม่มี. บทว่า อชฺชาปิ เต อาวุโส สา ทิฏฺิ, ยา เต ทิฏฺิ ปุเร อหุ ความว่า สมณะหรือพราหมณ์ไรๆ ผู้สามารถเพื่อจะเข้าไปยังพรหมโลก นี้ ย่อมไม่มี ในกาลก่อนแต่พระศาสดาเสด็จมาในที่นี้ ทิฏฐิใดได้มีแล้ว แก่ท่าน ทำไม แม้วันนี้ คือแม้บัดนี้ ทิฏฐินั้นจึงไม่ปราศจากไป.
บทว่า ปสฺสสิ วีติวตฺตนตํ พฺรหฺมโลเก ปภสฺสรํ ความว่า ท่าน เห็นโอภาสของพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมทั้งสาวก อันพระสาวกทั้งหลายมี พระมหากัปปินะ และพระมหากัสสปเป็นต้นห้อมล้อม ประทับนั่งเข้า เตโชธาตุ แผ่ไปในพรหมโลก.
ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทราบความคิดของพรหมผู้นั่งประชุม อยู่ในสุธรรมสภาในพรหมโลกผู้กำลังคิดอยู่ว่า สมณะหรือพราหมณ์ไรๆ ผู้มีฤทธิ์อย่างนี้ มีอยู่หรือหนอ สมณะหรือพราหมณ์นั้น พึงสามารถมา ในที่นี้ พระองค์จึงเสด็จไปในพรหมโลกนั้น ประทับนั่งในอากาศเหนือ กระหม่อมของพรหม ทรงเข้าเตโชธาตุ เปล่งโอภาสอยู่ ทรงดำริให้ พระมหาโมคคัลลานะเป็นต้นมา. พระมหาโมคคลัลานะเป็นต้นแม้เหล่านั้น ก็ได้ไปในที่นั้นพร้อมกับทรงดำริ ถวายบังคมพระศาสดา รู้อัธยาศัยของ พระศาสดาแล้ว จึงนั่งเข้าเตโชธาตุอยู่ในทิศละองค์ แล้วเปล่งโอภาสไป. พรหมทั้งสิ้นได้มีโอภาสเป็นอันเดียวกัน. พระศาสดาทรงทราบว่า พรหม เป็นผู้มีจิตพร้อมพรั่งแล้ว จึงทรงแสดงธรรมประกาศสัจจะ ๔.
ในเวลาจบเทศนา พรหมหลายพันได้ตั้งอยู่ในมรรคและผลทั้งหลาย. ท่านหมายถึงข้อนั้น เมื่อจะทักท้วง จึงกล่าวคาถาว่า อชฺชาปิ เต อาวุโส สา ทิฏฺิ ดังนี้. ก็เนื้อความนี้พึงแสดงด้วยพกพรหมสูตร. สมจริงดังที่ ท่านกล่าวไว้ว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๑ - หน้า 501
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในพระเชตวัน อันเป็นอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้กรุงสาวัตถี. ก็สมัยนั้นแล พรหมองค์หนึ่งเกิดทิฏฐิอันลามกเห็นปานนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์ผู้จะพึงมาในที่นี้ ย่อมไม่มี. ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบความปริวิตกแห่งใจของพรหม นั้นด้วยใจ จึงทรงอันตรธานหายจากพระเชตวัน ไปปรากฏขึ้น ในพรหมโลกนั้น เหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนที่คู้ออกไป หรือคู้แขนที่เหยียดเข้ามาฉะนั้น. ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนั่งขัดสมาธิเข้าเตโชธาตุ ในอากาศเบื้องบนของ พรหมนั้น.
