ธรรมะทั้งหลายบังคับบัญชาไม่ได้ แต่ไม่เป็นอิสระ
ไม่เป็นอิสระนี้คืออย่างไร
* ได้ยินมาจากในเทปบรรยายสนทนาธรรมของมูลนิธิครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออธิบายในประเด็นคำว่า อิสระ 2 นัย ครับ ซึ่งถ้าเข้าใจคำว่า อิสระจริงๆ ก็จะเข้าใจหนทางการอบรมปัญญาที่ถูกต้องว่าเป็นอย่างไร ครับ
อิสระ นัยแรก คือ ความเป็นอิสระจากกิเลส
ผู้ที่ยังมีกิเลส ชื่อว่า ผู้ที่ไม่เป็นอิสระ เพราะถูกเครื่องผูก คือ กิเลสร้อยรัดไว้ ไม่ให้อิสระ ด้วยโลภะ ชักจูงไป และกิเลสประการต่างๆ ชักจูงไป ให้เป็นไปตามอำนาจ ดังนั้น สำหรับปุถุชนจึงเป็นธรรมดาที่จะต้องไม่อิสระ ที่เป็นไปตามอำนาจของกิเลส ชีวิต แม้จะไม่ได้ถูกขัง อยู่ในคุก แต่ก็ถูกขังด้วยกำลังของกิเลส และถูกขังด้วยกรงคุก คือ สังสารวัฏฏ์ไม่ให้พ้นไป ไม่เป็นอิสระจากกิเลสและสังสารวัฏฏ์เลย ครับ นี่คือความเป็นธรรมดา เป็นปกติของผู้ที่มีกิเลส ที่ยังไม่อิสระ ส่วนผู้ที่เป็นอิสระแล้ว แม้ว่าจะอยู่ในสถานที่ที่กล่าวกันว่าไม่อิสระ มี ในคุก เป็นต้น แต่ใจที่ปราศจากกิเลส ชื่อว่าอิสระแล้ว เพราะไม่เป็นไปตามอำนาจของกิเลส แต่อิสระด้วยปัญญาที่เกิดรู้ความจริงจนดับกิเลสหมดสิ้น พระอรหันต์ จึงชื่อว่า อิสระจากกิเลสอย่างแท้จริง ครับ
อิสระ นัยที่สอง คือ ธรรมไม่เป็นอิสระ เป็นอนัตตา เพราะเป็นไปตามเหตุปัจจัย
สภาพธรรมที่เกิดขึ้นกับตนเองในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการเห็น การได้ยิน กิเลสยังไม่เกิดขึ้นเลย แต่ขณะนั้นก็ไม่อิสระแล้ว คือ เพราะธรรมทั้งหลายจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัย จิต เจตสิกและรูปอื่นๆ ประชุมรวมกัน จึงเกิดธรรมได้ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมทั้งหลาย จึงไม่เป็นอิสระเลย เพราะจะต้องอาศัยเหตุปัจจัยต่างๆ จึงเกิดขึ้นได้ อาศัยตัวมันเอง ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ จึงไม่เป็นอิสระ ดังนั้น ทุกชีวิตในขณะนี้ ไม่เป็นอิสระ ทั้งไม่เป็นอิสระจากกิเลส และไม่เป็นอิสระจากคุก คือ สังสารวัฏฏ์ และที่สำคัญที่สุด แม้จะไม่มีกิเลสเกิดขึ้น แต่เมื่อใดธรรมเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่อิสระ ตัวธรรมเอง แสดงถึงความไม่อิสระ คือ ต้องอาศัยสภาพธรรมอื่นๆ และเหตุปัจจัย จึงเกิดขึ้น
จึงกลับมาที่หนทางการอบรมปัญญาครับว่า ไม่ใช่จะทำให้ไม่อิสระ เป็นไปไม่ได้ แต่ควรเข้าใจสภาพธรรมที่ไม่ทำให้อิสระ คือ กิเลสที่เกิดขึ้นในจิตใจว่า กิเลสนั้น คืออะไร ด้วยการเจริญสติปัฏฐานระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏ แม้แต่กิเลสที่เกิดขึ้น มีโลภะ เป็นต้น ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ปัญญานั้นเองที่เกิดขึ้น จะค่อยๆ ทำให้เป็นอิสระจากกิเลส เพราะค่อยๆ ละความไม่รู้ ที่ทำให้ไม่อิสระ ครับ
