ธรรมก็คือชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เกิดจนตายเป็นธรรม

 
สารธรรม
วันที่  31 ธ.ค. 2564
หมายเลข  41853
อ่าน  406

วันนี้ท่านอาจารย์จะไม่บรรยาย แต่จะตอบปัญหา กรุณาถาม ซักไซร้ไล่เลียงได้ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ให้เกิดปัญญา ฉะนั้น วันนี้ไม่เหมือนกับวันก่อนๆ ซึ่งฟังอย่างเดียว แล้วไปถามตอนท้าย วันนี้กรุณาถามให้มาก มีปัญหาสงสัยอะไรเกี่ยวกับพุทธศาสนา ถามได้ทันที แม้แต่เรื่องทำบุญ ทำทาน ใส่บาตร หรือเรื่องในพระไตรปิฏก อันใดที่สงสัยเก็บไว้ในใจตั้งนาน วันนี้กรุณาถามเลย ถามตรงไหนก็ได้ ขอเชิญเลยครับ

(ตอบปัญหาที่สำนักงานพลังงานปรมาณู)


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 13 พ.ย. 2566

ถ้ามีอะไรสงสัย ก็ควรพิจารณากันให้ถูกต้องว่า ความจริงควรเป็นอย่างไร ธรรมมีมาก และบางท่านก็เข้าใจว่า ธรรมแยกออกจากชีวิตประจำวัน แต่เมื่อศึกษาพระธรรมแล้วจะรู้ได้ว่า ธรรมก็คือชีวิตประจำวันนั่นเอง พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่อง โลภะ ความติดข้องต้องการซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่อง โทสะ ความขุ่นเคือง ความไม่พอใจ ซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่อง เมตตากรุณา การเห็น การได้ยิน ความสุข ความทุกข์ต่างๆ พระธรรมที่ทรงแสดงเป็นชีวิตประจำวัน พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ตั้งแต่เกิดจนตายเป็นธรรมทั้งหมด

เพราะฉะนั้นจะไม่มีเลยที่คนที่ศึกษาพระธรรมจนเข้าใจแล้วจะบอกว่า ธรรมแยกจากชีวิตประจำวัน ถ้าคนไม่รู้จะพูดอย่างนั้น แต่ถ้าคนที่รู้ว่าธรรมคืออะไรจะพูดอย่างนี้ไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าขณะนี้ก็เป็นธรรม กำลังเห็น เคยเข้าใจว่าเป็นเราเป็นตัวตน เป็นคนนั้น คนนี้ แต่ความจริงแล้ว เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งมีจริง สิ่งที่มีจริงนั้นไม่ต้องเรียกชื่อก็ได้ อย่างเห็น ภาษาไทยจะเรียกว่าเห็น ภาษาอังกฤษ ภาษาแขก ภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน ภาษามอญ พม่า ก็เปลี่ยนชื่อไปต่างๆ กัน แต่เห็นก็ยังเป็นสภาพธรรมที่มีจริง และสภาพธรรมที่มีจริงนั้นเรียกอีกชื่อหนึ่ง ก็คือสัจจธรรม เป็นธรรมที่พิสูจน์ได้

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงความละเอียดของธรรมทุกอย่าง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง จนกระทั่งความเข้าใจนั้นเพิ่มขึ้น เป็นปัญญาแต่ละขั้น แต่ถ้าไม่ฟังพระธรรมก็อาจจะคิดว่า รู้จักคนอื่นและตัวเองพอสมควร แต่เมื่อศึกษาพระธรรมแล้ว ก็จะรู้ว่าสิ่งที่เคยคิดเคยเข้าใจนั้นยังไม่ถูกต้องทั้งหมด และสิ่งที่เราคิดว่าเข้าใจแล้ว ยังไม่ตรงตามที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้

