พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

กาฬุทายีเถราปทานที่ ๖ (๕๔๖) ว่าด้วยบุพจริยาของพระกาฬุทายีเถระ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 พ.ย. 2564
หมายเลข  41553
อ่าน  411

[เล่มที่ 72] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๙ ภาค ๑ - หน้า 368

เถราปทาน

ภัททิยวรรคที่ ๕๕

กาฬุทายีเถราปทานที่ ๖ (๕๔๖)

ว่าด้วยบุพจริยาของพระกาฬุทายีเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 72]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๙ ภาค ๑ - หน้า 368

กาฬุทายีเถราปทานที่ ๖ (๕๔๖)

ว่าด้วยบุพจริยาของพระกาฬุทายีเถระ

[๑๓๖] ในกัปที่แสนแต่ภัทรกัปนี้ไป พระพิชิตมารพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้มีจักษุใน ธรรมทั้งปวง เป็นผู้นำ ได้เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว พระองค์เป็นครูผู้ประเสริฐกว่าพวกผู้นำ เป็น พระพิชิตมารผู้เข้าใจสิ่งดีและสิ่งที่ชั่วแจ้งชัด และ เป็นคนกตัญญูกตเวทีย่อมประกอบสัตว์ทั้งหลาย เข้าในอุบาย อันเป็นเหตุให้ถึงนิพพาน

พระองค์ทรงรู้ธรรมทั้งปวง เป็นที่อาศัย อยู่แห่งความเอ็นดู เป็นที่สั่งสมแห่งอนันตคุณ ทรงพิจารณาด้วยพระญาณนั้นแล้ว ทรงแสดง ธรรมอันประเสริฐ

พระองค์เป็นผู้มีความเพียรใหญ่ ผู้มีพระ ปัญญาไม่มีที่สุด บางครั้ง ทรงแสดงธรรมไพเราะ ปฏิสังยุตด้วยสัจจะ ๔ แก่หมู่ชนไม่มีที่สุด

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๙ ภาค ๑ - หน้า 369

สัตว์จำนวนแสนได้บรรลุธรรม เพราะ ได้ฟังธรรมอันประเสริฐ อันงามในเบื้องต้น งาม ในท่ามกลางและงามในที่สุดนั้น

ครั้งนั้น แผ่นดินสั่นสะเทือน เมฆ กระหึ่ม ทวยเทพ พรหม มนุษย์และอสูร ต่างก็ แซ่ซ้องสาธุการว่า

โอ พระศาสดา ประกอบด้วยพระกรุณา โอ พระสัทธรรมเทศนา โอ พระพิชิตมารทรง ฉุดหมู่สัตว์ที่จมลงในสมุทรคือภพขึ้นมาแล้ว

เมื่อสัตว์พร้อมทั้งมนุษย์ เทวดาและ พรหม เกิดความสังเวชเช่นนี้แล้ว พระพิชิตมาร ได้ทรงสรรเสริญสาวก ผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายทำสกุลให้เลื่อมใส

ครั้งนั้น เราเกิดในสกุลอำมาตย์ในพระนครหังสวดี เป็นผู้นำมาซึ่งความเลื่อมใส น่าดู มีทรัพย์และธัญญาหารเหลือล้น

เราเข้าไปยังพระวิหารหังสาราม ถวาย บังคมพระตถาคตพระองค์นั้น ได้สดับธรรมอัน ไพเราะ และทำสักการะแด่พระผู้คงที่ หมอบลง แทบบาทมูลแล้ว ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระมุนี ผู้มีความเพียรใหญ่ ภิกษุใดในศาสนาของพระองค์ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายผู้ทำสกุลให้

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๙ ภาค ๑ - หน้า 370

เลื่อมใส ขอให้ข้าพระองค์ได้เป็นเหมือนภิกษุนั้น ในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุดเถิด

ครั้งนั้น พระศาสดาผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณา เมื่อจะเอาน้ำอมฤตรดเรา ได้ตรัสกะ เราว่า ลุกขึ้นเถิดลูก ท่านจะได้ฐานันดรนี้ สมมโนรถปรารถนา บุคคลทำสักการะในพระพิชิตมารแล้ว จะพึงเป็นผู้ปราศจากผล อย่างไร ได้เล่า

ในกัปที่แสนแต่กัปนี้ พระศาสดามี พระนามว่าโคดม ผู้สมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ท่านจัก ได้ธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น เป็นโอรสอันธรรมเนรมิต จักเป็นสาวกของพระศาสดา มีนามว่ากาฬุทายี

ครั้งนั้น เราได้สดับพระพุทธพยากรณ์ แล้ว เป็นผู้เบิกบาน มีจิตประกอบด้วยเมตตา บำรุงพระพิชิตมารซึ่งเป็นผู้นำชั้นพิเศษด้วยปัจจัย ทั้งหลาย ตราบเท่าสิ้นชีวิต

เพราะวิบากของกรรมนั้น และเพราะ ตั้งเจตน์จำนงไว้ เราละร่างมนุษย์แล้ว ได้ไป สวรรค์ชั้นดาวดึงส์

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๙ ภาค ๑ - หน้า 371

ก็ในภพสุดท้ายในบัดนี้ เราเกิดในสกุล มหาอำมาตย์ ของพระเจ้าแผ่นดิน พระนามว่า สุทโธทนะ ในพระนครกบิลพัสดุ์อันรื่นรมย์

ครั้งนั้น พระสิทธัตถราชกุมาร ผู้ประเสริฐกว่านรชน ได้ประสูติแล้วที่สวนลุมพินีอัน รื่นรมย์ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่โลกทั้ง มวล เราก็เกิดในวันเดียวกัน เติบโตมาพร้อม กันกับพระสิทธัตถราชกุมารนั้นแหละ เป็นสหาย รักใคร่ชอบใจของกัน คุ้นเคยกัน ฉลาดในทาง นิติบัญญัติ

พระสิทธัตถราชกุมารนั้น มีพระชนมายุ ๒๙ พรรษา ได้เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ยับยั้ง อยู่ ๖ พรรษา ก็ได้เป็นพระพุทธเจ้าผู้นำชั้นเลิศ พระพุทธองค์ทรงชำนะมารพร้อมทั้งเสนามาร ยัง อาสวะให้สิ้นไป ข้ามห้วงอรรณพคือภพแล้ว เป็นพระพุทธเจ้าในโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก

เสด็จไปยังป่าอิสิปตนะ ทรงแนะนำภิกษุ ปัญจวัคคีย์ ต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จ ไป ในที่นั้นๆ แล้วทรงแนะนำเวไนยสัตว์ พระพิชิตมารพระองค์นั้น ทรงแนะนำเวไนยสัตว์ ทรงสงเคราะห์มนุษย์พร้อมทั้งทวยเทพ ได้เสด็จ ไปถึงภูเขาในแคว้นมคธ แล้วประทับอยู่

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๙ ภาค ๑ - หน้า 372

ในคราวครั้งนั้น เราอันพระเจ้าแผ่นดิน พระนามว่า สุทโธทนะ ทรงส่งไป ได้ไปเฝ้าพระทศพล บวชแล้ว ได้เป็นพระอรหันต์

ครั้งนั้น เราทูลอ้อนวอนพระศาสดา ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ให้เสด็จไปนคร กบิลพัสดุ์ ต่อจากนั้น เราได้ล่วงหน้าไปก่อน กุลใหญ่ๆ ให้เลื่อมใส

พระพิชิตมารผู้ประเสริฐกว่าบุรุษ ทรง พอพระทัยในคุณข้อนั้นของเรา จึงได้ทรงแต่งตั้ง เราไว้ว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายที่ทำสกุล ให้เลื่อมใส

เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ... คำสอนของ พระพุทธเจ้า เราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้.

ทราบว่า ท่านพระกาฬุทายีเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ ฉะนี้แล.

จบกาฬุทายีเถราปทาน

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๙ ภาค ๑ - หน้า 373

๕๔๖. อรรถกถากาฬุทายีเถราปทาน

พึงทราบเรื่องราวในอปทานที่ ๖ ดังต่อไปนี้ :-

อปทานของท่านพระกาฬุทายีเถระ มีคำเริ่มต้นว่า ปทุมุตฺตโร นาม ชิโน ดังนี้.

แม้พระเถระรูปนี้ ก็ได้เคยบำเพ็ญกุศลมาแล้วในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ได้สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้เป็นอันมากในภพ นั้นๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ท่านได้บังเกิด ในเรือนอันมีสกุลในหังสวดีนคร ได้บรรลุนิติภาวะแล้ว ขณะฟังพระธรรม เทศนาของพระศาสดา มองเห็นภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งพระศาสดาทรงสถาปนาเธอ ไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าพวกภิกษุผู้ทำสกุลให้เลื่อมใสแล้ว เร่งกระทำบุญกรรม สู่สมไว้เพื่อได้ตำแหน่งนั้น ได้ปรารถนาตำแหน่งนั้นแล้ว. ถึงแม้พระศาสดา ก็ได้ทรงพยากรณ์แล้ว. เขาได้บำเพ็ญกุศลกรรมไว้จนตลอดชีวิตแล้ว ท่อง เที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก ในวันที่พระโพธิสัตว์ของพวกเราถือปฏิสนธิ ในพระครรภ์มารดา (เขาก็) จุติจากเทวโลกแล้ว ได้ถือปฏิสนธิในตระกูลอำมาตย์ ในกรุงกบิลพัสดุ์นั่นเอง. เขาได้เกิดในวันเดียวกันกับพระโพธิสัตว์ทีเดียว ใน วันนั้นนั่นเอง มารดาบิดาให้เขานอนบนที่นอนที่ทำด้วยผ้าเนื้อดีชนิดหนึ่งแล้ว พาไปสู่ที่บำรุงของพระโพธิสัตว์ จริงอยู่ ต้นโพธิ์พฤกษ์ มารดาของพระราหุล ขุมทรัพย์ ๔ แห่ง ช้างทรง ม้ากัณฐกะ นายฉันนะ และกาฬุทายี อำมาตย์ รวม ๗ อย่างเหล่านี้ ได้เป็นสหชาติกับพระโพธิสัตว์ เพราะเกิด ในวันเดียวกัน. ครั้นถึงวันตั้งชื่อ มารดาบิดาได้ตั้งชื่อเขาว่า อุทายี เพราะ เหตุที่เขาเกิดในวันที่ชาวพระนครทั้งสิ้นมีจิตเบิกบาน. แต่กลับปรากฏชื่อว่า กาฬุทายี เพราะเขามีธาตุดำไปหน่อย. เขาเมื่อจะเล่นตามประสาเด็กๆ ก็เล่นกับพระโพธิสัตว์ได้ถึงความเจริญวัยแล้ว.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๙ ภาค ๑ - หน้า 374

ในกาลต่อมา เมื่อพระโลกนาถเจ้า เสด็จออกสู่พระมหาภิเนษกรมณ์ ได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณตามลำดับแล้ว ทรงอาศัยพระนครราชคฤห์ ประกาศพระธรรมจักรอันประเสริฐให้เป็นไปแล้ว ประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน วิหาร พระเจ้าสุทโธทนมหาราช ได้ทรงทราบความเป็นไปนั้นแล้ว ทรง ส่งอำมาตย์คนหนึ่งซึ่งมีบริวาร ๑,๐๐๐ คนไปด้วยพระดำรัสว่า เธอจงไปนำลูก ของเรามาในพระราชวังนี้เถิด. ในเวลาที่พระศาสดาทรงแสดงพระธรรม เทศนา เขาก็ได้เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ยืนอยู่ที่ท้ายบริษัท ฟังพระธรรมเทศนา แล้ว พร้อมด้วยบริวาร ก็ได้บรรลุพระอรหัตแล้ว. ลำดับนั้นพระศาสดาทรง เหยียดพระหัตถ์ตรัสกะคนเหล่านั้นว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด. ในบัดดล นั้นเอง ชนทั้งหมดได้ทรงบาตรและจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ ได้เป็นเช่นกับ พระเถระมีพรรษาตั้ง ๖๐ พรรษา. ตั้งแต่ได้บรรลุพระอรหัตแล้ว ธรรมดาว่า พระอริยะทั้งหลายย่อมเป็นผู้วางตนเป็นกลาง เพราะฉะนั้น ข่าวสารที่ พระราชาทรงส่งไปจึงมิได้กราบทูลให้พระทศพลได้ทรงทราบ. พระราชาตรัส ว่า เขาไปแล้ว ไม่ยอมกลับมา ไม่ได้รับข่าวสารกันเลย จึงทรงส่งอำมาตย์ อีกคนหนึ่งพร้อมด้วยบริวาร ๑,๐๐๐ คนไปอีก. ถึงจะทรงส่งไปอีกคนหนึ่ง ก็คงปฏิบัติดำเนินตามอำมาตย์นั้นดังนั้น ทรงส่งไปโดยนัยนี้ จึงรวมอำมาตย์ได้ ถึง ๙ คน บริวารของอำมาตย์รวมได้ ๙,๐๐๐ คน. ชนทั้งหมดไปแล้วพอบรรลุ พระอรหัตแล้ว ก็ได้เป็นผู้นิ่งเฉยเสีย.

