พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

คิริมานันทเถราปทานที่ ๗ (๓๙๗) ว่าด้วยผลแห่งการทําพุทธบูชา

 
บ้านธัมมะ
วันที่  29 พ.ย. 2564
หมายเลข  41399
อ่าน  336

[เล่มที่ 71] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๒ - หน้า 936

เถราปทาน

ปิลินทวรรคที่ ๔๐

คิริมานันทเถราปทานที่ ๗ (๓๙๗)

ว่าด้วยผลแห่งการทําพุทธบูชา


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 71]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๒ - หน้า 936

คิริมานันทเถราปทานที่ ๗ (๓๙๗)

ว่าด้วยผลแห่งการทำพุทธบูชา

[๓๙๙] ภริยาของเราทำกาละแล้ว บุตรของเราก็ไปสู่ป่าช้า มารดา บิดา และพี่ชายก็ตายแล้ว เราจึงเผาที่เชิงตะกอนเดียวกัน.

เพราะความเศร้าโศกนั้น เราเป็นผู้เร่าร้อน เป็นผู้ผอม เหลือง จิตของเราฟุ้งซ่าน เพราะเราประกอบด้วยความเศร้า โศกนั้น.

เรามากด้วยลูกศรคือความโศกจึงเข้าไปสู่ชายป่า บริโภค ผลไม้ที่หล่นเองอยู่ที่โคนต้นไม้.

พระสัมพุทธชินเจ้าพระนามว่า สุเมธ ผู้กระทำที่สุดทุกข์ พระองค์ประสงค์จะช่วยเหลือเรา จึงเสด็จมาในสำนักของเรา.

เราได้ยินเสียงพระบาทของพระพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ จึงชะเง้อศีรษะดูพระมหามุนี.

พระมหาวีรเจ้าเสด็จเข้ามา ปีติเกิดขึ้นแก่เรา ในกาลนั้น เราได้เห็นพระองค์ผู้เป็นนายกของโลกแล้วมีใจไม่ฟุ้งซ่าน.

กลับได้สติแล้ว ได้ถวายใบไม้กำมือหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีพระจักษุ ประทับนั่งบนใบไม้นั้นด้วยความอนุ- เคราะห์.

พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสุเมธ ผู้เป็นนายกของโลก ผู้ตรัสรู้แล้ว ครั้นประทับนั่งบนใบไม้นั้นแล้ว ทรงแสดงธรรม เครื่องบรรเทาลูกศรคือความโศกแก่เราว่า

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๒ - หน้า 937

ชนเหล่านั้น ใครมิได้เชื้อเชิญให้มาก็มาจากปรโลกนั้นเอง ใครมิได้อนุญาตให้ไป ก็ไปจากมนุษยโลกนี้แล้ว เขามาแล้ว อย่างใด ก็ไปอย่างนั้น จะคร่ำครวญไปทำไมในการตาย ของเขานั้น.

สัตว์มีเท้า เมื่อฝนตกลงมา เขาก็เข้าไปอาศัยในโรง เพราะฝนตก เมื่อฝนหายแล้ว เขาก็ไปตามปรารถนา ฉันใด มารดาบิดาของท่าน ก็ฉันนั้น จะคร่ำครวญไปทำไมในการตาย ของเขานั้น.

แขกผู้จรมา เป็นผู้สั่นหวั่นไหว ฉันใด มารดาบิดาของ ท่าน ก็ฉันนั้น คร่ำครวญไปทำไมในการตายของเรานั้น.

งูละคราบเก่าแล้ว ย่อมไปสู่กายเดิม ฉันใด มารดา บิดาของท่าน ก็ฉันนั้น จะคร่ำครวญไปทำไมในการตายของ เขานั้น.

เราได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสแล้ว เว้นลูกศรคือความโศกได้ ยังความปราโมทย์ให้แล้ว ได้ถวายบังคมพระพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐสุด.

