รักตัวเองจริงๆ คือ ประพฤติสุจริต
หทเย นิเธตพฺพยุตฺตกํ
(ข้อความที่ควรเก็บไว้ในหทัย)
[๕๙๕]
รักตัวเองจริงๆ คือ ประพฤติสุจริต
เรื่องของการรักตน ควรจะเป็นการรักที่ถูกต้อง คือ ไม่ทำตนเองให้เดือดร้อน ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ปิยสูตรที่ ๔ มีข้อความว่า
ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามแห่งท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจึงทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศล ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้ข้าพระองค์เข้าที่ลับพักผ่อนอยู่ ได้เกิดความนึกคิดอย่างนี้ว่า ชนเหล่าไหนหนอแล ชื่อว่ารักตน ชนเหล่าไหน ชื่อว่าไม่รักตน
ข้าพระองค์จึงได้เกิดความคิดต่อไปว่า ก็ชนเหล่าใดแล ย่อมประพฤติทุจริต ด้วยกาย วาจา ใจ ชนเหล่านั้น ชื่อว่าไม่รักตน ถึงแม้ชนเหล่านั้น จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เรารักตน ถึงเช่นนั้น ชนเหล่านั้น ก็ชื่อว่าไม่รักตน
ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ก็เพราะเหตุว่า ชนผู้ไม่รักใคร่กัน ย่อมทำความเสียหายให้แก่ผู้ไม่รักใคร่กันได้โดยประการใด ชนเหล่านั้น ย่อมทำความเสียหายให้แก่ตนด้วยตนเองได้โดยประการนั้น ฉะนั้น ชนเหล่านั้น จึงชื่อว่าไม่รักตน
ส่วนว่า ชนเหล่าใดแล ย่อมประพฤติสุจริตด้วยกาย วาจา ใจ ชนเหล่านั้น ชื่อว่ารักตน ถึงแม้ชนเหล่านั้น จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราไม่รักตน ถึงเช่นนั้น ชนเหล่านั้น ก็ชื่อว่ารักตน
ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ก็เพราะเหตุว่า ชนผู้ที่รักใคร่กัน ย่อมทำความดีความเจริญให้แก่ผู้ที่รักใคร่กันได้โดยประการใด ชนเหล่านั้น ย่อมทำความดีความเจริญให้แก่ตนด้วยตนเองได้โดยประการนั้น ฉะนั้น ชนเหล่านั้น จึงชื่อว่ารักตน
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ถูกแล้วๆ มหาบพิตร
และข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัส ก็ตรงกับที่พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลทุกประการ
พระผู้มีพระภาค ผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิต (คำร้อยแล้ว) นี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
ถ้าบุคคลพึงรู้ว่า ตนเป็นที่รัก ไม่พึงประกอบด้วยบาป เพราะว่าความสุขนั้น ไม่เป็นผลที่บุคคลผู้ทำชั่วจะพึงได้โดยง่าย เมื่อบุคคลถูกมรณะครอบงำ ละทิ้งภพมนุษย์ไปอยู่ ก็อะไรเป็นสมบัติของเขา และเขาย่อมพาเอาอะไรไปได้
อนึ่ง อะไรเล่าจะติดตามเขาไป ประดุจเงาติดตามตนไป ฉะนั้น ผู้ที่เกิดมาแล้ว จำจะต้องตายในโลกนี้ ย่อมทำกรรมอันใดไว้ คือ เป็นบุญและเป็นบาปทั้งสองประการ บุญและบาปนั้นแล เป็นสมบัติของเขา และเขาจะพาเอาบุญและบาปนั้นไปสู่ปรโลก
อนึ่ง บุญและบาปนั้น ย่อมเป็นของติดตามเขาไป ประดุจเงาติดตามตนไป ฉะนั้น เพราะฉะนั้น บุคคลพึงทำกัลยาณกรรม (กรรมที่ดีงาม) สะสมไว้เป็นสมบัติในปรโลก (โลกหน้า) เพราะว่าบุญทั้งหลาย ย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในปรโลก
รักตัวเองไหม? ไม่ใช่พูดว่ารัก แต่ต้องทำ คือ ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ถ้าบอกว่ารักตัวเอง แต่สะสมกิเลสอกุศลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นชื่อว่าไม่รักตัวเอง
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
อ่านหัวข้ออื่นๆ คลิกที่นี่ ... เก็บไว้ในหทัย