สอบถามข้อความ เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว

 
pdharma
วันที่  28 ธ.ค. 2564
หมายเลข  41813
อ่าน  876

ในพระไตรปิฎก มีข้อความโดยย่อว่า

" [๑๓๐๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ..... เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้รู้แจ้งกายทั้งปวงหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งกายทั้งปวงหายใจเข้า....."

คำสอนของพระพุทธเจ้าข้างต้น เป็นการแนะนำในการเริ่มทำอานาปานสติ ใช่หรือไม่ครับ คือ เริ่มที่มีสติหายใจเข้าออก จากนั้นให้รู้ชัดว่ายาวหรือสั้น จากนั้นจึงสำเหนียก ว่าจักรู้แจ้งกาย ว่าจักเป็นผู้ระงับกายสังขาร และอื่นๆ ตามเนื้อความต่อๆ ไปในอานาปานสังยุต

ขอขอบพระคุณ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 29 ธ.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ผิดตั้งแต่ต้น คือ ลืมอนัตตา คิดจะเลือกอารมณ์ก็ผิดครับ

อานาปานสติคืออะไร อานาปานสติ คือ สติที่ระลึกรู้เป็นไปในลมหายใจ ซึ่งก็ต้องเป็นผู้ละเอียดว่า ไม่ใช่มีแต่สติเท่านั้น แต่ต้องมีปัญญาด้วย ซึ่งอานาปานสติมีทั้งที่เป็นในสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา

อานาปานสติ มีประโยชน์อย่างไร ถ้าอบรมถูก ด้วยความเข้าใจถูก หากอบรมโดยนัยสมถภาวนาก็ถึงฌานขั้นสูงสุด แต่ไม่สามารถดับกิเลสได้ แต่ถ้าอบรมโดยนัยวิปัสสนา ย่อมถึงการดับกิเลส เป็นพระอรหันต์ได้ครับ

ทำอย่างไร ก็ต้องเข้าใจเบื้องต้น ว่าใครทำ เราหรือธรรม หากไม่มีความเข้าใจเบื้องต้น แม้แต่คำว่า ธรรมคืออะไรให้ถูกต้อง ไม่ต้องกล่าวถึงอานาปานสติ แม้แต่การเจริญสติปัฏฐานที่เป็นปกติในชีวิตประจำวันก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่จะทำ แต่เป็นเรื่องที่จะค่อยๆ เข้าใจ ซึ่งในพระไตรปิฎกแสดงถึงเรื่องอานาปานสติ ว่าเป็นอารมณ์ของมหาบุรุษ คือผู้ที่ปัญญามาก สะสมบารมีมามาก จึงจะอบรมอานาปานสติได้ เพราะอานาปานสติเป็นอารมณ์ที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง หากอยากจะทำ ก็ไม่มีทางถึงเพราะด้วยความต้องการ ไม่ใช่ด้วยความเข้าใจครับ

ขณะนี้ กำลังหายใจ แต่ไม่รู้เลยว่ากำลังหายใจอยู่ และหากบอกว่ารู้ไหมที่กำลังหายใจขณะนี้ ก็ตอบได้ว่ากำลังหายใจ แต่การรู้ว่ากำลังหายใจอยู่ ไม่ใช่เป็นการเจริญวิปัสสนาที่เป็นอานาปานสติเลยครับ ซึ่งการเจริญวิปัสสนา ต้องมีสภาพธรรมที่มีจริงเป็นอารมณ์ให้สติและปัญญารู้ นั่นคือ ขณะที่หายใจ มีอะไรปรากฏที่กำลังหายใจ ขณะที่มีลมกระทบ ก็มี เย็น ร้อน เป็นต้น สภาพธรรมเหล่านี้มีจริง ก็รู้ความเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ขณะที่หายใจ เช่น เย็นก็เป็นธรรมไม่ใช่เราขณะที่สติและปัญญาเกิดในขณะนั้นครับ ทีละขณะ แต่ละสภาพธรรมครับ