ครั้งนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้มีความคิดดังนี้ว่า บัดนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ. ท่าน พระมหาโมคคัลลานะ ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้านั่งขัดสมาธิ เข้าเตโชธาตุ ณ เวหาสเบื้องบนของพรหมนั้น ด้วยจักษุทิพย์ อันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์. ครั้นเห็นแล้ว จึงอันตรธาน หายจากพระเชตวัน ไปปรากฏขึ้นในพรหมโลกนั้น เหมือน บุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนที่คู้ออกไป หรือคู้แขนที่เหยียดเข้ามา ฉะนั้น ครั้งนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะ อาศัยทิศตะวันออก นั่งขัดสมาธิเข้าเตโชธาตุ ณ เวหาสเบื้องบนของพรหมนั้น แต่ต่ำกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า.
ครั้งนั่นแล ท่านพรมหากัสสปะ ได้มีความคิดดังนี้ว่า บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ. ท่านพระ-
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๑ - หน้า 502
มหากัสสปะ ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งขัดสมาธิเข้า เตโชธาตุ ณ เวหาสเบื้องบนของพรหมนั้น ด้วยจักษุทิพย์อัน บริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ครั้นได้เห็นแล้วจึงอันตรธานหาย จากพระเชตวันไปปรากฏขึ้นในพรหมโลกนั้น เหมือนบุรุษผู้มี แขนที่เหยียดออกเข้ามาฉะนั้น. ครั้งนั้นแล ท่านพระมหา กัสสปะอาศัยทิศใต้นั่งขัดสมาธิเข้าเตโชธาตุ ณ เวหาสเบื้องบน ของพรหมนั้น แต่ต่ำกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า.
ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัปปินะ ได้มีความคิดดังนี้ว่า บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ. ท่านพระมหากัปปินะ ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับนั่งขัดสมาธิเข้า เตโชธาตุ ณ เวหาสเบื้องบนของพรหมนั้น ด้วยจักษุทิพย์อัน บริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ครั้นได้เห็นแล้วจึงอันตรธานหาย จากพระเชตวัน ไปปรากฏขึ้นในพรหมโลกนั้น เหมือนบุรุษผู้ มีกำลัง ฯลฯ คู้แขนที่เหยียดเข้ามาฉะนั้น ครั้งนั้นแล ท่าน พระมหากัปปินะอาศัยทิศตะวันตก นั่งขัดสมาธิเข้าเตโชธาตุ ณ เวหาสเบื้องบนของพรหมนั้น แต่ต่ำกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า.
ครั้งนั้นแล ท่านพระอนุรุทธะ ได้มีความคิดดังนี้ว่า บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ. ท่านพระอนุรุทธะ ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับนั่งขัดสมาธิเข้าเตโชธาตุ ณ เวหาสเบื้องบนของพรหมนั้น ด้วยจักษุทิพย์อันบริสุทธิ์ล่วง จักษุของมนุษย์ ครั้นเห็นแล้วจึงอันตรธานหายจากพระเชตวัน ไปปรากฏขึ้นในพรหมโลกนั้น เหมือนบุรุษผู้มีกำลัง ฯลฯ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๑ - หน้า 503
คู้แขนที่เหยียดเข้ามาฉะนั้น. ครั้งนั้นแล ท่านพระอนุรุทธะ อาศัยทิศเหนือ นั่งขัดสมาธิเข้าเตโชธาตุ ณ เวหาสเบื้องบน ของพรหมนั้น แต่ต่ำกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า.
ครั้งนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ได้กล่าวกะพรหมนั้น ด้วย คาถาว่า
ผู้มีอายุ แม้ทุกวันนี้ ท่านก็ยังมีทิฏฐิที่ได้มีมาแล้วในกาล ก่อน ท่านย่อมเห็นรัศมีมีสีเลื่อมพรายแผ่ไปในพรหมโลก.
(พรหมกล่าวว่า) ท่านผู้นิรทุกข์ ข้าพเจ้าไม่มีทิฏฐิ ที่ ข้าพเจ้าได้เคยมีมาแล้วในกาลก่อน ข้าพเจ้าเห็นรัศมีสีเลื่อม พรายอันแผ่ไปในพรหมโลก. วันนี้ข้าพเจ้านั้น ขอกล่าว ถ้อยคำว่า เป็นผู้เที่ยงยั่งยืน ดังนี้.