ครั้นถวายบังคมแล้ว ได้บูชาพระพุทธเจ้าผู้ล่วงพ้นภูเขา คือกิเลส เป็นพระมหานาค ทรงสมบูรณ์ด้วยกลิ่นหอมอัน เป็นทิพย์ พระนามว่า สุเมธ เป็นนายกของโลก.

ครั้นบูชาพระสัมพุทธเจ้าแล้ว ประนมกรอัญชลีขึ้นเหนือ เศียร อนุสรณ์ถึงคุณอันเลิศแล้ว ได้สรรเสริญพระองค์ผู้เป็น นายกของโลกว่า

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๒ - หน้า 938

ข้าแต่พระมหามุนีมหาวีรเจ้า พระองค์ทรงเป็นสัพพัญญู เป็นนายกของโลก ทรงข้ามพ้นแล้ว ยังทรงรื้อขนสรรพสัตว์ ด้วยพระญาณว่า

ข้าแต่พระมหามุนีผู้มีพระจักษุ พระองค์ตัดความเคลือบ แคลงสงสัยแล้ว ยังทรงยังมรรคให้เกิดแก่ข้าพระองค์ ด้วย พระญาณของพระองค์.

พระอรหันต์ผู้ถึงความสำเร็จ ได้อภิญญา ๖ มีฤทธิ์มาก เที่ยวไปในอากาศได้ เป็นนักปราชญ์ ห้อมล้อมอยู่ทุกขณะ.

พระเสขะผู้กำลังปฏิบัติ และผู้ตั้งอยู่ในผล เป็นสาวก ของพระองค์ สาวกทั้งหลายของพระองค์ย่อมบาน เหมือน ดอกปทุมเมื่ออาทิตย์อุทัย.

มหาสมุทรประมาณไม่ได้ ไม่มีอะไรเหมือน ยากที่จะ ข้ามได้ ฉันใด ข้าแต่พระองค์ผู้มีจักษุ พระองค์ทรงสมบูรณ์ ด้วยพระญาณ ก็ประมาณไม่ได้ ฉันนั้น.

เราถวายบังคมพระพุทธเจ้าผู้ชนะโลก มีพระจักษุ มียศ มาก นมัสการทั่ว ๔ ทิศแล้วได้กลับไป.

เราเคลื่อนจากเทวโลกแล้ว รู้สึกตัว กลับมีสติ ท่องเที่ยว อยู่ในภพน้อยใหญ่แล้ว ลงสู่ครรภ์มารดา.

ออกจากเรือนแล้วบวชเป็นบรรพชิต เป็นผู้มีความเพียร มีปัญญา มีการหลีกเร้นอยู่เป็นอารมณ์ ตั้งความเพียร ยัง

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๒ - หน้า 939

พระมหามุนีให้ทรงโปรดปราน พ้นแล้วจากกิเลส ดังดวงจันทร์พ้นแล้วจากกลีบเมฆ อยู่ทุกเมื่อฉะนั้น.

เราเป็นผู้ขวนขวายในวิเวก สงบระงับ ไม่มีอุปบัติ กำหนด รู้อาสนะทั้งปวงแล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่.

ในกัปที่สามหมื่น แต่กัปนี้ เราได้บูชาพระพุทธเจ้าพระองค์ ใด ด้วยการบูชานั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา.

เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ถอนภพขึ้นได้ทั้งหมดแล้ว อาสวะทั้งปวงของเราสิ้นรอบแล้ว บัดนี้ภพใหม่มิได้มี.

การที่เราได้มาในสำนักพระพุทธเจ้าของเรานี้ เป็นการ มาดีแล้วหนอ วิชชา ๓ เราบรรลุแล้วโดยลำดับ คำสอนของ พระพุทธเจ้าเราได้ทำเสร็จแล้ว.

คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และ อภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งชัดแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้า เราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้.

ทราบว่า ท่านพระคิริมานันทเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วย ประการฉะนี้แล.

จบคิริมานันทเถราปทาน

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๒ - หน้า 940

๓๙๗. อรรถกถาคิริมานันทเถราปทาน

พึงทราบเรื่องราวในอปทานที่ ๗ ดังต่อไปนี้ :-

อปทานของท่านพระคิริมานันทเถระ มีคำเริ่มต้นว่า ภริยา เม กาลงฺกตา ดังนี้.

