เสียงเป็นเสียง ได้ยินเป็นได้ยิน

 
ปทุม
วันที่  11 ม.ค. 2565
หมายเลข  41908
อ่าน  442

ขณะที่สติเกิดระลึกในลักษณะเสียงสูงๆ ต่ำๆ

ก็จะไม่มีการคิดเป็นคำหรือเรื่องราว

และสำหรับผู้ที่ระลึกในลักษณะของจิตได้ยิน จะแตกต่างจากการระลึกในลักษณะของเสียงอย่างไรคะ ในเมื่อเกิดคู่กันทั้งเสียงและได้ยิน และก็ไม่ใช่การคิดเป็นคำหรือเรื่องราว (อีกทวารหนึ่ง) และทำไมต้องแยกระหว่างสติเกิดที่เสียงหรือสติเกิดที่จิตได้ยินคะ ในเมื่อทั้งเสียงและได้ยินก็เป็นทวารเดียวกัน และก็ไม่สามารถรู้เป็นคำได้ (ทางใจ) หนูไม่รู้ว่าเสียงกับได้ยินนั้นต่างกันอย่างไร เพราะทุกครั้งที่ได้ยินก็ต้องมีเสียงด้วย และขณะที่สติเกิดเท่าที่หนูฟังคือ ใส่ใจในสิ่งที่มีจริง ที่เกิดชั่วขณะไม่ต้องใส่ชื่อว่ารูปหรือนาม แต่ทุกครั้งที่หนูฟังเรื่องเสียงกับได้ยิน หนูก็ยังไม่เข้าใจค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ปทุม
วันที่ 12 ม.ค. 2565

คำถามที่2 การเข้าใจว่าทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม จะทำให้เข้าใจความต่างของเสียงและได้ยินได้อย่างไรคะ

หนูไม่อาจรู้ความต่างของเสียงและได้ยินได้ ปัญญาและความเข้าใจยังน้อยมาก จึงยังเป็นเราที่เรียน ทุกวันนี้จึงใส่ใจในสิ่งที่เกิดดับเพียงอย่างเดียว จะทำให้หลงทางไหมคะ เพราะทุกครั้งที่ได้ยินประโยคนี้จะเกิดความสงสัยตามมาทุกครั้งเลยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 14 ม.ค. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ประโยชน์ของการฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง คือ ค่อยๆ เข้าใจถูก จากคำที่ได้ยินได้ฟัง ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากอย่างยิ่ง ฟังครั้งเดียว จึงไม่พอ ต้องฟังบ่อยๆ เนืองๆ ไม่ขาดการฟัง สิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ก็ไม่พ้นจากชีวิตประจำวันเลย ประการที่สำคัญ ไม่ใช่ฟังแล้ว มุ่งที่จะไประลึกที่สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะเป็นไปไม่ได้ เพราะนั่น ลืมความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น แม้แต่สภาพธรรม ๒ อย่างที่ปรากฏในคำถาม คือ ได้ยิน และ เสียง เป็นสภาพธรรมต่างกัน ได้ยิน เป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ ส่วนเสียง เป็นสภาพที่ไม่รู้อะไร เป็นรูปธรรม เมื่อความเข้าใจยังไม่เพียงพอ ก็ไม่สามารถที่จะรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้ แต่เมื่อปัญญาค่อยๆ เกิดขึ้น ค่อยๆ เจริญขึ้น เหตุปัจจัยพร้อม สติพร้อมด้วยปัญญา สามารถเกิดขึ้น ระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นได้ ระลึกรู้สภาพธรรมแต่ละหนึ่ง เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น แสดงความเป็นอนัตตาอย่างชัดเจน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ทำอะไรไม่ได้เลย นอกจากฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมต่อไป ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย โดยไม่หวัง เพราะหนทางนี้ เป็นหนทางละ โดยตลอด ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ปทุม
วันที่ 14 ม.ค. 2565

หนูหวังอยากรู้ในลักษณะมากเกินไปจริงๆ ค่ะ โดยที่เหตุไม่เหมาะกับผล

กราบขอบพระคุณอาจารย์มากเลยค่ะ

และหนูจะย้อนกลับไปฟังพื้นฐานพระอภิธรรมตอนที่ 1 ใหม่ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Kitipornchai.c
วันที่ 15 ม.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