ทุกข์ และ อนิจจัง ต่างกันอย่างไร

 
ค่อยๆศึกษา
วันที่  30 พ.ย. 2564
หมายเลข  41558
อ่าน  554

ทุกข์ และ อนิจจัง ต่างกันอย่างไรครับ จากที่อ่าน ผมสบสนว่าเหมือนกัน [ตรงอักษรสีน้ำเงิน] ต่างเป็นสามัญลักษณะของสภาพธรรมทั้งคู่ครับ ขอความอนุเคราะห์ครับ

อนิจจัง สภาวะ ลักษณะที่ไม่เที่ยงหมายถึง ลักษณะที่เป็นสาธารณะแก่สังขารธรรมทั้งปวง จิต เจตสิก รูป เป็นอนิจจัง เพราะมีอนิจจลักษณะ คือ มีการเกิดขึ้นและดับไป อนิจจลักษณะ เป็นลักษณะหนึ่งในลักษณะ ๓ (ไตรลักษณ์ หรือสามัญญลักษณะ)

ทุกข์ คือ ความจริงอย่างประเสริฐคือสภาพที่ทนได้ยาก หมายถึง สภาพธรรมที่เกิดดับ และทำให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏฏ์ คือ จิต ๘๑ เจตสิก ๕๑ รูป ๒๘ ซึ่งเป็นโลกียธรรมทั้งหมด


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 1 ธ.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

-อนิจจัง ไม่เที่ยง เพราะมีการเกิดขึ้นแล้วก็ต้องดับไป ตรงตามความเป็นจริงแล้ว
-ทุกขัง เป็นทุกข์ คือ ทนอยู่ไม่ได้ เพราะเหตุว่า ไม่มีสภาพธรรมใด ที่เกิดแล้วจะดำรงอยู่นานเลย ย่อมคล้อยไปสู่ความดับไปทั้งหมด เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งใด ไม่เที่ยง สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ และ เมื่อไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ก็เป็นอนัตตา ด้วย ซึ่งเป็นความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เกิดดับทั้งหมด ครับ

คำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ มีดังนี้

คุณอดิศักดิ์ : คำว่า อนิจจัง แปลว่า ไม่เที่ยง คำว่า ทุกขัง แปลว่า ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ลักษณะ มันก็เหมือนกัน ทำอย่างไรจึงจะเข้าใจได้ชัดแจ้ง ขอให้อาจารย์อธิบายให้ละเอียดหน่อย

ท่านอาจารย์ : ลักษณะที่ไม่เที่ยงนั้น ควรจะเป็นลักษณะที่พึงเห็น หรือควรเห็นว่าเป็นทุกข์ ทุกข์ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าให้เศร้าโศก แต่หมายความว่า ไม่ควรเป็นที่เพลิดเพลินยินดี ตรงกันข้ามกับลักษณะที่น่าเพลิดเพลินยินดี

เพราะฉะนั้น อรรถ หรือ ความหมายอีกอย่างหนึ่งของสภาพธรรมที่เป็นทุกข์ก็คือ ตรงกันข้ามกับเป็นสุข เพราะว่าถ้าสภาพธรรมใดเป็นสุข ก็เป็นที่ยินดีพอใจ แต่ทำอย่างไรจึงจะคลายความเพลิดเพลินยินดีได้ ถ้ายังคงเห็นลักษณะนั้นน่าพอใจ ถ้ายังคงเป็นลักษณะที่น่าพอใจอยู่ ก็จะติดและจะเพลินอยู่เรื่อยๆ จนกว่าจะเห็นว่า ลักษณะนั้นไม่น่าพอใจเลย ไม่ควรจะเป็นที่ติด ที่ยินดี เพราะฉะนั้น ลักษณะนั้นตรงกันข้ามกับสุข

