ควรจะเห็นข้าศึกภายใน คือ ความโกรธของตนเอง
หทเย นิเธตพฺพยุตฺตกํ
(ข้อความที่ควรเก็บไว้ในหทัย)
[๖๐๔]
ควรจะเห็นข้าศึกภายใน คือ ความโกรธของตนเอง
การที่จะคิดถึงคนอื่น คิดถึงการกระทำของคนอื่นหรือว่าพิจารณาการกระทำของคนอื่น ถ้าเป็นไปในทางที่จะให้กุศลจิตเกิด แทนที่จะพิจารณาในทางที่จะทำให้อกุศลจิตเกิดย่อมเป็นประโยชน์ เพราะเหตุว่าทุกคนมีจิตใจต่างๆ กัน มีความประพฤติทางกายทางวาจาต่างๆ กัน บางท่านอาจจะชอบความประพฤติทางกายทางวาจาอย่างหนึ่ง ในขณะที่คนอื่นอาจจะชอบอีกอย่างหนึ่งก็ได้ เพราะว่าแต่ละคนไม่เหมือนกัน ที่จะให้ทุกคนชอบทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนกันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เช่น บางท่านอาจจะชอบคนพูดน้อยแล้วบางท่านก็ไม่ชอบเลย คนพูดน้อยชอบคนพูดมากใช่ไหม? คนพูดน้อยก็ไม่มีเรื่องที่จะคุยด้วย แต่ว่าถ้าคนพูดมากก็มีเรื่องสนุกๆ หลายเรื่อง เพราะฉะนั้นถ้าคนพูดน้อยได้พบปะกับคนพูดมากก็เกิดความไม่พอใจ หรือว่าความไม่สบายใจ อย่างนี้ก็แสดงให้เห็นว่าถ้าจะพิจารณาถึงคนอื่นในทางที่จะทำให้เกิดอกุศล ย่อมเป็นสิ่งซึ่งไม่เป็นประโยชน์เลย ซึ่งถ้าเปลี่ยนพิจารณาคนอื่นในทางที่เป็นกุศล ย่อมมีทางที่จะพิจารณาได้ เช่น คนพูดน้อยก็ดี คือว่าไม่มีวจีทุจริตมาก เพราะเหตุว่าจะไม่มีมุสาวาท (พูดเท็จ) ด้วยความพลั้งเผลอหรือด้วยความตั้งใจ หรือว่าจะไม่มีสัมผัปปลาปวาจา (พูดเพ้อเจ้อ) หรือว่าจะไม่มีปิสุณาวาจา (พูดส่อเสียด) ก็ได้ ใช่ไหม? ก็แล้วแต่ แต่ว่าต้องลึกซึ้งยิ่งกว่านั้นอีกว่า แม้ไม่มีปรากฏออกมาทางวาจา ใจมีหรือเปล่า ซึ่งทุกคนจะต้องพิจารณาหยั่งลงไปถึงใจ ถ้าไม่พูด ไม่พูดด้วยมานะขณะนั้นก็เป็นอกุศลใช่ไหม? ถ้าพูด พูดด้วยความเมตตาเกื้อกูลหวังประโยชน์สุขแก่คนอื่น เป็นอามิสปฏิสันถาร (ต้อนรับด้วยวัตถุสิ่งของ) หรือว่าธรรมปฏิสันถาร (ต้อนรับด้วยพระธรรม) ก็เป็นกุศลได้ เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าการที่จะพิจารณา สามารถที่จะพิจารณาได้ตรงตามความเป็นจริง ถ้าเป็นผู้ที่สังเกต และโดยเฉพาะถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน (ระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง) ย่อมสามารถที่จะรู้ได้ว่า การพูด พูดด้วยกุศลก็ได้ การไม่พูด ไม่พูด ด้วยอกุศลก็ได้
แต่ข้อสำคัญที่สุด ควรจะเห็นข้าศึกภายใน คือ ความโกรธของตนเอง แทนที่จะคิดว่าท่านมีศัตรูหลายคน หรือว่าอาจจะมีคนที่ไม่ชอบท่าน ทำสิ่งที่ไม่ดีกับท่านหลายคน แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ข้าศึกที่แท้จริงอยู่ภายใน คือ ความโกรธของท่านเอง
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
อ่านหัวข้ออื่นๆ คลิกที่นี่ ... เก็บไว้ในหทัย