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงทำพรหมนั้นให้ สลดใจแล้ว ทรงอันตรธานหายจากพรหมโลกนั้น ไปปรากฏ ในพระเชตวัน เหมือนบุรุษผู้มีกำลัง ฯลฯ ฉะนั้น. ครั้งนั้นแล พรหมนั้นเรียกพรหมปาริสัชชะองค์หนึ่งมาว่า นี่แน่ะท่านผู้. เช่นกับเรา ท่านจงมา ท่านจงเข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานะจนถึงที่อยู่ ครั้นเข้ไปหาแล้ว จงกล่าวกะท่านพระมหาโมคคัลลานะอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระมหาโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ หมู่สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น แม้เหล่าอื่นผู้มีฤทธิ์มาก อย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ เหมือนพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระกัสสปะท่านพระกัปปินะ และท่านพระอนุรุทธะ ยังมี อยู่หรือ. พรหมปาริสัชชะนั้นรับคำพรหมนั้นว่า ได้ ท่านผู้
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๑ - หน้า 504
นิรทุกข์ แล้วเข้าไปหาท่านพระมหาโมคลัลลานะจนถึงที่อยู่ ครั้นเข้าไปหาแล้ว จึงกล่าวคำนี้กะท่านพระมหาโมคัลลานะ ว่า ข้าแต่พระมหาโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ เหล่าสาวกของ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น แม้เหล่าอื่น ผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ เหมือนท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระกัสสปะ ท่านพระกัปปินะ และท่านพระอนุรุทธะ ยังมีอยู่หรือ. ลำดับนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ได้กล่าวกะพรหมปาริสัชชะนั้นด้วยคาถาว่า เหล่าสาวกของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ มีวิชชา ๓ บรรลุอิทธิฤทธิ์ ฉลาดในการกำหนดจิตของผู้อื่น มีมากหลาย ดังนี้.
ลำดับนั้นแล พรหมปาริสัชชะนั้น เพลิดเพลินอนุโมทนา ภาษิตของท่านพระมหาโมคคัลลานะ แล้วเข้าไปหาพรหมนั้น จนถึงที่อยู่ ครั้นเข้าไปหาแล้วกล่าวคำนั้นว่า ท่านผู้นิรทุกข์ พระมหาโมคคัลลานะผู้มีอายุกล่าวอย่างนี้ว่า
เหล่าสาวกของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ มีวิชชา ๓ บรรลุอิทธิฤทธิ์ ฉลาดในการกำหนดจิตของผู้อื่น มีมากหลาย ดังนี้.
พรหมปาริสัชชะนั้นได้กล่าวดังนี้แล้ว และพรหมนั้นดีใจ เพลิด เพลินภาษิตของพรหมปาริสชัชะนั้น ฉะนี้แล.
ท่านหมายถึงเรื่องราวดังกล่าวนี้ จึงกล่าวว่า ก็เนื้อความนี้ พึง แสดงโดยพกพรหมสูตร.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๑ - หน้า 505
ด้วย บทว่า มหาเนรุโน กูฏํ นี้ ท่านกล่าวถึงขุนเขาสิเนรุทั้งสิ้น ทีเดียว โดยจุดเด่นคือยอด.
บทว่า วิโมกฺเขน อปสฺสยิ มีอธิบายว่า เห็นแล้วด้วยวิโมกข์ อันสัมปยุตด้วยฌาน คืออภิญญาอันเป็นที่อาศัย.
บทว่า วนํ ได้แก่ ชมพูทวีป. จริงอยู่ ชมพูทวีปนั้น ท่านเรียก วนะ เพราะมีป่ามากหลาย. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ชมฺพุมณฺ- ฑสฺส อิสฺสโร ผู้เป็นใหญ่แห่งชมพูมัณฑประเทศ.
บทว่า ปุพฺพวิเทหานํ ได้แก่ ปุพพวิเทหสถาน คือปุพพวิเทหทวีป.
