พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

สุมังคลเถราปทานที่ ๒ (๑๑๒) ว่าด้วยผลแห่งการถวายดนตรีเครื่อง ๕

 
บ้านธัมมะ
วันที่  27 พ.ย. 2564
หมายเลข  41105
อ่าน  297

[เล่มที่ 71] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๒ - หน้า 383

เถราปทาน

มหาปริวารวรรคที่ ๑๒

สุมังคลเถราปทานที่ ๒ (๑๑๒)

ว่าด้วยผลแห่งการถวายดนตรีเครื่อง ๕


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 71]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 17 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๒ - หน้า 383

สุมังคลเถราปทานที่ ๒ (๑๑๒)

ว่าด้วยผลแห่งการถวายดนตรีเครื่อง ๕

[๑๑๔] พระชินวรพระนามว่าอัตถทัสสี เชษฐบุรุษของโลก ประเสริฐกว่านระ เสด็จออกจากพระวิหารแล้ว เสด็จเข้าไป ใกล้สระน้ำ พระผู้มีพระภาคสัมพุทธเจ้าทรงสรงสนานและ ดื่มแล้ว ทรงห่มจีวรผืนเดียวเฉวียงพระอังสะ ประทับยืน เหลียวดูทิศน้อยใหญ่อยู่ ณ ที่นั้น ในกาลนั้น เราเข้าไปใน ที่อยู่ ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้นายกของโลก เรามีจิต ร่าเริงโสมนัส ได้ปรบมือ เราประกอบการฟ้อน การขับร้อง และดนตรีเครื่อง ๕ ถวายพระองค์ผู้โชติช่วงดังดวงอาทิตย์ ส่องแสงเรืองเหลืองดังทองคำ เราเข้าถึงกำเนิดใดๆ คือ ความเป็นเทวดา หรือมนุษย์ ในกำเนิดนั้นๆ ย่อมครอบงำ สัตว์ทั้งปวง ยศของเรามีไพบูลย์ ขอนอบน้อมแด่พระองค์ ผู้บุรุษอาชาไนย ขอนอบน้อมแด่พระองค์ ผู้อุดมบุรุษ พระองค์ ผู้เป็นมุนี ทรงยังพระองค์ให้ยินดีแล้ว ทรงยังผู้อื่นให้ยินดีอีก เล่า เรากำหนดถือเอาแล้ว นั่งแล้ว ทำความร่าเริง มีวัตร อันดี บำรุงพระสัมพุทธเจ้าแล้ว เข้าถึงชั้นดุสิต ในกัปที่ ๑,๖๐๐ แต่กัปนี้ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิหลายครั้ง มีพระนาม เหมือนกันว่า ทวินวเอกจินติตะ ทรงสมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ มีพละมาก.

คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 17 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๒ - หน้า 384

อภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งชัดแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้า เราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้.

ทราบว่า ท่านพระสุมังคลเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ ฉะนี้แล.

จบสุมังคลเถราปทาน

๑๑๒. อรรถกถาสุมังคลเถราปทาน

อปทานของท่านพระสุมังคลเถระมีคำเริ่มต้นว่า อตฺถทสฺสี ชินวโร ดังนี้.

แม้พระเถระรูปนี้ ก็ได้บำเพ็ญกุศลมาแล้วในพระพุทธเจ้าพระองค์ ก่อนๆ ทุกๆ ภพนั้น จะสร้างสมอุปนิสัยแห่งพระนิพพานเป็นประจำเสมอ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า อัตถทัสสี ท่านได้เกิดเป็น รุกขเทวดาประจำอยู่ ณ ที่ใกล้สระแห่งหนึ่ง. สมัยนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จออกจากพระวิหาร มีพระประสงค์จะสรงน้ำ จึงเสด็จไปยังฝั่งแห่ง สระนั้น ทรงสรงน้ำที่สระนั้นแล้ว มีจีวรห่มชั้นเดียว ประทับยืนคล้าย พรหม งามรุ่งโรจน์ คล้ายพระอาทิตย์ทอแสง และคล้ายรูปเปรียบที่ทำ ด้วยทองคำฉะนั้น. ครั้งนั้น เทวบุตรนั้น เกิดความโสมนัสยกมือประนม กระทำความชื่นชมแล้ว และได้นำเพลงและดนตรีทิพย์ของตนมาทำการ บรรเลงถวาย ด้วยบุญกรรมนั้น เทพบุตรนั้นจึงได้เสวยสวรรค์สมบัติ และมนุษย์สมบัติมากมาย ในกาลอื่นต่อมา คือในพุทธุปบาทกาลนี้ จึง

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 17 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๒ - หน้า 385

ได้บังเกิดในเรือนที่มีสกุล พอบรรลุนิติภาวะแล้ว เลื่อมใสในพระศาสดา จึงได้บวช ไม่นานเท่าไรนักก็ได้เป็นพระอรหันต์.

ภายหลังท่านได้ระลึกถึงบุพกรรมแล้ว เกิดความโสมนัส เมื่อจะ ประกาศถึงเรื่องราวที่ตนเคยได้ประพฤติมาแล้วในกาลก่อน จึงกล่าวคำ เริ่มต้นว่า อตฺถทสฺสี ชินวโร ดังนี้. ในคำเริ่มต้นนั้น มีอรรถาธิบายว่า ชื่อว่า อัตถทัสสี เพราะอรรถว่า เห็น คือเห็นแจ้งซึ่งปรมัตถธรรม ได้แก่ พระนิพพาน. หรืออีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าอัตถทัสสี เพราะอรรถว่า มีปกติ เล็งเห็นประโยชน์คืออริยสัจ ๔ ที่มีแก่สัตว์ทั้งปวง. ชื่อว่า ชินะ เพราะ อรรถว่า ได้ชนะแล้ว กำลังชนะ และจักชนะกิเลสทั้งหลาย. ชื่อว่า วระ เพราะอรรถว่า อันปวงสัตว์อยากได้ คือปรารถนาที่จะได้, พระะผู้มีพระภาคเจ้านั้น ชื่อว่า อัตถทัสสี ด้วย ชื่อว่า ชินะ ด้วย ชื่อว่า วระ ด้วย ดังนั้นจึงรวมเรียกว่า อัตถทัสสีชินวระ. บทว่า โลกเชฏฺโ มีวิเคราะห์ ว่า ชื่อว่า โลก เพราะอรรถว่า ย่อมแตกสลาย คือเสื่อมไป, อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า โลก เพราะอรรถว่า ผู้ที่จะบรรลุถึงฝั่ง พระพุทธเจ้าเป็นต้น ย่อม เห็น คือ ปรากฏได้ชัด (แก่พระพุทธเจ้า). โลกทั้ง ๓ อย่าง รวม เรียกว่าโลก. ว่าด้วยอำนาจเอกเสสสมาส ควรจะเรียกว่า โลกา แต่ท่าน เรียกว่า โลโก พระพุทธเจ้า ชื่อว่า โลกเชษฐ์ เพราะเป็นผู้ประเสริฐ ของชาวโลก, พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น เป็นผู้ประเสริฐของชาวโลก คือ เป็นผู้องอาจ. คำที่เหลือในที่ทุกแห่งมีเนื้อความง่ายทั้งนั้น.

จบอรรถกถาสุมังคลเถราปทาน