เจตนาเจตสิก เกิดกับจิตทุกดวง ไม่เป็นองค์ของมรรค

 
chatchai.k
วันที่  7 ธ.ค. 2564
หมายเลข  41657
อ่าน  333

การเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่ว่าต้องมีเจตนาซึ่งเป็นความตั้งใจ แต่ต้องเป็นมรรคมีองค์ ๘ คือ สติที่จะต้องระลึกรู้ว่า แม้เกิดความตั้งใจจะกระทำอะไร สภาพที่ตั้งใจนั้น ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง เจตนาเป็นสังขารธรรม ไม่มีเหตุปัจจัย เจตนาก็ไม่เกิดขึ้น เมื่อเจตนาเป็นสังขารธรรมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย สติก็ระลึกรู้ในขณะที่ตั้งใจ จงใจนั้นว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้น


บางท่านอาจจะเข้าใจว่า เจตนาเป็นองค์ของมรรคในมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งได้แก่

สัมมาทิฏฐิ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก ๑ สัมมาสังกัปปะ ได้แก่ วิตกเจตสิก ๑สัมมาวาจา ได้แก่ สัมมาวาจาเจตสิก ๑ สัมมากัมมันตะ ได้แก่ สัมมากัมมันตเจตสิก ๑ สัมมาอาชีวะ ได้แก่ สัมมาอาชีวเจตสิก ๑ สัมมาวายามะ ได้แก่ วิริยเจตสิก ๑ สัมมาสติ ได้แก่ สติเจตสิก ๑ สัมมาสมาธิ ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ๑

มีเจตนาในมรรคมีองค์ ๘ ไหม ไม่มี

เจตนาเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิตทุกดวง เป็นนามธรรม เป็นเจตสิก

โดยสภาวะลักษณะ เจตนาเจตสิก มีความจงใจ เป็นลักษณะ

มีการประมวลมาให้สหธรรมทั้งหลาย เป็นไปตามความประสงค์ เป็นรสะ คือ เป็นกิจ

มีการจัดแจง เป็นอาการปรากฏ

เวลาที่เกิดความคิด ตั้งใจจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ลักษณะที่ตั้งใจ จงใจ เป็นลักษณะที่ปรากฏชัดของเจตนา ซึ่งขอให้ท่านคิดถึงลักษณะ สภาพของเจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง

ในขณะปฏิสนธิ จิตดวงแรกที่ทำกิจปฏิสนธิมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะว่าเจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง ในขณะนั้นมีความจงใจ มีความตั้งใจอะไรไหมที่จะปรากฏให้รู้ได้ จงใจจะเกิดที่นั่น เป็นบุคคลนั้น เป็นมนุษย์อย่างนั้น เป็นเทวดาอย่างนั้นได้ไหม ในขณะนั้น ไม่ได้ เพราะเหตุว่าสภาพของปฏิสนธิจิตนั้นเป็นผลของกรรม กรรมทำให้เจตนาที่เป็นวิบากเกิดร่วมด้วย ขวนขวาย กระตุ้นสหชาตธรรม คือ นามธรรมทั้งหลายที่เกิดร่วมกัน ให้กระทำกิจให้สำเร็จตามฐานะของสภาพธรรม นั้นๆ นี่เป็นลักษณะของเจตนา

กำลังเห็น มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย มีความรู้สึกว่าจงใจอะไรหรือเปล่าในขณะที่เห็น ไม่มี เพราะเหตุว่าเมื่อมีเหตุปัจจัยก็เห็น เมื่อมีเหตุปัจจัยก็ได้ยิน แต่แม้กระนั้นก็มีเจตนาเจตสิกเกิดกับจิตที่เห็น มีเจตนาเจตสิกเกิดกับจิตที่ได้ยิน สภาพธรรมที่เป็นลักษณะของเจตนา คือ เพียงทำให้สหชาตธรรม จิต และเจตสิกที่เกิดร่วมกันกระทำกิจสำเร็จลงไปตามสภาพฐานะของสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นผัสสะ ไม่ว่าจะเป็นเจตสิกอะไรก็ตาม เจตนาก็มีกิจกระตุ้น ขวนขวาย ประมวลมา กระทำให้สำเร็จกิจของสภาพธรรมนั้นๆ

เพราะฉะนั้น ตั้งใจให้สติเกิดได้ไหม มีใครตั้งใจให้สติเกิดได้บ้าง สติเป็นคุณธรรมที่มีประโยชน์มาก มีคุณมาก ไม่ว่าสติที่จะระลึกเป็นไปในทานก็มีประโยชน์เพราะเหตุว่าทำให้เกิดกุศลจิต ทำให้เกิดกุศลกรรม สติที่ระลึกได้เป็นไปในศีลก็มีประโยชน์มาก สติที่ระลึกได้เป็นไปในการทำจิตให้สงบก็มีประโยชน์มาก สติที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมรู้ชัดว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลก็มีประโยชน์มาก

เมื่อสติเป็นคุณธรรม มีประโยชน์มากมายถึงอย่างนี้ ลองจงใจ ตั้งใจ เจตนาให้สติเกิด สติจะเกิดได้ไหม ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย เพราะฉะนั้น ทำไมถึงจะคิดว่าจะต้องรู้เรื่องของเจตนา และจะได้ตั้งต้นเสียที ในเมื่อเจตนาไม่ใช่องค์มรรคในมรรคมีองค์ ๘

เจตนาเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิตทุกดวง เจตนามี ๒ อย่าง คือ โดยปัจจัยแล้วเป็นสหชาตกัมมปัจจัย ๑ เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย ๑

ถ้ากล่าวถึงชื่อ ท่านผู้ฟังอาจจะคิดว่ายาก แต่ที่ทรงแสดงไว้ คือ กรรมได้แก่เจตนาเจตสิก ที่เราพูดถึงกรรมบ่อยๆ กุศลกรรม อกุศลกรรม ก็คือ เจตนาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่จงใจ ขวนขวายให้กิจนั้นสำเร็จลงไป

เมื่อเจตนาเกิดกับจิตทุกดวง สภาพของเจตนาที่เกิดกับจิตทุกดวงนั้น เป็นสหชาตกัมมปัจจัย ชาตะ แปลว่า เกิด สหะ แปลว่า ร่วมกัน

เพราะฉะนั้น เมื่อเจตนาเป็นกรรม ก็เกิดร่วมกับจิต เกิดร่วมกับเจตสิกอื่นๆ เจตนาที่เกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิตนั้น เป็นปัจจัยของจิต และเจตสิกโดยเป็นสหชาตกัมมปัจจัย ได้แก่ เจตนาที่เกิดกับจิตทุกดวง

แต่สำหรับนานักขณิกกัมมะ อีกประเภทหนึ่งนั้น หมายเฉพาะเจตนาเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิต และอกุศลจิตเท่านั้น เพราะเหตุว่าเจตนาที่เกิดกับวิบากจิต กิริยาจิต กับจิตเห็น กับจิตได้ยินเหล่านั้น เป็นต้น ไม่มีกำลัง ไม่เหมือนกับเจตนาเจตสิกที่เกิดกับชวนจิต ที่เป็นกุศล เป็นอกุศล มีกำลังสามารถที่จะเป็นปัจจัยโดยที่ว่า ถึงแม้ว่าจิตนั้นที่เกิดร่วมกับเจตนานั้นดับไปแล้ว ก็ยังเป็นปัจจัยทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นในกาลข้างหน้าต่อไปได้

เพราะฉะนั้น ที่ทุกท่านมีวิบากจิต มีการเกิด และมีการเห็น มีการได้ยิน บางครั้งก็ดี บางครั้งก็ไม่ดีนั้น เป็นผลของกรรม คือ เจตนาในอดีต แล้วแต่ว่าจะเป็นผลของกุศลเจตนา หรือว่าเป็นผลของอกุศลเจตนา ซึ่งเป็นนานักขณิกกัมมะ เวลาที่กุศลจิตเกิด จงใจ ตั้งใจที่จะให้จิตเป็นกุศลได้ไหม ไม่ได้ กุศลจิตจะเกิด ก็เพราะว่าได้เคยอบรมสะสมเหตุปัจจัยที่จะให้กุศลจิตเกิด เพราะฉะนั้น เมื่อมีเหตุ มีปัจจัยที่ได้สะสมมาที่จะให้กุศลจิตเกิด กุศลจิตก็เกิด

ไม่มีใครชอบอกุศลจิต โลภมูลจิตก็ไม่ชอบ โทสมูลจิตก็ไม่ชอบ โมหมูลจิตก็ไม่ชอบ เป็นสิ่งที่ไม่ดีเลย เป็นอกุศลจิต จงใจ ตั้งใจให้เกิดหรือเปล่า ไม่ชอบอกุศลจิต แต่อกุศลจิตก็เกิด และมีเจตนาเจตสิกซึ่งเป็นสภาพที่จงใจกระทำกิจของตนให้สำเร็จ ในกิจนั้น โดยที่ไม่มีใครสามารถยับยั้งได้ เพราะฉะนั้น อกุศลจิตก็เกิดเพราะมีเหตุปัจจัย แม้เจตนาที่เกิดร่วมกับอกุศลจิตก็มีเหตุปัจจัยจึงได้เกิดขึ้น เป็นอนัตตา

สภาพที่จงใจ สภาพที่ตั้งใจ เป็นสิ่งที่สติจะต้องระลึกรู้ตามความเป็นจริงว่า แม้ลักษณะนั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้น วันนี้มีใครตั้งใจจะทำอะไรบ้างหรือเปล่า ทำจริงๆ อย่างที่ตั้งใจไว้ทุกครั้งหรือเปล่า บางครั้งตั้งใจว่าจะทำอย่างนี้ แต่ว่ามีสิ่งอื่นเกิดขึ้น ทำให้ไม่ได้กระทำสิ่งที่ตนตั้งใจไว้

เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่ว่าต้องมีเจตนาซึ่งเป็นความตั้งใจ แต่ต้องเป็นมรรคมีองค์ ๘ คือ สติที่จะต้องระลึกรู้ว่า แม้เกิดความตั้งใจจะกระทำอะไรสภาพที่ตั้งใจนั้น ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง เจตนาเป็นสังขารธรรม ไม่มีเหตุปัจจัย เจตนาก็ไม่เกิดขึ้น เมื่อเจตนาเป็นสังขารธรรมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย สติก็ระลึกรู้ในขณะที่ตั้งใจ จงใจนั้นว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้น

ที่มา ฟัง และ อ่านเพิ่มเติม

จดหมายผู้ฟัง (๓) นักปฏิบัติที่แท้จริง?


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