บทว่า เย จ ภูมิสยา นรา ความว่า พวกมนุษย์ชาวอปรโคยานทวีป และอุตตรกุรุทวีป ชื่อว่านระผู้นอนบนพื้นดิน. จริงอยู่ นระเหล่านั้น ท่านเรียกว่าภูมิสยะ นอนบนพื้นดิน เพราะไม่มีเรือน. เชื่อมความว่า นรชนแม้เหล่านั้นทั้งหมดไม่เห็นอยู่. ก็เนื้อความนี้พึงแสดงด้วยการทรมาน นันโทปนันทนาคราช.
ได้ยินว่า สมัยนั้น อนาถบิณฑิกคฤหบดี ได้ฟังพระธรรมเทศนา ของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วทูลนิมนต์ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอ พระองค์จงรับภิกษาหารในเรือนของข้าพระองค์ พร้อมกับภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ ในวันพรุ่งนี้ ดังนี้ แล้วหลีกไป. ก็ในวันนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงตรวจดูหมื่นโลกธาตุในเวลาใกล้รุ่ง นาคราชชื่อว่านันโทปนันทะมาสู่ คลองในมุขแห่งพระญาณ. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรำพึงว่า นาคราช นี้มาสู่คลองในมุขแห่งญาณของเรา จักมีอะไรหนอ ก็ได้ทรงเห็นอุปนิสัย แห่งสรณคมน์ จึงทรงรำพึงว่า นาคราชนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่เลื่อมใส
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๑ - หน้า 506
ในพระรัตนตรัย ใครหนอจะพึงปลดเปลื้องนาคราชนี้จากมิจฉาทิฏฐิ ดังนี้ ก็ได้ทรงเห็นพระมหาโมคคัลลานะ.
ลำดับนั้น เมื่อราตรีสว่างแล้ว พระองค์ทรงกระทำการปฏิบัติ พระสรีระแล้ว ตรัสเรียกพระอานนท์ผู้มีอายุมาว่า อานนท์ เธอจงบอก ภิกษุทั้ง ๕๐๐ ว่า พระตถาคตจะเสด็จจาริกไปในเทวโลก. ก็วันนั้น พวกนาคจัดแจงพื้นที่สำหรับดื่มของนันโทปนันทนาคราช. นาคราชนั้น เขาเอาเศวตฉัตรทิพย์กางบนรัตนบัลลังก์ทิพย์ อันนาคนักฟ้อน ๓ ประเภท และนาคบริษัทห้อมล้อม กำลังนั่งคอยข้าวและน้ำที่เขาจะให้เอาเข้าไปตั้ง ในภาชนะทิพย์ทั้งหลาย. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำโดย ประการที่นาคราชจะแลเห็น จึงเสด็จมุ่งพระพักตร์ไปยังดาวดึงส์เทวโลก ทางเหนือวิมานทองนาคราชนั้นนั่นแหละ พร้อมกับภิกษุ ๕๐๐.
ก็สมัยนั้น นันโทปนันทนาคราช เกิดทิฏฐิอันลามกเห็นปานนี้ว่า ก็พวกสมณะโล้นชื่อเหล่านี้ เข้าไปยังภพของเทวดาชั้นดาวดึงส์ก็ดี ทาง เบื้องบนภพของเรา บัดนี้ ตั้งแต่นี้ไป เราจักไม่ให้พวกสมณะโล้นเหล่านี้ โปรยละอองเท้าบนกระหม่อมของเราทั้งหลายไป. จึงลุกขึ้นไปยังเชิงภูเขา สิเนรุ ละอัตภาพนั้น เอาขนดวงภูเขาสิเนรุ ๗ รอบ แผ่พังพานไว้เบื้องบน แล้วเอาพังพานคว่ำลงยึดภพดาวดึงส์ไว้ ให้ถึงการแลไม่เห็น.
