[คำที่ ๕๓๙] กายิกเจตสิกทุกฺขเวทนา

 
Sudhipong.U
วันที่  19 ธ.ค. 2564
หมายเลข  41758
อ่าน  995

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “กายิกเจตสิกทุกฺขเวทนา

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

กายิกเจตสิกทุกฺขเวทนา อ่านตามภาษาบาลีว่า กา - ยิ - กะ - เจ - ตะ - สิ - กะ - ทุก - ขะ - เว - ทะ - นา มาจากคำว่า กายิก (เป็นไปทางกาย) เจตสิก (เป็นไปทางใจ) กับคำว่า ทุกฺขเวทนา (ความรู้สึกที่เป็นทุกข์) รวมกันเป็น กายิกเจตสิกทุกฺขเวทนา แปลว่า ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ที่เป็นไปทางกาย และ ที่เป็นไปทางใจ เป็นคำที่แสดงถึงความเป็นจริงของความรู้สึกที่เป็นทุกข์ซึ่งเป็นสภาพที่ทนได้ยาก เป็นไปทางกาย เรียกว่า ทุกขเวทนาทางกาย อันเป็นผลของอกุศลกรรม และความรู้สึกที่เป็นทุกข์อีกอย่างหนึ่ง ที่เป็นทุกข์ทางใจ คือ โทมนัสเวทนา เป็นความรู้สึกที่ไม่สบายใจ เป็นความรู้สึกที่เกิดร่วมกับอกุศลจิตประเภทที่เป็นโทส มูลจิต คือ จิตที่มีโทสะเป็นมูล ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ทางใจหรือโทมนัสเวทนานั้น ไม่ใช่ผลของกรรม แต่เพราะเคยสะสมอกุศลมา เมื่อได้เหตุปัจจัย ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ทางใจ (โทมนัสเวทนา) จึงเกิดขึ้น ร่วมกับอกุศลจิตประเภทที่เป็นโทสมูลจิตเท่านั้น

ข้อความในสุมังคลวิลาสินี อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาสติปัฏฐานสูตร แสดงความเป็นจริงของทุกขเวทนาทางกาย ซึ่งเป็นทุกข์ทางกาย ดังนี้

“ความทุกข์ อันมีกายประสาท เป็นที่ตั้ง (ที่เกิด) เพราะอรรถว่า ทนได้ยาก ชื่อว่า ทุกข์ทางกาย”

ข้อความในสัมโมหวิโนทนี อรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก วิภังคปกรณ์ แสดงตัวอย่างลักษณะของบุคคลผู้ถูกความทุกข์ทางใจครอบงำ ดังนี้

“บุคคลผู้เต็มไปด้วยทุกข์ทางใจ ย่อมสยายผม ย่อมขยี้อก ย่อมกลิ้งเกลือกไปมา ย่อมกระโดดเหว ย่อมนำศัสตรามา ย่อมเคี้ยวยาพิษ ย่อมเอาเชือกแขวนคอ ย่อมเข้าไปสู่กองไฟ เป็นผู้มีความเดือดร้อน โดยประการนั้นๆ เป็นผู้มีจิตรุ่มร้อนอยู่ ย่อมคิดถึงเรื่องวิปริต (เรื่องที่ทำให้ผิดหวัง) นั้นๆ


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นคำอนุเคราะห์เกื้อกูล เปิดเผยความจริง เพื่อให้เข้าใจธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง เป็นไปเพื่อปัญญาโดยตลอด สิ่งที่มีจริง เป็นธรรม และมีจริงในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็จะไม่มีทางเข้าใจความจริงได้เลย มืดมิดด้วยความไม่รู้มานานแสนนาน จนกว่าจะได้ฟังคำจริงที่พระองค์ทรงแสดง แต่ละคำล้วนเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกว่า เป็นธรรมไม่ใช่เรา แม้ทุกข์ทางกาย กับ ทุกข์ทางใจ ก็เป็นธรรม เพราะมีจริงๆ และมีความแตกต่างกัน ทุกขเวทนาทางกาย เป็นผลของอกุศลกรรมในอดีต ไม่มีใครทำให้ และควรจะได้พิจารณาว่า ทุกขเวทนาทางกาย เกิดขึ้นได้ เพราะมีกาย กล่าวคือ เมื่อมีกายแล้ว ไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงความเจ็บไข้ได้ป่วยได้ เนื่องจากว่ากายเป็นบ่อเกิดของโรค เมื่อมีกาย ต้องมีทุกข์ทางกายเป็นของธรรมดา จะผิดธรรมดาไม่ได้ เพียงแต่ว่าทุกข์นั้นจะมากหรือจะน้อย จะเกิดขึ้นช้า ยังไม่เกิดขณะนี้ แต่ต่อไปก็อาจจะเกิดได้ โดยที่ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ว่าทุกข์ระดับไหนจะเกิดเมื่อไหร่ เพราะเป็นธรรมที่ใครๆ ก็บังคับบัญชาไม่ได้