ดังนั้น อนัตตา ไม่อิสระ เพราะสภาพธรรมทั้งหลายไม่ใช่เรา เป็นอนัตตา ไม่อิสระด้วยอำนาจเหตุปัจจัย ไม่มีเรา ที่จะไปบังคับได้ แต่จะเป็นอิสระที่สุด คือ ไม่มีการเกิดขึ้นของสภาพธรรมอะไรอีกเลย จึงเป็นการอิสระจากแท้จริง ครับ
เชิญอ่านคำบรรยายท่าน อ.สุจินต์ดังนี้
อร. ที่กล่าวว่าธรรมเป็นอนัตตาบังคับบัญชาไม่ได้แล้วไม่เป็นอิสระการที่ไม่อิสระ นี้หมายความว่าอย่างเห็นเกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัยได้ยินเกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัยทีนี้ในชีวิตประจำวันดูเหมือนว่าคนที่ศึกษาธรรมกับไม่ศึกษาธรรมการที่จะมีปัญญาเข้าใจธรรม ก็ต้องสร้างเหตุปัจจัยคือต้องอบรมต้องฟังสมมติว่าในครอบครัวอยากจะให้ลูกเข้าใจธรรมต้องมีเหตุปัจจัยให้เขาสนใจหรือถ้าไกลไปอีกนิดหนึ่งต้องการให้สังคมเป็นอย่างไร สังคมจะเป็นอย่างไรนี่เป็นอนัตตาบังคับบัญชาไม่ได้ไม่เป็นอิสระแล้วแต่เหตุปัจจัยซึ่ง บางคนก็คิดว่าถ้าต้องการให้สังคมเป็นอย่างนี้เมื่อรู้ว่าจะให้ผลเป็นอย่างไรเหตุก็ต้องเป็นอย่างนั้นทีนี้ในการเจริญเหตุปัจจัยและในความที่ว่าไม่อิสระดูเหมือนกับบางครั้งในความเข้าใจเหมือนกับว่าสามารถทำให้เหตุเป็นอย่างนี้ได้เพื่อผลจะได้เป็นอย่างนั้นหรือว่าเป็นอนัตตาแล้วไม่อิสระตั้งแต่เราอบรมปัญญาถ้าเราสร้างเหตุปัจจัยที่ดีเพื่อผลที่ดี
อ.จ. สังคมเป็นอะไรคะ
อร. ก็เป็นจิต เจตสิก รูป
อ.จ. สังคมไหนเป็นจิต เจตสิก รูป
อร. สังคมถ้าตามความเข้าใจก็หมายถึงว่าสภาพธรรมที่เยอะๆ ที่มารวมกันและมีกฎเกณฑ์ในการที่จะอยู่ร่วมกัน
อ.จ. แล้วเป็นธรรมหรือเปล่าธรรมอะไรขณะที่เป็นสังคมแต่ความจริงคิดใช่ไหมคะ
อร. เป็นความคิดว่าเป็นสังคม
อ.จ. ไม่ได้หมายความว่าคนที่เข้าใจธรรม จะไม่ทำอะไร จะคิดอะไร จะไม่เป็นประโยชน์อะไร ใช่ไหมคะ เพราะว่าเข้าใจธรรมไม่ว่าจะคิดอะไรจะทำอะไรคิดอะไรจะมองถูกต้องตามคลองของธรรมและขณะนั้นจะรู้ได้เลยว่าเป็นความเข้าใจธรรมระดับไหน เพราะแม้แต่ธรรมที่กำลังคิดก็ไม่รู้แล้วจะไปช่วยอะไรสังคมเมื่อสังคมก็ไม่รู้หมด สังคมไหนรู้ในเมื่อคนที่จะช่วยสังคมรู้หรือยัง ก็คงจะมีกุศลด้วย เพราะว่าธรรมเป็นธรรม ธรรมไม่ผิด ทุกคำที่พระองค์ทรงแสดงๆ ให้เห็นว่ากว่าจะถึงอริยสัจจ์ไม่ใช่เรา จะมีความไม่รู้ในสิ่งที่ปรากฎและสะสมอกุศลไว้มากมายพอกพูน แล้วเมื่อไรจะไปรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ เช่นที่พูดถึงเรื่องคิด คิดมีจริง แต่เรื่องที่คิดมีจริงหรือเปล่า แล้วเห็นมีจริง