ครั้งนั้นแล ท่านพระรัฏฐปาละ ได้กราบทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อก่อน ข้าพระองค์ยืนที่ประเทศนี้ แลเห็นภูเขาสิเนรุ แลเห็นภูเขาล้อมเขาสิเนรุ เห็นภพดาวดึงส์ เห็นเวชยันตปราสาท เห็นธงในเบื้องบนเวชยันตปราสาท, ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย แห่งการที่ข้าพระองค์ไม่เห็นเขาสิเนรุ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๑ - หน้า 507
ฯลฯ ไม่เห็นธงในเบื้องบนเวชยันตปราสาท ในบัดนี้. พระศาสดา ตรัสว่า รัฏฐปาละ นาคราชชื่อนันโทปนันทะนี้โกรธพวกเธอ จึงเอา ขนดวงภูเขาสิเนรุ ๗ รอบ ให้ปิดเบื้องบนด้วยพังพาน กระทำให้มืด พระรัฏฐปาละกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอทรมาน นาคราชนั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงอนุญาตพระรัฏฐปาละนั้น. ครั้ง นั้นแล ภิกษุแม้ทั้งปวง คือท่านพระภัททิยะ ท่านพระราหุล ต่างลุกขึ้น โดยลำดับ. พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงอนุญาต.
ในที่สุด พระมหาโมคคัลลานเถระกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอทรมานนาคราชนั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรง อนุญาตว่า โมคคัลลานะ เธอจงทรมาน. พระเถระละอัตภาพนั้น แล้ว นิรมิตเพศนาคราชใหญ่ แล้วเอาขนดวงนันโทปนันทนาคราช วางพังพาน ของตนเหนือพังพานของนาคราชนั้น แล้วกดเข้าไปกับภูเขาสิเนรุ. นาคราชบังหวนควัน. ฝ่ายพระเถระก็กล่าวว่า ไม่ใช่จะมีควันในสรีระ ของท่านเท่านั้น แม้ของเราก็มี จึงบังหวนควัน. ควันของนาคราชไม่ เบียดเบียนพระเถระ แต่ควันของพระเถระเบียดเบียนนาคราช ลำดับนั้น นาคราชจึงโพลงเป็นไฟ. ฝ่ายพระเถระก็กล่าวว่า ไม่ใช่จะมีไฟในสรีระ ของท่านเท่านั้น แม้ของเราก็มี แล้วโพลงไฟ. ไฟของนาคราชไม่เบียด เบียนพระเถระ แต่ไฟของพระเถระเบียดเบียนนาคราช. นาคราชคิดว่า สมณะนี้กดเรากับภูเขาสิเนรุ บังหวนควันและโพลงไฟ จึงสอบถามว่า ผู้เจริญ ท่านเป็นใคร? พระเถระตอบว่า นันทะ เราแลเป็นโมคคัลลานะ. นาคราช กล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ท่านจงดำรงอยู่โดยภิกขุภาวะแห่งตนเถิด.
พระเถระจึงละอัตภาพนั้นแล้ว เข้าไปทางช่องหูขวาของนาคราช
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๑ - หน้า 508
นั้นแล้วออกทางช่องหูซ้าย เข้าทางช่องหูซ้ายแล้วออกทางช่องหูขวา. อนึ่ง เข้าทางช่องจมูกขวา แล้วออกทางช่องจมูกซ้าย เข้าทางช่องจมูกซ้าย แล้วออกทางช่องจมูกขวา. ลำดับนั้น นาคราชอ้าปาก พระเถระจึงเข้า ทางปากแล้วเดินจงกรมอยู่ในท้อง ทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า โมคคัลลานะ เธอจงมนสิการ นาคมีฤทธิ์ พระเถระกราบทูลคำมีอาทิว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อิทธิบาท ๔ ข้าพระองค์แลเจริญกระทำให้มาก กระทำให้เป็นดังยาน กระทำให้เป็น ดังวัตถุที่ตั้ง ปฏิบัติแล้ว สะสมแล้ว เริ่มดีแล้ว ช้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นันโทปนันทนาคราชจงยกไว้ นาคราชเช่นกับนันโทปนันทะ ๑๐๐ ก็ดี ๑,๐๐๐ ก็ดี ข้าพระองค์พึงทรมานได้.