ลำดับนั้น พระราชาทรงพระดำริว่า ชนทั้งหลายมีประมาณเท่านี้ มิได้กราบทูลคำอะไรๆ เพื่อการเสด็จมาในพระราชวังนี้แด่พระทศพล เพราะ ไม่ได้มีความเยื่อใยในเราเลย แต่อุทายีคนนี้แล มีวัยเสมอกันกับพระทศพล เคยเล่นฝุ่นด้วยกัน และมีความเยื่อใยในเราแท้ เราจักส่งอุทายีนี้ไป. ลำดับ นั้น พระราชาทรงมีรับสั่งให้เรียกอุทายีนั้นมาแล้ว ตรัสว่า พ่อคุณเอ๋ย พ่อ

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๙ ภาค ๑ - หน้า 375

จงพาบริวาร ๑,๐๐๐ คนไป นิมนต์พระทศพลมาในพระราชวังนี้เถิด ดังนี้ แล้ว จึงทรงส่งไปแล้ว. ก็อุทายีนั้น เมื่อจะไปจึงกราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่ สมมติเทพ ถ้าหากว่าข้าพระองค์จักได้บวชไซร้ ข้าพระองค์ก็จักนิมนต์ พระผู้มีพระภาคเจ้ามาในพระราชวังนี้ให้จงได้ ดังนี้แล้ว พระราชาตรัสว่า แม้เจ้าบวชแล้ว จงชี้แจงกะบุตรของเราด้วย ดังนี้แล้ว เขาจึงไปยังพระนคร ราชคฤห์ ในเวลาที่พระศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนา จึงยืนอยู่ที่ท้ายบริษัท ฟังธรรมแล้ว พร้อมกับบริวารได้บรรลุพระอรหัต ดำรงอยู่ในความเป็น เอหิภิกษุแล้ว. ท่านบรรลุพระอรหัตแล้ว คิดว่า รอก่อน เวลานี้ยังมิใช่เวลาที่ พระทศพลจะเสด็จไปยังพระนครตระกูลเดิม แต่เมื่อใกล้จะเข้าพรรษาจักเป็น กาลที่ควรเสด็จไปได้ ตามภูมิภาคที่ดารดาษไปด้วยติณชาติอันเขียวชอุ่มตามที่ ภูเขาลำเนาไพร ดังนี้ เมื่อรอกาลเวลาอันควรเสด็จไป ถึงใกล้เข้าพรรษา เข้ามา จึงพรรณนาถึงหนทางที่พระศาสดาจะเสด็จไปยังพระนครแห่งราชตระกูล. สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ในเถรคาถาว่า.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ หมู่ไม้ ทั้งหลายมีดอกและใบมีสีแดงดังถ่านเพลิง ผลิต ผลผลัดใบเก่าร่วงหล่นไป หมู่ไม้เหล่านั้น งดงาม รุ่งเรืองดั่งเปลวเพลิง ข้าแต่พระองค์ผู้มีความ เพียรใหญ่ กาลนี้เป็นเวลาสมควรอนุเคราะห์หมู่ พระญาติ

ข้าแต่พระองค์ผู้แกล้วกล้า หมู่ไม้ทั้งหลาย มีดอกบานงามดี น่ารื่นรมย์ใจ ส่งกลิ่นหอม ฟุ้งตระหลบไปทั่วทิศโดยรอบด้าน ผลัดใบเก่า ผลดอกออกผล เวลานี้เป็นเวลาสมควรจะหลีก

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๙ ภาค ๑ - หน้า 376

ออกไปจากที่นี้ ขอเชิญพระพิชิตมารเสด็จไปสู่ กรุงกบิลพัสดุ์เถิด

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ฤดูนี้ก็เป็นฤดูที่ ไม่หนาวนัก ไม่ร้อนนัก เป็นฤดูพอสบาย ทั้ง มรรคาก็สะดวก ขอพวกศากยะและโกลิยะ ทั้งหลาย จงได้เข้าเฝ้าพระองค์ที่แม่น้ำโรหินี อันมีหน้าในภายหลังเถิด

ชาวนาไถนาด้วยความหวังผล หว่านพืช ด้วยความหวังผล พ่อค้าผู้เที่ยวไปหาทรัพย์ ย่อม ไปสู่สมุทรด้วยความหวังทรัพย์ ข้าพระองค์อยู่ใน ที่นี้ด้วยความหวังทรัพย์ ของความหวังผลอันนั้น จงสำเร็จแก่ข้าพระองค์เถิด

ข้าแต่พระมหามุนี ภาคพื้นมีหญ้าสีเขียว สด ไม่หนาวเกินไป ไม่ร้อนเกินไป ภิกษาหา ได้ง่าย ไม่แร้นแค้น กาลนี้แลเป็นกาลสมควรจะ เสด็จไปได้

ชาวนาหว่านพืชบ่อยๆ ฝนตกบ่อยๆ ชาวนาไถนาบ่อยๆ แว่นแคว้นสมบูรณ์ด้วยธัญญาหารบ่อยๆ

พวกยาจกเที่ยวของทานบ่อยๆ ผู้เป็น ทานาธิบดี ก็ให้ทานบ่อยๆ ครั้นให้ทานบ่อยๆ แล้ว ย่อมเข้าถึงสวรรค์บ่อยๆ

บุรุษผู้มีความเพียร มีปัญญากว้างขวาง เกิดในสกุลใด ย่อมยังสกุลนั้นให้บริสุทธิ์สะอาด

