[คำที่ ๕๔๐] กิจฺจการี

 
Sudhipong.U
วันที่  25 ธ.ค. 2564
หมายเลข  41795
อ่าน  954

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “กิจฺจการี”

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

กิจฺจการี อ่านตามภาษาบาลีว่า กิด - จะ - กา - รี มาจากคำว่า กิจฺจ (สิ่งที่ควรทำ, กิจ) กับคำว่า การี (บุคคลผู้ทำ) รวมกันเป็น กิจฺจการี แปลว่า บุคคลผู้ทำสิ่งที่ควรทำ มีความหมายที่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน แต่เพราะมีสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไป จึงหมายรู้ได้ว่าเป็นบุคคลนั้น บุคคลนี้ หลากหลายตามการสะสม เพราะคุณความดีเกิดขึ้น จึงทำให้ทำสิ่งที่ควรทำ เป็นประโยชน์ทั้งกับตนเองและผู้อื่น

ข้อความในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก แสดงความประพฤติเป็นไปในทางที่ถูกที่ควร ซึ่งเป็นการทำสิ่งที่ควรทำ ดังนี้

“อนึ่ง เมื่อควรทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ อันสมควร] [ฐานะ] ของตน แก่สัตว์ทั้งหลาย ก็เป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน ถึงความเป็นสหาย [เป็นมิตรพร้อมที่จะช่วยเหลือ] อนึ่ง เมื่อทุกข์ มีความเจ็บป่วยเป็นต้น เกิดขึ้นแก่สัตว์ทั้งหลาย ก็เป็นผู้จัดการช่วยเหลือตามสมควร เมื่อสัตว์ทั้งหลาย ตกอยู่ในความเสื่อม มีความเสื่อมจากญาติและเสื่อมจากสมบัติเป็นต้น ก็ช่วยบรรเทาความเศร้าโศก เป็นผู้ตั้งอยู่ในสภาพที่จะช่วยเหลือ ข่มผู้ที่ควรข่มโดยถูกธรรม เพื่อให้พ้นจากอกุศลแล้วตั้งอยู่ในกุศล”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลทุกระดับขั้น ตั้งแต่ความดีประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน จนถึงความดีที่สามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น แสดงให้เห็นถึงความบริสุทธิ์ของพระธรรมว่า ไม่มีพระธรรมแม้แต่บทเดียวที่ส่งเสริมหรือสนับสนุนให้เกิดอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย

กุศลหรือความดี เป็นสภาพธรรมที่ควรสะสมควรอบรมในชีวิตประจำวัน เพราะเหตุว่า ถ้าไม่สะสมกุศล ไม่เห็นโทษของอกุศล ไม่เห็นคุณของความดีแล้ว ก็จะเป็นโอกาสให้อกุศลเกิดขึ้น พอกพูนสะสมหมักหมม มากยิ่งขึ้น จะเห็นได้ว่ามีความดีหลายประเภทที่เจริญได้โดยไม่ยากถ้าเห็นประโยชน์จริงๆ ถึงแม้ว่าไม่มีทรัพย์สินเงินทองหรือวัตถุสิ่งของใดๆ เลย ก็ยังสามารถที่จะเจริญกุศลได้ อย่างเช่นการขวนขวายประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ไม่นิ่งดูดาย ไม่เห็นแก่ตัว ดูเหมือนเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ยาก แต่ว่าในวันหนึ่งๆ ถ้าอกุศลจิตเกิด ก็กระทำไม่ได้ บางคนอาจจะเห็นว่าการขวนขวายช่วยเหลือผู้อื่นเป็นสิ่งที่ดี รู้ว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ในขณะที่ควรจะทำ กลับไม่ทำ ที่เป็นเช่นนี้เพราะขณะนั้นอกุศลธรรมเกิดขึ้นครอบงำจิตใจ ทำให้ไม่น้อมไปที่จะช่วยเหลือผู้อื่นได้ แสดงความเป็นอนัตตาอย่างชัดเจน

ตามความเป็นจริงแล้วไม่ว่าจะเป็นกิจใหญ่น้อยประการใดก็ตาม ควรที่จะช่วยเหลือผู้อื่นเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ถ้าไม่ช่วยเหลือ ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า ที่ไม่กระทำในขณะนั้น เพราะอะไร? ก็เพราะอกุศลธรรมเกิดขึ้นทำให้เป็นคนเกียจคร้านที่จะกระทำกุศล ไม่ทำสิ่งที่ควรทำ ไม่สงเคราะห์ช่วยเหลือเกื้อกูลใครเลย ในขณะนั้นถ้าสติไม่เกิดขึ้น จะไม่รู้เลยว่า อกุศลธรรมเกิดขึ้นครอบงำ ทำให้เป็นผู้ที่เห็นแก่ตัว มีความสำคัญในตน ลืมคิดถึงคนอื่น แม้แต่การขวนขวายช่วยเหลือเกื้อกูลคนอื่น ก็ไม่เห็น หรืออาจจะเข้าใจผิดคิดว่า ไม่เป็นการสมควรที่จะช่วยเหลือบุคคลอื่น อกุศลธรรมทั้งหลายเป็นธรรมที่ตั้งจิตไว้ผิดจริงๆ ส่วนกุศลธรรมทั้งหลายเป็นธรรมที่ตั้งจิตไว้ชอบ โดยที่ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนเลย มีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ขณะที่สงเคราะห์ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ทำประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น นั้น กุศลธรรม เกิดขึ้นตั้งจิตไว้ชอบ คือ ช่วยเหลือคนอื่น ทำในสิ่งที่ควรทำ แต่ถ้ามานะหรือความสำคัญตนเกิดขึ้น ก็ตั้งจิตไว้ผิด คือ ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องกระทำกิจอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อบุคคลอื่น นั่นอกุศลธรรมเกิดขึ้นตั้งจิตไว้ผิด ไม่ได้ตั้งจิตไว้ชอบเลย แต่ถ้าเป็นกุศลธรรมแล้ว ก็ตั้งจิตไว้ชอบ ไม่ว่ากับใคร ก็ช่วยเหลือเสมอกันหมด