แล้วสิ่งที่ปรากฎทางตามีจริง แต่เห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดน่ะจริงหรือเปล่า ตอนนี้ก็ฟังเพื่อที่จะได้ไตร่ตรอง และเมื่อไหร่ที่จะมีความเข้าใจถูกต้องว่า เริ่มเข้าใจถูกในสิ่งที่ปรากฎว่าเป็นสิ่งที่ปรากฎเท่านั้น มีอะไรเป็นเครื่องวัด ว่าขณะนี้เริ่มแล้วที่จะเข้าใจ ไม่คิดถึงอย่างอื่น ใส่ใจที่จะรู้ความจริง สิ่งที่ปรากฎทางตามีจริงๆ เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฎให้เห็น อันนี้เปลี่ยนไม่ได้เลย แล้วรู้จริงๆ อย่างนี้หรือยัง และอะไรเป็นเครื่องวัดว่ารู้หรือยังไม่รู้ หรือว่ารู้แค่ไหน ถ้ากำลังคิดที่จะทำอย่างนั้นอย่างนี้ ลืมแล้วใช่ไหม ว่ามีสิ่งที่ปรากฎทางตาแล้ว ยังมีการคิดว่าสิ่งนั้นเป็นอะไรด้วย แล้วก็ยังเพลินไป จนกระทั่งว่า จะทำอะไรอีกมากมายก่ายกอง โดยที่ไม่รู้เลยว่าการที่เราจะรู้ว่าสิ่งใดจริง สิ่งใดไม่จริงก็ต่อเมื่อพอคิดแล้วเกิดระลึกได้ แค่คิดจริง หรือเปล่า ถ้าแค่คิด อย่างขณะนี้กำลังเห็น แค่คิดว่า เป็นคนนั้น คนนี้ ถ้าไม่คิด จะไม่มีความจำได้ว่าเป็นอะไร
เพราะฉะนั้น แม้แต่สภาพที่จำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็จริงแล้วก็จำด้วยความเข้าใจถูกต้องว่าขณะที่มีสิ่งที่ปรากฎ ทางตา สิ่งที่ปรากฎทางตาไม่ต้องไปทำอะไรเป็นเรื่องเป็นราวไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้นก็ปรากฎไม่ต้องไปนั่งคิดเหมือนกับว่าเราจะทำยังไงให้เป็นอย่างนั้น อย่างนี้แต่ว่าสิ่งนี้ก็มีแล้วเพราะปรากฎแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าสามารถจะรู้ความต่างของคิดกับสิ่งที่ปรากฎทางตา ไม่ใช่ไปนึกถึงเรื่องมากมายว่าเราจะไปทำอย่างนี้ ต่อไปนี้เราจะอย่างนี้ อย่างนั้น นั่นก็คือคิดเป็นเรื่องต่างๆ แต่ไม่ได้เข้าใจว่า แม้ในขณะนี้ที่มีเห็น ที่จะรู้จริงๆ ถึงความต่างของสิ่งที่มีจริงกับสิ่งที่เป็นเพียงคิดว่าเป็นอย่างนั้น ก็คือต่อเมื่อใด เดี๋ยวนี้ระลึกได้ว่าขณะใดก็ตามที่เห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ต่างกับที่กำลังเริ่มเข้าใจสิ่งที่ปรากฎ ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่เป็นสิ่งที่ปรากฎให้เห็นได้ เพราะฉะนั้น คิดเรื่องอื่น ก็เช่นเดียวกัน คิดตั้งยาว เมื่อกี้นี้กับเห็น รู้เลยคิดหมด แล้วเห็นจริงๆ แต่เรื่องราวที่คิด หมดไปพร้อมกับจิตที่คิด
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
[เล่มที่ 53] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔- หน้าที่ ๑๒
บทว่า สพฺพํ อนิสฺสรํ เอตํ ความว่า สิ่งทั้งหมดนั้น เว้นจากความเป็นอิสระ คือ ใครๆ ไม่อาจแผ่ความเป็นใหญ่ไปในโลกนี้ ว่า จงเป็นอย่างนั้น.
