อุปาทานขันธ์ ๕ พระองค์ตรัสว่า กายของตน [จูฬเวทัลลสูตร]
[เล่มที่ 19] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๓
จูฬยมกวรรค จูฬเวทัลลสูตรที่ ๔
๔. จูฬเวทัลลสูตร
[๕๐๕] ข้าพเจ้าได้ฟังมาอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ในเวฬุวันซึ่งเป็นที่ประทานเหยื่อแก่กระแต ใกล้กรุงราชคฤห์.
ครั้งนั้น อุบาสกชื่อวิสาขะเข้าไปยังสำนักนางภิกษุณีธรรมทินนาถวายนมัสการแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว. [๕๐๖] วิสาขะอุบาสกถาม นางธรรมทินนาภิกษุณี ปรารภจตุสัจจธรรมว่า พระแม่เจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า สักกายะ สักกายะกายของตน กายของตน ดังนี้ ธรรมอย่างไรเล่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า กายของตน
นางธรรมทินนาภิกษุณี วิสัชนาว่า วิสาขะอุบาสกผู้มีอายุ ขันธ์ทั้งหลายที่เป็นอุปาทานเหล่านี้ คือ กองรูปที่ยังมีความยึดมั่น กองเวทนาที่ยังมีความยึดมั่น กองสัญญาที่ยังมีความยึดมั่น กองสังขารที่ยังมีความยึดมั่น กองวิญญาณที่ยังมีความยึดมั่น อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้แล พระองค์ตรัสว่า กายของตน.
วิสาขะอุบาสก อนุโมทนาชื่นชมตามภาษิต ของนางธรรมทินนา
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้าที่ 58
ว่าด้วยขันธ์ ๕ เป็นภาระ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภาระเป็นไฉน พึงกล่าวว่า ภาระ คืออุปาทาน ขันธ์ ๕ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นไฉน คือ อุปาทานขันธ์ คือรูป อุปาทานขันธ์ คือ เวทนา อุปาทานขันธ์ คือสัญญา อุปาทานขันธ์ คือ สังขาร และ อุปาทานขันธ์ คือวิญญาณ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าภาระ.
[๕๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ผู้แบกภาระเป็นไฉน พึงกล่าวว่า บุคคลบุคคลนี้นั้น คือ ท่านผู้มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ ดูก่อนภิกษุ ทั้งหลาย นี้เรียกว่า ผู้แบกภาระ.
[๕๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็การถือภาระเป็นไฉน ตัณหานี้ใด นำให้เกิดภพใหม่ ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน มีปกติเพลิดเพลินยิ่งในภพหรืออารมณ์นั้นๆ ได้แก่กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าการถือภาระ.
[๕๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็การวางภาระเป็นไฉน ความที่ ตัณหานั่นแล ดับไปด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ ความสละ ความสละคืน ความพ้น ความไม่อาลัย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าการวางภาระ พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้พระสุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิต นี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกในภายหลังว่า
[๕๓] ขันธ์ ๕ ชื่อว่าภาระแล และผู้แบกภาระคือบุคคล การถือ ภาระเป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ในโลก การวางภาระเสียได้เป็นสุข บุคคลวางภาระหนักเสียได้แล้ว ไม่ถือภาระอื่น ถอนตัณหาพร้อมทั้ง มูลรากแล้ว เป็นผู้หายหิว ดับรอบแล้วดังนี้.