นาคราชคิดว่า เบื้องต้น เมื่อเข้ามา เราไม่เห็น ทีนี้ ในเวลา ออก เราจะใส่พระสมณะนั้นในระหว่างเขี้ยวแล้วจักเคี้ยวกินเสีย ครั้นคิด แล้วจึงกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงออกมาเถิด อย่าเดินจงกรมไปๆ มาๆ ภายในท้อง เบียดเบียนข้าพเจ้าเลย. พระเถระได้ออกมายืนอยู่ ข้างนอก. นาคราชเห็นว่า องค์นี้คือเขาล่ะ จึงพ่นลมทางจมูก, พระเถระ เข้าจตุตถฌาน, แม้ขุมขนของพระเถระนั้น ลมก็ไม่อาจทำให้สั่นได้. ได้ยินว่า ภิกษุทั้งหลายที่เหลือ อาจทำปาฏิหาริย์ทั้งปวงได้ จำเดิมแต่ต้น. แต่ถึงฐานะนี้แล้ว จักไม่อาจเพื่อเป็นผู้ใส่ใจสังเกตได้รวดเร็วอย่างนี้แล้ว เข้าฌาน เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ทรงอนุญาตการทรมาน นาคราชแก่ภิกษุเหล่านั้น.
นาคราชคิดว่า เราไม่ได้อาจเพื่อจะทำแม้แต่ขุมขนของสมณะนี้ให้ เคลื่อนไหวด้วยลมจมูก สมณะนั้นมีฤทธิ์มาก พระเถระเปลี่ยนอัตภาพ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๑ - หน้า 509
นั้นแล้วนิรมิตรูปสุบรรณ เมื่อจะแสดงลมของสุบรรณ จึงติดตามนาคราช. นาคราชเปลี่ยนอัตภาพนั้น แล้วนิรมิตเพศเป็นมาณพน้อยกล่าวว่า ท่าน ผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอถึงท่านเป็นสรณะ ดังนี้แล้วไหว้เท้าทั้งสองของพระเถระ.
พระเถระกล่าวว่า นันทะ พระศาสดาของเราเสด็จมาด้วย ท่าน จงมา เราไปกัน แล้วทรมานนาคราชกระทำให้หมดพยศ แล้วได้พาไป ยังสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า.
นาคราชถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอถึงพระองค์เป็นสรณะ. พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า นาคราช เธอจงเป็นสุขเถิด อันภิกษุสงฆ์แวดล้อม ได้เสด็จไปยัง นิเวศน์ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี.
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหตุไร พระองค์จึงเสด็จมาสายพระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เพราะได้ มีสงครามของโมคคัลลานะกับนันโทปนันทนาคราช ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีทูลถามว่า ก็ใครชนะ ใครปราชัย พระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า โมคคัลลานะชนะ นันทะปราชัย. อนาถบิณฑิกเศรษฐีกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงรับภัตตาหารโดยลำดับ เดียวตลอด ๗ วัน ข้าพระองค์จักกระทำสักการะแก่พระเถระตลอด ๗ วัน ดังนี้ แล้วให้กระทำสักการะใหญ่แก่ภิกษุ ๕๐๐ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ตลอด ๗ วัน. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า พึงแสดงเนื้อความนี้ ด้วย การทรมานนันโทปนันทนาคราชดังนี้.
ก็สมัยหนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในปราสาทอันประดับ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๑ - หน้า 510
ด้วยห้องพันห้อง ที่นางวิสาขามหาอุบาสิกาสร้างไว้ในบุพพาราม ฯลฯ และให้เทวดาทั้งหลายสลดใจแล้ว. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
เราถึงที่สุดแห่งอิทธิฤทธิ์ ยังแม้ธรณีอันลึก หนาที่ใครๆ กำจัดได้ยาก ให้ไหวแล้ว ด้วยนิ้วหัวแม่เท้าซ้าย.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิทฺธิยา ปารมึ คโต ความว่า ถึง คือ บรรลุถึงที่สุดแห่งฤทธิ์ มีแสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ เป็นต้น.