อานาปานสติ เป็นอารมณ์ที่ละเอียด แต่ก็ต้องไม่ลืมคำนี้เสมอ คำว่า "อนัตตา" บังคับบัญชาไม่ได้ การอบรมโดยนัยสมถและวิปัสสนา ไม่มีตัวตนที่จะเลือกอารมณ์ เช่น จะเลือกเป็นไปในอานาปานสติ เป็นต้น แล้วแต่สติและปํญญาว่าจะเกิดระลึกรู้สภาพธัมมะอะไร ซึ่งอาจรู้สภาพธัมมะที่มีจริงในขณะนี้ เช่น เห็น ได้ยิน เสียง เป็นต้น ก็ได้ครับ ขอให้เข้าใจความจริงก่อนนะครับว่า การศึกษาพระไตรปิฎกไม่ว่าในส่วนใดหรืออภิธรรมก็เพื่อเข้าใจความจริงของสภาพธัมมะที่มีในขณะนี้ว่าไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงธรรม และอภิธรรมก็มีอยู่ในขณะนี้เองครับ เพียงแต่ว่า เราจะรู้ชื่อหรือจะเข้าใจความจริงของอภิธรรมที่มีอยู่ในขณะนี้ รู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา นี่คือจุดประสงค์ของการอบรมปัญญาดับกิเลสครับ แม้ขณะที่หายใจก็มีสภาพธัมมะที่มีจริง คือ เย็น ร้อน ที่อาศัยเนื่องอยู่กับลมหายใจ แต่ก็แล้วแต่สติว่าจะเกิดระลึกสภาพธัมมะอะไรครับ แต่เบื้องต้นในการอบรมปัญญาและการศึกษาธัมมะที่ถูก คือเพื่อเข้าใจความจริงของสภาพธัมมะที่มีในขณะนี้ว่าเป็นธรรม เพราะอภิธรรมอยู่ในชีวิตประจำวัน

เรื่องที่สำคัญที่สุดคือ ความเข้าใจถูก นั่นคือ ปัญญา ซึ่งปัญญาจะเจริญได้ก็ต้องเริ่มจากปัญญาขั้นการฟัง ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจเป็นเบื้องต้น เพราะเมื่อมีความเข้าใจเบื้องต้น ก็สามารถทำให้เข้าใจในคำแต่ละคำและหนทางปฏิบัติที่ถูกต้อง แม้แต่เรื่องของ อานาปานสติ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 29 ธ.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อานาปานสติ เป็นสติที่มีลมหายใจเป็นอารมณ์ เป็นได้ทั้งสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ซึ่งจะขาดปัญญาไม่ได้เลยทั้งสมถภาวนาและวิปัสสนา แต่ผลต่างกัน เพราะสมถภาวนาเพียงระงับกิเลสด้วยการข่มไว้เท่านั้น ไม่สามารถดับกิเลสใดๆ ได้เลย แต่ถ้าเป็นวิปัสสนาหรือสติปัฏฐานแล้ว สามารถทำให้รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง ดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น สูงสุดคือถึงความเป็นพระอรหันต์ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น

เรื่องเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องของปัญญาที่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง สติเกิดขึ้นระลึกและปัญญารู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสติปัฏฐานไว้ ๔ ประการ ไม่ใช่เพียงประการเดียวเท่านั้น การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ว่าเป็นเรื่องที่จะต้องอาศัยการฟังในสิ่งที่มีจริงเนืองๆ บ่อยๆ พิจารณาเหตุผลแล้วก็เจริญเหตุให้สมควรแก่ผลด้วย

ข้อสำคัญประการหนึ่ง ก็คือ จะต้องไม่เข้าใจผิดว่าเป็นสติปัฏฐานเฉพาะบางสิ่งบางประการ หรือเลือกเจาะจงเฉพาะบางนามธรรม บางรูปธรรม แต่ต้องเข้าใจให้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่าทุกอย่างที่เป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นั้น เป็นสติปัฏฐานทั้งสิ้น เพราะเป็นที่ตั้งให้สติสัมปชัญญะเกิดขึ้นระลึกรู้ตามความเป็นจริงได้ ลมหายใจ ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย เพราะลมหายใจเป็นส่วนหนึ่งของกาย เป็นสภาพที่ปรุงแต่งกาย และเคยยึดถือว่าเป็นลมหายใจของเรา เป็นเราหายใจ แต่ขณะที่สติปัฏฐานเกิดขึ้น รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ คือ ธาตุดิน ธาตุไฟ หรือธาตุลม เริ่มที่จะเข้าใจว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งมีลักษณะอย่างนั้นเอง คือเป็นธาตุที่ไม่รู้อารมณ์ (คือเป็นรูปธรรม) เป็นการถ่ายถอนความเข้าใจผิดที่เคยยึดถือว่า เป็นเราที่หายใจ หรือเป็นลมหายใจของเรา ทั้งนี้ แล้วแต่ว่าสติจะระลึกรู้ลักษณะใด โดยไม่จำกัดและไม่เจาะจง เพราะเป็นอนัตตาไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ครับ

ขอเชิญคลิกฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

แนวทางเจริญวิปัสสนา แผ่นที่ ๒ (ครั้งที่ 61-120)

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Sea
วันที่ 30 ธ.ค. 2564

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Artwii
วันที่ 9 ม.ค. 2565

ขอบคุณครับ อนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 10 ม.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