พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

ปัลลังกทายกเถราปทาน ๑๐ (๑๕๐) ว่าด้วยผลแห่งการถวายบัลลังก์

 
บ้านธัมมะ
วันที่  27 พ.ย. 2564
หมายเลข  41143
อ่าน  313

[เล่มที่ 71] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๒ - หน้า 504

เถราปทาน

ฉัตตวรรคที่ ๑๕

ปัลลังกทายกเถราปทาน ๑๐ (๑๕๐)

ว่าด้วยผลแห่งการถวายบัลลังก์


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 71]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 17 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๒ - หน้า 504

ปัลลังกทายกเถราปทาน ๑๐ (๑๕๐)

ว่าด้วยผลแห่งการถวายบัลลังก์

[๑๕๒] ก็เราได้ถวายบัลลังก์พร้อมทั้งผ้า สำหรับปิดเบื้องบน (เพดาน) แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสุเมธะ เชษฐบุรุษ ของโลก ผู้คงที่.

ในกาลนั้น บัลลังก์นั้น ได้เป็นบัลลังก์ประกอบด้วยแก้ว ๗ ประการ รู้ความดำริของเรา ย่อมเกิดขึ้นแก่เราทุกเมื่อ.

ในสามหมื่นกัปแต่กัปนี้ เราได้ถวายบัลลังก์ใดในกาลนั้น ด้วยกรรมนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลของการถวาย บัลลังก์.

ในกัปที่สองหมื่นแต่กัปนี้ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓ ครั้ง ทรงพระนามว่าสุวรรณาภา ทรงสมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ มีพละมาก.

คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และ อภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งชัดแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้า เราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้.

ทราบว่า ท่านพระปัลลังกทายกเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วย ประการฉะนี้แล.

จบปัลลังก์ทายกเถราปทาน

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 17 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๒ - หน้า 505

๑๕๐. อรรถกถาปัลลังกทายกเถราปทาน

อปทานของท่านพระปัลลังกทายกเถระ มีคำเริ่มต้นว่า สุเมธสฺส ภควโต ดังนี้.

แม้พระเถระรูปนี้ ก็ได้เคยบำเพ็ญกุศลมาแล้วในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ได้สั่งสมบุญเพื่อบรรลุพระนิพพานไว้ตั้งหลายภพ ในกาล แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า สุเมธะ ท่านได้เกิดในตระกูล คฤหบดี เจริญวัยแล้ว สมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์สมบัติมากมาย เลื่อมใส ในพระศาสดา ได้ฟังธรรมแล้ว ให้คนทำบัลลังก์อันสำเร็จด้วยรัตนะ ๗ ประการถวายแด่พระศาสดาพระองค์นั้นแล้ว ได้กระทำการบูชาเป็นการ ใหญ่. ด้วยบุญอันนั้น เขาจึงได้ท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก ได้เป็นผู้อันคนทั้งหลายบูชาแล้วในที่ทั้งปวง โดยลำดับ ในพุทธุปบาทกาลนี้ เขาได้บังเกิดในตระกูลแห่งหนึ่งซึ่งสมบูรณ์ด้วยสมบัติ บรรลุนิติ- ภาวะแล้ว ดำรงอยู่ในเพศฆราวาส ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้ว เกิดความเลื่อมใสบวชแล้ว ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัต ได้ปรากฏชื่อว่าปัลลังกทายกเถระ ตามชื่อแห่งบุญที่ตนได้ทำไว้ในกาลก่อน. ชื่อของพระเถระทั้งหลาย ที่มีชื่อตามชื่อแห่งบุญที่ตนได้ทำไว้ในกาลก่อน แม้ในเรื่องข้างหน้า ก็พึงทราบเหมือนในเรื่องที่แล้วมาอย่างนั้นเหมือนกัน.

วันหนึ่ง ท่านระลึกถึงบุพกรรมของตนได้ เกิดความโสมนัสใจ เมื่อจะประกาศถึงเรื่องราวที่ตนเคยได้ประพฤติมาแล้วในกาลก่อน จึงกล่าว คำเริ่มต้นว่า สุเมธสฺส ภควโต ดังนี้. บทว่า ปลฺลงฺโก หิ มยา ทินฺโน ความว่า ชนทั้งหลายย่อมเข้าไปนั่งในที่ซึ่งกระทำบัลลังก์ คือ อาสนะบุหนังเสมอขาอ่อน ที่ท่านเรียกว่าบัลลังก์ อธิบายว่า บัลลังก์นั้น

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 17 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๒ - หน้า 506

ทำด้วยรัตน ๗ ประการ เราได้บูชาถวายแล้ว. บทว่า สอุตฺตรสปจฺฉโท ความว่า ชื่อว่า สอุตฺตรสปจฺฉโท คือ พร้อมทั้งผ้าสำหรับปิดเบื้องบนและ เบื้องล่าง. ได้ผูกเป็นเพดานไว้เบื้องบนแล้วเอาผ้าอย่างดีคลุมอาสนะไว้. คำที่เหลือมีเนื้อความชัดแจ้งอยู่แล้วแล.

จบอรรถกถาปัลลังกทายกเถราปทาน

จบอรรถกถาฉัตตวรรคที่ ๑๕

รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อธิฉัตตยเถราปทาน ๒. ถัมภาโรปกเถราปทาน ๓.เวทิการกเถราปทาน ๔. สปริวาริยเถราปทาน ๕. อุมมาปุปผิยเถราปทาน ๖. อนุโลมทายกเถราปทาน ๗. มัคคทายกเถราปทาน ๘. ผลกทายกเถราปทาน ๙. วฏังสกิยเถราปทาน ๑๐. ปัลลังกทายกเถราปทาน.

บัณฑิตประกาศคาถาไว้ ๕๖ คาถา.

จบฉัตตวรรคที่ ๑๕