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๙ ภาค ๑ - หน้า 377

คน ข้าพระองค์ย่อมเข้าใจว่า พระองค์เป็นเทพเจ้า ประเสริฐกว่าเทพเจ้าทั้งหลาย ย่อมทรงสามารถ ทำให้สกุลบริสุทธิ์ เพราะพระองค์เกิดแล้วโดย อริยชาติ ได้สัจนามว่าเป็นนักปราชญ์

สมเด็จพระบิดาของพระองค์ผู้แสวงหา คุณอันยิ่งใหญ่ ทรงพระนามว่าสุทโธทนะ สมเด็จ พระนางเจ้ามายาพระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ เป็นพระพุทธมารดา ทรงบริหารพระองค์ผู้เป็น พระโพธิสัตว์มาด้วยพระครรภ์เสด็จสวรรคตไป บันเทิงอยู่ในไตรทิพย์

สมเด็จพระนางเจ้ามายาเทวีนั้น ครั้น สวรรคต จุติจากโลกนี้แล้ว ทรงพรั่งพร้อมด้วย กามคุณอันเป็นทิพย์ มีหมู่นางฟ้าห้อมล้อม บันเทิง อยู่ด้วยเบญจกามคุณ

อาตมภาพเป็นบุตรของพระพุทธเจ้าผู้ไม่มี สิ่งใดจะย่ำยีได้ มีพระรัศมีแผ่ซ่านออกจากพระวรกาย ไม่มีผู้จะเปรียบปาน ผู้คงที่ ดูก่อน มหาบพิตร พระองค์เป็นโยมบิดาขอโยมบิดา แห่งอาตมภาพ ดูก่อนมหาบพิตร พระองค์เป็น พระอัยกาของอาตมภาพโดยธรรม.

มะม่วง ขนุน และมะขวิด ถูกประดับ ประดาไปด้วยดอกและใบ มีผลอยู่เนืองนิตย์ ยัง มีผลเล็กรสอร่อย มีอยู่สองข้างทาง ข้าแต่พระผู้ทรงยศใหญ่ บัดนี้ เป็นเวลาสมควรจะเสด็จไปได้.

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๙ ภาค ๑ - หน้า 378

ผลหว้ามีรสอร่อยหวานเย็น ผลไม้สวรรค์ คือรวงผึ้งเหล่านั้น รุ่งเรืองงามทั้งสองข้างทาง ข้าแต่พระผู้ทรงยศใหญ่ บัดนี้เป็นเวลาสมควร จะเสด็จไปได้.

หมู่ต้นหญ้า ไม้มะหาด มีสีดุจทองคำ เป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ ผลไม้อันประกอบด้วยน้ำก็มี อยู่เป็นนิตย์ ข้าแต่พระผู้ทรงยศใหญ่ บัดนี้เป็น เวลาสมควรจะเสด็จไปได้.

ต้นกล้วยและกล้วยเล็บมือนาง ต่างก็มี ผลสุกงอมห้อยย้อยอยู่สองข้างทาง ข้าแต่พระผู้ ทรงยศใหญ่ บัดนี้เป็นเวลาสมควรจะเสด็จไปได้.

ต้นไม้มีผลหวานอร่อยเป็นนิตย์ ต้น หางนกยูงดูเป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ ต้นไม้ที่มีผลเล็ก ก็มีอยู่เป็นนิตย์ ข้าแต่พระผู้ทรงยศใหญ่ บัดนี้ เป็นเวลาสมควรจะเสด็จไปได้.

ต้นเต่าร้างมีผลสุก มีลำต้นคล้ายสีเงิน โชติช่วง ต้นไม้เล็กซึ่งดารดาษไปด้วยผลสุก มี รสอร่อย จะได้เสวยผลไม้เหล่านั้น ข้าแต่พระผู้ ทรงยศใหญ่ บัดนี้เป็นเวลาสมควรจะเสด็จไปได้.

ต้นมะเดื่อมีสีคล้ายสีอรุณ มีผลอร่อยดี ทุกเมื่อ มีผลห้อยย้อยอยู่สองข้างทาง ข้าแต่ พระทรงยศใหญ่ บัดนี้เป็นเวลาสมควรจะเสด็จ ไปได้.

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๙ ภาค ๑ - หน้า 379

ต้นไม้ที่มีผลนานาชนิดมากมายเหล่านั้น เป็นเช่นนี้ ห้อยย้อยอยู่ในที่ทั้งสองข้างทาง ข้าแต่พระผู้ทรงยศใหญ่ บัดนี้เป็นเวลาสมควรจะ เสด็จไปได้.

ดอกจำปา ดอกช้างน้าว มีกลิ่นหอม ยามเมื่อลมรำเพยพัด ที่ยอดที่ดอกสะพรั่ง งาม รุ่งเรือง ได้บูชาแล้วด้วยกลิ่นอันหอมชื่น มีความ เอื้อเฟื้อ นอบน้อมแล้ว ข้าแต่พระผู้ทรงยศใหญ่ บัดนี้เป็นเวลาสมควรจะเสด็จไปได้.

ดอกบุนนาค ดอกบุนนาคบนเขา ก็เบ่ง บาน ลำต้นอันมั่นคง มีดอกงามสะพรั่งรุ่งเรือง ได้บูชาแล้วด้วยกลิ่นอันหอมหวล เอื้อเฟื้อ มี ปลายยอดน้อมลง ข้าแต่พระผู้ทรงยศใหญ่ บัดนี้ เป็นเวลาสมควรจะเสด็จไปได้.

ดอกอโศก และดอกปาริชาต อันประเสริฐสร้างเสริมความโสมนัสใจ กรรณิการ์กิ่งก้าน เกี่ยวพันมีดอกหอม ประดับพื้นที่ด้วยสีเงิน เอื้อเฟื้อ มีปลายยอดน้อมลง ข้าแต่พระผู้ทรง ยศใหญ่ บัดนี้ เป็นเวลาสมควรของพระองค์จะ เสด็จไปได้.

ต้นกรรณิการ์ ผลิดอกบานเป็นนิตย์ รุ่งโรจน์ด้วยแสงทอง มีดอกหอมคล้ายดอกไม้ ทิพย์ฟุ้งขจรไป ดูงดงามไปทั่วทุกทิศ มีความ

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๙ ภาค ๑ - หน้า 380

เอื้อเฟื้อ น้อมกิ่งลง ข้าแต่พระผู้ทรงยศใหญ่ บัดนี้เป็นเวลาสมควรของพระองค์จะเสด็จไปได้.