บุคคลผู้ที่มีร่างกายสบายดี แต่ใจเป็นทุกข์ ก็มี นี่ก็เป็นสิ่งที่ควรจะพิจารณาเช่นเดียวกัน เพราะเหตุว่า ทุกข์ทางใจ คือ โทมนัสเวทนา เป็นความรู้สึกที่เป็นไปพร้อมกับกิเลส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ โทสะ ความขุ่นเคืองใจ ความไม่พอใจ

ทุกข์กายเกิดขึ้นเพราะอกุศลกรรมในอดีตเป็นปัจจัย แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า บุคคลผู้เลิศที่สุด ประเสริฐที่สุดในโลกและพระอริยบุคคลทั้งหลาย ก็ไม่พ้นจากทุกข์ทางกายอันเกิดขึ้นเพราะอกุศลกรรมในอดีตเป็นปัจจัย แต่ใจไม่เป็นทุกข์เดือดร้อนเลย เมื่อเป็นเช่นนี้จึงแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่มีทุกข์กายแต่ไม่ทุกข์ใจนั้น มีอยู่ แต่ในทางตรงกันข้าม สำหรับผู้ที่ไม่มีปัญญา มีทั้งทุกข์ทางกายและทุกข์ทางใจ หรือแม้ไม่มีทุกข์ทางกายเลย แต่ก็มีทุกข์ทางใจได้

โดยวิสัยของผู้ที่หลงลืมสติ เวลาที่ทุกข์ทางกายเกิดขึ้น ใจที่จะไม่เดือดร้อนกระสับกระส่าย เป็นทุกข์กระวนกระวายด้วย ย่อมไม่มี เพราะฉะนั้นขณะใดที่ทุกขเวทนาทางกายเกิด จะให้ใจเป็นสุขนั้น เป็นสิ่งที่ยากมาก นอกจากจะเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

ไม่ว่าจะเป็นทุกข์ทางกาย หรือทุกข์ทางใจ ก็ไม่พ้นไปจากธรรม เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ทุกข์ทางกาย เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นผลของอกุศลกรรม เป็นทุกขเวทนาที่เกิดร่วมกับอกุศลวิบากทางกาย เกิดขึ้นโดยที่ไม่มีใครทำให้เลย ความเจ็บปวด ความไม่สบายทางกาย ต้องเป็นเฉพาะทางกายเท่านั้น แต่สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ อกุศลจิตย่อมเกิดขึ้นเป็นส่วนใหญ่ เมื่อได้รับทุกข์ทางกายแล้ว สภาพจิตที่เกิดต่อนั้น เป็นอกุศลจิตประเภทที่เป็นโทสมูลจิต ซึ่งเวทนาที่เกิดร่วมกับโทสมูลจิต มีเพียงเวทนาเดียวเท่านั้น คือ โทมนัสเวทนา อันเป็นเวทนาที่ทำให้เกิดความไม่สบายแก่จิต ขณะที่เกิดความไม่ชอบ ไม่พอใจ แม้จะเล็กน้อย ก็เป็นโทสมูลจิต ที่มีโทมนัสเวทนาเกิดร่วมด้วยเสมอ ความจริงเป็นอย่างนี้ ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้ สำคัญที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกว่า เป็นธรรมที่มีจริง ทุกขเวทนาที่เกิดทางกาย ก็เป็นธรรมที่มีจริง ความไม่สบายใจหรือทุกข์ใจอันเป็นโทมนัสเวทนา ก็เป็นธรรมที่มีจริง ไม่ใช่เรา และจะเข้าใจความจริงนี้ได้ ก็ต้องอาศัยการฟัง การศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับจริงๆ


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 19 ธ.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
petsin.90
วันที่ 19 ธ.ค. 2564

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ทรงศักดิ์
วันที่ 20 ธ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