แม้พระเถระรูปนี้ ก็ได้เคยบำเพ็ญกุศลมาแล้ว ในพระพุทธเจ้า พระองค์ก่อนๆ ได้สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งนิพพานไว้มากมายในภพ นั้นๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า สุเมธ ท่านได้บังเกิด ในเรือนอันมีสกุล เจริญวัยแล้ว ดำรงอยู่ในเพศฆราวาส อยู่มาเมื่อภริยา และบุตรของตนกระทำกาละแล้ว ถูกลูกศรคือความเศร้าโศกปักแล้ว จึง เข้าป่า บริโภคผลไม้มีชีวิตเป็นไปอยู่ที่โคนต้นไม้. ในกาลนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสุเมธ ได้เสด็จไปในที่นั้นเพื่อทรงอนุเคราะห์เขา ทรงแสดงธรรมถอนลูกศรคือความเศร้าโศกขึ้นได้ เขาฟังธรรมแล้ว มี ใจเลื่อมใส เอาดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมๆ บูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว กราบ ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ กระทำอัญชลีไว้เหนือเศียร ชมเชยแล้ว.

ด้วยบุญอันนั้น เขาจึงได้ท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก ได้เสวยความสุขในโลกทั้งสองแล้ว ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้เกิดเป็นลูกชาย ปุโรหิตของพระเจ้าพิมพิสารในกรุงราชคฤห์. เขาได้มีชื่อว่า คิริมานนท์ คิริมานนท์นั้น บรรลุนิติภาวะแล้ว เห็นอานุภาพของพระพุทธเจ้า ใน คราวที่พระศาสดาเสด็จมายังพระนครราชคฤห์แล้ว ได้มีศรัทธาบวชแล้ว

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๒ - หน้า 941

บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในอาวาสใกล้บ้านได้ ๒ - ๓ วัน ก็ได้ไปยังกรุง ราชคฤห์เพื่อถวายบังคมพระศาสดา. พระเจ้าพิมพิสาร ได้ทราบว่าท่าน มา จึงเสด็จเข้าไปหาท่านแล้ว ตรัสว่า นิมนต์ท่านอยู่ในที่นี้เถิด, โยม จะบำรุงด้วยปัจจัย ๔ ดังนี้ ปวารณาเรียบร้อยแล้ว พอเสด็จไปแล้ว ก็มิได้ทรงอนุสรณ์ถึงพระราชดำรัสนั้น เพราะมีพระราชกรณียกิจมาก. พระเถระจึงได้อยู่ในที่กลางแจ้งนั่นแล พวกเทวดาพากันห้ามฝนไม่ให้ตก เพราะกลัวพระเถระจะเปียก พระราชาทรงใคร่ครวญถึงเหตุที่ฝนไม่ตก ทรงทราบแล้ว จึงทรงมีรับสั่งให้พวกช่างสร้างกุฏิถวายพระเถระ พระเถระ อยู่ในกุฏิได้ความตั้งมั่นแห่งจิต เพราะได้เสนาสนะสัปปายะ ประกอบ ความเพียรให้สม่ำเสมอ ยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา บรรลุพระอรหัตแล้ว.

เมื่อท่านได้บรรลุพระอรหัตแล้ว ระลึกถึงบุรพกรรมของตน ได้ เกิดความโสมนัสใจ เมื่อจะประกาศถึงเรื่องราวที่ตนเคยได้ประพฤติมาแล้ว ในกาลก่อน จึงกล่าวคำเริ่มต้นว่า ภริยา เม กาลงฺกตา ดังนี้. การ ประกาศเรื่องราวของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น คำสั่งสอนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำไว้แล้ว และเรื่องราวแห่งการบรรลุมรรคผล ทั้งหมด นักศึกษาพอจะกำหนดรู้ได้โดยง่าย ตามลำดับแห่งบาลีนั่นแล.

จบอรรถกถาคิริมานันทเถราปทาน