ดอกการะเกด ดอกลำเจียก มีใบงาม สมบูรณ์ด้วยกลิ่น มีกลิ่นหอมฟุ้งขจรไป หอมไป ทั่วทุกทิศ มีความเอื้อเฟื้อ น้อมกิ่งลงบูชา ข้าแต่ พระผู้ทรงยศใหญ่ บัดนี้เป็นเวลาสมควรของ พระองค์จะเสด็จไปได้.

ดอกมัลลิกา ดอกมะลิวัลย์ มีกลิ่นหอม มีดอกเล็ก ส่งกลิ่นหอมไปทั่วทุกทิศ งดงามใน ระหว่างสองข้างทาง มีความเอื้อเฟื้อ น้อมกิ่งลง เพื่อพระองค์ ข้าแต่พระผู้ทรงยศใหญ่ บัดนี้เป็น เวลาสมควรของพระองค์จะเสด็จไปได้.

ดอกไม้ใกล้ฝั่งแม่น้ำสินธุ มีกลิ่นหอม ฟุ้ง น้อมลงบูชาทั่วทุกทิศ งดงามในระหว่าง สองฟากทาง มีความเอื้อเฟื้อน้อมกิ่งลง มีปลาย อ่อนน้อมลง ข้าแต่พระผู้ทรงยศใหญ่ บัดนี้เป็น เวลาสมควรของพระองค์จะเสด็จไปได้.

สิงห์และราชสีห์ สัตว์ ๔ เท้าอาศัยตั้งมั่น มิคราชผู้ไม่สะดุ้งกลัวถึงความเป็นสัตว์แกล้วกล้า ย่อมพากันบูชาด้วยการบันลือสีหนาท มีความ เอื้อเฟื้อแด่พระองค์ ครอบงำหมู่เนื้อ ไล่ออก ไปจากสองข้างทาง ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงยศใหญ่ บัดนี้เป็นเวลาสมควรของพระองค์จะเสด็จไปได้.

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๙ ภาค ๑ - หน้า 381

เสือโคร่ง น่าสินธพ พังพอน ซึ่งมี รูปร่างงดงามมีความสะดุ้งกลัว เหมือนโลดแล่น ไปในอากาศ ไม่มีความกลัวอะไรๆ ด้วยเหตุ บางอย่าง สัตว์เหล่านั้นมีความเอื้อเฟื้ออ่อนน้อม ต่อพระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงยศใหญ่ ดังนี้ เป็นเวลาสมควรของพระองค์จะเสด็จไปได้.

ช้างตระกูลฉัททันต์ ตกมันแล้ว ๓ ครั้ง มีรูปร่างดี มีเสียงไพเราะ งดงาม มีองค์อัน ตั้งมั่นน้อมลงเพื่อพระองค์ ส่งเสียงร้องบันลือ ในสองข้างทาง มีความเอื้อเฟื้อ ร่าเริงอยู่ ข้าแต่ พระองค์ผู้ทรงยศใหญ่ บัดนี้เป็นเวลาสมควรของ พระองค์จะเสด็จได้.

มิคะ หมู อีเก้ง มีอวัยวะงดงาม งดงาม ด้วยเส้นคาดเป็นทางลงมีรูปดีสำรวมตัว ขับกล่อม ในระหว่างสองข้างทาง ข้าแต่พระองค์ผู้ทรง ยศใหญ่ บัดนี้เป็นเวลาสมควรของพระองค์จะ เสด็จไปได้.

กวางโคกัณณา กวางสรภาและกวางรุร ซึ่งมีเขาตรงและโค้ง มีรูปดี มีร่างกายสมบูรณ์ ซึ่งกำลังพากันหยุดพักอยู่ในคราวนั้น ผู้ต้องการจะ คบหากับพระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงยศใหญ่ บัดนี้เป็นเวลาสมควรของพระองค์จะเสด็จไปได้.

เสือเหลือง หมี และเสือดาว ซึ่งตะปบ กินสัตว์ทุกเมื่อ บัดนี้สัตว์เหล่านั้นทั้งหมด ได้

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๙ ภาค ๑ - หน้า 382

ศึกษาดีแล้ว มีความมั่นคงต่อพระองค์ด้วยเมตตา เป็นผู้ต้องการจะคบหาเฉพาะพระองค์มาเป็นเวลา นาน ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงยศใหญ่ บัดนี้เป็นเวลา สมควรของพระองค์จะเสด็จไปได้.

กระต่าย สุนัขจิ้งจอก พังพอน และ กระรอก กระแตเป็นจำนวนมาก ไม่มีความสะดุ้ง กล้าหาญ พากันขับร้องเพื่อพระองค์อย่างเดียว ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงยศใหญ่ บัดนี้เป็นเวลาสมควร ของพระองค์จะเสด็จไปได้.

หมู่นกยูงเหล่านั้น มีคอสีเขียว มีหงอน งาม มีปีกสวย มีกำหางงาม ร้องไพเราะ งดงามคล้ายกับแก้วไพฑูรย์และแก้วมณี ย่อมพา กันเปล่งเสียงร้องบูชาพระองค์อยู่ บัดนี้เป็นเวลา ที่พระองค์จะได้เห็นชนกแล้ว.

หมู่หงส์ทองอันงดงาม เป็นหงส์ที่บินไว ไปในอากาศ หงส์เหล่านั้นทั้งหมด ทั้งถิ่นแล้ว อาศัยอยู่ พากันขวนขวายในการที่จะได้เห็นพระชินเจ้า ย่อมส่งเสียงร้องด้วยเสียงอันไพเราะ บัดนี้ เป็นเวลาที่พระองค์จะได้เห็นพระชนกแล้ว.

หมู่หงส์ หมู่นกกระเรียน พากันร้องเสียง ไพเราะ หมู่นกจากพราก ก็เที่ยวไปในน้ำ หมู่ นกกระยาง หมู่นกตะกรุมอันงดงามน่าพอใจ หมู่

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๙ ภาค ๑ - หน้า 383

กาน้ำ หมู่ไก่ฟ้าเหล่นั้นพากันมีความเอื้อเฟื้อ ร้องเสียงอันไพเราะ บัดนี้เป็นเวลาที่พระองค์จะ ได้เห็นพระชนกแล้ว.