ประโยชน์จริงๆ คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูกว่า สิ่งที่มีจริงๆ นั้น เป็นจริงแต่ละหนึ่งๆ ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีสภาพธรรมแม้แต่อย่างเดียวที่จะเกิดเองลอยๆ โดยปราศจากหตุปัจจัย นี่ก็แสดงถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม และไม่เป็นอิสระ คือ ไม่เป็นใหญ่ในการบังคับบัญชา เพราะเหตุว่า บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เช่น เห็น เป็นธรรม เป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา บังคับไม่ให้เห็นเกิดก็ไม่ได้ หรือเมื่อเห็นเกิดแล้ว บังคับไม่ให้ดับก็ไม่ได้ นี้คือความเป็นจริง เพราะเห็นเกิดเพราะเหตุปัจจัย กล่าวคือ ต้องมีกรรมเป็นปัจจัย ต้องมีที่เกิดของจิตเห็น ต้องมีเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมกับจิตเห็นและมีสีเป็นอารมณ์ของจิตเห็นด้วย และธรรมที่กล่าวมาทั้งหมด ล้วนเป็นจริงแต่ละหนึ่งๆ ครับ
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...
อ้างอิงจาก ความคิดเห็น 5 โดย khampan.a
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
[เล่มที่ 53] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔- หน้าที่ ๑๒บทว่า สพฺพํ อนิสฺสรํ เอตํ ความว่า สิ่งทั้งหมดนั้น เว้นจากความเป็นอิสระ คือ ใครๆ ไม่อาจแผ่ความเป็นใหญ่ไปในโลกนี้ ว่า จงเป็นอย่างนั้น.
ประโยชน์จริงๆ คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูกว่า สิ่งที่มีจริงๆ นั้น เป็นจริงแต่ละหนึ่งๆ ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีสภาพธรรมแม้แต่อย่างเดียวที่จะเกิดเองลอยๆ โดยปราศจากหตุปัจจัย นี่ก็แสดงถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม และไม่เป็นอิสระ คือ ไม่เป็นใหญ่ในการบังคับบัญชา เพราะเหตุว่า บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เช่น เห็น เป็นธรรม เป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา บังคับไม่ให้เห็นเกิดก็ไม่ได้ หรือเมื่อเห็นเกิดแล้ว บังคับไม่ให้ดับก็ไม่ได้ นี้คือความเป็นจริง เพราะเห็นเกิดเพราะเหตุปัจจัย กล่าวคือ ต้องมีกรรมเป็นปัจจัย ต้องมีที่เกิดของจิตเห็น ต้องมีเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมกับจิตเห็นและมีสีเป็นอารมณ์ของจิตเห็นด้วย และธรรมที่กล่าวมาทั้งหมด ล้วนเป็นจริงแต่ละหนึ่งๆ ครับ
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