นี่คือความหมายของคำว่า "ทุกข์" ไม่ใช่ ให้เจ็บปวดให้ทรมาน หรือไม่ใช่ให้เศร้าโศกเสียใจ แต่เห็นว่าไม่ใช่สภาพธรรมที่ควรติด หรือว่า ควร ยินดี ควรเพลิดเพลินอีกต่อไป ทั้งๆ ที่สภาพธรรมในขณะนี้ ทุกคนก็เห็นว่าไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วดับไปจริงๆ อย่างเสียง เป็นต้น ปรากฏนิดเดียวชั่วขณะหนึ่งแล้วก็หมดไป แล้วทำไมไม่เห็นว่าเป็นทุกข์ คือ ยังไม่ยอมเห็นว่าเป็นสภาพที่ไม่น่ายินดี ไม่น่าจะติด ไม่น่าที่จะยินดีเพลิดเพลิน ต้องการ

เพราะฉะนั้น ลักษณะที่เป็น "ทุกขลักษณะ" ซึ่งเป็นไตรลักษณ์เป็นสภาพที่เห็นยาก ไม่ใช่ว่าจะเห็นง่ายเพราะว่าจะต้องประจักษ์ถึงความเกิดขึ้นและดับไป จึงสามารถจะเห็นว่าลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนี้เป็นทุกข์ เพราะไม่ควรพลิดเพลินยินดีทั้งนั้น ถ้ายังไม่ประจักษ์ก็ยังคงพอใจอยู่แน่นอน เพราะว่าสภาพธรรมใดดับไปแล้วสภาพธรรมอิ่นก็เกิดสืบต่อทันที ทำให้ไม่ประจักษ์ในการดับไปของสภาพธรรมก่อนเพราะว่ามีสภาพธรรมอื่นเกิดขึ้นสืบเนื่องทันที ดูไม่น่าประหวั่นพรั่นพรึงเลยใช่ไหมคะ พราะว่าไม่น่าประจักษ์การขาดตอนของของการดับไป และการเกิดขึ้นของสภาพธรรมแต่ละขณะ

คุณอดิศักดิ์ : เมื่อไม่อยู่ในสภาพเดิมก็แปลว่าไม่เที่ยง มันก็น่าจะเหมือนกัน

ท่านอาจารย์ : พอไหมล่ะคะ ไม่เที่ยงก็ไม่เที่ยง แต่ไม่เที่ยงแล้วไม่เห็นว่าเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น จึงต้องแสดงลักษณะที่ไม่เที่ยงนั้นควรเห็นว่าเป็นทุกข์ เพราะว่าลักษณะจริงๆ เป็นอย่างนั้น คือ เป็นสภาพที่ไม่ควรยินดี คำว่า ทุกข์ ที่นี่ หมายความถึงสภาพที่ไม่ควรยินดี ตรงกันข้ามกับสุข ถ้าบอกว่า ไม่เที่ยง ก็ไม่มีการ สลด ไม่เที่ยงก็ไม่เที่ยง เพราะว่าไม่ประจักษ์ว่า ลักษณะที่ไม่เที่ยงนั้นเป็นทุกข์ จึงต้องทรงแสดงทั้ง ๓ ของสภาพธรรมที่เกิด ว่าสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับแล้วนั้น เป็นทุกข์ด้วยไม่เพียงแต่ไม่เที่ยงเฉยๆ ไม่ควรเป็นที่ยินดี เพลิดเพลินหรือพอใจ แต่จะต้องประจักษ์ ลักษณะที่เกิดดับจริงๆ จึงจะเห็นว่าเป็นทุกข์อย่างไร เป็นทุกข์โดยที่ว่าไม่น่ายินดี พอใจ ในสภาพที่เพียงเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง จะให้แต่แสดงลักษณะที่ไม่เที่ยง และไม่ให้แสดงว่า ลักษณะที่ไม่เที่ยงนั้นเป็นทุกข์ด้วยหรือ ไม่จำเป็นหรือคะ ซึ่งความจริงแล้ว จำเป็นมาก เพราะว่า ที่จะรู้ว่าไม่เที่ยง ต้องเห็นว่าเป็น ทุกข์ด้วย

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 1 ธ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ค่อยๆศึกษา
วันที่ 1 ธ.ค. 2564

ขอบพระคุณครับ ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ทรงศักดิ์
วันที่ 4 ธ.ค. 2564

อ่านคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์แล้วทำให้เข้าใจมากขึ้น

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Precha
วันที่ 4 ธ.ค. 2564

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด ​

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