หมู่นกสาลิกา หมู่นกแก้ว มีรูปงามวิจิตร มีเสียงไพเราะ พากันส่งเสียงร้องบนยอดไม้ ส่งเสียงร้องทั้งสองข้างทาง บัดนี้เป็นเวลาที่พระองค์จะได้เห็นพระชนกแล้ว.

นกดุเหว่า ซึ่งล้วนแต่สวยวิจิตร มี สำเนียงเสียงไพเราะ ประเสริฐ เป็นที่อัศจรรย์ใจ แก่ปวงชน มีความกล้าหาญ ในการเป็นมิตร ร่วมกันเป็นต้น กำลังพากันบูชาอยู่ด้วยเสียง บัดนี้ เป็นเวลาที่พระองค์จะได้เห็นพระชนกแล้ว.

พวกลูกช้าง นกเขา นกกระเด็น มีอยู่ บริบูรณ์ในป่าทุกเมื่อ พากันขับกล่อม มีความ สามัคคีซึ่งกันและกัน ขับร้องด้วยเสียงอันไพเราะ บัดนี้เป็นเวลาที่พระองค์จะได้เห็นพระชนกแล้ว.

หมู่นกกระทา นกกระเต็น มีเสียงอัน ไพเราะ ไก่ป่าก็มีเสียงเพราะ น่ารื่นรมย์ใจ บัดนี้ เป็นเวลาที่พระองค์จะได้เห็นพระชนกแล้ว.

มีสถานที่อันมั่นคง งดงามน่ารื่นรมย์ ดารดาษไปด้วยทรายสีขาว มีสระน้ำอันบริบูรณ์ ด้วยน้ำสะอาด สวยงามทุกเมื่อ ทุกชีวิตพากัน

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๙ ภาค ๑ - หน้า 384

อาบและดื่มกินในสระน้ำนั้น บัดนี้เป็นเวลาที่ พระองค์จะได้เห็นหมู่พระญาติแล้ว.

จรเข้แหวกว่ายไปมาเกลื่อนกล่น ปลาสร้อย ปลาเค้า ปลาตะเพียนแดง ปลา และเต่า แหวกว่ายไปมาในสระที่มีน้ำเย็นสะอาด ซึ่งเป็นที่อาบ และดื่มกินของทุกชีวิต บัดนี้เป็นเวลาที่พระองค์ จะได้เห็นพระญาติแล้ว.

มีสระน้ำงดงาม ดารดาษไปด้วยดอก อุบลสีเขียว และดอกอุบลสีแดง ดารดาษไปด้วย ดอกโกมุท มากมายหลายชนิดในสระน้ำนั้น มี น้ำเย็นสะอาด บัดนี้เป็นเวลาที่พระองค์จะได้เห็น พระญาติแล้ว.

สระน้ำนั้นดารดาษด้วยดอกบุณฑริก มาก ด้วยดอกปทุม สวยงามทั้งสองข้างทาง ในที่ นั้นๆ ได้มีสระโบกขรณีอื่นๆ อีก ซึ่งเป็นที่ชน ทั้งหลายสรงสนานในสระนั้น บัดนี้เป็นเวลาที่ พระองค์จะได้เห็นพระญาติแล้ว.

มีสถานที่อันตั้งมั่น น่ารื่นรมย์ใจ เกลื่อน กล่นไปด้วยเม็ดทรายสีขาว มีแม่น้ำอันสวยงดงาม สมบูรณ์เปี่ยมด้วยน้ำเย็นและมีห้วงน้ำกว้างใหญ่ มีน้ำไหลทั้งสองข้างทาง บัดนี้เป็นเวลาที่พระองค์จะได้เห็นพระญาติแล้ว.

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๙ ภาค ๑ - หน้า 385

ในสองข้างทาง มีบ้านและนิคมตั้งเรียง ราย ประชาชนทั้งหลายมีศรัทธาเลื่อมใส นับถือ พระรัตนตรัย พวกเขามีความดำริอันเต็มเปี่ยม บัดนี้เป็นเวลาที่พระองค์จะได้เห็นพระญาติแล้ว.

พวกเทวดาและพวกมนุษย์ทั้งสอง ในถิ่น ที่นั้นๆ ต่างก็พากันบูชาพระองค์ด้วยระเบียบของ หอม บัดนี้เป็นเวลาที่พระองค์จะได้เห็นพระญาติแล้ว.

พระเถระได้พรรณนาถึงความงดงามแห่งหนทางเสด็จไปแด่พระศาสดา ด้วยคาถาประมาน ๖๐ คาถาอย่างนี้แล้ว.

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระดำริว่า กาฬุทายีปรารถนา จะให้เราไป เราจักทำความดำริของเธอให้บริบูรณ์ ดังนี้แล้วทรงเห็นว่าใน การไปในที่นั้น ประชาชนเป็นจำนวนมากจะได้บรรลุคุณวิเศษ ทรงมีพระขีณาสพ ๒ หมื่นในรูปแวดล้อม เสด็จออกจากกรุงราชคฤห์ ทรงเสวยผลาผลมี ประการดังได้กล่าวแล้ว ด้วยอำนาจการเสด็จไปโดยไม่รีบด่วน หมู่แห่งสัตว์ ๒ เท้าและ ๔ เท้าเป็นต้นพากันบูชาด้วยเครื่องบูชา ได้ทรงรับกลิ่นหอมแห่ง ดอกไม้มีประการดังได้กล่าวแล้ว ทรงกระทำการสงเคราะห์แก่ชาวบ้านและ ชาวนิคมเสด็จถึงหนทางไปกรุงกบิลพัสดุ์แล้ว. พระเถระไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ ด้วยฤทธิ์ยืนกลางอากาศข้างหน้าพระราชา พระราชาได้เห็นเพศที่ยังไม่เคยเห็น จึงตรัสถามว่า ท่านเป็นใครกัน? พระเถระเมื่อจะกล่าวว่า ถ้าพระองค์ไม่ ทรงรู้จักลูกอำมาตย์ ผู้ถูกพระองค์ส่งไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วไซร้ ก็จง รู้จักอย่างนั้นเถิด ดังนี้จึงกล่าวคาถาว่า:-

