เจตสิก ๗ ดวง ที่เกิดกับจิตทุกดวง

 
chatchai.k
วันที่  4 ธ.ค. 2564
หมายเลข  41638
อ่าน  368

ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมเป็นของที่มีจริง ถ้าท่านศึกษาโดยปริยัติ พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียดว่า ปรมัตถธรรมซึ่งเป็นเจตสิกธรรมแต่ละประเภทนั้นมีลักษณะอย่างไร มีกิจการงานอย่างไร มีอาการปรากฏอย่างไร มีอะไรเป็นเหตุใกล้ให้เกิด


เจตนาเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิตทุกดวง เป็นนามธรรม เป็นเจตสิก

คำว่า “เจตสิก” เป็นสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต ดับพร้อมกับจิต ถ้าในภูมิที่มีรูปเป็นที่เกิด ก็เกิดที่เดียวกับจิต เวลาที่จิตเกิดขึ้น เพราะจิตเป็นสังขารธรรม เพราะฉะนั้น จะมีแต่เฉพาะจิตซึ่งเป็นสภาพรู้เพียงอย่างเดียวเกิดขึ้นโดยไม่มีสภาพธรรมอื่นเกิดร่วมด้วยไม่ได้

สังขารธรรม หมายความถึง สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย สำหรับจิตขณะหนึ่งๆ จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ดวง อย่างมาก ๓๐ กว่าดวง แล้วแต่ประเภทของจิต แล้วแต่กิจของจิต

สำหรับเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวงมี ๗ ดวง ได้แก่ ผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เจตนาเจตสิก เอกัคคตาเจตสิก ชีวิตินทริยเจตสิก มนสิการเจตสิก ถ้าท่านศึกษาปรมัตถธรรมก็คุ้นหู ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทริย มนสิการ เป็นเจตสิก ๗ ดวงที่เกิดกับจิตทุกดวง ไม่ว่ากำลังนอนหลับ ก็จะต้องมีผัสสเจตสิก มีเวทนาเจตสิก มีสัญญาเจตสิก มีเจตนาเจตสิก มีเอกัคคตาเจตสิก มีชีวิตินทริยเจตสิก มีมนสิการเจตสิกเกิดร่วมด้วย

ในขณะปฏิสนธิจะมีความต้องการหรือไม่ต้องการจะเกิดก็ตาม จะมีความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจอย่างไรก็ตาม ปฏิสนธิจิตนั้นก็จะต้องมีผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เจตนาเจตสิก เอกัคคตาเจตสิก ชีวิตินทริยเจตสิก มนสิการเจตสิกเกิดร่วมด้วย และก็มีเจตสิกอื่นเกิดร่วมด้วย แต่ว่าที่กล่าวถึงนี้ กล่าวถึงเฉพาะเจตสิก ๗ ดวงที่เกิดกับจิตทุกดวง ไม่เว้นเลย

สำหรับลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมเป็นของที่มีจริง ถ้าท่านศึกษาโดยปริยัติ พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียดว่า ปรมัตถธรรมซึ่งเป็นเจตสิกธรรมแต่ละประเภทนั้นมีลักษณะอย่างไร มีกิจการงานอย่างไร มีอาการปรากฏอย่างไร มีอะไรเป็นเหตุใกล้ให้เกิด

อย่างผัสสเจตสิกเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่กระทบอารมณ์ ถ้าไม่กระทบอารมณ์ที่ปรากฏ จิต เจตสิกจะรู้อารมณ์นั้นไม่ได้ การที่จะรู้อารมณ์นั้นได้จะต้องมีนามธรรมกระทบกับอารมณ์นั้น จึงรู้อารมณ์นั้นได้ อย่างขณะที่กำลังเห็น ก็จะต้องมีจักขุสัมผัส มีผัสสเจตสิกกระทบกับอารมณ์ที่ปรากฏ จักขุวิญญาณจึงเห็น จึงเป็นสภาพที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนั้นได้ เพราะฉะนั้น ถ้าขณะใดที่มีการเห็น ทราบได้ว่ามีผัสสะ กระทบแล้วจึงได้เห็น ถ้าไม่มีผัสสะกระทบ การเห็นก็มีไม่ได้ นี่เป็นเจตสิกดวงหนึ่งที่เกิดกับจิตทุกดวง

นอกจากนั้นเวทนาเจตสิก ความรู้สึกจะเกิดร่วมกับจิตทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นจิตเห็น จิตได้ยิน จิตที่กำลังหลับ จิตที่ทำกิจปฏิสนธิ จิตที่ทำกิจภวังค์ใดๆ จะมีเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ความรู้สึก มีทั้งเป็นสุขก็ได้ เป็นทุกข์ก็ได้ ดีใจก็ได้ เสียใจก็ได้ อทุกขมสุขก็ได้ ใครจะไปยับยั้งกีดกัน ไม่ให้เวทนาเจตสิกเกิดกับจิต ไม่ให้ผัสสะเกิดกับจิต เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น จะไปยับยั้งว่า ขณะหลับไม่ให้เวทนาเจตสิกเกิดกับจิต ก็ยับยั้งไม่ได้

สำหรับสัญญาเจตสิก สภาพธรรมที่เกิดกับจิตทุกดวง ทำให้จำ หมายสิ่งที่เห็น และเมื่อเห็นอีก ก็ทราบว่าเคยเห็น หรือสิ่งที่เห็นนั้นเป็นอะไร

ถ้าเป็นทางหู เวลาที่ได้ยิน ก็มีสภาพที่จำ หมายลักษณะของเสียงที่ปรากฏ ทำให้รู้ว่าเป็นเสียงใคร เป็นเสียงอะไร หรือว่าเสียงนั้นมีความหมายว่าอะไร นี่ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เพราะฉะนั้น ขณะใดที่รู้ความหมายของเสียงที่ได้ยิน ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพนามธรรมที่จำ เป็นสิ่งที่มีจริงที่สติจะต้องระลึกได้รู้ว่า แม้ขณะที่รู้เรื่อง แม้ขณะที่จำได้ ก็ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพนามธรรมที่จำ มีกิจที่จะจำ เป็นเจตสิกชนิดหนึ่งเท่านั้น

ที่มา ฟัง และ อ่านเพิ่มเติม

จดหมายผู้ฟัง (๓) นักปฏิบัติที่แท้จริง?


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