เช่นที่เข้าใจว่ากำลังเห็นขณะนี้เป็นเรา บางคนอาจจะกำลังคิดนึก ไม่มีใครห้ามความคิดนึก ทุกคนคิดนึกตลอด เรากำลังคิดนึก ถึงใคร ถึงเรื่องนั้นถึงเรื่องนี้ อาจเป็นเรื่องที่อ่านในหนังสือพิมพ์ วารสาร ดูทีวี ก็คิดไปได้ต่างๆ หรือแม้แต่ในขณะนี้ทุกคนก็คิด ขณะนี้เป็นเรา ก่อนที่จะได้ฟังพระธรรมก็เป็นเราทั้งหมดที่เห็นและคิดด้วย แต่ถ้ารู้ว่าธรรมะคือ ทุกสิ่งที่มีจริงก็เริ่มเข้าใจว่า แม้ความคิดก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง การเห็นเป็นธรรมชนิดหนึ่งไม่ใช่เรา

ขณะที่กำลังได้ยินขณะนี้ ยากที่จะคล้อยตามพระธรรมว่า ไม่ใช่เรา เป็นสภาพธรรมที่มีจริงอย่างหนึ่ง ยากแสนยาก ที่จะเห็นถูกต้องอย่างนั้นได้ แต่เมื่อพิจารณาว่า ถ้าไม่มีเสียงกระทบหู จะได้ยินไหม ทำอย่างไรจึงจะให้ได้ยินเกิดขึ้นได้ไหมถ้าเสียงไม่กระทบหู ฉะนั้น เสียงเป็นธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งกระทบอื่นไม่ได้เลย นอกจากโสตปสาท ซึ่งเป็นรูปชนิดหนึ่ง เป็นรูปซึ่งมีลักษณะพิเศษในร่างกาย ที่สามารถจะกระทบเฉพาะเสียง รูปอื่นซึ่งไม่ใช่โสตปสาท กระทบเสียงไม่ได้เลย

ค่อยๆ เห็นขึ้นเข้าใจขึ้นทีละน้อยว่า เสียงก็เป็นธรรมอย่างหนึ่งมีจริงๆ โสตปสาท ก็เป็นรูป เป็นธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งมีจริงๆ ฉะนั้น ได้ยินในขณะนี้มีแน่ๆ แต่ว่าเคยคิดเคยเข้าใจว่าเป็นเราได้ยิน ลองคิดดูซิว่า เมื่อเสียงหมดไปแล้วได้ยินจะเกิดขึ้นได้ยินอีกต่อไปไม่ได้ เสียงเมื่อกี้นี้ใครจะเก็บห่อเอาไว้เอากลับมาได้ยินอีกก็ไม่ได้ จิตที่ได้ยินเสียงเกิดขึ้นได้ยินเสียงแล้วก็ดับไป สิ่งที่เกิดแล้วดับแล้ว จะเป็นของของเราได้ไหม จะเป็นตัวตนได้ไหม

นี่คือพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ๔ อสงขัยแสนกัปป์ ระหว่างที่เป็นพระโพธิสัตว์ กว่าจะได้ประจักษ์แจ้งจริงๆ ว่าเป็นสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตนทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับหมดไปอย่างรวดเร็ว เสียงดับแล้ว ได้ยินดับแล้ว คิดนึกทีละคำ ทีละขณะ ก็ดับหมดแล้ว รูปตั้งแต่เกิดมาตอนเป็นเด็กก็ดับหมดแล้ว สุขทุกข์ ป่วยไข้ ความเสียใจ ความดีใจ ตอนเป็นเด็กก็ดับหมด แล้ว หรือแม้แต่เมื่อวานนี้เองก็ไม่เหลือแล้ว หรือเมื่อชั่วครู่เพียงขณะเมื่อกี้นี้เองก็ ดับหมดแล้ว หรือแม้แต่เมื่อวานนี้เองก็ไม่มีเหลือแล้ว หรือเมื่อชั่วครู่ เพียงขณะเมื่อกี้นี้เองก็ดับหมดแล้ว

นี่แสดงให้เห็นว่าเราไม่เข้าใจธรรมตรงตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง จนกว่าจะได้ศึกษาพระธรรมจริงๆ และเมื่อศึกษาพระธรรมแล้ว ยังต้องเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของการที่จะรู้สภาพธรรมตามความจริงด้วย มิฉะนั้นแล้วก็จะมีชีวิตอยู่โดยไม่รู้ว่าเกิดมาได้อย่างไร ตายไปแล้วจะเป็นอย่างไร เต็มไปด้วยความไม่รู้โดยตลอด


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 6

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