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๙ ภาค ๑ - หน้า 386

อาตมภาพเป็นบุตรของพระพุทธเจ้า ผู้ไม่ มีสิ่งใดจะย่ำยีได้ มีพระรัศมีแผ่ซ่านออกจาก พระวรกาย ไม่มีผู้ที่จะเปรียบปานได้ ผู้คงที่ ดูก่อนมหาบพิตร พระองค์เป็นพระบิดาของ บิดาแห่งอาตมภาพ ดูก่อนมหาบพิตร พระองค์ เป็นพระไอยกาของอาตมภาพโดยทางธรรม ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พุทฺสฺส ปุตฺโตมหิ ความว่า อาตมภาพ เป็นพระโอรส เพราะเกิดจากความพยายามให้เกิดในพระอุระ และจาก พระธรรมเทศนาของพระสัมพัญญูพุทธเจ้า. บทว่า อสยฺหสาหิโน ความว่า ตั้งแต่ในกาลที่ได้บรรลุพระสัมโพธิญาณแล้วไป เป็นผู้ที่มีพระโพธิสมภาร ทั้งสิ้น ใครๆ จะย่ำยีไม่ได้ เพราะคนเหล่าอื่นไม่สามารถจะข่มขี่พระมหาโพธิสัตว์ได้ และเป็นผู้มากไปด้วยพระมหากรุณา มีความอดทน เพราะคน เหล่าอื่นแม้ที่อื่นยิ่งไปกว่านั้นก็ยังไม่สามารถเพื่อที่จะข่มขี่ครอบงำได้ ทรงข่มขี่ ครอบงำมารทั้ง ๕ ที่คนอื่นย่ำยีไม่ได้ ทรงอดทนต่อพุทธกิจที่คนพวกอื่น จะอดทนย่ำยีไม่ได้ กล่าวคือทรงพร่ำสอนทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ สัมปรายิ- กัตถประโยชน์ และปรมัตถประโยชน์ แก่ปวงเวไนยสัตว์ผู้สมควร ซึ่งมี อาสัย อนุสัย จริต และอธิมุตติที่จะหยั่งรู้เบื้องต้นและคุณส่วนพิเศษได้หรือ เป็นผู้ไมมีสิ่งใดจะย่ำยีได้ เพราะทรงมีปกติกระทำคุณงามความดีไว้ในที่นั้นๆ. บทว่า องฺคีรสสฺส ได้แก่ ผู้มีสมบัติเช่นศีลที่ทรงทำเป็นส่วนๆ. อาจารย์พวก อื่นกล่าวว่า พระองค์ผู้มีพระโอภาสแผ่ไปจากส่วนต่างๆ. ส่วนอาจารย์บาง พวกกล่าวว่า พระนามทั้งสองเหล่านั้นคือ อังคีรส และสิทธัตถะ ที่พระบิดา เท่านั้นทรงถือเอาแล้ว. บทว่า อปฺปฏิมสฺส ความว่า ไม่มีผู้จะเปรียบปานได้

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๙ ภาค ๑ - หน้า 387

เป็นผู้คงที่ เพราะสมบูรณ์ด้วยพระลักษณะแห่งความเป็นผู้คงที่ ในอารมณ์ที่ น่าปรารถนาเป็นต้น. บทว่า ปีตุปิตา มยฺหํ ตุวํสิ ความว่า พระองค์เป็น พระบิดาโดยโลกโวหารของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นพระบิดาของอาตมภาพ โดยอริยชาติ. พระเถระเรียกพระราชาโดยพระวงศ์ว่าสักกะ. บทว่า ธมฺเมน ได้แก่ สภาวสโมธานที่มีเองโดยทั้ง ๒ ชาติ คืออริยชาติและโลกิยชาติโดย สภาพ. พระเถระเรียกพระราชาโดยพระโคตรว่า โคตมะ บทว่า อยฺยโกสิ ได้แก่ ได้เป็นพระปิตามหะ (ปู่) และพระเถระเมื่อกล่าวคำเป็นต้นว่า พุทฺธสฺส ปุตฺโตมฺหิ ดังนี้ ในคาถานั้น ก็ได้พยากรณ์พระอรหัตตผลไว้แล้ว.

ก็พระเถระได้ให้พระราชารู้จักคนอย่างนั้นแล้ว พระราชาทรงร่าเริง ยินดี นิมนต์ให้นั่งบนบัลลังก์ที่สมควรแล้ว ทรงบรรจุบาตรให้เต็มด้วยโภชนะ อันมีรสเลิศนานาชนิด ที่ราชบุรุษตระเตรียมไว้เพื่อพระองค์ เมื่อพระราชา ทรงถวายบาตรแล้ว พระเถระก็แสดงอาการที่จะไป เมื่อพระราชาตรัสว่า เพราะเหตุไรท่านจึงประสงค์จะไปเสียเล่า นิมนต์ฉันภัตรก่อน. พระเถระทูลว่า ไปเฝ้าพระศาสดา แล้วจึงจักฉันภัตร. พระราชาตรัสถามว่าพระศาสดาอยู่ ที่ไหนเล่า. พระเถระทูลว่า พระศาสดาทรงมีภิกษุสองหมื่นเป็นบริวาร กำลัง ดำเนินมาตามทางเพื่อต้องการพบพระองค์แล้ว. พระราชาตรัสว่า ท่านจง ฉันบิณฑบาตนี้เถิด จงนำบิณฑบาตอื่นไปถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า. เวลาที่ บุตรของเราถึงพระนครนี้ ท่านจึงค่อยนำบิณฑบาตจากที่นี้เท่านั้นไปถวาย. พระเถระทำภัตรกิจเสร็จแล้ว แสดงธรรมโปรดพระราชาและบริษัท เพราะ มาถึงยังพระราชนิเวศน์ก่อนกว่าพระศาสดา จึงกระทำให้หมู่ชนเลื่อมใสยิ่ง ใน คุณของพระรัตนตรัย เมื่อคนทั้งหมดกำลังแลดูอยู่นั้นแหละ ได้ปล่อยบาตรที่ เต็มด้วยภัตรที่ต้องนำไปเพื่อพระศาสดาไปในกลางอากาศ แม้ตนเองก็เหาะขึ้นสู่

 
  ข้อความที่ 21  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๙ ภาค ๑ - หน้า 388