บทว่า อสฺมิมานํ ความว่า เราย่อมไม่พบ คือไม่เห็นอัสมิมานะ มีอาทิว่า เราเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา ศีล และสมาธิ เมื่อจะแสดงข้อ นั้นเท่านั้นจึงกล่าวว่า มาโน มยฺหํ น วิชฺชติ ดังนี้.
บทว่า สามเณเร อุปาทาย ความว่า เรากระทำจิตเคารพ คือ จิตคารวะ ได้แก่ ความนับถือมากโดยเอื้อเฟื้อ ในภิกษุสงฆ์ทั้งสิ้น กระทำ สามเณรให้เป็นต้นไป.
บทว่า อปริเมยฺเย อิโต กปฺเป ความว่า ในที่สุดหนึ่งอสงไขย แสนกัปอันนับไม่ได้ แต่กัปที่เราเกิดแล้วนี้ คือแต่อันตรกัปเป็นต้น บทว่า ยํ กมฺมมภินีหรึ ความว่า เราบำเพ็ญบุญสมบัติอันเป็นเหตุให้ถึง ความเป็นอัครสาวก.
บทว่า ตาหํ ภูมิมนุปฺปตฺโต ความว่า เราเป็นผู้ถึงโดยลำดับซึ่ง สาวกภูมินั้น คือเป็นผู้ถึงพระนิพพานกล่าวคือความสิ้นอาสวะ.
ปฏิสัมภิทา ๔ มีอัตถปฏิสัมภิทาเป็นต้น วิโมกข์ ๘ มีโสดาปัตติ- มรรคเป็นต้น อภิญญา ๖ มีอิทธิวิธะแสดงฤทธิ์ได้เป็นต้น เรากระทำ ให้แจ้งแล้ว คือทำให้เห็นประจักษ์แล้ว. คำสอนกล่าวคือโอวาทานุสาสนี
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๑ - หน้า 511
ของพระพุทธเจ้า คือของพระผู้มีพระภาคเจ้า เรากระทำแล้ว อธิบายว่า ให้เสร็จแล้วด้วยการยังข้อปฏิบัติในศีลให้สำเร็จ.
บทว่า อิตฺถํ แปลว่า โดยประการนี้ คือโดยลำดับดังกล่าวไว้ใน หนหลัง. พระมหาโมคคัลลานเถระได้รับพยากรณ์ ๒ ครั้ง ในสำนักของ พระอโนมทัสสีพุทธเจ้าเฉพาะองค์เดียว ด้วยประการอย่างนี้. ถามว่า ได้ อย่างไร? ตอบว่า เป็นเศรษฐีได้รับพยากรณ์ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น โดยนัยดังกล่าวแล้วในหนหลัง จุติจากอัตภาพนั้น บังเกิด ในนาคภพอันตั้งอยู่ในสมุทร ได้ทำการบูชาในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นนั่นแหละ เพราะความที่ตนเป็นผู้มีอายุยืน ได้นิมนต์ให้ เสวยแล้วกระทำการมหาบูชา. แม้ในกาลนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ ตรัสพยากรณ์.
ศัพท์ว่า สุทํ เป็นนิบาตลงในอรรถว่า ทำบาทให้เต็ม.
คำว่า อายสฺมา เป็นคำกล่าวด้วยความรัก คือเป็นคำเรียกด้วย ความเคารพหนัก. พระมหาโมคคัลลานเถระได้ภาษิต คือกล่าวอปทาน คาถาเหล่านี้ ศัพท์ว่า อิติ เป็นนิบาตลงในอรรถว่า จบข้อความ.
จบพรรณนามหาโมคคัลลานเถราปทาน