ที่เป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้ ที่มีความประพฤติเป็นไปแตกต่างกัน แท้ที่จริงแล้วก็คือ สภาพธรรมแต่ละลักษณะซึ่งสะสมมาเป็นปัจจัยทำให้ขณะนั้นสภาพของจิตเป็นอย่างไร ถ้าสะสมอกุศลธรรมมามาก ก็ตั้งจิตคือปรุงแต่งจิตในขณะนั้นให้เกิดขึ้นเป็นไปในทางอกุศล ถ้าสะสมกุศลธรรมมามาก กุศลธรรมทั้งหลายก็เป็นปัจจัยปรุงแต่งให้จิตในขณะนั้นเกิดขึ้นเป็นไปในทางกุศลทั้งหมด เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร

การทำสิ่งที่ควรทำ ทำประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่นที่ประเสริฐที่สุดนั้น คือการเกื้อกูลให้ผู้อื่นเห็นโทษของอกุศล เกื้อกูลให้เห็นคุณของกุศล ให้ออกจากอกุศล โดยเฉพาะอกุศลที่ร้ายแรงมีโทษมากคือมิจฉาทิฏฐิความเห็นผิด แล้วให้ตั้งอยู่ในกุศล เกื้อกูลให้เกิดปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก ด้วยพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ซึ่งตนเองจะต้องมีความเข้าใจถูกเห็นถูกตรงตามพระธรรมก่อน ขณะที่ทำกิจที่ควรทำ ซึ่งเป็นประโยชน์กับบุคคลอื่น นั้น ก็เป็นประโยชน์ของตนด้วย เพราะคุณความดีเกิดขึ้นเป็น

ประโยชน์สำหรับตนเอง และ ความลึกซึ้งของพระธรรม คือ ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็ยังต้องเกิด ต้องมีบุคคลใหม่ต่อจากชาตินี้ เป็นบุคคลอื่น ที่ไม่ใช่บุคคลนี้ คุณความดีนั้น ก็เป็นประโยชน์สำหรับบุคคลอื่น ซึ่งก็คือตนเอง ที่จะเป็นบุคคลใหม่ในชาติใหม่ สิ่งที่สะสม ไม่ได้สูญหายไปเลย สะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกขณะ เป็นประโยชน์โดยตลอด

ถ้าเข้าใจเรื่องของการเจริญกุศลแล้ว จะเห็นได้ว่าในวันหนึ่งๆ นั้น สามารถที่จะเจริญกุศลได้มากมายหลายด้านเลยทีเดียว เป็นการเพิ่มพูนกุศลในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นขณะที่มีค่ามาก เป็นการขัดเกลาละคลายกิเลสที่ได้สะสมมานานแสนนาน เพราะแม้กุศลเพียงเล็กน้อย ก็เป็นโอกาสที่ขณะนั้นอกุศลใดๆ ก็เกิดไม่ได้เลย สภาพธรรมที่จะเกื้อกูลให้กุศลเจริญยิ่งขึ้นในชีวิตประจำวัน คือ ปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก ซึ่งจะมีได้ ก็เพราะได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ดีแล้วเท่านั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จึงเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลต่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม ขัดเกลากิเลสของแต่ละบุคคล ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีโอกาสได้ฟัง ได้ศึกษาและประพฤติตาม เพราะถึงอย่างไรแล้ว ทุกคน ก็ต้องจากโลกนี้ไปแน่นอน ไม่มีใครรอดพ้นจากความตายไปได้ แต่ว่าขอให้ได้เป็นคนดีและได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สะสมปัญญา คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย เมื่อปัญญาเจริญขึ้น ก็จะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้คุณความดีประการต่างๆ เจริญขึ้น ทำให้เห็นคุณของความดี น้อมไปในการทำสิ่งที่ดีอยู่เสมอ ซึ่งเป็นการทำสิ่งที่ควรทำ เป็นประโยชน์สำหรับชีวิตอย่างแท้จริง ดังนั้น มีชีวิตอยู่ ก็เพื่อทำสิ่งที่ควรทำ ขัดเกลากิเลสของตนเอง และฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ สะสมเป็นที่พึ่งต่อไป


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ธ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ค่อยๆศึกษา
วันที่ 26 ธ.ค. 2564

ขออนุโมทนาในกุศลของทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
petsin.90
วันที่ 26 ธ.ค. 2564

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