เวหาส น้อมเอาบิณฑบาตไปวางไว้ในพระหัตถ์พระศาสดา. แม้พระศาสดา ก็ได้เสวยบิณฑบาตนั้นแล้ว. เมื่อเดินทางไปวันละโยชน์ตลอดหนทาง ๖๐ โยชน์อย่างนี้ พระเถระได้นำเอาภัตรจากพระราชวังไปถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้ว. พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปถึงพระนครกบิลพัสดุ์แล้ว วันรุ่งขึ้นเสด็จ เที่ยวไปบิณฑบาตในถนนหลวง. พระเจ้าสุทโธทนมหาราชได้สดับถึงข่าวนั้น แล้ว เสด็จไปในที่นั้นตรัสว่า อย่าสำคัญถึงสิ่งที่พึงกระทำอย่างนี้เลย สิ่งนี้ มิใช่ประเพณีแห่งพระราชวงศ์เลย. พระศาสดาตรัสว่า มหาราชเจ้า นี้เป็น วงศ์ของพระองค์ แต่การกระทำเช่นนี้เป็นพุทธวงศ์ของพวกเรา แล้วแสดง ธรรมว่า:-

บรรพชิตไม่พึงประมาทในก้อนข้าว อัน ตนพึงลุกขึ้นยืนรับ บุคคลพึงประพฤติธรรมให้ สุจริต ผู้มีปกติประพฤติธรรม ย่อมอยู่เป็นสุขใน โลกนี้และโลกหน้า บุคคลพึงประพฤติธรรมให้ สุจริต ไม่พึงประพฤติธรรมนั้นให้ทุจริต ผู้มีปกติ ประพฤติธรรม ย่อมอยู่เป็นสุขในโลกนี้และโลก หน้า ดังนี้.

พระราชาทรงดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล. แต่นั้นพระราชา ก็ทรงนิมนต์ ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ให้เสวยและบริโภคในภาชนะที่พระองค์ ตบแต่งไว้แล้วในพระราชมนเทียรของพระองค์ ในที่สุดแห่งการบริโภค ทรงสดับธัมมปาลชาดกแล้ว พร้อมด้วยบริษัทได้ทรงดำรงอยู่ในอนาคามิผล. กาลต่อมาบรรทมอยู่ ณ ภายใต้มหาเศวตฉัตรนั่นแหละทรงบรรลุพระอรหัต ปรินิพพานแล้ว.

 
  ข้อความที่ 22  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๙ ภาค ๑ - หน้า 389

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จไปยังปราสาทของพระนางพิมพาเทวี พระมารดาของพระราหุลกุมาร ทรงแสดงธรรมแก่พระนาง ทรงบรรเทา ความเศร้าโศกแล้ว ทรงทำให้พระนางได้เกิดความเลื่อมใสด้วยเทศนา คือจันทกินนรีชาดกแล้ว ได้เสด็จไปยังนิโครธาราม. ครั้งนั้นพระนาง พิมพาเทวี ได้ตรัสกะพระราหุลกุมารผู้พระราชโอรสว่า พ่อจงไปขอทรัพย์ที่ มีอยู่ของพระบิดาของพ่อเถิด. พระกุมารทูลว่า ข้าแต่พระสมณะขอพระองค์ จงพระราชทานสมบัติแก่หม่อมฉันเถิด แล้วติดตามพระผู้มีพระภาคเจ้าไป พลางกราบทูลว่า ข้าแต่พระสมณะพระองค์เป็นร่มเงาที่สุขสบายของหม่อมฉัน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนำพระราหุลกุมารนั้น ไปยังนิโครธารามแล้วตรัสว่า เธอจงรับเอาทรัพย์สมบัติคือโลกุตธรรมเถิด แล้วทรงให้บรรพชา. ลำดับ นั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงประทับนั่ง ณ ท่ามกลางหมู่พระอริยสงฆ์ ทรง สถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งที่เลิศว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาพวก ภิกษุผู้สาวกที่ทำตระกูลให้เลื่อมใสของเราแล้ว กาฬุทายีนับว่าเป็นเลิศกว่าเขา ทั้งหมด.

พระเถระได้รับตำแหน่งเอตทัคคะนั้นแล้ว ระลึกถึงบุรพกรรมของตน ได้ เกิดความโสมนัสใจ เมื่อจะประกาศถึงเรื่องราวที่ตนได้เคยประพฤติมา แล้วในกาลก่อน จึงได้กล่าวคาถาเริ่มต้นว่า ปทุมุตฺตโร นาม ชิโน ดังนี้. ในคาถานั้น ข้าพเจ้าจักพรรณนาแต่เฉพาะบทที่ยากเท่านั้น.

บทว่า คุณาคุณวิทู มีความหมายว่า คุณและสิ่งมิใช่คุณ ชื่อว่า คุณาคุสะ คือคุณและโทษ อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า คุณาคุณวิทู เพราะย่อมรู้จัก ชัดซึ่งกุศลกรรมและอกุศลกรรมนั้น. บทว่า กตญฺญู ความว่า ชื่อว่า กตัญญู เพราะรู้คุณที่คนเหล่าอื่นกระทำแล้ว, ชื่อว่า กตัญญู เพราะสามารถเพื่อจะให้ แม้ราชสมบัติ แก่ผู้กระทำอุปการะด้วยการให้ภัตรเป็นต้นแม้ตลอดวันหนึ่งได้.

 
  ข้อความที่ 23  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๙ ภาค ๑ - หน้า 390

บทว่า กตเวที ความว่า ชื่อว่า กตเวที เพราะย่อมได้ ย่อมเสวยคือย่อมรับ เฉพาะซึ่งอุปการะที่เขาทำแล้ว. บทว่า ติตฺเถ โยเชติ ปาณิเน ความว่า ย่อม ประกอบ คือย่อมประกอบพร้อมสรรพ ได้แก่ ย่อมให้สัตว์ทั้งปวงดำรงอยู่ เฉพาะในหนทางแห่งกุศลธรรมคือมรรค อันเป็นอุบายให้เข้าถึงพระนิพพาน ได้ด้วยการแสดงธรรม. คำที่เหลือมีเนื้อความง่ายทั้งนั้นแล. เนื้อความแห่ง คาถาอันพรรณนาถึงหนทางเสด็จข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วในเถรคาถานั้นนั่นแล.

อรรถกถากาฬุทายีเถราปทาน